เอเจนซีส์ - พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ( งMark Milley) ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาสูงสหรัฐฯ ที่ทำการตรวจสอบการถอนของสหรัฐฯ ออกมาจากอัฟกานิสถาน ยืนยันมีความจงรักภักดีต่อชาติ แต่ปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่ง
หนังสืงสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ว่า พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ (Mark Milley) ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยการประเมินในการถอนของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนกันยายนตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้เคยกำหนดไว้ และเป็นไปตามที่กลุ่มติดอาวุธตอลิบานได้ให้เส้นตาย
นอกเหนือจากมิลลีย์ พบว่า เขามาพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) และผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (US Central Command) พล.อ.เคนเนธ “แฟรงก์” แม็คเคนซี (Kenneth ‘Frank’ McKenzie) ในการสอบสวนทางการที่เข้มงวดของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกิจการกองทัพประจำสภาสูงสหรัฐฯ (Senate Armed Services Committee)
ซึ่งในจุดหนึ่งพบว่า มิลลีย์ ต้องออกมาปกป้องความรักชาติของตัวเองในข้อหาไม่เคารพผู้บังคับบัญชาในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของอดีตรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยังอธิบายสาเหตุที่เขายังไม่ลาออกจากตำแหน่งต่อความโกลาหลของการที่สหรัฐฯ ถอนออกมาจากอัฟกานิสถาน
ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ “มันเป็นที่แน่ชัดว่าสงครามในอัฟกานิสถานไม่ได้จบในลักษณะที่เราต้องการ” และเขาชี้ว่า “กลุ่มตอลิบานขณะนี้มีอำนาจอยู่ในอัฟกานิสถาน”
มิลลีย์กล่าวให้ข้อมูลต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยชี้ว่า ในสายตาของสหรัฐฯ กลุ่มตอลิบานยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายและมาจนถึงวินาทีนี้กลุ่มตอลิบานยังคงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเครือข่ายอัลกออิดะห์ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรดเซตเตอร์เมื่อ 11 ก.ย ปี 2001
“เราต้องจำให้ได้ว่าตอลิบานในอดีตและยังคงเป็นอยู่ในฐานะองค์กรก่อการร้ายและพวกเขายังคงไม่ตัดขาดความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออดะห์”
และกล่าวต่อว่า “ผมไม่ได้อยู่กับภาพลวงตาว่ากำลังพูดคุยอยู่กับใคร มันยังคงถูกได้หรือไม่ว่าตอลิบานสามารถกระชับอำนาจ หรือประเทศ (อัฟกานิสถาน) จะเข้าสู่สงครามกลางเมือง”
ทั้งนี้ NBC News ชี้ว่า จากการเข้าให้การของผู้นำกองกำลังสหรัฐฯ นั้นขัดแย้งต่อคำพูดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยบรรดานายพลกองทัพเหล่านี้ออกมายืนยันว่า ได้เคยเสนอให้ทิ้งกองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวน 2,500 นายไว้ในอัฟกานิสถานหลังเส้นตายการถอนออกไปหลังวันที่ 31 ส.คไปแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ไบเดนออกมายืนยันในรายงานของเอบีซีนิวส์ว่า ที่ปรึกษาของเขาไม่ได้บอกเขาให้คงกองกำลังทหารขนาดเล็กปรากฏต่อไปในอัฟกานิสถาน
“ไม่” ไบเดนกล่าวปฏิเสธ และเสริมว่า “ไม่มีใครบอกกับผมเช่นนั้นเท่าที่ผมจำได้”
ทั้งมิลลีย์ ออสติน และแม็คเคนซีต่างยืนยีนว่า สหรัฐฯ สมควรต้องยังคงกองกำลังขนาดเล็กไว้ต่อไป ขณะที่ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ให้การว่า เขามองการถอนของกองกำลังสหรัฐฯ ออกไปนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมาสู่การล้มลงของกองกำลังอัฟกานิสถานและรัฐบาลอัฟกานิสถาน
