xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง”: ‘สหรัฐฯ-ออสซี่-อินเดีย-ญี่ปุ่น’ย้ำ‘กลุ่มคว็อด’ไม่ใช่พันธมิตรทางทหาร ซ้ำเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อ‘จีน’ แต่ซัมมิตของ 4ชาตินี้ก็พุ่งเป้าใส่‘ปักกิ่ง’อยู่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย, และนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ขณะประชุมซัมมิตกลุ่มคว็อด ที่ห้องอีสต์รูม ของทำเนียบขาว ในวันศุกร์ (24 ก.ย.)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และผู้นำของออสเตรเลีย, อินเดีย, กับญี่ปุ่น ให้สัญญาในกรุงวอชิงตัน ที่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งมีเสถียรภาพ, เปิดกว้าง, และเป็นประชาธิปไตย ระหว่างการประชุมซัมมิตแบบเจอหน้ากันตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรกของพวกเขาทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “กลุ่มคว็อด” เมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้ไม่ได้เอ่ยนาม แต่ก็เห็นกันว่าการที่คำแถลงร่วมระบุเช่นนี้ มีความหมายแฝงเร้นมุ่งโจมตีจีน

ผู้นำของชาติประชาธิปไตยทั้ง 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งพวกเขาพยายามเรียกขานกันเสียใหม่ว่า อินโด-แปซิฟิก เหล่านี้ กล่าวในคำแถลงร่วมภายหลังการประชุมหารือว่า พวกเขามีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะ “ส่งเสริมสนับสนุนระเบียบที่เสรี, เปิดกว้าง, ยึดโยงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์, มีรากหยั่งลึกอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่สะทกสะท้านต่อการบังคับขู่เข็ญ”

“พวกเรายืนหยัดอยู่ในหลักนิติธรรม, เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลและในการบินไปในน่านฟ้า, การแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ อย่างสันติ, ค่านิยมต่างๆ ทางประชาธิปไตย, และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ” คำแถลงร่วมระบุในอีกตอนหนึ่ง

คำว่า “เสรีและเปิดกว้าง” กำลังกลายเป็นคำรหัสของสหรัฐฯและหลายชาติตะวันตก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรากฏตัวทางเศรษฐกิจ, การทูต, และการทหารของจีนซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว – รวมไปถึงการคุกคามการเดินเรือในเส้นทางระหว่างประเทศสายสำคัญๆ ทั้งหลาย

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวขณะแถลงตอนช่วงเปิดประชุมซัมมิตคราวนี้ว่า “ชาติประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทั้ง 4 กำลังทำงานเพื่อสร้าง “ภูมิภาคที่เข้มแข็ง, มีเสถียรภาพ, และมั่งคั่งรุ่งเรือง” ขึ้นมา

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ บอกว่า ซัมมิตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง “วิสัยทัศน์ร่วมแห่งอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ของทั้ง 4 ชาติ ส่วนนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี –ซึ่งประวัติผลงานในเรื่องการเคารพสิทธิต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยในแดนภารตะของตัวเขาเอง ก็ไม่ได้สวยงามและถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก— พูดสรรเสริญ “ค่านิยมต่างๆ ทางประชาธิปไตยที่มีอยู่ร่วมกัน” ของกลุ่มคว็อด

ถึงแม้ผู้นำเหล่านี้ระมัดระวังมุ่งหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงจีนต่อหน้าสาธารณชน แต่ ซูงะ ก็ส่งเสียง “แสดงความวิตกอย่างแรงกล้า” ระหว่างช่วงการหารือเป็นการภายใน เกี่ยวกับการที่ปักกิ่งแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวในการปฏิบัติการในทะเล, การเหยียบย่ำสถานะพิเศษของฮ่องกง และการกักขังชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์เอาไว้เป็นจำนวนมาก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โทโมยูกิ โยชิดะ บอก

