xs
xsm
sm
md
lg

ลืมไม่ลง! นักสิทธิแห่ค้านลูกชายเผด็จการ ‘มาร์กอส’ ลงชิงปธน.ฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุตรชายของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ ประกาศตัวลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากบรรดานักสิทธิมนุษยชน

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตประธานาธิบดี มาร์กอส และนาง อีเมลดา มาร์กอส เดินทางพร้อมภรรยาและบุตรชาย 2 คน ไปยื่นใบสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นราวๆ กลางปีหน้า

ครอบครัว มาร์กอส พยายามที่จะฟื้นฟูชื่อเสียง และยืนกรานปฏิเสธข้อครหาปล้นชาติสมัยที่อดีตประธานาธิบดี มาร์กอส ยังเรืองอำนาจ โดยมีการประเมินเมื่อปี 1987 ว่าทรัพย์สินที่คนตระกูลนี้ยักยอกไปมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“บองบอง” หรือที่หลายคนเรียกย่อๆ ว่า BBM ถือเป็นผู้สมัครรายที่ 3 ที่ก้าวลงสู่สนามเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบเป็นทางการ โดยเจ้าตัวประกาศจะเป็นผู้นำที่ “สร้างความสามัคคี” ในชาติ รวมถึงเข้ามาแก้ไขวิกฤตโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่

“ถึงแม้จะตกเป็นเป้าหมายของการสร้างความเกลียดชังและการประท้วงต่อต้านมานานหลายสิบปี แต่ครอบครัว มาร์กอส ก็ให้ความเคารพในสิทธิของพวกเขาที่จะแสดงความรู้สึกเรื่อยมา และจะยังคงทำเช่นนั้นต่อไป” วิกเตอร์ โรดริเกวซ ประธานคณะเจ้าหน้าที่หาเสียงของ มาร์กอส ระบุในถ้อยแถลง

มาร์กอส ผู้พ่อเคยปกครองฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการอยู่นานถึง 2 ทศวรรษ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนโค่นล้มอำนาจของเขาลงได้ในปี 1986 ซึ่งทำให้ มาร์กอส ต้องหอบลูกเมียไปลี้ภัยในสหรัฐฯ

หลังจาก มาร์กอส ผู้พ่อถึงแก่กรรมลงที่รัฐฮาวายในปี 1989 ครอบครัวของเขาก็เดินทางกลับฟิลิปปินส์ในปี 1991 และค่อยๆ สั่งสมอิทธิพลทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของ อีเมลดา ภริยาหม้ายของอดีตจอมเผด็จการ แม้นางจะถูกกล่าวหาว่าปล้นทรัพย์แผ่นดินไปหลายพันล้าน และมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม




บองบอง สอบผ่านสนามเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2010 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในครอบครัวจอมเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วน อิเมลดา ซึ่งเวลานี้อายุ 92 ปี ก็เคยเป็น ส.ส. จังหวัดอิโลกอสนอร์เต ซึ่งเป็นดินแดนฐานเสียงสำคัญของตระกูล

ผู้ประท้วงได้ไปรวมตัวกันที่ด้านนอกสำนักงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในกรุงมะนิลาเมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) โดยมีการเผารูปของอดีตผู้นำเผด็จการ มาร์กอส และประกาศจะขัดขวางไม่ให้คนในตระกูลนี้กลับมามีอำนาจในบ้านเมืองอีก

“พวก มาร์กอส ยังไม่เคยถูกจับเข้าคุก พวกเขายังไม่ได้คืนเงินทั้งหมดที่ปล้นไปจากคลังของประเทศ และวันนี้พวกเขาคิดจะกลับมาทวงตำแหน่งผู้นำสูงสุด ช่างหน้าด้านหน้าทนจริงๆ” คริสตินา พาลาไบ จากองค์กรสิทธิมนุษยชน Karapatan ให้สัมภาษณ์

เนรี โคลเมนาเรส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บอกกับซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ว่า “เราต่างรู้กันดีว่า ตระกูลมาร์กอสต้องการกลับเข้าไปครองทำเนียบมาลากันยัง เพื่อแก้ไขประวัติศาสตร์”

บองบอง มาร์กอส เคยสมัครชิงรองประธานาธิบดีมาแล้วเมื่อปี 2016 แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่ทนายความหญิง เลนี โรโบรโด (Leni Robredo) ซึ่งล่าสุดได้ประกาศจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วเช่นกัน

กฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแยกจากกันอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ มาร์กอส ยังไม่ได้ประกาศว่าจะส่งใครลงชิงรองประธานาธิบดีคู่กับตน แต่ยอมรับว่าพรรคสหพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ (Partido Federal ng Pilipinas) ของเขาเคยคิดจะทาบทามประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต มาเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยหน้า หากว่า ดูเตอร์เต ยังไม่คิดวางมือจากการเมืองหลังสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีในปี 2022

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า “ซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ” บุตรสาวของดูเตอร์เต มีคะแนนนิยมสูงที่สุดสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนต่อไป ทว่าเจ้าตัวยังยืนยันไม่คิดลงสมัคร และต้องการรั้งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองดาเวาจนครบวาระ

ครอบครัว มาร์กอส และ ดูเตอร์เต เป็นพันธมิตรที่สนิทสนมกันมานาน ดังจะเห็นได้จากตอนที่ ดูเตอร์เต อนุญาตให้นำศพดองของ มาร์กอส เข้าไปฝังไว้ในสุสานวีรชนทางตอนใต้ของกรุงมะนิลาเมื่อปี 2017 โดยไม่แคร์เสียงคัดค้านจากฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

ที่มา: รอยเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น