รอยเตอร์ – พลเอก มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ยืนยันเป็นครั้งแรกว่า จีนได้ทดสอบระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารระบุว่า สะท้อนความพยายามของปักกิ่งในการพัฒนาขีปนาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกก่อนวกกลับลงสู่เป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของวอชิงตัน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงการยืนยันอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการทดสอบอาวุธดังกล่าวของจีนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ของอังกฤษเป็นสื่อแห่งแรกที่รายงาน แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็วเหนือเสียงมากกว่า 5 เท่าก็ตาม
เมื่อวันพุธ (27 ต.ค.) มิลลีย์กลับยืนยันเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซ้ำบอกว่า เกือบเรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญพอกับเมื่อปี 1957 ที่รัสเซียเป็นชาติแรกในโลกที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และส่งให้มอสโกนำหน้าอเมริกาในการแข่งขันทางอวกาศในยุคสงครามเย็น นายทหารใหญ่ของอเมริกายังสำทับว่า พัฒนาการนี้ของจีนน่ากังวลอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ชี้ว่า การทดสอบอาวุธของจีนดูเหมือนออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงระบบป้องกันของอเมริกาในสองวิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ ระบบไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็วเหนือเสียงมากกว่า 5 เท่า หรือราว 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ตรวจจับและสกัดยากขึ้น
ส่วนวิธีที่สองนั้น แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์ว่า อเมริกาเชื่อว่า การทดสอบของจีนเกี่ยวข้องกับอาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกช่วงหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารระบุว่า เป็นแนวคิดสมัยสงครามเย็นที่เรียกว่า การทิ้งระเบิดจากส่วนของวงโคจร (fractional orbital bombardment-FOB)
เมื่อเดือนที่แล้ว แฟรงก์ เคนดัลล์ รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศของสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรก่อนยิงลงไปยังเป้าหมายบนโลก โดยบอกว่า อาวุธแบบนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้วิถีขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แบบเดิมที่ยิงตรงจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่ตกกระทบ จึงสามารถหลบหลีกระบบป้องกันและเตือนภัยขีปนาวุธได้
เอฟโอบียังช่วยให้จีนหลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกาในอะแลสกาที่ออกแบบมาเพื่อรับมืออาวุธจำนวนจำกัดจากประเทศอย่างเกาหลีเหนือ
เจฟฟรีย์ ลูอิส จากสถาบันการศึกษานานาชาติมิดเดิลเบอรี สรุปภาพคร่าวๆ ของเอฟโอบีของจีนว่า อาจหมายถึงกระสวยอวกาศที่ไม่มีล้อลงจอด บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในช่องเก็บสัมภาระ และกลับเข้าสู่โลกแบบเครื่องร่อน
ทางด้านกระทรวงต่างประเทศของจีนปฏิเสธว่า ไม่ได้ทดสอบอาวุธดังกล่าว แต่มีการทดสอบปกติในเดือนกรกฎาคม และไม่ใช่ขีปนาวุธ ทว่าเป็นยานอวกาศ
แม้ระบบป้องกันของอเมริกาไม่สามารถรับมือการโจมตีขนาดใหญ่จากจีนหรือรัสเซียได้ แต่การที่วอชิงตันพยายามพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มอสโกและปักกิ่งต้องหาวิธีเอาชนะระบบเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงอาวุธไฮเปอร์โซนิกและเอฟโอบี
ทั้งนี้ อเมริกาและรัสเซียก็เคยทำการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิก