xs
xsm
sm
md
lg

เฟซบุ๊กเตรียมปิด ‘ระบบจดจำใบหน้า’ ในบัญชีผู้ใช้กว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฟซบุ๊ก อิงค์ ประกาศปิดการใช้งานระบบจดจำใบหน้า (face recognition) ซึ่งจะระบุตัวตนของผู้ใช้ผ่านภาพถ่ายและวิดีโอโดยอัตโนมัติภายในอีกไม่กี่สัปดาหน้าข้างหน้านี้ หลังเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์มานานว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัว

เจอโรม พีเซนติ รองประธานฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของเฟซบุ๊ก เขียนไว้ในบล็อกโพสต์เมื่อวันอังคาร (2 พ.ย.) ว่า “หน่วยงานกำกับดูแลยังอยู่ระหว่างจัดทำกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีประเภทนี้ และด้วยความไม่แน่นอนดังกล่าว เราจึงเชื่อว่าการจำกัดการใช้งานระบบจดจำใบหน้าจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม”

การถอดระบบจดจำใบหน้าออกจากสื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกมีขึ้น หลังจากที่มีเสียงร้องเรียนอยู่เนืองๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชี้ว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้าซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจค้าปลีก, โรงพยาบาล และอื่นๆ เพื่อจุดประสงค์ด้านความปลอดภัย อาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัว กลายเป็นเครื่องมือกดขี่คนชายขอบ หรือทำให้การสอดแนมกลายเป็นเรื่องปกติไป

ก่อนหน้านี้ บริษัทไอบีเอ็มได้ประกาศหยุดจำหน่ายและเลิกพัฒนาระบบจดจำใบหน้าอย่างถาวรไปแล้ว ขณะที่ไมโครซอฟต์และแอมะซอนก็ระงับการจำหน่ายเทคโนโลยีประเภทนี้แก่ตำรวจแบบไม่มีกำหนด

สำหรับ เฟซบุ๊ก ซึ่งเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมตา แพลตฟอร์มส อิงค์ (Meta Platforms Inc) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็กำลังถูกหน่วยงานกำกับดูแลและนักการเมืองในสหรัฐฯ เพ่งเล็งเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม

เฟซบุ๊ก ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เข้าใช้งานเป็นประจำทุกวันเลือกที่จะเปิดโหมดจดจำใบหน้าไว้ และทางบริษัทเตรียมที่จะลบเทมเพลตจดจำใบหน้าในบัญชีผู้ใช้มากกว่า 1,000 ล้านราย โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.

มาตรการนี้ยังมีผลครอบคลุมถึงระบบใส่ข้อมูลบรรยายภาพอัตโนมัติ (automatic alt text) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถเข้าใจรูปภาพได้ โดยจะไม่มีการระบุชื่อของบุคคลในภาพอีกต่อไป แต่รายละเอียดส่วนอื่นๆ ยังคงทำงานเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กย้ำว่าบริษัทไม่ได้ปิดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากเห็นว่ายังเป็น “เครื่องมือที่ทรงพลัง” สำหรับการใช้งานในบางวัตถุประสงค์ เช่น การตรวจสอบยืนยันตัวตน เป็นต้น

เฟซบุ๊กเผชิญมรสุมด้านกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2019 คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ (FTC) ได้สั่งปรับเฟซบุ๊กเป็นเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยเกี่ยวกับกรณีที่ข้อมูลผู้ใช้ราว 87 ล้านบัญชีถูกนำไปขายให้กับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล เคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) ซึ่งในตอนนั้นก็มีการอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับระบบจดจำใบหน้าของเฟซบุ๊กด้วย

ล่าสุดในปีนี้ เฟซบุ๊กก็ต้องยอมจ่ายอีก 650 ล้านดอลลาร์เพื่อไกล่เกลี่ยคดีความที่มีกลุ่มผู้เสียหายยื่นฟ้องศาลในรัฐอิลลินอยส์ กรณีที่เฟซบุ๊กรวบรวมและเก็บข้อมูลชีวมิติ (biometric data) ของผู้ใช้โดยไม่ขออนุญาต

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น