xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ได้รับเลือกกลับสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN หลังถอนตัวไปเมื่อ 3 ปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากแฟ้ม
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) เลือกสหรัฐฯ กลับเข้าสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ราว 3 ปีหลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนอเมริกาออกจากจากองค์กรที่มี 47 รัฐสมาชิกแห่งนี้ ท่ามกลางเสียงโวยวายเกี่ยวกับการมีอคติกับอิสราเอลและขาดการปฏิรูป

สหรัฐฯ ได้รับการโหวต 168 เสียงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีทั้งหมด 193 ชาติ โดยไม่มีเสียงคัดค้าน ในการลงคะแนนแบบลับเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) เริ่มต้นวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีในวันที่ 1 มกราคม จัดวางวอชิงตันไว้ทัดทานจีนและรัสเซีย ซึ่งเริ่มวาระการทำหน้าที่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม พร้อมประกาศว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนจะเป็นแก่นกลางในนโยบายต่างประเทศของเขา และรัฐบาลของเขาจะไม่หลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับฮ่องกง ซินเจียง รวมถึงไต้หวัน และส่งเสียงประท้วงรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่ารัฐบาลของไบเดนไม่ค่อยใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ เท่าไหร่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติมากกว่า เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับมหาอำนาจต่างชาติ

"สหรัฐฯ จะมีโอกาสพิสูจน์ว่า รัฐบาลไบเดนมีความจริงจังมากแค่ไหนที่จะทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นแก่นกลางนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศของพวกเขา" หลุยส์ ชาร์บอนโน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์ วอทช์ของยูเอ็นกล่าว "ด้วยจนถึงตอนนี้มีก้าวย่างที่ผิดพลาดมากมาย พวกเขาควรใช้เวลาของพวกเขาในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในหมู่มิตรสหายและศัตรูไม่ต่างกัน"

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ กล่าวว่าในเบื้องต้นวอชิงตันจะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ "สิ่งที่เราสามารถประสบความสำเร็จในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่้ง เช่น ในอัฟกานิสถาน พม่า จีน เอธิโอเปีย ซีเรียและเยเมน"

"เป้าหมายของเราชัดเจน ยืนหยัดเคียงข้างบรรดาผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นกระบอกเสียงต่อต้านการล่วงละเมิดต่างๆ และละเมิดสิทธิมนุษยชน" เธอกล่าวในถ้อยแถลง พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ จะคัดค้าน "การให้ความสนใจที่ไม่พอเหมาะพอดีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเรื่องอิสราเอลด้วยเช่นกัน"

จิม ริสช์ วุฒิสภาสหรัฐฯ สมาชิกระดับสูงของรีพับลิกันในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา ตำหนิการตัดสินใจของไบเดน ประธานาธิบดีจากเดโมแครต ที่นำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมองค์กรหนึ่งๆ ที่เขาเรียกว่าเป็น "องค์กรที่บกพร่อง" อ้างถึงกรณีที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับอิสราเอล

"สหรัฐฯ ไม่ควรให้การสนับสนุนความชอบธรรมแก่องค์กรหนึ่งๆ ที่มีพวกผู้กระทำผิดในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเช่นจีน เวเนซุเอลาและคิวบา อยู่ร่วมด้วย" เขากล่าวในถ้อยแถลง

สมาชิกทั้งหมดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาขาติมีสัดส่วนกระจายตาม 5 ภูมิภาคของประเทศสมาชิกยูเอ็น โดยในวันพฤหัสบดี (14 ต.ค.) มีสมาชิกใหม่ 13 ชาติได้รับเลือก ส่วนอีก 5 ชาติได้รับเลือกกลับเข้ามา ในขณะที่ชาติสมาชิกสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน

นอกเหนือจากสหรัฐฯ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เลือก คาซัคสถาน แกมเบีย เบนิน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ปารากวัย ฮอนดูรัส ลักเซมเบิร์ก ฟินแลนด์ มอนเตเนโกร และลิทัวเนีย เป็นสมาชิกใหม่ ส่วนที่ได้รับเลือกกลับเข้ามาได้แก่ แคเมอรูน เอริเทรีย โซมาเลีย อินเดีย และอาร์เจนตินา

สหรัฐฯ ได้รับคะแนนโหวตต่ำสุดเป็นอันดับ 2 รองจากเอริเทรีย ซึ่งได้รับคะแนนเสียง 144 เสียง

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น