ในอดีต การท่องอวกาศอาจมีเป้าหมายเพื่อการสำรวจ และเป็นประเด็นแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ ทว่าวันนี้มนุษย์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ (space tourism) ที่ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไร้น้ำหนักแค่ไม่กี่นาทีหรือ 2-3 วัน, การบินขึ้นสู่ขอบอวกาศเหนือพื้นโลก หรือจะไปทัวร์ดวงจันทร์ ก็ล้วนแต่เป็นไปได้ และมีตัวเลือกมากมาย --- ขอเพียงคุณเป็นมหาเศรษฐีที่กระเป๋าหนักพอ
ปี 2021 นี้ถือได้ว่าเป็นปีแห่งความก้าวหน้าของธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ โดยมีหลายบริษัทที่แถลงเปิดตัวภารกิจใหม่ๆ ในการพานักท่องเที่ยวขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์บนห้วงอวกาศอันไกลโพ้น
สำหรับโครงการท่องเที่ยวอวกาศที่น่าสนใจ มีดังนี้
SpaceX
- โครงการ Inspirational4
บริษัทด้านการขนส่งอวกาศของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” เตรียมส่งผู้โดยสารจำนวน 4 คนขึ้นสู่วงโคจรเหนือสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลา 3 วันด้วยยาน Crew Dragon ที่ติดตั้งบนจรวด Falcon 9 โดยจะเดินทางออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ในวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งภารกิจนี้จะถือเป็นการทัวร์อวกาศครั้งแรกที่ผู้เดินทางเป็นพลเรือนล้วน และเกิดจากความตั้งใจของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจเร็ด ไอแซคแมน (Jared Isaccman) ที่ต้องการจะระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
SpaceX
- โครงการ Inspirational4
บริษัทด้านการขนส่งอวกาศของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” เตรียมส่งผู้โดยสารจำนวน 4 คนขึ้นสู่วงโคจรเหนือสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลา 3 วันด้วยยาน Crew Dragon ที่ติดตั้งบนจรวด Falcon 9 โดยจะเดินทางออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ในวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งภารกิจนี้จะถือเป็นการทัวร์อวกาศครั้งแรกที่ผู้เดินทางเป็นพลเรือนล้วน และเกิดจากความตั้งใจของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจเร็ด ไอแซคแมน (Jared Isaccman) ที่ต้องการจะระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
- โครงการ AX-1
ในเดือน ม.ค. ปี 2022 นักธุรกิจ 3 คนมีกำหนดเดินทางไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พร้อมกับนักบินอวกาศนาซาที่มีประสบการณ์สูง โดยจะใช้พื้นที่ของนักบินอวกาศอเมริกันบน ISS ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ภารกิจนี้จะใช้ระยะเวลารวม 10 วัน และเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยบริษัท Axiom Space ซึ่งได้ทำสัญญาเดินทางไปอวกาศด้วยยานของ SpaceX อีก 3 ครั้งในอนาคต
- โครงการ Space Adventure
SpaceX ยังมีแผนที่จะส่งผู้โดยสารที่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 4 คนขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลก ภายใต้โครงการของบริษัท Space Adventures ซึ่งเคยจัดทริปให้นักท่องเที่ยว 7 คนขึ้นไปเยือนสถานีอวกาศ ISS ด้วยจรวดของรัสเซียมาแล้วระหว่างปี 2001 จนถึงปี 2009
- โครงการ DEARMOON
ยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa) มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสินค้าแฟชั่นออนไลน์ Zozotown มีแผนเดินทางไปทัวร์รอบดวงจันทร์ด้วยจรวดสตาร์ชิป (Starship) ของ SpaceX ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยคาดว่าจะออกเดินทางภายในปี 2023 ขณะที่เจ้าตัวยังประกาศเปิดรับสมัครสมาชิกที่ร่วมเดินทางไปดวงจันทร์ด้วยอีก 8 คน
Virgin Galactic
ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งบริษัท เวอร์จิน กาแลคติก (Virgin Galactic) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านการท่องเที่ยวในอวกาศ ด้วยการทดลองเดินทางออกไปนอกโลกด้วยเครื่องบินที่ทะยานสู่ความสูง 80 กิโลเมตรเหนือทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก และกลับมาลงจอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.
