xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก ‘คิชิดะ’ทำท่า ‘ลังเลใจ’ ก่อนจะขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไปของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจค อเดลสไตน์


อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่พรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (LDP) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ภายหลังชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานพรรค และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนต่อไป
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

‘Reluctant’ Kishida to become Japan’s next leader
by Jake Adelstein
29/09/2021

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้กำลังก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของญี่ปุ่น บอกกับพวกผู้ช่วยใกล้ชิด เขาไม่ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศเสียแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันภายในพรรครัฐบาลซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บ และการเลือกตั้งทั่วไปที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งรออยู่ข้างหน้า

โตเกียว - อดีตรัฐมตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) วัย 64 ปี กำลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของญี่ปุ่น หลังจากชนะศึกชิงตำแหน่งประธานของพรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในวันพุธ (29 ก.ย.)

คิชิดะ ซึ่งเป็นพวกสายกลาง สามารถเอาชนะ ทาโร โคโนะ (Taro Kono) รัฐมนตรีรับผิดชอบการปฏิรูปการบริหาร ที่เป็นคนช่างฝันช่างจินตนาการ ในการแข่งขันรอบสองซึ่งเป็นรอบตัดสิน ภายหลังจากผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งคู่ ถูกตัดทิ้งไปหลังผลการแข่งขันในรอบแรก

การลงคะแนนตัดสินโดยคณะผู้นำของพรรคเช่นนี้ กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องนำมาปฏิบัติ ภายหลัง โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังย่ำแย่จากเรตติ้งความนิยมที่ตกต่ำถึงขั้นวิกฤต ประกาศความตั้งใจของเขาในวันที่ 3 กันยายน ว่าจะขอก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำพรรค

เป็นที่คาดหมายกันว่า คิชิดะ จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการหลังจากการประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภาในวันจันทร์ (4 ต.ค.) พรรค LDP นั้นเมื่อรวมกันกับพรรคโคเมอิโต (Komeito) ซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กกว่าที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลผสม เป็นผู้ครองเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาของรัฐสภาญี่ปุ่นอยู่ในเวลานี้ ภารกิจอันดับแรกสุดของ คิชิดะ จะได้แก่การปลุกเร้ารวมพลังในพรรค ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างของรัฐสภา ซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าต้องจัดขึ้นภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน

ทว่าแหล่งข่าวหลายรายใน LDP ระบุว่า สภาล่างน่าจะถูกประกาศยุบตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมแล้ว และการเลือกตั้งจะจัดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน

กระบวนการรณรงค์รวมพลังภายในพรรคน่าที่จะดำเนินไปด้วยความไม่ราบรื่น เมื่อพิจารณาจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานของพรรคคราวนี้ที่เต็มไปด้วยรอยฟกช้ำดำเขียว กระทั่งเกิดสิ่งที่ดูย้อนแย้งขึ้นมา เมื่อในช่วงไม่นานนักก่อนจะชนะการแข่งขันในวันพุธ (29 ก.ย.) คิชิดะ ได้บอกกับพวกคนสนิทของเขาว่า เขาไม่ได้ต้องการตำแหน่งผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารนี้อีกต่อไปแล้ว

ความตกต่ำย่ำแย่ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง โยชิฮิเดะ ซูงะ ทำให้จำเป็นต้องมีศึกเลือกตั้งอย่างดุเดือดเพื่อชิงตำแหน่งประธานพรรค LDP
การแข่งขันที่ตึงเครียด

คำพูดเช่นนี้ของ คิชิดะ ซึ่งดูไม่ต่างอะไรกับความสำนึกเสียใจของผู้ซื้อหลังจากได้ของกลับมาบ้านแล้ว มีสาเหตุมาจากปัจจัย 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ อุปสรรคความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลายที่กำลังสร้างความลำบากให้แก่ญี่ปุ่น ตั้งแต่ฟองสบู่ตลาดหุ้นที่ดูมีอันตรายมาก ภาระหนี้สินของประเทศซึ่งใหญ่โตมหึมาเหลือเกิน ไปจนถึงความจำป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปอันแท้จริงเสียที
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/09/nikkei-at-30-year-high-lifts-japan-election-risks/)

