xs
xsm
sm
md
lg

ขำกลิ้งกับรูปน้อนๆ ชิงรางวัลภาพสัตว์ป่าฮาเฮ ทั้งแมวน้ำคิกคักไปถึงเหยี่ยวถลาร่วง & ร่วมโหวตเจ้าตัวโปรด ลุ้น iPad ฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“Mr. Giggles” (คุณกิ๊กเกิ้ลส์)  :  ภาพแมวน้ำสีเทา : โดย มาร์ตินา โนวอตนา ชาวเอลวิงตัน สหราชอาณาจักร  :  กดชัตเตอร์ที่หมู่บ้านราเวนสการ์ หมู่บ้านริมทะเลในเขตสการ์เบอโร อังกฤษ - - - - “คุณกิ๊กเกิ้ลส์ ลูกแมวน้ำสีเทา ทำท่าเหมือนกำลังหัวเราะคิกคัก ดิฉันรักท่าทางของเขามากค่ะ ดูเหมือนมนุษย์เหลือเกิน ตอนที่เก็บภาพน้องมาได้น่ะ ดิฉันนอนรออยู่บนชายหาดซึ่งมากมายด้วยโขดหิน นานเป็นชั่วโมงๆ พยายามอยู่ให้นิ่งที่สุดที่จะเป็นได้ อดทนรอให้ภาพชีวิตแมวน้ำเปิดเผยสู่สายตา เจ้าลูกแมวน้ำตัวนี้ขึ้นจากทะเล มาเลือกหาที่นอนสบายๆ สักพักหนึ่ง แล้วกลายเป็นว่าเขาหลับปุ๋ยในแดดอุ่นบนโขดหิน หลายชั่วโมงผ่านไป กระแสน้ำหนุนขึ้นมาเรื่อยๆ เขาจึงต้องเปลี่ยนสู่โขดหินก้อนใหม่โดยขยับลึกเข้ามาบนชายฝั่ง แล้วเขาก็เหยียดตัวและหาวเป็นครั้งคราว หนึ่งในการหาวและเหยียดกายของเขากลายเป็นภาพนี้ล่ะค่ะ มันเหมือนกับว่าเขากำลังหัวเราะคิกคักจริงๆ” ตากล้องสาวหน้าสวย เล่าที่มาของภาพไว้อย่างนั้น
เสียงหัวเราะและความครื้นเครงมีได้ง่ายๆ เมื่อชมสุดยอดภาพสัตว์ป่าฮาเฮที่มีทั้งจอมตลกร้าย คุณเปิ่นเทิ่น ยัยเซ็กซี่ เจ้าซุกซน น้องเล็กผู้กล้าหาญ ฯลฯ สิริรวม 42 ภาพคัดสรรเข้าสู่รอบสุดท้ายไฟนอลลิสต์ (42 Finalists) แห่งการชิงรางวัลการถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าฮาเฮประจำปี 2021 หรือ the 2021 Comedy Wildlife Photography Awards

การจัดประกวดในปีนี้มีขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยสองหนุ่มสุดหล่อนักถ่ายภาพมืออาชีพผู้มีดวงใจเมตตาอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้แก่ อัศวินพอล จอยน์สัน-ฮิคส์ เอ็มบีอี (Paul Joynson-Hicks MBE*) และคุณทอม ซัลแลม (Tom Sullam) ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งรางวัลฮาเฮนี้ตั้งแต่ปี 2015 โดยมีแรงบันดาลใจที่ใช้อารมณ์ขันมาช่วยส่งเสริมให้มนุษยชาติหลงรักและเอ็นดูสัตว์ป่า แล้วจะได้มีใจอยากช่วยกันอนุรักษ์ชีวิต ถิ่นที่อยู่อาศัย และความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าทั้งปวง

(*MBE คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษอย่างที่สุดแห่งจักรวรรดิบริติช หรือ Most Excellent Order of the British Empire เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ประดับแด่คณะอัศวินแห่งพระมหากษัตริย์อังกฤษ ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อปี 1917 เพื่อเชิดชูผู้ที่กระทำคุณงามความดีสูงส่งแก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ MBE เป็นเครื่องราชฯ ลำดับเริ่มต้น ในจำนวนทั้งหมด 5 ชั้น)

รูปสุดยอดฝีมือจำนวนสามโหลครึ่งที่คัดสรรจากภาพส่งประกวดจากทั่วโลกมากกว่า 7,000 ภาพ เป็นผลงานการจับภาพสัตว์ป่าในกริยาตลกขำกลิ้งขั้นสุดและน่ารักน่าเอ็นดูจับใจ ณ โมงยามที่พวกเค้าเป็นสัตว์ป่าขนานแท้และเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา

อากัปกิริยาของสัตว์ป่าหลายสิบชนิดเหล่านี้เป็นอะไรที่ยากจะได้พบเห็นสำหรับเราๆ ท่านๆ โดยมีอยู่มากมายทีเดียวที่ละม้ายท่าทางของมนุษย์อย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็น
- ลูกแมวน้ำหัวเราะคิกคัก
- จอมเก๋าจิงโจ้แสดงโอเปร่าสดกลางราวป่า
- น้องแร็กคูนจับกลุ่มซุบซิบนินทา
- มาดามปลาจู๋ปากอวบอิ่มส่งจูจุ๊บใส่กล้อง
- พี่อินทรีหัวขาวเสียฟอร์มถลาร่วงชนกิ่งไม้
- ยัยหมีอารมณ์ดี เดินมายิ้มตั้งท่าให้ช่างภาพถ่ายรูป