ตามการแถลงของโยชิดะ นายกฯซูงะยังได้หยิบยกความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติการที่จีนใช้กับไต้หวันอีกด้วย ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดี (23) ปักกิ่งได้ส่งเครื่องบินไอพ่นทหารรวม 24 ลำเข้าสู่น่านฟ้าของไต้หวัน หลังจากไทเปยื่นใบสมัครเข้าร่วมข้อตกลงการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

นายกรัฐมนตรีซูงะ “เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน” โยชิดะบอก

ภายหลังการประชุมซัมมิต ผู้นำทั้ง 4 ยังได้ออกคำแถลงร่วมฉบับหนึ่ง ให้คำมั่นที่จะ “เผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่มีต่อระเบียบทางทะเลซึ่งยึดโยงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์ โดยครอบคลุมถึงทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ด้วย”

โชว์ให้เห็นว่า “ลงมือทำด้วยไม่ใช่แค่พูด” ในเรื่องวัคซีนโควิด

ไบเดน ผู้ซึ่งชอบพูดว่าชาติประชาธิปไตยทั้งหลายจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นสมรรถนะของพวกเขา ในยุคสมัยที่มีระบอบเผด็จการรวบอำนาจซึ่งเข้มแข็งทั้งในรัสเซียและในจีน ในครั้งนี้ก็พยายามย้ำว่ากลุ่มคว็อดมุ่งที่จะทำอะไรกันอย่างจริงจัง

“พวกเราเป็น 4 ชาติประชาธิปไตยรายใหญ่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน เราทราบวิธีในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป และเราก็กล้าเผชิญอุปสรรคความท้าทาย” เขาบอก

ขณะที่อินเดียสำทับแสดงตัวอย่าง โดยบอกว่า ภายในสิ้นเดือนหน้า ตนจะเริ่มส่งออกวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเป็นแบบฉีดโดสเดียวอยู่ ที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทสหรัฐฯแห่งนั้น เป็นจำนวน 8 ล้านโดส

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ฮาร์ช วารธัน สริงลา อธิบายเพิ่มเติมกับพวกผู้สื่อข่าวว่า นี่คือการที่กลุ่มคว็อดส่งมอบวัคซีน “ที่มีคุณภาพและซื้อหากันไหว” ให้แก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในทันที

ถึงแม้จำนวนที่ระบุออกมานี้ยังถือว่าน้อยนิด –ไบเดนให้สัญญาเอาไว้ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯจะบริจาควัคซีนเพิ่มเติมให้แก่ทั่วโลกอีก 500 ล้านโดส— แต่ก็เป็นตัวแทนแสดงถึงการกลับมาแสดงบทบาทต่อทั่วโลกอีกคำรบหนึ่งของอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ที่มีขนาดมหึมาของอินเดีย หลังจากนิวเดลีสั่งยุติการส่งออกวัคซีนโควิดทั้งหมดตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างร้ายแรงภายในแดนภารตะเอง

นอกจากนั้นในการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงของกลุ่มคว็อดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้นำเหล่านี้ยังแถลงว่าจะสามารถส่งวัคซีนให้ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกได้มากกว่า 1,000 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2022 โดยที่อินเดียจะทำหน้าที่ในการผลิต, ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯช่วยเหลือด้านการเงิน, และออสเตรเลียในเรื่องโลจิสติกส์

สำหรับอีกหัวข้อหนึ่งซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับไบเดน เหล่าผู้นำกลุ่มคว็อดยังตกลงในวันศุกร์ (24) ว่า ทั้ง 4 ชาติจะประกาศแผนการที่ “ทะเยอทะยาน” ระหว่างการประชุมซัมมิตด้านภูมิอากาศซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์, สกอตแลนด์ ปลายปีนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้โลกซึ่งกำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน เข้าสู่ภาวะปล่อยไอเสียคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ อินเดียเพียงแค่ให้คำมั่นจะลดปริมาณความเข้มข้นด้านคาร์บอนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงไอเสียคาร์บอน โดยยกเหตุผลโต้แย้งว่าการตัดลดปริมาณการปล่อยไอเสียคาร์บอนกันอย่างกว้างขวาง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงสำหรับชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างแดนภารตะ ซึ่งไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบกับการทำให้โลกร้อนขึ้นในช่วงสองสามร้อยปีที่ผ่านมา ที่เป็นฝีมือการกระทำของพวกประเทศที่กลายเป็นชาติพัฒนาแล้วในปัจจุบันมากกว่า

