US-China ties will be tense, but not to the point of war
By KEN MOAK
05/11/2021
เมื่อปอกเปลือกมองลึกเลยไปจากการแสดงท่าทีทางการเมือง ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างทราบดีว่าสันติภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ซึ่งทรงความสำคัญมากที่สุด
จีนคือศัตรูของอเมริกันเมื่อช่วงทศวรรษ 1950 ก่อนที่ทั้งคู่จะพลิกกลับมาเป็นพันธมิตรกันในทศวรรษ 1970 และมาถึงเวลานี้จีนก็กำลังถูกหมายหัวเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐฯอีกแล้ว การขึ้นๆ ลงๆ อย่างแรงๆ เช่นนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ถูกชี้นำโดยผลประโยชน์แห่งชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อนของพวกเขา
เมื่อพิจารณาด้วยทัศนะมุมมองอย่างนี้แล้ว เราย่อมสามารถทำนายได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างกว้างไกลที่สุดและมีความสลับซับซ้อนมากที่สุดนี้ จะยังคงอยู่ในภาวะตึงเครียดต่อไป ทว่าจะไม่เสื่อมทรามลงจนถึงขั้นเข้าสู่สงครามหรือเกิดการหย่าร้างแยกขาดจากกันทางเศรษฐกิจภายในระยะเวลาอันใกล้ๆ นี้
ประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน
จีนกับสหรัฐฯเปิดศึกสู้รบกันอย่างดุเดือดในสงครามเกาหลี (ปี 1950-1953) สืบเนื่องจากมีผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ขัดแย้งกัน สหรัฐฯเข้าสู่สงครามครั้งนั้นเพราะต้องการรักษาคาบสมุทรเกาหลีไม่ให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และธำรงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายอเมริกันในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเอาไว้ ส่วนจีนเข้าสู่การทะเลาะต่อยตีคราวนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้กองทหารสหรัฐฯข้ามชายแดนเกาหลีเหนือเข้าไปในอาณาเขตของตน
อย่างไรก็ตาม พอถึงทศวรรษ 1960 ขณะที่ความขัดแย้งอย่างหนึ่งได้รับการแก้ไขคลี่คลาย ความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งก็กลับปรากฏขึ้นมา นั่นคือ สหภาพโซเวียตกับจีนเกิดงัดข้อกันอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่แล้วเนื่องมาจากข้อพิพาททางชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง นอกเหนือจากประเด็นปัญหาอย่างอื่นๆ ทั้งนี้สองประเทศที่เคยเป็นสหายเคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน ถึงขนาดสู้รบกันในสงครามชายแดนช่วงสั้นๆ ด้วยซ้ำในทศวรรษ 1960
สหรัฐฯได้เข้าฉวยคว้าหาประโยชน์จากความแตกร้าวระหว่างสหภาพโซเวียต-จีน ในเวลานั้นประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้ที่เวลานี้ล่วงลับไปแล้ว ได้เดินทางไปเยือนจีนในปี 1972 เพื่อหาทางสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ด้วยจุดมุ่งหมายของการร่วมมือกันต้านทานสหภาพโซเวียต และ เหมา เจ๋อตง กับคณะผู้นำคอมมิวนิสต์ของจีนก็ตอบรับกับการแสดงท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐฯ
“การผ่อนคลายความตึงเครียด” (detente) ครั้งนั้น ช่วยให้จีนหลุดพ้นจากภัยคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ที่โซเวียตจะเป็นฝ่ายริเริ่มขึ้นมา
อย่างไรก็ดี การล่มสลายจากภายในของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1990 ได้เปลี่ยนแปลงการคาดคำนวณทางด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ตลอดจนสิ่งที่ถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯกันอย่างมโหฬาร ถึงแม้ “เงินปันผลแห่งสันติภาพ”( peace dividend) ซึ่งทึกทักกันเอาไว้ว่าจะเป็นดอกผลจากการพังทลายของโซเวียตนั้น ไม่ได้เคยขึ้นมาจริงๆ เลยก็ตามที
การที่สหรัฐฯลดงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมลง กลับส่งให้พวกรัฐที่พึ่งพาอาศัยอุตสาหกรรมกลาโหมอย่างเช่น แคลิฟอร์เนีย ตกลงสู่ความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจ สภาวการณ์เช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯอีกคำรบหนึ่ง มีการชุบชีวิตการพัฒนาอาวุธและการผลิตอาวุธขึ้นมาใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐดังกล่าวนี้
แต่เพื่อสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การตั้งงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมขนาดมหึมา สหรัฐฯจำเป็นจะต้องมี “ศัตรู” รายใหม่ และจีนก็กลายเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะเหม็งสมบูรณ์แบบในเรื่องนี้ เพราะจีนนั้นเคยเป็น (และเวลานี้ก็ยังคงเป็น) คอมมิวนิสต์ รวมทั้งกำลังกลายเป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การกล่าวหาว่า แดนมังกรเป็น “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ” ดูมีความน่าเชื่อถือ
