ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลกทะลุหลัก 250 ล้านคนในสัปดาห์นี้ และในขณะที่บางประเทศในยุโรปตะวันออกยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่การระบาดของเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ในภาพรวมเริ่มชะลอตัว ซึ่งทำให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดพรมแดนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งความหวังกับวัคซีนรุ่นใหม่ที่จะมาในรูปของสเปรย์พ่นจมูกและปาก
จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันโดยเฉลี่ยลดลง 36% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 50 ล้านคนทั่วโลกในทุกๆ 90 วัน เนื่องจากเชื้อเดลตาสามารถแพร่กระจายได้เร็ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเชื่อว่า การระดมฉีดวัคซีน รวมถึงการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้หลายๆ ประเทศผ่านพ้นสถานการณ์ขั้นวิกฤตที่สุดมาแล้ว แต่ก็เตือนว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ประกอบกับช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีที่กำลังจะมาถึง อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ยอดผู้ป่วยกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีก
แม้การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้นมานานถึง 2 ปีแล้ว แต่รอยเตอร์พบว่าเวลานี้ยังมี 55 ประเทศจาก 240 ประเทศที่จำนวนผู้ป่วยรายวันยังคงพุ่งสูงเกือบทุบสถิติ ในจำนวนนี้รวมถึงยูเครน, รัสเซีย และกรีซ
ยุโรปตะวันออกยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำสุดในภูมิภาค และกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศกลุ่มยุโรป โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนในทุกๆ 4 วัน
รัสเซียมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 39,400 คนในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย. โดยเป็นผู้ป่วยในกรุงมอสโกเกือบ 5,000 คน ขณะที่หลายภูมิภาคของแดนหมีขาวประกาศจะเพิ่มมาตรการคุมเข้ม หรือขยายเวลาปิดที่ทำงานเพื่อชะลอการระบาด
เยอรมนีแม้จะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่แล้ว แต่อัตราการติดเชื้อกลับพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด จนแพทย์เองก็ยอมรับว่าอาจจะต้องมีการเลื่อนนัดผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าเพื่อสงวนทรัพยากรไว้รับมือโควิด
สถานการณ์โควิด-19 ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย. ยอดผู้เสียชีวิตรายวันลดลงเป็น “ศูนย์” ครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี และเวลานี้ชาวญี่ปุ่นเกินกว่า 70% ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
จีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้วกำลังเผชิญการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายไปยัง 20 มณฑลและภูมิภาค โดยยอดผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักตลอดระยะเวลากว่า 3 สัปดาห์
แม้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกัน แต่ปักกิ่งยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ “โควิดเป็นศูนย์” ด้วยการปิดพรมแดนอย่างเข้มงวด ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบกำหนดเป้าหมาย และการกักตัวเป็นเวลานาน แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบการระบาดล่าสุดในกว่า 40 เมือง หนึ่งในนั้นคือเฮยเหอที่อยู่ทางด้านเหนือติดกับชายแดนรัสเซีย
ทางการเมืองเฮยเหอประกาศในวันอังคาร (9) ให้รางวัล 100,000 หยวน (ราว 515,000 บาท) สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสต้นตอการระบาดระลอกล่าสุด เพื่อหยุดยั้งการระบาดโดยเร็วที่สุด โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามประชาชน” เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา
เจ้าหน้าที่ยังเรียกร้องให้ประชาชนแจ้งทางการทันทีหากพบการลักลอบขนสินค้าเถื่อน การล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และการทำประมงข้ามพรมแดน ส่วนผู้ที่สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทางออนไลน์ต้องฆ่าเชื้อสินค้านั้นทันที และส่งให้ทางการตรวจสอบ
คลัสเตอร์โควิด-19 ในมณฑลเหอหนัน (Henan) ซึ่งเชื่อมโยงกับการระบาดในโรงเรียนทำให้หน่วยงานสาธารณสุขจีนต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรเด็ก โดยจนถึงขณะนี้มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุระหว่าง 3-11 ปีไปแล้วมากกว่า 3.5 ล้านโดส
นโยบาย “ความอดทนเป็นศูนย์” ที่จีนใช้ควบคุมโควิด-19 นำมาซึ่งคำสั่งล็อกดาวน์ และทำให้ชาวจีนนับล้านๆ คนถูกจำกัดการเดินทางภายในประเทศ จนในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แนวทางของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
กวน อี้ (Guan Yi) นักไวรัสวิทยาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกง เรียกร้องให้รัฐบาลจีนตรวจประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอ และย้ำว่า “การปิดเมืองเพื่อตรวจหาเชื้อทุกๆ ครั้งที่เกิดการระบาด หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยปราศจากข้อมูล ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง”
รัฐบาลจีนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับคนในประเทศไปแล้วประมาณ 2,300 ล้านโดส ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่วัคซีนทั้ง 5 ชนิดที่ได้รับอนุญาตใช้งานในจีนถูกระบุว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 50-82% ซึ่งต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA ของตะวันตกอย่างไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา
รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นในสัปดาห์นี้ หลังพบผู้สูงอายุล้มป่วยมากขึ้น และมีการติดเชื้อหลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้ว (breakthrough infections) ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ข้อมูลสถิติของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรงเพิ่มจาก 300 คนเศษในเดือน ต.ค. เป็น 460 คนในวันพุธ (10) โดยกว่า 80% เป็นผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี
ซอน ยังแร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโส ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นยังไม่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และยังมีเตียงไอซียูว่างอยู่อีกเกือบ 500 เตียง
อย่างไรก็ดี ซอน ยอมรับว่าอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยหนักและจำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน คือปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องขบคิดเพื่อกำหนดแนวทางตอบสนองที่เหมาะสมต่อไป
แม้สัดส่วนผู้ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนในเกาหลีใต้จะยังอยู่ที่ราวๆ 85.5 ต่อประชากรที่ฉีดวัคซีน 100,000 คน ซึ่งถือว่าต่ำมาก แต่กระนั้นก็เริ่มมีสัญญาณเตือนการติดเชื้อแบบ breaktrough มากขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อีกทั้งภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนก็จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนและมีอาการรุนแรง พบว่า 93% เป็นผู้ที่อายุเกิน 60 ปี
ปัจจุบันมีชาวเกาหลีใต้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 640,000 คน หลังจากที่รัฐเริ่มโครงการฉีดเข็มกระตุ้นในเดือนที่แล้ว โดยวัคซีนส่วนใหญ่ที่ใช้คือวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา
เกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดทางสังคมลงในเดือนนี้ หลังจากที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมคนวัยผู้ใหญ่เกือบ 90% หรือ 77% หากนับรวมประชากรทั้งประเทศ 52 ล้านคน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยอมรับว่าอาจจะต้องนำมาตรการตัดวงจรการระบาด หรือ ‘circuit breaker’ มาใช้ หากอัตราการครองเตียงผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล แต่ก็ไม่ระบุชัดเจนว่าจะต้องมากเท่าไหร่
- WHO รอวัคซีนโควิดรุ่นสอง มีแบบพ่นจมูก-ปาก
ดร.ซุมยา สวามีนาธัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุในวันอังคาร (9) ว่ากำลังรอคอยวัคซีนป้องกันโควิด-19 “รุ่นที่สอง” ซึ่งจะมาในรูปของสเปรย์พ่นจมูกและปากด้วย โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้กระจายวัคซีนมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และอาจถึงขั้นที่ประชาชนสามารถใช้วัคซีนเองได้
ดร. สวามีนาธัน เผยด้วยว่า เวลานี้มีวัคซีนตัวเลือกที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบกับคนทั้งหมด 129 ชนิด และอีก 194 ชนิดอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาในห้องปฏิบัติการ
“วัคซีนเหล่านี้ครอบคลุมเทคโนโลยีทั้งหมดที่มี และแม้จะอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ดิฉันเชื่อว่าน่าจะมีบางตัวที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่บางตัวอาจจะไม่”
ดร.สวามีนาธัน ชี้ว่า ปัจจุบันบางประเทศมีการใช้วัคซีนแบบพ่นจมูกเพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งวัคซีนรูปแบบนี้มีข้อดีตรงที่สามารถจัดการกับไวรัสได้ก่อนที่มันจะลงปอดและก่อปัญหาใหญ่ตามมา
เธอย้ำด้วยว่า แม้ไม่ได้ใช้ป้องกันโควิด-19 แต่เทคโนโลยีเหล่านี้อาจนำไปต่อยอดเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต
ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 7 ตัวที่ได้รับอนุมัติจาก WHO ให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวค และล่าสุดคือวัคซีนของบริษัท ภารัต ไบโอเทค สัญชาติอินเดีย
“ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่สามารถป้องกันกันติดเชื้อได้ 100% แต่แค่ 90% ก็ถือว่าเป็นการปกป้องที่ยอดเยี่ยมมากแล้ว เมื่อเทียบกับศูนย์” ดร.สวามีนาธัน กล่าว
แม้ว่าทั่วโลกจะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 7,250 ล้านโดส แต่จากข้อมูลของ Our World in Data พบว่ายังมีประชากร “เกินครึ่งโลก” ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว และอัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่า 5% ในกลุ่มประเทศยากจน
องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้ออกมาเรียกร้องเมื่อเดือนที่แล้วให้ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G20 สนับสนุนเงินทุน 23,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีน, ชุดตรวจ และยารักษาโควิด-19 ให้กับประเทศที่ยากจนภายในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า