ไบเดนให้สัญญาบริจาควัคซีนโควิดเพิ่มอีก 500 ล้านโดส พร้อมชวนผู้นำชาติมั่งคั่งร่วมกันทำให้ประชากรโลก 70% ได้ฉีดวัคซีนภายในเดือนกันยายนปีหน้า ย้ำการบริจาควัคซีนต้องไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองพ่วงท้าย ซึ่งเท่ากับเป็นการกระทบกระเทียบจีนโดยตรง
คำประกาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแบบเสมือนจริงที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพุธ (22 ก.ย.) ทำให้จำนวนวัคซีนที่อเมริกาให้คำมั่นบริจาคเพิ่มเป็น 1,100 ล้านโดส
ไบเดนบอกว่า จากตัวเลขทั้งหมดที่ให้คำมั่นไว้นี้ หมายความว่าวัคซีนทุกโดสที่ฉีดให้คนอเมริกัน อเมริกาสัญญาจะบริจาคให้ประเทศอื่นๆ 3 โดส เขากล่าวด้วยว่าเวลานี้วอชิงตันได้จัดส่งวัคซีนออกไปให้ 100 ประเทศแล้วเป็นจำนวน 160 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนซึ่งประกาศจะบริจาคใหม่อีก 500 ล้านโดส ไบเดนแจกแจงว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์ โดยจะเริ่มจัดส่งให้ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า
ประมุขทำเนียบขาวยังท้าทายผู้นำประเทศมั่งคั่งอื่นๆ ให้ร่วมดำเนินการเพื่อให้ประชาชน 70% ของทุกประเทศทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนภายในเดือนกันยายน 2022 และย้ำว่า การบริจาควัคซีนต้องไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองพ่วงท้าย ซึ่งถือเป็นการกระทบกระเทียบจีน ที่สหรัฐฯกล่าวหาว่าใช้นโยบายจัดหาวัคซีนแก่ประเทศยากจน เพื่อสร้างอำนาจอิทธิพลทางการเมือง แม้ว่าวอชิงตันก็เจอข้อกล่าวหาเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน
นอกจากนั้น เมื่อวันอังคาร (21) ระหว่างที่ไบเดนปราศรัยในที่ประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่ง ประมุขสหรัฐฯยังประกาศว่า อเมริกาอัดฉีดเงินกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับโควิด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 4.7 ล้านคนทั่วโลก นับจากเริ่มระบาดในจีนเมื่อปลายปี 2019 โดยที่เวลานี้สหรัฐฯยังคงครองตำแหน่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลก
หลังการปราศรัยของไบเดน สเปนประกาศในที่ประชุมยูเอ็นในนิวยอร์กว่า จะบริจาควัคซีนเพิ่มเป็น 30 ล้านโดส เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่จะบริจาคเพิ่มเป็น 60 ล้านโดส
ทั้งนี้ ประเทศมั่งคั่งกำลังถูกวิจารณ์จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องจัดทำแผนการฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปกันแล้ว ทั้งๆ ที่ในประเทศยากจนหลายแห่ง แม้กระทั่งบุคลากรในแนวหน้าต่อสู้กับโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่โดสเดียว
สำหรับในสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (22) องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) เพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ของไฟเซอร์ให้ประชาชนอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มีโรคร้ายแรง รวมถึงกลุ่มที่ทำงานและมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูง
มตินี้เท่ากับลดระดับจากที่คณะบริหารไบเดนแสดงท่าทีเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าพร้อมที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปทั้งหมด
กระนั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารไบเดนก็ยังยืนยันว่า วอชิงตันกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถดูแลทั้งประชาชนของตนเองและช่วยเหลือประชาชนในประเทศอื่นๆ ไปพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ กลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรมยาออกคำแถลงบอกว่า ปริมาณการผลิตวัคซีนทั่วโลกมีเพียงพอรองรับ ทั้งการฉีดกระตุ้นในประเทศร่ำรวย และการบริจาคให้ประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขสถิติที่เป็นจริง ยังคงแสดงให้เห็นว่าขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างประเทศมั่งคั่งกับประเทศยากจนในเรื่องการแจกจ่ายวัคซีน
ยกตัวอย่างเช่นในแอฟริกานั้นมีประชากรเพียง 3.6% ได้ฉีดวัคซีน เทียบกับเฉลี่ยกว่า 60% ในยุโรปตะวันตก
ประธานาธิบดีลาซารัส ชาควีรา ของ มาลาวี ปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นโดยเรียกร้องทั้งการบริจาควัคซีนและการผ่อนปรนบังคับใช้สิทธิบัตรเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนในท้องถิ่น โดยที่เรื่องหลังนี้ไบเดนเคยประกาศสนับสนุน ทว่าเยอรมนีคัดค้านเช่นเดียวกับบริษัทยาหลายแห่ง
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังตั้งข้อสังเกต จำนวนวัคซีนที่อเมริกาสัญญาจะบริจาค ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่จำเป็นสำหรับประเทศยากจนคือ 5,000-6,000 ล้านโดส นอกจากนั้นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะต้องจัดเก็บภายในอุณหภูมิต่ำมากๆ ทำให้ยุ่งยากแก่การจัดการสำหรับประเทศยากจนที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานอันซับซ้อนสำหรับการจัดเก็บและจัดส่ง
เวลาเดียวกันพวกผู้นำประเทศกำลังพัฒนาเตือนว่า การที่ประเทศรวยกักตุนวัคซีนเผื่อเอาไว้ใช้เอง อาจทำให้ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์และมีอันตรายยิ่งขึ้น
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)