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ตกลงกันในคราวนี้ พวกผู้นำกลุ่มคว็อดระบุว่าจะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อลดการปล่อยไอเสียในด้านการเดินเรือทะเลภายในปี 2030 โดยจะเป็นการร่วมมือประสานงานกันระหว่างเมืองท่าสำคัญของแต่ละประเทศ ได้แก่ ลอสแองเจลิส, มุมไบ, ซิดนีย์, และโยโกฮามา

กลุ่มคว็อดยังประกาศข้อตกลงใหม่ๆ อีกหลายฉบับ เป็นต้นว่า การเพิ่มเสริมความมั่นคงให้แก่สายโซ่อุปทานในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ การต่อสู้ปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการเพิ่มความตื่นตัวในเรื่องเกี่ยวกับทะเล นอกจากนั้นยังจะจัดทำแผนการความเป็นหุ้นส่วนกันในเรื่องการสื่อสารไร้สายระบบ 5จี

“เรายอมรับบทบาทของรัฐบาลในการบ่มเพาะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการกระจายตัวในเรื่อง 5จี ดังนั้นเราจะทำงานร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน และสาธิตให้เห็นในปี 2022 นี้ ถึงเทคโนโลยีซึ่งยึดโยงอยู่กับมาตรฐานและการเปิดกว้างในเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ อีกทั้งมีคุณสมบัติในเรื่องการปรับขนาดได้”

ผู้นำทั้ง 4 ยังเปิดเผยโครงการใหม่ที่จะให้ทุนการศึกษาแก่พวกนักศึกษาระดับหลังปริญญาตรีในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของสหรัฐฯ

ไม่มีเรื่องความร่วมมือทางการทหาร

ในชาติทั้ง 4 เหล่านี้ อินเดียเป็นผู้ที่ระมัดระวังตัวมากที่สุด ไม่ต้องการให้เกิดภาพออกไปว่า พวกเขากำลังจับกลุ่มรวมตัวกันเพื่อมุ่งเล่นงานจีน ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างแดนภารตะกับแดนมังกรอยู่ในภาวะตึงเครียด ภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนเทือกเขาหิมาลัยของประเทศทั้งสองในปีที่แล้ว ซึ่งมีทหารบาดเจ็บล้มตายไปหลายสิบคน

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็เน้นย้ำว่า พวกเขาไม่ได้มองเห็นกลุ่มคว็อดเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหาร ถึงแม้พวกเขาพยายาหาทางขยายความร่วมมือของคว็อดให้กว้างขวางออกไป โดยที่ในครั้งนี้มีการตกลงกันว่าจะจัดประชุมระดับซัมมิตกันเช่นนี้เป็นประจำปีละครั้ง

เพียงเมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมานี้เอง สหรัฐฯเพิ่งประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ “ออคัส” ซึ่งประกอบด้วยอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และออสเตรเลีย โดยที่มีการตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ซึ่งถือเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง

ภายใต้ข้อตกลง ออคัส ออสเตรเลียจะได้รับเทคโนโลยีต่อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ถึงแม้การส่งมอบจริงๆ น่าจะต้องกินเวลาอีกหลายปี แต่ข่าวนี้เมื่อประกาศออกมาก็ส่งกระแสความปั่นป่วนไปทั่วโลก

มอร์ริสันเรียกกลุ่มคว็อดว่า เป็น “แผนการริเริ่มที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติได้จริงเป็นอย่างยิ่ง” แต่ก็กล่าวด้วยว่า กลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ภูมิภาคที่เราปรารถนาเสมอมาให้ปลอดพ้นจากการบังคับขู่เข็ญ”

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พร้อมด้วย (จากซ้าย) นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย, และนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น เดินเข้าสู่ห้องห้องอีสต์รูม ของทำเนียบขาว ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมซัมมิตกลุ่มคว็อด ในวันศุกร์ (24 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น