กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขอให้บริษัทคู่สัญญาเอกชนไปหาวิธีหั่นราคา “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” เร็วเหนือเสียงให้ถูกลงกว่าเดิม เนื่องจากรุ่นปัจจุบันที่พัฒนาอยู่นั้นยังมีสนนราคาสูงถึงหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อยูนิต ซึ่งจัดว่า “แพงเกินไป”
ไฮดี ชู (Heidi Shyu) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายการวิจัยและวิศวกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วานนี้ (12 ต.ค.) ว่า “เราจำเป็นต้องหาวิธีผลิตขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีต้นทุนถูกลง”
ขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) ที่สหรัฐฯ ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 166 ล้านบาท) ต่อการยิงขีปนาวุธ 1 ลูกเข้าไปโจมตีดินแดนของศัตรู ทว่าประสิทธิภาพของมันยังเทียบไม่ได้กับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เนื่องจากพิสัยทำการต่ำกว่า เดินทางได้ช้ากว่า และง่ายต่อการถูกตรวจจับหรือยิงสกัด
บริษัทซึ่งรับหน้าที่พัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกให้เพนตากอน ได้แก่ ล็อกฮีด มาร์ติน และเรย์ธีออน เทคโนโลยีส์
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ร้องขอวงเงินงบประมาณสูงถึง 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำการวิจัยด้านระบบอาวุธเร็วเหนือเสียงในปีงบประมาณ 2022 เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 3,200 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
เมื่อเดือน ก.ย. สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมของสหรัฐฯ (Defense Advanced Research Projects Agency - DARPA) ได้ทำการยิงทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่เดินทางได้เร็วกว่าเสียงเกิน 5 เท่า (Mach 5) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการทดสอบอาวุธประเภทนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา
ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกถูกออกแบบให้สามารถเดินทางในบรรยากาศชั้นสูง โดยมีเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องทำความเร็วได้มากกว่าเสียงเกิน 5 เท่า หรือประมาณ 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมื่อเดือน ก.ค. รัสเซียเพิ่งทำการทดสอบขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง “เซอร์คอน” (Tsirkon) ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน คุยฟุ้งว่าเป็นระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่ทรงอานุภาพแบบ “ไร้คู่เปรียบ” ในโลก
ที่มา : รอยเตอร์