ประการที่สองคือการต่อสู้ที่เขาจะต้องเผชิญภายในพรรคของเขาเอง –โดยเฉพาะจากอดีตลูกพี่คนสำคัญของเขา ซึ่งก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ยังคงเป็นผู้เล่นอยู่ในหลังฉากซึ่งทรงอำนาจบารมีอย่างมาก

ระหว่างการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งผู้นำพรรคครั้งนี้ คิชิดะ แถลงว่าเขาอาจจะพิจารณาสั่งให้รื้อฟื้นการสอบสวนคดีหลายๆ คดีซึ่ง อาเบะ ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ปรากฏว่าหลังจาก คิชิดะ พูดเช่นนี้แล้ว อาเบะได้ผลักดันให้ ซานาเอะ ทากาอิชิ (Sanae Takaichi) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ซึ่งเป็นผู้มีแนวความคิดขวาจัดสุดๆ ประกาศลงชิงชัยด้วย

การลงสนามของเธอ ตลอดจนของ เซอิโกะ โนดะ (Seiko Noda) อดีตรัฐมนตรีความเท่าเทียมทางเพศภาวะ ทำให้การเลือกตั้งของพรรคคราวนี้กลายเป็นแข่งขันระหว่างผู้สมัคร 4 คน

ในรอบแรกของการเลือกตั้งในพรรค LDP เมื่อวันพุธ (29 ก.ย.) ซึ่งคะแนนเสียงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนๆ ละเท่าๆ กัน คือส่วนของสมาชิกพรรคที่ครองตำแหน่งอยู่ในทั้งสองสภาของรัฐสภา และส่วนของกลุ่มตัวแทนสมาชิกพรรคในภูมิภาคต่างๆ ปรากฏว่า คิชิดะ นำ โคโนะ อยู่แค่คะแนนเดียว แต่เนื่องจากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างชัดเจน จึงต้องนำเอาผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 คนมาแข่งขันตัดสินกันในรอบสอง

หากดูตามผลการหยั่งเสียงประชามติของสำนักต่างๆ แล้ว โคโนะ เป็นผู้ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้ขึ้นเป็นนายกรฐมนตรี รวมทั้งมีความหวังกันด้วยว่าเขาอาจจะสามารถรับบทบาทเป็นผู้เขย่าสั่นคลอนกลุ่มผู้ทรงอำนาจซึ่งบงการพรรค LDP มายาวนาน ทางฝ่ายกลุ่มผู้ทรงอำนาจก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ต้องการที่จะถูกเขย่าสั่นคลอน

แล้วก็ทำนองเดียวกับกรณีการคัดเลือกซูงะเมื่อ 1 ปีก่อน การเมืองแห่งการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ภายในพรรค LDP รวมทั้งในระหว่างพวก ส.ส. และ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ กลายเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะ

ในจำนวนคะแนน 427 เสียงที่มีผลในการเลือกตั้งรอบสองนั้น คิชิดะชนะได้มา 257 เสียง ส่วนโคโนะ รวบรวมมาได้แค่ 170 เสียง ถึงแม้ในจำนวนนี้ 39 เสียงมาจากกลุ่มตัวแทนสมาชิกในภูมิภาค เปรียบเทียบกับ คิชิดะ ซึ่งได้เสียงส่วนนี้ไม่เพียง 10 เสียง จึงเป็นอันชัดเจนว่า โคโนะ เป็นตัวเลือกของพวกสมาชิกพรรคระดับล่างๆ

ทาโร โคโนะ เป็นผู้สมัครซึ่งได้รับความนิยมชมชอบทั้งจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นและจากสื่อมวลชนต่างประเทศ
ผู้นำคนใหม่ของญี่ปุ่น

มองกันที่เปลือกนอกแล้ว คิชิดะดูเหมือนกับเป็นตัวเลือกที่มั่นคงปลอดภัย นอกเหนือจากมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว เขายังมีด้านที่เป็นพวกผู้ชำนาญการทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ เขาเคยนั่งเก้าอี้ประธานสภานโยบายของ LDP มาแล้ว

สิ่งที่เขาขาดแคลนคือเสน่ห์ในการดึงดูดผู้คนจำนวนมาก โดยส่วนที่เขาสามารถเสนอออกมาชดเชยคือเรื่องเสถียรภาพ คิชิดะเป็นผู้สมัครคนแรกที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานพรรค เขามีภูมิหลังคล้ายๆ กับ อาเบะ นั่นคือ อยู่ในตระกูลที่เล่นการเมืองระดับชาติและดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภากันมา 3 ชั่วคนแล้ว เขาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอยู่ 4 ปี จากปี 2012 จนถึง 2017 ถือเป็นการสร้างสถิติสำหรับญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองทีเดียว

คิชิดะเกิดในครอบครัวนักการเมืองซึ่งปักหลักอยู่ในกรุงโตเกียว แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองฮิโรชิมา และเคยต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯในเวลานั้น เมื่อตอนที่โอบามาไปเยือนจังหวัดดังกล่าว

เขารณรงค์หาเสียงโดยเสนอหลักนโยบายแบบก้าวหน้า ไม่มีลดละในการวิพากษ์วิจารณ์ “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) ซึ่งเป็นนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ อาเบะ และซูงะ นำมาใช้ ทว่ายังคงประสบความล้มเหลวในการชุบชีวิตเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังทำให้ความไม่เท่าเทียมในการครอบครองความมั่งคั่งระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งขยายเพิ่มพูน

เขาประกาศมุ่งโฟกัสที่การสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ และเสนอจัดตั้งกองทุนมูลค่าสูงลิ่ว 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับด้านชีววิทยา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นตัวเร่งความก้าวหน้าในแวดวงเหล่านี้

คิชิดะ ยังวิพากษ์วิจารณ์พวกมาตรการต่อสู้โรคระบาดใหญ่แบบตามยถากรรมของรัฐบาลซูงะ ญี่ปุ่นนั้นมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นจำนวน 17,574 คน สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกยกเว้นจีน ทว่าแดนมังกรมีประชากรสูงกว่าแดนอาทิตย์อุทัยมากมายนัก เขายังเสนอให้จัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้นมาในทันทีตลอดทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิตที่บ้านขณะเฝ้ารอการบำบัดรักษา

อย่างไรก็ดี ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วขึ้นมาก จำนวนคนไข้ใหม่ของญี่ปุ่นก็ลดต่ำลง และรัฐบาลเตรียมที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในสิ้นเดือนกันยายนนี้

เรื่องนี้น่าจะสามารถสร้างบรรยากาศความรู้สึกดีๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ คิชิดะ ในช่วงแรกๆ แห่งวาระการบริหารประเทศชาติของเขา รวมทั้งให้แก่พรรค LDP ที่จะต้องลงชิงชัยศึกเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

คิชิดะ ก็เหมือนกับพวกนักการเมืองพรรค LDP จำนวนมาก ในเรื่องการมีแนวความคิดแบบสายเหยี่ยวในด้านกลาโหม เขาบอกว่าญี่ปุ่นสมควรครอบครองสมรรถนะความสามารถในการเข้าโจมตีฐานทัพต่างๆ ของฝ่ายศัตรู รวมทั้งพวกสถานที่ยิงขีปนาวุธของศัตรู และควรพิจารณาออกกฎหมายซึ่งทำให้ญี่ปุ่นสามารถเป็นฝ่ายเข้าทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ในแง่นี้ เกาหลีเหนืออาจจะเพิ่งทำให้เขาได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาสักสองสามคะแนน จากการที่เปียงยางทดสอบยิงขีปนาวุธซึ่งตกลงไปในทะเลญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันอังคาร (28 ก.ย.) (แล้วยังยิงทดสอบขีปนาวุธแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง -ผู้แปล)

เขาถูกมองว่าไม่ค่อยกระตือรือร้นอะไรในเรื่องการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันตินิยมในปัจจุบันของญี่ปุ่น กระนั้นเขาก็เสนอแนะด้วยว่า ไต้หวัน –ซึ่งกลายเป็นหัวข้อหนึ่งในการถกเถียงอภิปรายในหมู่พวกสมาชิกพรรค LDP คนดังบางรายช่วงระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ –อาจจะกลายเป็นปัญหาทางการทูตขึ้นมาในอนาคต

คิชิดะ ยังคงไม่ได้ให้คำมั่นผูกพันใดๆ –หรืออาจจะเรียกว่าใช้ชั้นเชิงทางการทูตคอยหลีกเลี่ยง – ในหัวข้อที่อ่อนไหวมากๆ อย่างเรื่องการไปคารวะศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ศาลเจ้าในศาสนาชินโตชื่อโด่งดังฉาวโฉ่แห่งนี้ เป็นที่ตั้งป้ายสถิตย์วิญญาณของผู้เสียชีวิตจากสงครามนับล้านๆ คนของญี่ปุ่น – ซึ่งก็รวมถึงพวกอาชญากรสงคราม Class A หลายราย

การที่นักการเมืองคนสำคัญๆ ของญี่ปุ่นเดินทางไปคารวะศาลเจ้ายาสุกุนิ เป็นสิ่งซึ่งสร้างความโกรธแค้นในจีนและเกาหลีใต้ เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นบ่งบอกให้เห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ได้เศร้าเสียใจสำนึกผิดอะไรกับการกระทำอันโหดเหี้ยมอำมหิตของตนในช่วงก่อนหน้าและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และยังคงมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์

ณ เวลาปัจจุบัน ซึ่งญี่ปุ่นจำนวนมากทีเดียวเกิดความเหน็ดหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างแดน สำหรับพวกขวาจัดของญี่ปุ่นและองค์การล็อบบี้ทรงอิทธิพลของฝ่ายขวาอย่าง นิปปอน ไกงิ (Nippon Kaigi) แล้ว การไปคารวะศาลเจ้าแห่งนี้หรือไม่ จึงกลายเป็นเครื่องทดสอบความยึดมั่นศรัทธาทางการเมืองของนักการเมืองคนนั้นๆ

ถึงแม้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมายาวนาน แต่ คิชิดะ ก็ไม่เคยเป็นที่นิยมชมชอบอะไรนักหนาในหมู่สื่อมวลชนต่างประเทศ โดยเขาถูกมองว่าเป็นเพียงม้าตัวรองเรื่อยมา

โคโนะ ต่างหากที่ใช่ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติมากสำหรับนักการเมืองชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง โคโนะ นั้นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว แล้วยังเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยไม่มีปิดบัง นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งปรากฏตัวทางออนไลน์อย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว เขามีผู้ติดตามมากกว่า 2.4 ล้านคนทางทวิตเตอร์ และอีก 50,000 คนทางบัญชีภาษาอังกฤษของเขา

โคโนะพูดออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าเขาจะไม่ไปคารวะศาลเจ้ายาสุกุนิ ตรงกันข้ามกับพวกขวาแข็งกร้าวอย่าง ทาเกอิชิ –ผู้ซึ่งได้รับการหนุนหลังจาก อาเบะ – ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนกับว่านี่จะเป็นสิ่งแรกที่เธอจะทำถ้าหากเธอชนะได้ขึ้นครองตำแหน่ง

มาถึงตอนนี้เมื่อ คิชิดะ เป็นผู้ชนะดีลนี้แน่นอนแล้ว คำถามสำคัญข้อหนึ่งจึงมีอยู่ว่า เขาจะต้องเหวี่ยงไปทางขวาไกลมากแค่ไหน เพื่อเอาอกเอาใจปีกขวาจัดของพรรค LDP เรื่องนี้ยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ ในเมื่อเขาเพิ่งทำตัวเป็นศัตรูกับ อาเบะ มาหมาดๆ

คิชิดะกลายเป็นศัตรูของอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ทรงอำนาจภายในพรรค LDP อย่าง ชินโซ อาเบะ
เยียวยารักษาพรรค LDP

การแถลงของ คิชิดะ เมื่อวันที่ 2 กันยายน ทางสถานีโทรทัศน์ TBS ทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาถูกถามว่าควรที่จะเดินหน้าการสอบสวนเรื่องการปลอมแปลงเอกสารทางราชการในคดีอื้อฉาว โมริโตโมะ กากูเอน (Moritomo Gakuen) ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวข้องพัวพันอย่างลึกซึ้งกับ อาเบะ เท่านั้น หากยังรวมถึง อาโสะ ทาโระ (Aso Taro) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสผู้ทรงอิทธิพลอีกคนหนึ่งในพรรค LDP

ทั้งสองคนต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดไปจากนโยบายรัฐบาล และบีบคั้นกดดันพวกข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นพวกฝ่ายขวา ในการซื้อที่ดินผืนหนึ่งในเมืองโอซากาเมื่อปี 2017 ทั้งนี้ข่าวระบุว่ากระทรวงการคลังได้หั่นราคาที่ดินผืนดังกล่าวลงมากว่า 7 ล้านดอลลาร์

