ขณะที่จำนวนผู้วายชนม์ด้วยไวรัสโคโรนาขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำสถิติทะลุหลักหมายที่ 5 ล้านราย เมื่อวันฮาโลวีน 31 ตุลาคม 2021 ที่ตัวเลข 5,013,268 นั้น ภายใน “แบร์กาโม” เมืองแสนสวยของอิตาลี ที่ต้องบอบช้ำสาหัสจากการโจมตีระลอกแรกของโรคโควิด-19 ในดินแดนรองเท้าบู้ต ชาวเมืองช่วยกันสร้างสวนป่าเชิงสัญลักษณ์ประทับใจขึ้นมา เพื่ออุทิศแด่ผู้เสียชีวิตจากมหาวิบัติโรคระบาด พร้อมกับจะให้เป็นเครื่องรักษาความทรงจำรำลึกถึงผู้วายชนม์
ทั้งนี้ สวนป่าที่ระลึก ซึ่งปลูกสร้างขึ้นภายในสวนสาธารณะตรงข้ามโรงพยาบาลใหญ่ที่กลายเป็นเรือนตายของผู้ป่วยหนักด้วยเชื้อโควิด 19 และต้องจากไปในอาการขาดอากาศหายใจ ถูกหมายให้ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนขึ้นมาหล่อเลี้ยงมนุษยชาติ
แบร์กาโม ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของอิตาลี เป็นหนึ่งในชุมชนต่างๆ มากมายทั่วโลก ที่สรรค์สร้างอนุสรณ์สถานเครื่องรำลึกถึงชีวิตผู้คนซึ่งสูญเสียไปในโรคระบาดใหญ่ ขณะที่ยอดผู้วายชนม์ที่ยืนยันแล้วในทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและผ่านหลัก 5 ล้านอันน่าสะเทือนใจไปเรียบร้อยแล้ว
อนุสรณ์สถานและเครื่องรำลึกเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาได้อย่างลึกซึ้งและน่าทึ่ง โดยบางแห่งมาจากจินตนาการของศิลปิน บางแห่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มประชาชน และในอีกหลายๆ แห่งนั้น เป็นการแสดงออกถึงความเจ็บปวด เศร้าสลดและความคับข้องทรมานใจของผู้คน ซึ่งปะทุออกมาเองอย่างซื่อๆ ง่ายๆ แต่จับใจ ในการนี้ ในทุกหนทุกแห่ง ภารกิจของการสร้างเครื่องรำลึกร่วมกันขึ้นมาล้วนประสบความยากลำบาก ภายในสถานการณ์ที่โรคระบาดใหญ่ยังเชี่ยวกรากและห่างไกลจากการพ่ายแพ้ โดยที่ยังมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาให้ต้องรู้สึกเศร้าโศกเสียใจไม่ขาดสาย
เครื่องรำลึกซึ่งได้พบเห็นกันมากได้แก่ ธงขนาดเล็ก รูปหัวใจ และแถบริ้วริบบิ้น วัสดุเรียบง่ายเหล่านี้มุ่งให้เป็นตัวแทนของเหยื่อผู้วายชนม์จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และติดประดับตามอนุสรณ์สถานซึ่งแลดูงดงามสะดุดตาน่าประทับใจ ตั้งแต่ในกรุงลอนดอนจนถึงวอชิงตัน ดี.ซี. และจากบราซิลจรดไปถึงแอฟริกาใต้
‘ทุ่งธงขาว’ ที่ระลึกผู้วายชนม์จากไวรัสโคโรนา ณ วอชิงตัน ดี.ซี.