ความย้อนแย้งมีอยู่ว่า “ภัยคุกคามจากจีน” ที่รับรู้เข้าใจกันเช่นนี้ กลับกลายเป็นคำพยากรณ์แบบที่ถ้าหากเชื่อถือแล้วก็จะยิ่งกลายเป็นความจริงขึ้นมา ชาติเอเชียรายนี้ได้กลายเป็นผู้ทรงพลังอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, และการทหาร นี่ทำให้จีนสามารถที่จะต้านทานผลักไสการใช้อำนาจบังคับของสหรัฐฯทั้งในทางการทหารและทางเศรษฐกิจให้ต้องถอยหลังกลับไป
แท้ที่จริงแล้ว หลักฐานสถิติข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ความพยายามต่างๆ ของสหรัฐฯในการปิดล้อมจำกัดควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน กลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม โดยกำลังสร้างความเสียหายให้แก่อเมริกาเองมากกว่าแก่จีน
ความโง่เขลาของนโยบายต่อต้านจีน
การมุ่งหน้าประณามกล่าวหาจีนว่าเป็นผู้แพร่กระจายโรคโควิด-19 แทนที่จะมุ่งหน้าเน้นหนักในเรื่องการจัดการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม ลงท้ายก็จบลงด้วยการเกิดการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสร้ายนี้อย่างใหญ่โตมหึมาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว ความลำบากเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯก็มีแต่เลวร้ายลงไปอีก ตัวเลขอัตราเติบโตอยู่ในระดับต่ำ แถมยังเติบโตอยู่ได้ก็เพียงเพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ขนาดมากมายมหาศาลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือเรียกย่อๆ ว่า เฟด)
อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปเพื่อสร้างอุปสงค์มาขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เป็นการบิดเบือนดุลยภาพของหลักอุปสงค์-อุปทาน จึงกำลังจุดชนวนให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมา และตัวเลขเงินเฟ้ออันน่ากังวลใจนี้ก็ก่อให้เกิดความหวาดกลัวกันว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย, นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า stagflation นั่นคืออัตราการเติบโตชะงักงันและอัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงในเวลาเดียวกัน
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในเวลานี้
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในวันนี้ สามารถกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับต่ำเตี้ยที่สุดนับตั้งแต่ที่สองประเทศสถาปนาสายสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 1979 โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีผลประโยชน์แห่งชาติที่ปะทะขัดแย้งกัน การที่จีนสามารถผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วและอย่างมโหฬารราวกับเป็นปรากฏการณ์ ถูกหลายฝ่ายหลายคนในสหรัฐฯรับรู้เข้าใจเอาว่าคือภัยคุกคาม โดยกำลังทำให้จีนสามารถที่จะแข่งขันชิงดีกับสหรัฐฯในแทบจะทุกภาคส่วนของปริมณฑลทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำไปจนถึงผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ หนึ่งในกรณีเช่นนี้ที่สำคัญมากๆ คือ ภาคส่วนเทคโนโลยี
จีนได้กลายเป็นผู้นำในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเจเนอเรชั่นที่ 5 (5จี) , ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ เอไอ) และเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้พวกบริษัทเทคสหรัฐฯตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการใช้ข้อแก้ตัวว่ามันเป็นเรื่อง “ความมั่นคงแห่งชาติ” ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯในขณะนั้น ได้ประกาศสงครามเล่นงานพวกบริษัทเทคโนโลยีจีน อย่างเช่น หัวเว่ย และ แซดทีอี ถึงแม้ว่าระหว่างเวลาหลายๆ ปีที่สหรัฐฯได้ใช้พวกผลิตภัณฑ์หัวเว่ยอยู่นั้น ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ปรากฏขึ้นมาเลยว่าจีนได้ใช้เทคโนโลยีของตนเพื่อโจรกรรมความลับต่างๆ ของสหรัฐฯ
พูดง่ายๆ ก็คือว่า การผงาดขึ้นมาของจีนได้ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหรัฐฯย่ำแย่ตกต่ำลงไป สืบเนื่องจากประเทศทั้งสองมองเรื่องนี้จากทัศนะมุมมองที่แตกต่างกัน จีนนั้นต้องการที่จะปรับปรุงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของตน และแบ่งปันแลกเปลี่ยนสัมฤทธิผลทางเศรษฐกิจของตนกับทั่วโลก ส่วนสำหรับสหรัฐฯแล้ว การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นภัยคุกคามต่อฐานะครอบงำทั้งทางเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, และการทหารของตน ด้วยเหตุนี้ จึงกำลังบ่อนทำลายผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกัน
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน?