มิลลีย์ยังยืนยันในภายหลังในการขึ้นให้การว่าเขาเห็นด้วยต่อคำแนะนำที่ให้มีการคงกองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนไม่กี่พันไว้ และเสริมต่อว่าหากกองทัพสหรัฐฯ ยังคงอยู่หลังเส้นตาย 31 ส.ค. ความเสี่ยงต่อในการโจมตีต่อทั้งพลเรือนสหรัฐฯ และกำลังพลจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานจำเป็นต้องมีกำลังพลร่วม 15,000-20,000 นาย และรวมไปถึงการเข้าควบคุมฐานทัพบากราม อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี ออกมาโต้ในวันอังคาร (28) ว่า “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้บอกอย่างชัดเจนว่ามีความเห็นแตกแยกกันในการให้คำแนะนำ” และเสริมว่า “หากว่ามีการเกิดความขัดแย้งในคำแนะนำเกิดขึ้นจากบางกลุ่ม คำแนะนำนั้นจะไม่ถูกรับพิจารณา”
เดอะการ์เดียนรายงาน ส.ว.พรรครีพับลิกัน ทอม ค็อตต็อน (Tom Cotton) ออกมายืนยันว่า มิลลีย์สมควรต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกเนื่องมาจากการให้คำแนะนำของเขาถูกปฏิเสธ แต่ พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ปฏิเสธ
“ประเทศแห่งนี้ไม่ต้องการนายพลที่ต้องรู้ว่ามีคำสั่งใดบ้างที่พวกเราต้องทำตามหรือไม่ นั่นไม่ใช่งานของเรา” มิลลีย์กล่าว
และเสริมว่า หากสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานยาวไปจนถึงกันยายนเพื่อที่จะอพยพคนเพิ่ม มิลลีย์ ระบุว่า “พวกเราจะต้องทำสงครามกับตอลิบานอีกครั้ง” และจำเป็นต้องมีกำลังพลราว 20,000 นายเพื่อกวาดกลุ่มตอลิบานออกไปและกลับไปเข้ายึดฐานทัพบากรามไว้หลังจากที่ทิ้งไปเมื่อกรกฎาคม
มิลลีย์กล่าวอีกว่า มันเป็นคำแนะนำของผู้นำกองทัพให้ยึดเส้นตาย 31 ส.ค.เป็นการสิ้นสุดการอพยพซึ่งเป็นสิ่งที่ทางตอลิบานยอมรับ และเขาในรายงานของ NBC News ระบุว่า ผลของสงครามนั้น พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ เรียกว่ามันเป็นความล้มเหลวทางด้านยุทธศาสตร์ เป็นเพราะการที่กลุ่มตอลิบานกลับมาเข้ายึดได้อย่างรวดเร็ว "ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯ ประเมินในเดือนสิงหาคม" แต่เป็นผลของ 20 ปีไม่ใช่แค่ 20 วันเท่านั้น และยอมรับต่อหน้าคณะกรรมาธิการ ส.ว.สหรัฐฯ ว่า ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ ที่เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกนั้นได้รับความเสียหายหลังปฏิบัติการถอนกำลังสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน
"ผมคิดว่าความเชื่อมั่นของเราต่อพันธมิตรและเพื่อนทั่วโลกและกับฝ่ายศัตรูถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยคนเหล่านี้...ผมคิดว่าความเสียหายเป็นคำหนึ่งที่สามารถใช้ได้..ใช่" มิลลีย์กล่าวตอบคำถามของส.ว.พรรครีพับลิกัน โรเจอร์ วิคเกอร์ (Roger Wicker) ที่ตั้งคำถามว่า คามเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ ถูกทำลายอย่างยับเยินหรือไม่หลังจากอัฟกานิสถาน
NBC News รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยกับคณะกรรมาธิการว่าด้วยกิจการกองทัพประจำสภาสูงสหรัฐฯ ได้ออกมาปกป้องการถอนของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นอย่างโกลาหลและเป็นภาพข่าวไปทั่วโลก โดยชี้ว่ารัฐบาลไบเดน เริ่มต้นวางแผนการถอนในทันทีหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจเมื่อเมษายนที่จะให้กองกำลังสหรัฐฯ ทุกนายออกไปจากอัฟกานิสถาน แต่ถึงแม้จะมีการเตรียมการแต่ทว่า พล.อ.ลอยด์ ออสติน ยอมรับว่า กลุ่มตอลิบานทำให้พวกเขาแปลกใจในการรุกคืบอย่างรวดเร็ว
เขากล่าวอีกว่า สหรัฐฯ สามารถอพยพทั้งพลเมืองสหรัฐฯ และอัฟกานิสถานได้มากกว่า 124,000 คน “มันเป็นการอพยพทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และมันเกิดขึ้นภายใน 17 วัน” และชี้ว่า “มันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่? ไม่อย่างแน่นอน พวกเราอพยพคนจำนวนมากอย่างรวดเร็วออกจากกรุงคาบูลที่พวกเรามาถึงข้อจำกัดทางความสามารถและปัญหาการคัดแยกที่ฐานทัพคนกลางนอกอัฟกานิสถาน”
ในรายงาน ออสตินยอมรับถึงการเสียชีวิตของทหารสหรัฐฯ 13 นายในการโจมตีด้วยฝีมือของระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินฮามิดการ์ไซ และความล้มเหลวของการโจมตีด้วยโดรนสหรัฐฯ ที่ต้องการจัดการกลุ่มก่อการร้าย IS โคราซาน (Islamic State Khorasan) แต่พลาดกลับไปสังหารพลเรือนชาวอัฟกัน 10 คน ที่รวมไปถึงเด็กจำนวนหนึ่ง