นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (14 ต.ค.) โดยจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 31 ต.ค.
การยุบสภาและเลือกตั้งถือเป็นบททดสอบสำคัญที่จะชี้วัดว่านโยบายต่างๆ ของ คิชิดะ ได้เสียงตอบรับจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ตัวเขาเองเพิ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อ 11 วันก่อน แทนที่นาย โยชิฮิเดะ ซูงะ ที่ประกาศลาออก
ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า คิชิดะ ได้รับความนิยมจากประชาชนมากพอสมควร ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และพรรคโคเมอิโตะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในการที่จะบรรลุเป้าหมายครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
“ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมต้องการสื่อไปถึงประชาชนทุกคนว่า เรากำลังพยายามจะทำอะไร และมีเป้าหมายอย่างไร” คิชิดะ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมระบุว่าตลอด 11 วันที่ผ่านมาแม้จะมีตารางงานแน่น “แต่น่าแปลกที่ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่รู้สึกว่าได้เติมเต็มมากกว่า”
ชาวญี่ปุ่นตั้งความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเด็ดเดี่ยว เพื่อยุติสถานการณ์โรคระบาดใหญ่และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ซันเกอิเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนญี่ปุ่น 48% ต้องการให้ คิชิดะ เข้ามาจัดการแก้ไข “ปัญหาโควิด” มากที่สุด รองลงมาได้แก่ปัญหาเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
รัฐบาลพรรคแอลดีพีพยายามเรียกเรตติ้งด้วยการออกมาตรการสู้โควิดต่างๆ นานา รวมถึงเปิดเจรจากับ เมอร์ค (Merck) เพื่อนำเข้ายาเม็ดต้านโควิด-19 “โมลนูพิราเวียร์” ให้ได้ภายในปีนี้ ขณะที่ตัว คิชิดะ เองก็ชูวิสัยทัศน์ “new capitalism” ที่เน้นกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้
พรรครัฐบาลญี่ปุ่นยังร้องขอเพิ่มงบกลาโหมเพื่อนำมาจัดซื้อระบบอาวุธที่สามารถป้องกันและทำลายขีปนาวุธทิ้งตัว ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
สำหรับพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (Constitutional Democrats - CDPJ) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดที่นำโดย ยูกิโอะ เอดาโนะ พยายามชูนโยบายที่ส่งเสริมความหลากหลายทางสังคม เช่น สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน และเปิดโอกาสให้คู่สมรสใช้นามสกุลต่างกัน เป็นต้น
พรรแอลดีพียังคงรักษาจุดยืนค่อนไปทางอนุรักษนิยม และแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความก้าวหน้าในเรื่องของการให้สิทธิแก่กลุ่ม LGBTQ มากขึ้น แต่นายกฯ คิชิดะ ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการออกกฎหมายรับรองสมรสเพศเดียวกัน
ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนพบว่า มีชาวญี่ปุ่นเพียง 13% ที่ตั้งใจจะโหวตเลือกพรรคซีดีพีเจ ซึ่งถือว่ายังห่างไกลมากกับตัวเลข 47% ของฝั่งแอลดีพี ในขณะที่โพลสำนักอื่นๆ พบว่าคะแนนนิยมของซีดีพีเจยังเป็นตัวเลขหลักเดียว
ที่มา: รอยเตอร์