เอพี/เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ยืนยันเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) แผนการปล่อยน้ำน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิดะลงสู่มหาสมุทรไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ ถึงแม้คนในพื้นที่จะแสดงความวิตกกังวล รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลีใต้ ที่ยังคงสั่งแบนอาหารทะเลจากภูมิภาค
เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) ว่า ผู้นำญี่ปุ่นประกาศระหว่างเดินทางไปเยือนโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ชี้ว่า เขาจะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่ของตนเองจะทำงานเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางเทนิคของโครงการปล่อยน้ำเสีย
ในระหว่างการเยือนโรงงานฟูกุชิมะ ไดอิจิซึ่งเกิดวิกฤตโรงงานพลังงานนิวเคลียร์เมื่อปี 2011 ได้รับการต้อนรับและนำชมโดยบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค หรือเทปโก ซึ่งเป็นเจ้าของโดยมีเป้าหมายการตรวจเยี่ยมโปรเจกต์การรื้อถอนโรงงาน และรวมไปถึงจำนวนน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีมหาศาลที่ได้รับการบำบัดยังคงอยู่ที่นั่น
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ ฟูมิโอะ คิชิดะ ให้ข้อมูลว่า “ผมรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ปัญหาน้ำเป็นสิ่งสำคัญและไม่สมควรที่จะเลื่อนออกไป”
ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทเทปโกเคยออกมาประกาศแผนในเดือนเมษายนของการเริ่มต้นการปล่อยน้ำเสียลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิกในฤดูใบไม้ผลิปี 2023 ตลอดช่วงระยะหลายสิบปี
แต่อย่างไรก็ตาม แผนการที่ว่านี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มชาวประมงญี่ปุ่น ประชาชนในพื้นที่ ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ที่รวมไปถึงเกาหลีใต้ และจีน
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้ยังคงประกาศห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากภูมิภาค โซลชี้ไปถึงความวิตกต่อแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีฟูกุชิมะ ว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนจะเป็นอันตรายอย่างหนักต่อสภาพแวดล้อมทางมหาสมุทร
ซึ่งในช่วงระหว่างการแข่งกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 พบว่า คณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้ได้จัดการแยกอาหารสำหรับนักกีฬาของตัวเองท่ามความวิตกว่าอาจจะมีการจัดอาหารที่นำมาจากจังหวัดฟูกุชิมะ ถึงแม้ว่าผักผลไม้ที่ถูกนำมาจะได้รับการตรวจเช็กอย่างเข้มงวดก็ตาม