ณ อุทยานแห่งชาติ “เนชั่นแนล มอลล์” (National Mall) ในนครหลวงของสหรัฐอเมริกา ธงเล็กๆ สีขาวอันมากมายมหาศาลที่ปักเรียงรายไปทั่วพื้นที่กว้างขวางราว 50 ไร่ สร้างแรงกระทบต่อหัวจิตหัวใจของผู้พบเห็นได้รุนแรง ธงแต่ละธงมุ่งเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันแต่ละคนจำนวนรวมแล้วกว่า 740,000 ราย ซึ่งถูกคร่าชีวิตไปโดยโควิด-19 ตัวเลขตรงนี้ถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการสูงที่สุดยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก
หนึ่งในผู้ได้รับการเชิดชูรำลึกถึงจากทุ่งธงขาวแห่งนี้ คือ ดร.แครีย์ อเล็กซานเดอร์ วอชิงตัน แห่งรัฐเซาท์แคโรไลนา ผู้เสียชีวิตขณะอายุ 80 ปี เขาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันครบถ้วน แต่ก็ได้รับเชื้อไวรัสนี้ขณะที่ยังคงทำงานในฐานะนักจิตวิทยาคลินิกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อิซซี่ หลานสาววัย 6 ขวบของเขาเป็นลมล้มพับด้วยความเศร้าเสียใจเมื่อได้เห็นธงที่เขียนชื่อ “ป๊าป๋า” ของเธอ โดยช่วงจังหวะดังกล่าวมีช่างภาพผู้หนึ่งถ่ายภาพเอาไว้ได้พอดี และนำออกมาแชร์ทางทวิตเตอร์
“ครอบครัวดิฉันก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ เรายังเศร้าเสียใจกันอยู่ค่ะ” ทันยา บุตรสาวของดร.วอชิงตันกล่าว เธอเดินทางจากเมืองแอตแลนตามาเยี่ยมอนุสรณ์สถานแห่งนี้ “เราถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะร่วมเป็นประจักษ์พยานถึงการให้เกียรติแก่พวกเขา มันเป็นการให้ปากให้เสียงแก่ผู้เป็นที่รักของพวกเราทุกๆ คนที่ต้องสูญเสียชีวิตไป”
‘กำแพงแห่งดวงใจ’ ณ กรุงลอนดอน
ในกรุงลอนดอน เครื่องรำลึกที่ทำเป็นกำแพงอนุสรณ์ ก็ถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียพร้อมกับเชิดชูผู้วายชนม์ได้ในทำนองเดียวกัน กำแพงยาวเหยียดเลียบริมแม่น้ำเทมส์ ถูกประดับด้วยรูปหัวใจสีชมพูและสีแดง ซึ่งบรรดาญาติมิตรของผู้จากไปเพราะไวรัสโควิด ได้มาเพนต์และเขียนข้อความไว้อาลัยเอาไว้
หากเราเดินทางตลอดแนวกำแพงอนุสรณ์แห่งนี้โดยไม่หยุดอ่านชื่อและข้อความรำลึกใดๆ เลย เราต้องใช้เวลานานถึง 9 นาทีเต็ม ดวงใจงดงามเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาจำนวนมากกว่า 140,000 คนในสหราชอาณาจักร อันเป็นยอดสูงสุดอันดับ 2 ของยุโรป โดยเป็นรองลงมาจากรัสเซียเท่านั้น แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก จำนวนที่แท้จริงนั้นประมาณการกันว่าน่าจะสูงกว่านั้นเยอะ นั่นคือไม่น้อยกว่า 160,000 ราย
“มันกระแทกความรู้สึกของผู้ที่ได้พบเห็น” ฟราน ฮอลล์ โฆษกหญิงของกลุ่ม “ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เรียกร้องความยุติธรรม” (COVID-19 Bereaved Families for Justice) กล่าว ตัวเธอเองสูญเสียสามี สตีฟ มีด ในเดือนกันยายน 2020 หนึ่งวันก่อนวันเกิดครบรอบ 66 ปีของเขา
“ทุกๆ ครั้งที่พวกเรามากันที่นี่ ผู้คนจะแวะมาคุยกับพวกเรา บ่อยครั้งเลยที่พวกเขารู้สึกสะเทือนใจจนน้ำตาไหลขณะที่พวกเขาเดินจากไป และขอบคุณพวกเรา”
ธงประท้วงนับพันที่บราซิล โจมตี ปธน. แก้ปัญหาโควิด 19 ล้มเหลว และริบบิ้นน้ำเงิน-ขาวที่รั้วโบสถ์ในแอฟริกาใต้