เมื่อพิจารณาจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯกำลังได้คะแนนความยอมรับผลงานในระดับต่ำ ขณะที่รัฐสภาอเมริกันก็ถูกครอบงำด้วยกระแสต่อต้านจีนอย่างท่วมท้น รวมทั้งมติมหาชนอเมริกันก็มีทัศนะทางลบต่อจีน เหล่านี้น่าจะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนตกต่ำเลวร้ายลงไปอีกและมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เวลานี้นอกเหนือจากการป่าวร้องโฆษณาชวนเชื่ออย่างเคยๆ โดยใช้วาทกรรรมต่อต้านจีนจำพวก “ละเมิดสิทธิมนุษยนชน” และ “มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแบบล่าคนอื่นเป็นเหยื่อ” แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯยังกำลัง “เล่นไพ่ไต้หวัน” อย่างเต็มที่อีกด้วย
วอชิงตันกับไทเปเพิ่งออกมายอมรับว่ามีทหารอเมริกันอยู่บนเกาะแห่งนั้นเพื่อฝึกอบรมกองทหารไต้หวัน เวลาเดียวกัน คณะบริหารไบเดนกำลังรบเร้าพวกรัฐสมาชิกของสหประชาชาติอนุญาตให้ไต้หวันเข้าร่วมในบรรดาองค์กรที่อยู่ในเครือข่ายของยูเอ็น อย่างเช่น องค์การอนามัยโลก และตัวไบเดนเองยังได้แสดงความคิดเห็นที่อ้างว่าโพล่งออกมาแบบ “ไม่ได้คิดเตรียมการล่วงหน้า” ในเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐฯจะเข้าพิทักษ์ปกป้องไต้หวันอย่างไรหรือไม่ ถ้าหากไต้หวันถูกโจมตี (โดยจีน)
ไต้หวันนั้นคือพื้นที่เส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดซึ่งมีสีแดงเข้มที่สุดของจีน การส่งเสริมให้กำลังใจหรือการสนับสนุนไต้หวันประกาศเอกราชในทางนิตินัย เป็นไปได้อย่างที่สุดว่าจะเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนให้พุ่งพรวด โดยมีศักยภาพที่จะนำไปสู่สงคราม มันไม่ใช่เรื่องพูดเกินเลยความจริงหรอกที่จะเสนอแนะว่าจีนจะใช้วิธีการทางทหารเพื่อบดขยี้ทำลายล้างการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการของไต้หวัน แม้กระทั่งว่าไบเดนกระทำตามคำมั่นสัญญาของเขาในการพิทักษ์ปกป้องเกาะแห่งนี้ก็ตาม
ในความพยายามที่จะหันเหมติมหาชนอเมริกัน ที่ให้คะแนนลบแก่ผลงานภายในประเทศของเขา ไบเดนกำลังเล่นไพ่จีน ด้วยการเผยแพร่รายงานของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯว่าด้วยต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาที่เป็นตัวก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจโควิด-19 ถึงแม้ผลสรุปของรายงานนี้ยังคงออกมาในลักษณะไม่ได้ชี้ขาดแน่นอนชัดเจน แต่ก็สามารถทำนายล่วงหน้าได้อยู่แล้วว่ามันจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนวาทกรรมที่ว่าไวรัสนี้น่าจะถูกเผยแพร่ออกมาจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Virology Institute) ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนยิ่งตกต่ำย่ำแย่ต่อไปอีก
และแม้กระทั่งถ้าหากว่า ตัวไบเดนจริงๆ แล้วต้องการที่จะรีเซ็ตความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนเสียใหม่ เขาก็กำลังถูกบีบรัดจำกัดให้ไม่สามารถกระทำเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในสหรัฐฯที่กำลังต่อต้านจีนอย่างแรงกล้า การทำท่า “อ่อน” กับจีน มีแต่จะเร่งให้พวกสมาชิกรัฐสภาส่วนข้างมากในทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาเขาว่า “พะเน้าพะนอ” จีน และเพิ่มความเป็นไปได้ที่พรรคเดโมแครตของไบเดนจะสูญเสียฐานะการครองเสียงข้างมากในสภาทั้งสองในการเลือกตั้งกลางเทอมปีหน้า ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงต่อไปจากนั้น
ส่วนที่กล่าวว่า สหรัฐฯกับจีนจะไม่ถอยลงต่ำจนถึงขั้นเข้าสู่การสู้รบขัดแย้งทางเศรษฐกิจหรือทางทหารแบบจัดเต็ม ก็เพราะว่าความเสียหายแบบพลอยฟ้าพลอยฝนที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย จะอยู่ในระดับใหญ่โตมหึมาจนเกินกว่าที่จะนำมาใคร่ครวญพิจารณากัน สหรัฐฯกับจีนต่างเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ซึ่งมีศักยภาพที่จะถล่มอีกฝ่ายหนึ่งให้หายไปจากแผนที่ รวมทั้งพลอยทำให้ส่วนอื่นๆ อีกจำนวนมากของโลกสูญสลายไปด้วย นอกจากนั้นแล้ว ระบบเศรษฐกิจทั้งสองนี้ยังมีการพัวพันเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง แต่ละฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อประคับประคองการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสังคม
เมื่อวิเคราะห์กันอย่างถึงที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะยังคงอยู่ในลักษณะขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่จะไม่มีความขัดแย้งร้ายแรงทางเศรษฐกิจหรือทางการทหาร เนื่องจากอย่างไรเสีย การพยุงรักษาความมั่งคั่งรุ่งเรืองและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเอาไว้ให้ได้ ย่อมถือเป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
เคน โมค เคยสอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer