xs
xsm
sm
md
lg

จีนเร่ง‘สร้างสรรค์สิ่งใหม่’ซึ่งต้อง‘รื้อทิ้งของเก่า’ ส่งผลกระทบ‘อัตราเติบโต GDP’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China’s destructive creation hits GDP growth
by David P. Goldman
19/10/2021

ผู้นำจีนต้องการที่จะโยกย้ายการลงทุนให้ออกห่างจากภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และหันไปไปสู่พวกช่องทางซึ่งมีผลิตภาพสูง ด้วยการเข้ากุมบังเหียนพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่ง “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ทว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดในบางด้านขึ้นมา

การเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารเป็นครั้งที่ 2 กำลังเดินหน้าไปในเวลานี้ และมันจะไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความเจ็บปวดบางประการขึ้นมาด้วย

อัตราเติบโตของจีดีพีจีนในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย. 2021) ที่ทำได้ 4.9% ซึ่งสำหรับแดนมังกรต้องถือว่าน้อยนิดนั้น เป็นเรื่องซึ่งทั้งย่ำแย่กว่าและก็ดีขึ้นกว่าที่มองเห็นกันภายนอก ถ้าหากตัดเรื่องการส่งออกออกไปแล้ว อัตราเติบโตของจีดีพีนี้จะหล่นลงมาเหลือแค่ราวๆ 1% โดยเหตุผลสำคัญเนื่องจากปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเวลานี้มีอัตราส่วนคิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพี

ส่วนที่ถือเป็นข่าวดีก็คือ ห่วงโซ่อุปทานทางอุตสาหกรรมของจีนสามารถฟื้นขึ้นมาได้อย่างประสบความสำเร็จ และเข้าชดเชยอินพุตทางอุตสาหกรรมการผลิตในที่อื่นๆ ของโลกซึ่งยังเผชิญภาวะสะดุดติดขัด ดังจะเห็นได้ว่าในเดือนกันยายน ยอดการส่งออกของแดนมังกรสูงขึ้น 28% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว

จีนมีความต้องการที่จะโยกย้ายการลงทุนไปสู่พวกช่องทางซึ่งมีผลิตภาพสูงในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการต่างๆ โดยถอยห่างออกจากการก่อสร้าง ยุทธศาสตร์ของแดนมังกรนั้นพึ่งพาอาศัยการเข้ากุมบังเหียนพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ของสิ่งที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเสนอเส้นทางแห่งอัตราเติบโตขยายตัวระดับสูงสำหรับประเทศที่กำลังแรงงานอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง

นี่คือไข่เจียวงามๆ ที่คณะผู้นำจีนให้สัญญาเอาไว้ แต่สิ่งที่เราจะได้รับกันอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในตอนนี้บางฟองก็ยังคงเป็นไข่แตกๆ

อย่างที่ผมได้รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 24 กันยายน ทางเจ้าหน้าที่ดูแลภาคการเงินของจีนต้องการที่จะลดราคาพวกบ้านพวกที่อยู่อาศัยลงมา โดยถือว่านี่เป็นเรื่องของนโยบายทางสังคม และพวกเขาใช้วิกฤตการณ์เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) มาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อทำเรื่องนี้แบบชนิดไม่มีการปิดบังอำพรางใดๆ ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าต้องการให้ราคาที่อยู่อาศัยลดต่ำลง ยอดขายในปัจจุบันก็พังถล่ม พวกกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับท็อป 100 รายงานว่า ยอดขายเดือนกันยายนไหลรูดลง 37% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2020 ขณะที่รายงานแบบเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ระบุว่า ราคาเสนอขายที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ลดต่ำลงมาประมาณ 30% ถึง 40% ในเมืองใหญ่ระดับ 3 และเมืองใหญ่ระดับ 4 บางแห่ง
(ข้อเขียนของเดวิด พี. โกลด์แมน วันที่ 24 ก.ย. ดูได้ที่ https://asiatimes.com/2021/09/evergrande-bubble-popped-in-time-no-lehman-moment/)
(จีนแบ่งเมืองใหญ่ๆ ของประเทศออกเป็นชั้นเป็นระดับ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_city_tier_system -ผู้แปล)

พวกที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ซึ่งอยู่ระดับบนสุด อย่างเช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, และ เซินเจิ้น เวลานี้ขายกันที่ราคาประมาณ 50 เท่าตัวของรายได้เฉลี่ยของชาวจีน อัตราส่วนเช่นนี้เป็นตัวเลขซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงไปมาก เนื่องจากปกติแล้วพวกลูกจ้างพนักงานในเมืองใหญ่ระดับบนสุดเหล่านี้ย่อมทำรายได้สูงเป็นหลายเท่าตัวของรายได้เฉลี่ย กระนั้นสภาพข้อเป็นจริงยังคงมีอยู่ว่า มีชาวจีนจำนวนมากมายซึ่งไม่สามารถซื้อหาที่อยู่อาศัยของตนเองได้

ในเมืองใหญ่สมัยใหม่ระดับ 2 อย่างเช่น เฉิงตู หรือ อู่ฮั่น อัตราส่วนของราคาที่อยู่อาศัยต่อรายได้เฉลี่ยคือ 20:1 พอๆ กับอัตราส่วนนี้ในสิงคโปร์ และเพื่อให้มองเห็นภาพในวงกว้างมากขึ้น ที่อยู่อาศัยในไทเปนั้นขายกันที่ระดับ 34 เท่าตัวของรายได้เฉลี่ย

นี่คือปัญหาทางสังคมที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนต้องการที่จะแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลง ทว่าขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการจุดชนวนทำให้เกิดความปั่นป่วนอลหม่านถึงขึ้นตลาดที่อยู่อาศัยพังครืนลงมา อัตราส่วนของหนี้สินที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าของตัวที่อยู่อาศัยยังอยู่ในระดับต่ำมากๆ ในจีนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าดังกล่าวนี้ในระดับทั่วประเทศจีนอยู่ที่เพียงแค่ 36% เมื่อปี 2016 ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาฉบับหนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเฟ) เมื่อปี 2019 ราคาที่อยู่อาศัยจะต้องหล่นลงฮวบฮาบชนิดวิบัติหายนะนั่นแหละ จึงจะส่งผลกระทบกระเทือนความน่าเชื่อถือของตลาดที่อยู่อาศัยในวงกว้าง

ทางการจีนเริ่มต้นบีบคั้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2019 เมื่ออัตราเติบโตของเงินกู้อสังหาริมทรัพย์รายใหม่ได้ไหลรูดลงมาอย่างแรง ก่อนหน้านั้น สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตตกอยู่ในอาการชะงักงันโดยมีอัตราเติบโตเท่ากับปีละ 5% ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของทศวรรษ 2010 ขณะที่เงินกู้สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวกันระดับ 10% ถึง 20% ต่อปี ดังที่แสดงให้เห็นในตารางข้างล่างนี้ แต่สภาพเช่นนี้ได้กลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้ามในปี 2019 เมื่ออัตราการเติบโตของการปล่อยกู้สำหรับอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอลง และอยู่ในระดับเพียงแค่ 5% ในไตรมาส 2 ของปี 2021 เวลาเดียวกันนั้นอัตราการขยายตัวของเงินกู้สำหรับอุตสาหกรรมได้พุ่งพรวดไปอยู่ที่ 20%


ขณะที่จีนเคลื่อนย้ายพลเมืองจำนวน 600 ล้านคนของตนจากเขตชนบทเข้าไปยังเมืองใหญ่ๆ ระหว่างเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็พองลมใหญ่โตขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยรวม ยิ่งกว่านั้น ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยซึ่งขยับสูงขึ้นไปทุกที ๆ ยังทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นเกมการพนันแบบมีแต่ได้กับได้ลูกเดียวสำหรับพวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายของจีน ซึ่งจะเที่ยวหากู้เงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ราคาสูงขึ้นไปๆ ไม่รู้จักหยุดหย่อน ตามการประมาณการครั้งหนึ่งของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ซีเคียวริตีส์ ยอดเงินกู้ที่ปล่อยให้แก่พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี้มีจำนวนสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว นี่เท่ากับประมาณ 10% ของยอดการปล่อยกู้ทางสังคมโดยรวม (ผลรวมของสินเชื่อทั้งหมดที่ปล่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ) ของจีนซึ่งอยู่ที่ราวๆ 50 ล้านล้านดอลลาร์

อัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วระหว่างทศวรรษ 2010 แต่ลดฮวบลงในช่วง 2 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เนื่องจากมาตรการจำกัดการปล่อยกู้สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ นี่เป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เมื่อคำนึงถึงว่าระบบเศรษฐกิจรายใหญ่อื่นๆ ของโลกทุกๆ ราย ต่างมีหนี้สินสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ระหว่างที่เกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19


ในปี 1992 ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นแค่มากกว่า 10% นิดหน่อยของจีดีพี แต่เมื่อมาถึงปี 2020 มันเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน 600 ล้านคน –นี่เท่ากับประชากรของทั่วทั้งยุโรป ตั้งแต่เทือกเขาอูราล ไปจนจรดมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อถึงทศวรรษ 2010 การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ก็กลายเป็นตัวฉุดรั้งผลิตภาพ อัตราเติบโตระยะยาวของปัจจัยสร้างผลิตภาพโดยรวม (long-term growth rate of total factor productivity) ซึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงในเอาต์พุตที่ออกมาเมื่อเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงในอินพุตด้านทุนและแรงงานที่ใส่เข้าไป ได้ตกลงมาจากราวๆ 3% ต่อปีในช่วงสิ้นทศวรรษ 2000 เป็นเหลืออยู่ราวๆ 1% ต่อปีในช่วงสิ้นทศวรรษ 2010


ยุทธศาสตร์ของเติ้ง เสี่ยวผิง ในการเปลี่ยนเกษตรกรระดับแค่พอยังชีพ ให้กลายเป็นคนงานอุตสาหกรรมระดับแรงงานกึ่งฝีมือ ถูกใช้งานกันจนหมดพลังไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม พวกคนงานที่เข้าสู่กำลังแรงงานทางอุตสาหกรรมเมื่อตอนที่ เติ้ง เริ่มดำเนินการปฏิรูปด้านตลาดของจีนในปี 1979 นั้น มีเพียง 2% เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ชาวจีนที่เข้าสู่กำลังแรงงานในช่วง 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา มี 27% ทีเดียวซึ่งมีปริญญาบัตร และนักเรียนมัธยมปลายของจีนทุกวันนี้ส่วนข้างมากมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ขณะที่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของจีนเวลานี้ประมาณหนึ่งในสามเรียนวิชาเอกด้านวิศวกรรม

จีนกำลังสร้างทุนมนุษย์สำหรับการพลิกผันเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภาพซึ่งตนเองจำเป็นต้องกระทำ มีนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกไม่ทราบว่าจำนวนเท่าใด ซึ่งพยากรณ์เอาไว้ว่า ต้นตอที่มาแห่งการเติบโตขยายตัวของจีนจะเหือดแห้งหมดสิ้นลง และจีนจะหกคะเมนเข้าไปติดอยู่ใน “กับดักชนชั้นกลาง” (middle-class trap) –นั่นก็คือ อ่อนแรงเกินกว่าที่จะเดินต่อไหว และติดแหง็กอยู่กับระดับรายได้ต่อหัว (per capita income) ซึ่งต่ำกว่าเยอะจากพวกประเทศของโลกอุตสาหกรรม

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งของจีนช่วงที่สอง นับตั้งแต่การปฏิวัติที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจในปี 1949 เหมา เจ๋อตงนั้นประสบความล้มเหลวอย่างเลวร้ายยิ่งในความพยายามของเขาที่จะเปลี่ยนชนบทจีนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจซึ่งสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จากการใช้การใช้นโยบาย “ก้าวกระโดดใหญ่” (Great Leap Forward) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีผู้คนล้มตายด้วยความอดอยากกันมากมายมหาศาล บางทีอาจจะถึง 45 ล้านคนทีเดียว ขณะที่ เติ้ง เสี่ยวผิง แก้ไขปัญหานี้ด้วยการทำลายชนบทจีนแบบเก่าลงไป และสร้างยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตในตัวเมืองใหญ่ๆ ขึ้นแทนที่

เวลานี้ จีนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกำลังแรงงานอุตสาหกรรมกึ่งมีฝีมือ ให้กลายเป็นผู้บุกเบิกนำร่องของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะต้องตระเตรียมกันให้พรักพร้อมก่อนล่วงหน้า ก็มีทั้งที่อยู่ในรูปของโครงสร้างพื้นฐาน, เทคโนโลยี, และเหนือสิ่งอื่นใดเลย คือ ทุนมนุษย์ อย่างที่อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก จัสติน อี้ฟู หลิน (Justin Yifu Lin) พูดเอาไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขา ดังนั้น มาถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลาที่จีนจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เป็นจริงขึ้นมา
(สิ่งที่ จัสติน อี้ฟู หลิน พูดเอาไว้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/10/china-must-lead-the-new-industrial-revolution/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้วได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9640000104221)
กำลังโหลดความคิดเห็น