เอเจนซีส์/เอพี/mgrออนไลน์ - เกรียตา ทุนแบร์ย เมื่อวานนี้(13 พ.ย)ปัดผลการประชุมซัมมิตโลกร้อน COP26 ด้วยคำว่า “บลา บลา บลา” โดยซัมมิตปิดฉากลงแล้วที่มีมติโดยเกือบ 200 ชาติที่เข้าร่วมยอมรับลดการใช้ถ่านหินลงแต่ไม่ยอมยกเลิกตามคำขอของอินเดียและอินโดนีเซียยังไม่ยอมยุติการโค่นป่าของตัวเอง สะท้อนวาทะเพื่อนนักเคลื่อนไหวชื่อดังชาวยูกันดา วาเนสซา นาคาเต ที่มอบให้แก่นักการเมืองและผู้นำทั่วโลกว่า “พิสูจน์ว่าพวกเราผิด”
ฮินดูสถาน สื่ออินเดีย รายงานวันนี้(14 พ.ย)ว่า เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกชาวสวีเดนวัย 18 ปีล่าสุดแถลงผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวานนี้(13) โดยมีเนื้อหาว่า
“การประชุมซัมมิต COP26 สิ้นสุดลงแล้ว และนี่คือผลการสรุป “บลา บลา บลา”” และเธอกล่าวต่อว่า “อย่างไรก็ตามงานที่แท้จริงจะอยู่ที่นอกห้องประชุมเหล่านี้ และพวกเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวัน”
สื่ออินเดียชี้ว่า อย่างไรก็ตามการประชุมซัมมิตที่ถูกจัดขึ้นที่เมืองกลาวโกว์ สกอตแลนด์ ในปีนี้ถือว่าเป็นการประชุมที่ถูกชื่นชมว่าเป็นการทำให้ความหวังที่จะทำให้อุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสและยังคงดำเนินการตามแนวปฎิบัติเป็นจริงที่เป็นไปได้ต่อไปในการกอบกู้โลกให้ผลจากหายนะทางสภาวะอากาศ
ซึ่งถึงแม้จะมีการจัดประชุมซัมมิตของสหประชาชาติมารวมทั้งหมด 26 ครั้งรวมถึงในปีนี้แต่ทว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการในการเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่หมดเปลือง
เอพีรายงานว่า มีไม่กี่ชาติโดยเฉพาะชาติเล็กที่เป็นหมู่เกาะต่างออกมาแสดงความรู้สึกผิดหวังต่อการใช้อิทธิพลของอินเดียที่ต้องการให้ “ลดการใช้” มากกว่า “ยกเลิกการใช้” พลังงานถ่านหินที่ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยในท้ายที่สุดของการประชุมซัมมิต COP26 ซึ่งสิ้นสุดลงในวันศุกร์(12)ได้ออกมาตั้งเป้าไปที่ถ่านหินเป็นหลักแต่กระนั้นการประชุมกลับอ่อนลงด้วยการตั้งกฎของการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยคาร์บอน เครดิต และด้วยการสั่งให้บรรดาผู้ปล่อยมลภาวะระดับโลกกลับมาเข้าร่วมการประชุมครั้งหน้าพร้อมกับมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น
ซึ่งนอกเหนือจากอินเดียที่ขัดขวางการยุติการใช้พลังงานถ่านหินแล้ว อินโดนีเซียยังเป็นอีกชาติที่ประกาศจะยังไม่ยอมยกเลิกการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศของตัวเอง
โดยภายในภูมิคาคเอเชียแปซิฟิก อินโดนีเซียขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ก่อมลภาวะทางอากาศจากปัญหาหมอกควันไฟป่าที่มักพัดมาเข้าปกคลุมมาเลเซีย สิงคโปร์ และทางใต้ของไทยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพประสบปัญหาทางการหายใจและถึงขั้นปิดโรงเรียนและต้องทำฝนเทียมเพื่อทำให้สภาพอากาศแจ่มใสขึ้น ซึ่งในอดีตสิงคโปร์เคยประกาศตรวจสอบปัญหาหมอกควันพิษ ผลของไฟป่าทำให้ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบเหมือนมีหมอกมาปกคลุมและในอินโดนีเซียเองที่หมู่บ้านเมการ์ ซารี( Mekar Sari) จังหวัดจัมบี (Jambi) บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานว่าท้องฟ้าทั่วทั้งจังหวัดเมื่อกันยายน ปี2019 แดงฉานคล้ายกับดาวอังคาร
