xs
xsm
sm
md
lg

หายโมโห!ฝรั่งเศสส่งทูตกลับไปประจำสหรัฐฯ หลังไบเดนโทรคุย'มาครง'ประเด็นออสซี่ฉีกสัญญาเรือดำน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีสหรัฐฯและฝรั่งเศส เคลื่อนไหวซ่อมแซมความสัมพันธ์ในวันพุธ(22ก.ย.) สุดท้ายปารีสยินยอมส่งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำวอชิงตัน และทางทำเนียบขาวยอมรับผิดที่เจรจาตกลงกับออสเตรเลียให้ซื้อเรือดำน้ำของอเมริกาแทนของฝรั่งเศส โดยไม่ได้พูดคุยหารือกับปารีสก่อน

ในถ้อยแถลงร่วมที่เผยแพร่หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหัฐฯและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส พูดคุยหารือกันทางโทรศัพท์เป็นเวลา 30 นาที ทั้งสองผู้นำเห็นพ้องดำเนินการปรึกษาหารือกันในเชิงลึกเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ และพบปะกันในยุโรปในช่วงปลายเดือนตุลาคม

ถ้อยแถลงร่วมระบุว่าวอชิงตันสัญญาจะยกระดับความพยายามปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายในซาเฮล(เขตรอยต่อบริเวณกึ่งทะเลทรายและบริเวณทะเลทรายซาฮารา แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้) ที่ดำเนินการรัฐต่างๆในสหภาพยุโรป ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบ่งชี้มันน่าจะหมายถึงการที่อเมริกาให้การสนับสนุนทางโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การประจำการกองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ

การต่อโทรศัพท์สายตรงถึงมาครงของไบเดน ถือเป็นความพยายามซ่อมแซมความสัมพันธ์ หลังจากฝรั่งเศสกล่าวหาสหรัฐฯแทงข้างหลัง จากกรณีออสเตรเลียฉีกสัญญาจัดซื้อกองเรือดำน้ำของฝรั่งเศสมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ แล้วเลือกกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่จะสร้างโดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรแทน

ในความโกรธเคืองต่อข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร ทางฝรั่งเศสเรียกเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันและแคนเบอร์รากลับประเทศ

"ทั้งสองผู้นำเห็นพ้องกันว่าการพูดคุยอย่างเปิดเผยในหมู่พันธมิตรในประเด็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสและพันธมิตรยุโรปของเรา จะเป็นประโยชน์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" ถ้อยแถลงร่วมของสหรัฐฯและฝรั่งเศสระบุ "ไบเดนถ่ายทอดความมุ่งมั่นของเขาในเรื่องนั้น"

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวให้คำจำกัดความการต่อสายโทรศัพท์ระหว่าง 2 ผู้นำ ว่าเป็นการพูดคุยที่เป็นมิตรและแสดงความหวังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น "ประธานาธิบดีพูดคุยโทรศัพท์อย่างเป็นมิตรกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส พวกเขาตกลงพบปพะกันในเดือนตุลาคม และเดินหน้าปรึกษาหารือใกล้ชิดและทำงานร่วมกันในประเด็นต่างๆนานา"

เมื่อถามว่าไบเดนได้เอ่ยปากขอโทษมาครงหรือไม่ โฆษกหญิงทำเนียบขาวตอบว่า "เขายอมรับว่าน่าจะมีการปรึกษาหารือมากกว่านี้"

พันธมิตรความั่นคงสหรัฐฯ ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าออกแบบมาเพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลในแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มองว่ามันกลายเป็นการกัดเซาะความพยายามของไบเดน ซึ่งต้องพึ่งพันธมิตรอย่างเช่นฝรั่งเศส เพื่อจุดมุ่งหมายดังกล่าว

(ที่มา:รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น