ในกรุงบราซีเลีย เมืองหลวงของบราซิล ญาติมิตรของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ร่วมกันปักธงเล็กๆ สีขาวจำนวนหลายพัน ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาบราซิลเป็นเวลา 1 วัน เพื่อประท้วงนโยบายแก้ปัญหาวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ที่ประธานาธิบดีดำเนินการได้ล้มเหลว และเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 600,000 ราย การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ มุ่งหมายที่จะกระตุ้นความตระหนักรับรู้ถึงโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่บราซิลสร้างสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสโคโรนา สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ส่วนในแอฟริกาใต้ ผู้คนนำเอาริบบิ้นสีน้ำเงินและสีขาวมาผูกไว้กับรั้วของโบสถ์เซนต์เจมส์เพรสไบทีเรียน ในเมืองเบดฟอร์ดการ์เดนส์ ทางด้านตะวันออกของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจำนวน 89,000 คน ริบบิ้นสีน้ำเงินแต่ละเส้นมุ่งให้หมายถึงจำนวน 10 ชีวิต ส่วนสีขาวคือ 1 ชีวิต
อนุสรณ์สถานและเครื่องระลึกเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้จากไป ถูกเสกสรรค์และพัฒนาขึ้นอย่างหลากหลายลึกซึ้งในนานาประเทศทั่วโลก
การจดจำรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตในสงคราม การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน และแม้กระทั่งวิกฤติการณ์ระบบสาธารณสุข นั้น มีการวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดหลายยุคหลายสมัย
นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อนุสาวรีย์ชัยชนะของเหล่านายพลผู้พิชิตต้องหลีกทางและถูกแทนที่โดย สุสานทหารนิรนาม เพื่อเป็นการระลึกถึงการพลีชีพเสียสละของทหารธรรมดาสามัญทั้งหลาย ทั้งนี้ อนุสาวรีย์ประตูชัย (Arche de Triomphe) ในกรุงปารีส เป็นหนึ่งในอนุสรณ์แรกๆ ในแนวคิดดังกล่าว
“สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นหลักหมายสำคัญ ซึ่งดูจะสอดคล้องเข้ากันกับยุคของเราเป็นพิเศษ เนื่องจากมันตามหลังมาด้วยโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ปี 1918” หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน นี่เป็นความเห็นของ เจนนิเฟอร์ แอลเลน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ ผู้ซึ่งสนใจศึกษาเรื่องวัฒนธรรมของเครื่องจดจำและอนุสรณ์สถาน
อย่างไรก็ดี โรคระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่สเปนคราวนั้น ดูแทบไม่ค่อยได้รับการรำลึกกันเอาเสียเลย ส่วนหนึ่งเนื่องจากความสนใจไปโฟกัสอยู่ที่เรื่องผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1
“มันเป็นยุคที่มีคนตายกันมากมาย” แอลเลนตั้งข้อสังเกตอย่างนั้น พร้อมกับชี้ว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาพูดถึงผู้คนในรุ่นมหาสงครามครั้งนั้น จะเรียกกันว่าเจเนอเรชั่นที่สูญหาย หรือ The Lost Generation
การเสกสรรค์ที่ลึกซึ้งมากขึ้นในยุคสมัยต่อมา คือ เครื่องจดจำต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นข้อพิสูจน์อันสำคัญและกระจ่างชัดถึงยุคสมัยที่มนุษย์เข่นฆ่ากันอย่างมโหฬาร เครื่องจดจำเหล่านี้มีตั้งแต่อนุสรณ์สถานขนาดใหญ่โตและสร้างตามแบบประเพณีนิยม เช่น อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust Memorial) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ไปจนถึงเครื่องระลึกจดจำที่มีลักษณะสร้างอุทิศให้เป็นส่วนบุคคล ซึ่งจะมีการระบุชื่อเหยื่อเอาไว้ อย่างเช่นสิ่งที่เรียกกันว่า Stumbling Stones ที่ด้านนอกของอาคารซึ่งชาวยิวเคยพำนักอาศัยก่อนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ส่วนสำหรับวิกฤติการณ์ระบบสาธารณสุข ไม่เคยได้รับการระลึกจดจำกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ เลย จวบจนกระทั่ง การระบาดและการเสียชีวิตของผู้คนมหาศาลสืบเนื่องจากโรคเอดส์ โดยมีการจัดทำ โครงการต่อผ้าควิลท์ เพื่อระลึกผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (AIDS quilt)