เครื่องบินอวกาศของ เวอร์จิน ที่แนบอยู่ด้านล่างของเครื่องบินลำตัวคู่ไต่ระดับความสูง 46,000 ฟุตเหนือพื้นโลก ก่อนจะถูกปล่อยออกจากยานแม่ และจุดไอพ่นเพื่อให้พุ่งไปในอวกาศด้วยความเร็วเหนือเสียงในระดับความสูง 86 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขอบเขตของอวกาศตามนิยามของสหรัฐฯ จากนั้นจึงปิดไอพ่นเพื่อลอยในสภาพไร้น้ำหนักให้ผู้เดินทางได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศนอกโลก แล้วร่อนลงกลับมาจอดบนพื้นโลกอีกครั้งอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาทั้งหมดในการเดินทางราว 1 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ เวอร์จิน ถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) สั่งระงับการทดสอบชั่วคราว หลังพบว่าจรวดที่ แบรนสัน ใช้โดยสารทัวร์อวกาศได้หันเหออกนอกเส้นทางระหว่างกลับมาลงจอดยังพื้นโลก
ก่อนหน้านั้น เวอร์จินเปิดเผยว่ามีแผนจะทดสอบเครื่องบินอวกาศอีกอย่างน้อย 2 เที่ยว ก่อนเริ่มปฏิบัติการเที่ยวบินพาณิชย์จริงๆ ในปี 2022 และจากข้อมูลในเดือน ก.ค. พบว่าบริษัทขายตั๋วได้แล้วราว 600 ที่นั่งให้แก่ลูกค้าจาก 60 ประเทศ ด้วยราคาตั้งแต่ 200,000-250,000 ดอลลาร์ (6.5-8.1 ล้านบาท)
Blue Origin
บริษัทขนส่งอวกาศของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บแอมะซอน ประเดิมการทัวร์อวกาศครั้งแรกที่ทะเลทรายเวิ้งว้างในรัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยตัว เบซอสเองเป็นหนึ่งใน 4 ผู้โดยสารที่ได้ขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนัก 2-3 นาทีที่ความสูงกว่า 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยใช้จรวดขับเคลื่อน นิว เชพพาร์ด (New Shepard) ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ส่งยานแคปซูลพุ่งทะยานขึ้นท้องฟ้าในแนวตั้ง ก่อนที่จะตัวยานแคปซูลและแยกออก และกลับลงสู่พื้นโลกโดยมีร่มชูชีพขนาดใหญ่ 3 ตัวช่วยชะลอความเร็ว
Space Perspective
Space Perspective ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวอวกาศในรัฐฟลอริดา มีแผนที่จะส่งยานแคปซูล “เนปจูน” ที่ผูกติดกับบอลลูนยักษ์ขนาดพอๆ กับสนามฟุตบอลขึ้นไปจากศูนย์อวกาศเคนเนดี โดยผู้โดยสารจะได้เดินทางขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ “สทราโทสเฟียร์” เพื่อชมเส้นขอบอวกาศ ทว่าไม่ถึงขั้นสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก สำหรับสนนราคาของตัวโดยสาร 1 ใบอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 4.1 ล้านบาท
รัสเซีย
รัสเซียมีแผนที่จะส่งนักแสดงหญิง Yulia Peresild พร้อมผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งเดินทางพร้อมกับจรวดโซยุซไปยังสถานีอวกาศ ISS ในเดือน ต.ค. ปีนี้ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศภายใต้สภาพไร้น้ำหนักเป็นครั้งแรกของโลก
ที่มา: เอเอฟพี