xs
xsm
sm
md
lg

เอสดีพีเฉือนชนะเลือกตั้งเยอรมนีเฉียดฉิว พรรคแมร์เคิลไม่ยอมแพ้ลั่นฟอร์มรัฐบาลแข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี และผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯแห่งพรรคเอสพีดี  โบกไม้โบกมือให้ผู้สนับสนุนด้วยท่าทางปีติยินดี ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคในกรุงเบอร์ลิน เมื่อตอนดึกวันอาทิตย์ (26 ก.ย.) ภายหลังสื่อทีวีคาดการณ์ว่าพรรคของเขาจะชนะที่นั่งในสภามากที่สุด
เยอรมนีเข้าสู่ช่วงไร้ความแน่นอนทางการเมืองในวันจันทร์ (27 ก.ย.) หลังจากพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ คว้าชัยเฉียดฉิวในการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ (26) และประกาศเริ่มจัดตั้งรัฐบาลสูตรสามเส้า เพื่อเป็นแกนนำในการบริหารเยอรมนีเป็นครั้งแรกนับจากปี 2005 ทว่าพรรคซีดียู/ซีเอสยูของแมร์เคิลไม่ยอมแพ้ เดินหน้าฟอร์มรัฐบาลเช่นเดียวกัน

โอลาฟ โชลซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ (เอสพีดี) ซึ่งมีแนวทางกลาง-ซ้าย แถลงในวันจันทร์ (27) ว่า ต้องการดึงพรรคกรีนส์ ซึ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และพรรคฟรี เดโมแครตส์ (เอฟดีพี) แนวทางเสรีนิยมส่งเสริมธุรกิจ ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และสำทับว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณของคนเยอรมนีว่า ต้องการให้พรรคซีดียู/ซีเอสยูที่มีแนวทางอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กลายเป็นฝ่ายค้าน หลังจากครองอำนาจบริหารมาถึง 16 ปี

ทั้งนี้ ผลการนับคะแนนออกมาว่า เอสพีดีได้ 25.87%, ซีดียู/ซีเอสยู 24.1%, กรีนส์ 14.8% และเอฟดีพี 11.5%

ผลที่ออกมาเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่า รัฐบาลในยุคหลังแมร์เคิล จะออกมาในรูปของรัฐบาลผสม 3 พรรค เป็นการยุติธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมาในช่วงหลังสงครามที่สอง ซึ่งพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 มักจับมือฟอร์มรัฐบาลกัน

โชลซ์ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลผสม “แกรนด์ โคลิชัน” ชุดปัจจุบันของแมร์เคิล กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า คาดหวังตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จก่อนคริสต์มาส

อย่างไรก็ตาม ทางด้านอาร์มิน ลาสเชต ผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (ซีดียู) เผยว่า จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดียวกัน แม้นำกลุ่มอนุรักษนิยมกลางขวาของเขา ประสบความพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดก็ตาม โดยที่เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ทศวรรษที่กลุ่มนี้ได้คะแนนไม่ถึง 30% ทั้งนี้ซีเอสยูถือเป็นพรรคน้องของซีดียู โดยส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเฉพาะที่รัฐบาวาเรีย (บาเยิร์น)

ระหว่างที่พรรคต่างๆ กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลอยู่นี้ แมร์เคิลที่ประกาศไม่ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 5 จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดต่อไป

ทางด้านพรรคกรีนส์และเอฟดีพี ซึ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แถลงเมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า จะหารือกันก่อนเกี่ยวกับประเด็นที่ประนีประนอมกันได้แล้วจึงค่อยเริ่มเจรจากับเอสพีดี หรือกลุ่มซีดียู/ซีเอสยู

หากโชลซ์ตั้งรัฐบาลสำเร็จ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองฮัมบูร์กผู้นี้จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเอสพีดีคนที่ 4 นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นคนแรกภายหลังที่แมร์เคิลสืบทอดตำแหน่งต่อจาก แกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ แห่งเอสพีดีในปี 2005

ขณะเดียวกัน หากโชลซ์ตกลงตั้งรัฐบาลร่วมกับกรีนส์และเอฟดีพี ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศน่าจะเป็นของพรรคกรีนส์ เช่นเดียวกับที่จอชกา ฟิสเชอร์ เคยได้ตำแหน่งนี้ตอนที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับเอสพีดีจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้ว ส่วนเอฟดีพีเล็งกระทรวงการคลัง

ความขัดแย้งระหว่างวอชิงตันกับปารีสเรื่องข้อตกลงที่ออสเตรเลียจะซื้อเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จากอเมริกา/สหราชอาณาจักร แทนซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลของฝรั่งเศสทั้งที่ทำสัญญากันมาหลายปี กำลังทำให้เยอรมนีอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในระหว่างชาติพันธมิตรเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกันเบอร์ลินที่เข้มแข็งยังจะมีโอกาสในการเยียวยาความสัมพันธ์ของโลกตะวันตก และช่วยทบทวนหาจุดยืนร่วมกันของตะวันตกในการปฏิบัติกับจีน ตลอดจนรัสเซีย

ในส่วนนโยบายเศรษฐกิจนั้น ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ต้องการสร้างนโยบายการคลังร่วมแห่งยุโรป ซึ่งพรรคกรีนส์สนับสนุน ทว่าซีดียู/ซีเอสยู และเอฟดีพีไม่เห็นด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ รัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีจะไม่มีพรรคขวาสุดโต่ง อัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (เอเอฟดี) ซึ่งคราวนี้ได้คะแนน 10.3% ลดลงจาก 12.6% ที่เคยทำได้เมื่อ 4 ปีที่แล้วที่พรรคนี้ได้เข้าสู่รัฐสภาของประเทศเป็นครั้งแรก โดยนักการเมืองกระแสหลักทั้งหมดต่างประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับเอเอฟดี

การแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลซึ่งคาดว่า จะยืดเยื้อนานแรมเดือน ยังจะทำให้เยอรมนีหลุดออกจากการมีบทบาทในสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว แม้การประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คอป26 ที่กำลังจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ มีเป้าหมายเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจลงมือทำมากขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้นเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ยังมีกำหนดรับตำแหน่งประธานกลุ่มจี7 ในปีหน้า จึงต้องการรัฐบาลที่สามารถกำหนดวาระระหว่างประเทศได้

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

อาร์มิน ลาสเชต ผู้นำของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) และผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตร CDU/CSU แถลงกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมของคณะผู้นำ CDU ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคในกรุงเบอร์ลิน วันจันทร์ (27 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น