โดยญาติมิตรของผู้เสียชีวิตนำเอาผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสผืนเล็กๆ ซึ่งมุ่งอุทิศเป็นเครื่องรำลึกถึงผู้วายชนม์ มาเย็บต่อเข้ากับผืนผ้าของคนอื่นๆ จนกระทั่งกลายเป็นผลงานศิลปะผ้าควิลท์ผืนใหญ่มหึมา และนำไปวางแสดงในที่สาธารณะ ทั้งนี้ผ้าควิลท์ผืนนี้ถูกต่อขยายไปจนกระทั่งมีผ้ามาต่อเข้าด้วยกันเกือบ 50,000 ชิ้น เพื่อเป็นตัวแทนของผู้คนมากกว่า 105,000 คน
แอลเลนบอกว่า เครื่องจดจำอย่างผ้าควิลท์เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และก้อนหิน Stumbling Stones มีส่วนสำคัญมากในการสร้างประเพณีเพื่อรำลึกถึงผู้คนระดับรากหญ้า และฟูมฟักบ่มเพาะความปรารถนาที่จะให้เกียรติแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตกันเป็นรายบุคคล ลักษณะทั้งสองอย่างนี้ก็กำลังปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดจนในเครื่องจดจำระลึกผู้วายชนม์จากโควิด-19
“เราต้องการที่จะเข้าไปให้ถึงบุคคลแต่ละคน ซึ่งรวมกันแล้วคือจำนวนผู้ที่เสียชีวิตนับเป็นล้านๆ คน” แอลเลนกล่าว “อย่างที่มีคนชี้ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่า คนที่เสียชีวิตเหล่านี้มีทั้งคุณแม่ คุณพ่อ พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ลูกๆ หลานๆ เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง”
เครื่องระลึกถึงผู้วายชนม์ยุควิกฤติโควิด 19 ปลอบประโลมดวงใจด้วยความซับซ้อนละเอียดอ่อน
การที่จะสร้างความทรงจำร่วมสำหรับระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น มีด้านที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนสืบเนื่องจากความโศกเศร้าเสียใจของญาติมิตรของผู้วายชมน์แต่ละคน ชดเชยให้กับตอนที่เกิดการเสียชีวิตจากการระบาดระลอกแรก ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวที่ญาติๆ ต้องทนทุกข์กับความสูญเสียกันตามลำพัง โดยที่ไม่อาจจัดงานศพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตได้ มิหนำซ้ำมีอยู่เสมอที่ผู้ป่วยต้องหมดลมหายไปไปโดยผู้เป็นที่รักของพวกเขาไม่สามารถเข้าไปอยู่ตรงนั้น หรือสัมผัสเนื้อตัวให้กำลังใจปลอบประโลมกันได้
ในอิตาลี มีการจัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก นามว่า นอย เดนุนเชเรโม (Noi Denunceremo) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ให้มีสถานที่สาธารณะขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง โดยจะเป็นสถานที่แบบเสมือนจริงก็ได้ เพื่อเอาไว้ระลึกถึงผู้เสียชีวิตในระหว่างช่วงเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบสุดเข้มครั้งแรกของอิตาลี แล้วจากนั้นจึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบาดของโควิด 19 อย่างบกพร่องล้มเหลว ข้อมูลเล่านี้ถูกส่งต่อไปยังทางฝ่ายอัยการเพื่อพิจารณาฟ้องร้องกล่าวโทษ
แต่สำหรับในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากโรคระบาดใหญ่นี้รุนแรงที่สุดในโลก ปรากฏว่าได้มีการจัดตั้งเว็บไซต์รำลึกทางออนไลน์ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 โดยใช้ยูอาร์แอล www.nationalcovidmemorial.in และมีการเชื้อเชิญให้ส่งคำร้องเพื่อให้มีการตรวจพิสูจน์ออกใบมรณบัตรที่ถูกต้อง ทว่าจวบจนถึงเวลานี้ปรากฏว่ามีผู้ส่งเรื่องเข้าไปร่วมเพียงแค่ 250 รายเท่านั้น นับเป็นสัดส่วนน้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยืนยันเป็นทางการแล้วว่ามีมากกว่า 457,000 คน (ตัวเลขนี้ยังถูกประเมินกันอย่างกว้างขวางว่าต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมากมาย)
