“ไบเดน”ปราศรัยครั้งแรกบนเวทียูเอ็นในฐานะประมุขของสหรัฐฯ ประกาศวิสัยทัศน์การแข่งขันยุคใหม่ที่ปราศจากสงครามเย็นแม้จีนแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลมากขึ้นก็ตาม แถมให้สัญญาใช้ความอดกลั้นทางทหาร และเป็นผู้นำต่อสู้วิกฤตโลกทั้งโควิดและสภาพภูมิอากาศ ด้านสีจิ้นผิงประกาศเลิกทำโครงการถ่านหินนอกประเทศ พร้อมแซะอเมริกาโดยอ้างอิงสถานการณ์โลกล่าสุดที่ย้ำเตือนว่า การเข้าแทรกแซงทางทหารและการอ้างว่าไปช่วยประเทศอื่นเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้ให้อะไรนอกจากอันตราย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวระหว่างการประชุมประจำปีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันอังคาร (21 ก.ย.) ว่า โลกกำลังเผชิญทศวรรษที่จะชี้ขาดอนาคต ซึ่งบรรดาผู้นำต้องร่วมกันต่อสู้วิกฤตไวรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเสริมว่า อเมริกาจะเพิ่มความมุ่งมั่นด้านการเงินในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศอีกเท่าตัว และอัดฉีด 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อลดความหิวโหยทั่วโลก
แม้ไม่ได้พาดพิงถึงจีน ซึ่งคณะบริหารชุดปัจจุบันของอเมริการะบุว่า เป็นความท้าทายสูงสุดในศตวรรษที่ 21 แต่ตลอดการปราศรัยครั้งนี้ซึ่งเป็นการพูดที่สมัชชาใหญ่ยูเอ็นหนแรกของเขาในฐานะประธานาธิบีดสหรัฐฯ ไบเดนพร่ำพูดถึงคู่แข่งเผด็จการที่มีอำนาจมากขึ้นของอเมริกา โดยที่เวลานี้วอชิงตันกับปักกิ่งต่างกำลังห้ำหั่นกันทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งช่วงหลังๆ สหรัฐฯเป็นผู้นำในความพยายามที่จะเรียกภูมิภาคนี้เสียใหม่ว่าอินโด-แปซิฟิก ตลอดจนในประเด็นการค้า และสิทธิมนุษยชน
เขายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในซินเจียงที่ผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายตะวันตกหลายคนระบุว่า มีชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ กว่า 1 ล้านคนถูกกักตัวในค่าย แต่ฝ่ายจีนปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด
ประมุขทำเนียบขาวกล่าวว่า อเมริกาจะแข่งขันอย่างแข็งกร้าวทั้งด้านเศรษฐกิจ และการผลักดันระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รวมทั้งจะเคียงข้างพันธมิตร และต่อต้านความพยายามของประเทศที่เข้มแข็งที่พยายามครอบงำประเทศที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าด้วยการท้าทายอธิปไตยด้วยกำลัง คุกคามทางเศรษฐกิจ แสวงหาผลประโยชน์ด้านเทคนิค หรือเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ไบเดนย้ำว่า อเมริกาไม่คิดสร้างสงครามเย็นครั้งใหม่หรือทำให้โลกแตกออกเป็นสองขั้ว แต่พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อรับมือความท้าทายที่มีร่วมกัน แม้อาจคิดต่างอย่างรุนแรงในประเด็นอื่นๆ ก็ตาม
ไบเดนยังประกาศตัวว่า เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกาในรอบ 20 ปีที่ไม่ทำสงคราม หลังจากสั่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และเสริมว่า การใช้กำลังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยอเมริกาจะเบนเข็มสู่ยุคใหม่ที่เน้นหนักนโยบายการทูต และให้สัญญาร่วมมือใกล้ชิดกับพันธมิตร
นอกจากนั้นผู้นำสหรัฐฯ ยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเสมือนจริงในวันพุธ (22) เพื่อต่อสู้วิกฤตโรคระบาด และแย้มว่า อาจมีการเพิ่มความมุ่งมั่น ซึ่งสื่ออเมริกันรายงานว่า หมายถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิดเพิ่มอีก 500 ล้านโดสเพื่อบริจาคให้ประเทศต่างๆ
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวกับที่ประชุมยูเอ็นในแบบเสมือนจริงว่า จีนจะเลิกอัดฉีดโครงการถ่านหินนอกประเทศ พร้อมวิจารณ์อเมริกาโดยไม่เอ่ยชื่อเช่นกันว่า พัฒนาการเมื่อเร็วๆ นี้ของสถานการณ์โลก แสดงให้เราเห็นกันอีกครั้งหนึ่งว่า การแทรกแซงทางทหารจากภายนอก และสิ่งที่อ้างกันว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้ให้อะไรนอกจากก่อให้เกิดอันตรายเท่านั้น
สี ยังเรียกร้องให้มหาอำนาจเคารพกันและกัน และย้ำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิทธิพิเศษสำหรับใคร
ประมุขของจีน ซึ่งป่าวร้องสนับสนุนความร่วมมือกันในลักษณะพหุภาคีเรื่อยมา ย้ำเรื่องนี้อีก โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ “จำเป็นต้องรับมือคลี่คลายผ่านการสนทนากันและการร่วมมือกัน”
สี ยังเน้นถึงการไม่มองเรื่องการแข่งขันกันว่ามีแต่แบบที่ผู้ชนะกินรวบกวาดกองกลางไปหมด (zero sum) ซึ่งฝ่ายจีนวิจารณ์มาตลอดว่าสหรัฐฯมีความคิดเช่นนี้
“ความสำเร็จของประเทศหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความล้มเหลวของอีกประเทศหนึ่ง” สีกล่าว “โลกใหญ่โตเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยให้แก่การพัฒนาร่วมกันและความก้าวหน้าร่วมกันของทุกๆ ประเทศ” เขาระบุในคำปราศรัยที่เป็นการบันทึกเอาไว้ล่วงหน้า โดยที่เขาเองก็เหมือนกับผู้นำอีกหลายรายที่ไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเอง เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิดของประเทศนั้นๆ
ด้าน อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ยกย่องคำปราศรัยของทั้งสองผู้นำ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ เขาออกมาเรียกร้องให้วอชิงตันและปักกิ่งจับเข่าคุยกัน พร้อมเตือนถึงอันตรายจากช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างจีนกับอเมริกา สองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก
กูเตียร์เรสแสดงความกังวลว่า โลกกำลังทำท่าจะแบ่งแยกเป็นสองฟากด้วยกฎเศรษฐกิจ การค้า การเงิน และเทคโนโลยี สองแนวทางในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และสองยุทธศาสตร์การทหารและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาที่คาดเดาได้ยากกว่าในสงครามเย็นครั้งที่แล้วเสียอีก
(ที่มา: รอยเตอร์/เอพี)