โดยหมอกควันไฟป่าของอินโดนีเซียเกิดมาจากปัญหาการเผาที่ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่จากการที่อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ของโลก
อ้างอิงข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2019 โดยพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันราว 3.1 ล้านเฮคเตอร์คิดเป็น 19% ของจำนวนน้ำมันปาล์มทั้งหมดตั้งอยู่ในป่าของอินโดนีเซียถึงแม้ว่าในทางปฎิบัติกฎหมายจะห้ามก็ตามซึ่งอินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
เซาท์ไชน่ามอร์นิวโพสต์ สื่อฮ่องกงรายงานว่า อินโดนีเซียไม่กี่วันข้างหน้าจะต้องรับรองในคำปฎิญาณที่ไม่มีความผูกพันร่วมที่ได้ให้ไว้ระหว่างการประชุมซัมมิตที่กลาสโกว์ในการหยุดและเปลี่ยนแปลงการสูญเสียป่าความเสื่อมโทรมภายในปี 2030 พร้อมไปกับอีก 136 ชาติ ซึ่งครอบคลุมเกือบ 91% ของป่าทั่วโลกและ 85% ของป่าฝนเขตร้อน
โดยในช่วงระหว่างการประชุมในการรายงานของบีบีซี สื่ออังกฤษ วันที่ 2 พ.ย จาการ์ตาสร้างเสียงฮือฮาด้วยการร่วมลงนามตกลงยุติและเปลี่ยนแปลงการทำลายป่าภายในปี 2030 พร้อมกับจีน บราซิล รัสเซีย สหรัฐฯ อังกฤษ รวมกว่า 100 ชาติทั่วโลก แต่ทว่าในอีก 2 วันต่อมาจาการ์ตาได้ขอถอนคำพูดและวิพากษ์วิจารณ์เป้าหมายการยกเลิกการทำลายป่าของ COP26 ว่าไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย มหินทรา ศรีการ์( Mahendra Siregar) ได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ในคำปฎิญาณไม่ได้มีข้อความ “การยุติถางป่า” ภายในปี 2030 และทางจาการ์ตาได้ตีความสิ่งนี้ว่าเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาในการจัดการบริหารป่าอย่างยั่งยืนต่อไป
ซึ่งทั้งประเด็นถ่านหินรวมไปถึงประเด็นป่าไม้และประเด็นอื่นๆทำให้นักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ เช่น ทุนแบร์ยจากการเคลื่อนไหววันศุกร์เพื่ออนาคต(Fridays For Future) และวาเนสซา นาคาเต (Vanessa Nakate)รณรงค์ในการอนุรักษ์ป่าที่คองโกซึ่งถือว่าเป็น "ปอดที่ 2 ของโลก" ต่างชี้ว่า การประชุมซัมมิต COP26 ล้มเหลวที่ไม่สามารถทำสิ่งที่ผู้นำหล่านี้ประกาศออกมาให้เป็นรูปธรรมได้
โดย 1 วันก่อนปิดการประชุมซัมมิตนากาเตในรายงานของสื่อแอ็กซิออสของสหรัฐฯ นาคาเตขึ้นกล่าวในวันพฤหัสบดี(11)โดยท้าท้ายโดยตรงซึ่งหน้าไปยังนักการเมืองทั่วโลกทั้งหลายว่า
“ดิฉันมาที่นี่เพื่อขอให้พวกคุณให้พิสูจน์ว่าพวกเราผิด ขอให้พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดช่วยพวกเราทั้งหมดด้วยหากว่าพวกคุณล้มเหลวในการพิสูจน์ว่าผิดนี้”
เธอเสริมต่อว่า “แน่นอนที่สุดความคิดที่ว่า บรรดาประเทศ บริษัท และนักลงทุนต่างให้คำมั่นสำหรับมาตรการปฎิบัติที่ทันทีและรุนแรงในการลดการปล่อยถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างที่สุด แต่ขอให้พวกเราตอบอย่างซื่อสัตย์ พวกเราเคยมาที่นี่ก่อนหน้าแล้ว”
และเธอกล่าวว่า “มันมีการประชุม COP25 ก่อนการประชุมครั้งนี้ และทุกๆปีบรรดาผู้นำต่างเข้าร่วมในการประชุมข้อตกลงสภาพอากาศโลกพร้อมกับคำปฎิญาณ คำมั่นสัญญา และข้อผูกพัน ต่างๆมากมาย และการประชุม COP แต่ละครั้งมาและจากไป (แต่)การปล่อยยังคงเพิ่มขึ้นในปีนี้ก็คงไม่ต่างกันออกไป”