“มันไม่ใช่แค่เป็นการจดจำระลึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เราจะสามารถแสดงความเคารพและมอบเกียรติศักดิ์ศรี” แก่ผู้วายชนม์อีกด้วย นี่เป็นความพยายามที่จะอธิบายของ อภิจิต เชาว์ธูรี แห่ง เครือข่าย “โควิด แคร์ เน็ตเวิร์ก” (COVID Care Network) ซึ่งริเริ่มจัดพิธีรำลึกขึ้นมาที่เมืองโกลกาตา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย
ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับ 2 ของรัสเซีย อนุสาวรีย์ทองสัมฤทธิ์ที่มีชื่อว่า “Sad Angel”(เทวดาผู้โศกเศร้า) ถูกนำมาติดตั้งที่บริเวณด้านนอกของวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งหนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม เพื่อยกย่องเชิดชูแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หลายสิบคนซึ่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประติมากรรมชิ้นนี้ซึ่งเป็นรูปปั้นเทวดาที่ไหล่ห่อและคอยื่นอย่างชวนให้หดหู่ใจ สร้างความปวดร้าวขมขื่นเป็นพิเศษเนื่องจากผู้ปั้นคือ โรมัน ชูสตรอฟ เองก็เสียชีวิตด้วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2020
สวนป่าอันเป็นสัญลักษณ์ชุบชูพลังเพื่อสืบสานลมหายใจแก่ปอดของมนุษยชาติ
อิตาลียังไม่มีการประกาศให้สถานที่หนึ่งใดเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติสำหรับผู้เสียชีวิตด้วยโควิด 19 ซึ่งทำสถิติยอดตายที่ยืนยันตัวเลขแล้วมหาศาลกว่า 132,000 ราย แต่ได้กำหนดวันรำลึกมหาวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ 18 มีนาคม ของทุกปี โดยในปีประเดิมนี้ นายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเคารพจิตวิญญาณของเหยื่อโควิด 19 และยืนอยู่ในดงไม้รุ่นแรกซึ่งปลูกกันในสวนป่าที่สวนสาธารณะทรูคคาของเมืองแบร์กาโม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021 อันเป็นวันครบรอบปีแรกของภาพเหตุการณ์ซึ่งชาวเมืองยังจดจำได้ดีถึงขบวนรถบรรทุกทหารช่วยกันลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตไปยังเมืองอื่นๆ เพื่อทำการณาปนกิจ ภายหลังจากสถานเก็บศพของเมืองเต็มจนล้น
นายกเทศมนตรีแบร์กาโมกล่าวว่า ทางเมืองพิจารณาข้อเสนอให้จัดสร้างอนุสาวรีย์หรือไม่ก็แผ่นป้ายจารึกชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหลาย แต่แล้วก็ปัดทิ้งไปเนื่องจากอย่างแรกดูเป็นทางการใหญ่โตเกินไป ส่วนอย่างหลังก็จะเป็นการละเลยผู้เสียชีวิตจำนวนมากซึ่งไม่ได้ถูกนับว่าสิ้นชีพเพราะโควิด-19 อย่างเป็นทางการเนื่องจากไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเชื้อ
นับถึงเดือนตุลาคม 2021 มีการปลูกต้นไม้ตามโครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานสวนป่าแล้ว 100 ต้น จากยอดรวมที่กำหนดจะปลูกกันทั้งสิ้น 700 ต้น โดยหันหน้าไปทางสถานเก็บศพของโรงพยาบาล สำหรับต้นไม้ที่ยังเหลืออยู่น่าจะปลูกกันในวันรำลึก 18 มีนาคมของปีหน้า
ที่ผ่านมา ยังไม่สรุปแผนใส่ชื่อของผู้วายชนม์ที่ต้นไม้เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ก็มีมาใส่ชื่อแล้ว 1 ราย โดยญาติมิตรผู้เป็นที่รักของผู้เสียชีวิตได้ประกาศจองต้นอ่อนต้นหนึ่งเอาไว้ ด้วยการปลูกต้นกุหลาบที่ใต้ต้นอ่อนต้นนี้ พร้อมกับมีเครื่องระลึกส่วนบุคคลแขวนเอาไว้ และมีก้อนหินสีขาวก้อนหนึ่งเขียนชื่อของผู้จากไปซึ่งเป็นที่รักใคร่ด้วยลายมือว่า “แซร์จิโอ”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี วิกิพีเดีย)