หลังจากนั้นพวกข้าราชการยังได้แก้ไขและปลอมแปลงเอกสารหลายฉบับเพื่อปกปิดการเข้าไปเกี่ยวข้องของ อาเบะ และ อาโสะ ไม่เพียงเท่านั้น อากิอิ (Akie) ภรรยาของอาเบะ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับ โมริโตโมะ กากูเอน ที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมสุดโต่ง ในการเข้าซื้อที่ดินผืนดังกล่าว

ข้าราชการผู้หนึ่งชื่อ โทชิโอะ อากางิ (Toshio Akagi) ที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดอำพรางหลักฐานคดีนี้ ได้ฆ่าตัวตายภายหลังถูกบีบคั้นให้แก้ไขจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเสียใหม่ โดยที่เขาทิ้งบันทึกซึ่งเขาบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้

คิชิดะ ขณะออกอากาศทางทีวี ตอบคำถามดังกล่าวว่า “เราควรที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ต่อไปอีก จนกว่าสาธารณชนจะมีความแน่ใจว่า” มีการบอกเล่าความจริงกันออกมาแล้ว

สำหรับผู้สมัครอีก 3 คนซึ่งก็ถูกตั้งคำถามให้แสดงความเห็นว่า ควรสอบสวนกรณีอื้อฉาวต่างๆ ในอดีตของ อาเบะ เสียใหม่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครตอบ โดยที่ โคโนะ นั้นปฏิเสธไม่ยอมรับคำถามกันทีเดียวเมื่อทางทีวีพยายามส่งมาให้เขา

นี่หมายความว่า คิชิดะ ขึ้นสู่อำนาจด้วยความรู้ชัดว่า ผู้ทรงอำนาจในพรรคอย่าง อาเบะ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกพี่ของเขานั้น เวลานี้หันไปจับกลุ่มต่อต้านเขาเสียแล้ว

เขายังจะต้องตัดสินใจทางการเมืองบางอย่างบางประการที่อาจส่งผลเสียหายต่อไปในเวลาข้างหน้า ทั้งนี้ คิชิดะ ต้องแสดงการโอนอ่อนให้แก่พวกผู้สนับสนุนของ โคโนะ และของ ทาเกอิชิ รวมทั้งต้องตัดสินใจว่า จะเอา โคโนะ –และเป็นไปได้ว่ารวมถึงผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 2 คนที่เหลือ— เข้าร่วมในคณะรัฐบาลของเขาหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เขาต้องคำนึงก็คือ เขาจะต้องนำพาพรรค LDP ไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนหน้า

แรงสนับสนุน LDP ในเวลานี้อยู่ในระดับต่ำเตี้ยจนไม่ชวนให้รู้สึกสบายใจเลย สืบเนื่องจากการจัดการรับมือกับโรคระบาดใหญ่อย่างผิดพลาดย่ำแย่ ขณะที่อัตราการว่างงานและการล้มละลายของธุรกิจกำลังเพิ่มสูง รวมทั้งความตกอับโดยรวมของ ซูงะ

ท่ามกลางภูมิหลังเช่นนี้เองที่ทำให้ คิชิดะ แสดงบทบาทเป็นผู้นำผู้ลังเลไม่เต็มใจที่จะเข้ารับตำแหน่ง โดยมีรายงานว่าเขาได้พูดกับพวกคนสนิทของเขาว่า “ผมไม่ต้องการชนะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ... ในขณะนี้เลย”

แน่นอนทีเดียว นี่เป็นการพูดจาแบบมุ่งผลทางการเมือง มันไม่ใช่ความลับอะไรเลยในเรื่องที่ว่า คิชิดะ มีความมุ่งมาดปรารถนามาอย่างยาวนานแล้วที่จะได้ขึ้นเป็นผู้นำของญี่ปุ่น

ทว่ากระทั่งการขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรค LDP ก็ยังจำป็นต้องมีการกลบเกลื่อนอำพรางกันอย่างมากมายเพื่อให้ดูเนียนตามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากผ่านสงครามการสู้รบอันโหดหินในการเลือกตั้งภายในพรรค มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรหรอกที่เขาจะเกิดความรู้สึกเขินอาย – แม้กระทั่งในวันที่เขาได้รับชัยชนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น