xs
xsm
sm
md
lg

‘จีดีพีญี่ปุ่น’ไตรมาส3หดตัวแรงกว่าคาด ผลจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน-วิกฤตไวรัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตู้สินคาคอนเทนเนอร์วางซ้อนกัน ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองโยโกฮามา ทางด้านใต้ของกรุงโตเกียว ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อ 7 ก.ย. 2021 ภาพนี้  ทั้งนี้ญี่ปุ่นรายงานในวันจันทร์ (15 พ.ย.) ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของตน หดตัว 3%  แย่กว่าที่คาดหมายกันไว้
เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 หดตัวเกินคาด ตามรายงานของทางการญี่ปุ่นในวันจันทร์ (15 พ.ย.) โดยเป็นผลจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักที่กระทบการส่งออกและแผนการใช้จ่ายของธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัย ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ที่ฉุดการบริโภคภายใน

แม้นักวิเคราะห์มากมายคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสปัจจุบัน (ต.ค.-ธ.ค.) เนื่องจากการระบาดของโควิดเริ่มซาลง ทว่า ภาวะคอขวดด้านการผลิตทั่วโลกที่เลวร้ายลงเพิ่มความเสี่ยงต่อญี่ปุ่นที่พึ่งพิงการส่งออก

ทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนรินชูกิน ชี้ว่า การหดตัวของช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ปีนี้ สูงกว่าที่คาดเนื่องจากการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตรถยนต์และการใช้จ่ายเงินทุน

มินามิคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวในไตรมาสนี้ ทว่า อาจฟื้นอย่างช้าๆ เนื่องจากการบริโภคยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนักหลังจากวิกฤตไวรัสเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงปลายเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักคณะรัฐมนตรีเผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (15) ระบุว่า อัตราเติบโตต่อปีของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 หดตัว 3% หลังจากสามารถปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ในไตรมาส 2

หากเปรียบเทียบระหว่างไตรมาส ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แดนอาทิตย์อุท ยในไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลง 0.8% จากที่คาดไว้ว่า จะขยับลงเพียง 0.2%

จีดีพีที่ลดลงเกินคาดของญี่ปุ่นยังออกมาขณะที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วรายอื่นๆ เช่น อเมริกามีการขยายตัว 2% ในไตรมาสเดียวกันเนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ด้านจีนเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเกินคาด แม้อุปทานขาดแคลนและทางการฟื้นมาตรการควบคุมโควิดมาบังคับใช้ก็ตาม

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมากทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงต่อการติดขัดทางการค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ มีแผนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มูลค่าหลายล้านล้านเยนในวันศุกร์นี้ (19) ทว่า นักเศรษฐศาสตร์บางคนยังไม่มั่นใจว่า แผนกระตุ้นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเติบโตในระยะสั้น

โนรินชูกินจากมินามิชี้ว่า มาตรการกระตุ้นใหม่มีแนวโน้มผสมผสานทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจไม่มีจุดมุ่งเน้นที่ชัดเจน ดังนั้น จึงอาจไม่ส่งผลต่อการเติบโตในระยะสั้นมากนัก

ทาเคชิ มิวะ นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ซีเคียวริตี้ส์ เตือนว่า บริษัทบางแห่งอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานจนถึงเดือนธันวาคม

ข้อมูลระบุว่า การบริโภคในไตรมาส 3 ลดลง 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการใช้จ่ายเงินทุนดิ่งลง 3.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในไตรมาส 2 และอุปสงค์ภายในประเทศวูบลง 0.9%

การส่งออกช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนลดลง 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการค้าได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ และการติดขัดในห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทญี่ปุ่นจะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นและภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะบ่อนทำลายแนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นถึงระยะกลาง

ทาเคฮิเดะ คิอุชิ อดีตสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนมูระ คาดว่า จีดีพีที่แท้จริงที่พิจารณาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วยนั้น จะไม่กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโรคระบาดจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2023

คิอุชิเสริมว่า การชะลอตัวของจีน ปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัด ราคาพลังงานที่แพงขึ้น และการชะลอตัวในประเทศตะวันตกที่มีปัญหาเงินเฟ้อ จะทำให้อัตราการเติบโตของญี่ปุ่นแผ่วลงจนถึงกลางปีหน้า โดยหากการส่งออกยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการเติบโตปานกลางที่ราว 1-2% นับจากไตรมาส 2 แม้เมื่อพิจารณาผลลัพธ์จากมาตรการกระตุ้นแล้วก็ตาม

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น