ความน่าทึ่งของภาพเหล่านี้สำแดงให้เห็นความชำนาญขั้นเทพของเหล่าช่างภาพ เพราะการจับอิริยาบถของสัตว์ป่าได้แบบโชะชะเยี่ยงนี้ ต้องใช้ทั้งศักยภาพเชิงเทคนิคและสายตาที่เห็นความงามอย่างฉับไวและคมกริบ ความสำเร็จของช่างภาพจำนวนมากมาจากการเฝ้าติดตาม “ดารา” ของพวกเขาอย่างเนิ่นนานเพื่อสร้างความไว้ใจในระหว่างกัน เช่น ภาพของปลาปักเป้ากล่อง ที่ช่างภาพบอกว่าปลาพวกนี้ไม่ว่ายน้ำหนีเราหรอก แต่ถ้ารู้สึกว่าเราสนใจ พวกเขาจะหันหลังใส่เราเสมอ

“Sweet lips are for kissing!” (ริมฝีปากแสนหวานเพื่อการจุมพิต)  :  ภาพปลาปักเป้ากล่อง  :  โดย ฟิลิปป์ สตาฮร์ (Philipp Stahr) ชาวมานน์ไฮม์ เยอรมนี  :  กดชัตเตอร์ที่เกาะกือราเซา เกาะทางตอนใต้ในทะเลแคริบเบียนของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ - - - - “โดยปกติแล้ว ใครจะไปถ่ายภาพปลาปักเป้ากล่องได้สำเร็จนั้น ยากครับ แม้พวกปลาไม่เดือดร้อนอะไรกับการที่นักดำน้ำจะผ่านไปใกล้ๆ แต่ถ้าคุณแสดงความสนใจพวกเขาล่ะก้อ ปลาเหล่านี้จะหันหลังใส่คุณเสมอ  ผมจึงต้องพยายามว่ายน้ำเข้าไปแบบประคองตัวให้สูงเหนือปลาตัวนี้ประมาณ 0.5 เมตร พร้อมกับทำเป็นไม่สนใจใดๆ ทั้งสิ้น  แต่ในเวลาเดียวกัน ผมมีกล้องอยู่ในมือและตั้งแขนดิ่งลงไปใต้หน้าอกให้หน้ากล้องจ่อพื้น แล้วเมื่อจังหวะที่ใช่เปิดตัวขึ้นมา ผมบิดข้อมือตั้งฉากขึ้น 90 องศา หน้ากล้องจ่อไปข้างหน้า แล้วเล็งและกดชัตเตอร์โดยหวังว่าจะได้ภาพปักเป้ากล่องอยู่ในโฟกัสที่ต้องการ  แต่ผมไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะได้ภาพริมฝีปากแสนสวยของเธอในระยะใกล้ขนาดนี้!”
ความสำเร็จในปีนี้ยิ่งใหญ่สุดยอด ด้วยจำนวนผลงานส่งประกวดมากกว่า 7,000 ชิ้นงานจากทั่วทุกมุมโลก

“เราปลื้มมากกับจำนวนและคุณภาพของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ครับ มีมากกว่า 7,000 ชิ้นงานจากทั่วทุกมุมโลกเลย”กล่าวโดยอัศวินจอยน์สัน-ฮิกส์ หนึ่งในสองผู้ร่วมก่อตั้งรางวัล

“นี่เป็นผลการจัดประกวดที่อัศจรรย์อย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าเราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดหนักหนาจำนวนผลงานมหาศาลที่ส่งเข้าประกวดแสดงให้ว่าโลกของเรามีผู้ที่กระตือรือร้นจะเข้าร่วมกับการอนุรักษ์ พร้อมกับยืนยันว่าสัตว์ป่านั้น ทั้งอัศจรรย์และทั้งตลกขบขันน่าเอ็นดู”คุณอัศวินบอก และย้ำด้วยว่า

“เราต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อปกป้องพวกเขา”

มอบ 10% ของรายได้ไปยังองค์กรด้านอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ป่า ปีนี้มอบแก่โครงการอนุรักษ์อุรังอุตัง

ขณะที่ผู้ส่งผลงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมประกวด คณะทำงานของผู้จัดงานมีรายได้จากหลายช่องทาง เช่นเปิดให้บริษัทห้างร้านเข้าเป็นสปอนเซอร์การจัดประกวด นำผลงานภาพถ่ายไปจัดนิทรรศการในประเทศต่างๆเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่า จัดทำปฏิทิน หนังสือ บัตรอวยพรขายแก่ประชาชนทั่วโลก ฯลฯ

10% ของกำไรสุทธิในแต่และปีจะมอบแก่องค์กรด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจโดยในปีนี้ Save Wild Orangutansซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์อุรังอุตังที่อุทยานแห่งชาติกุนุง ปาลุงบนเกาะบอร์เนียว จะเป็นหน่วยงานที่จะได้รับทุนสนับสนุน

(ภาพบน) อัศวินพอล จอยน์สัน-ฮิคส์ – ผู้ก่อตั้งรางวัล Comedy Wildlife Photography Awards (CWPA)  นักถ่ายภาพสัตว์ป่าและนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีผลงานมหาศาล พอลใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาตะวันออกตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และผลิตหนังสือภาพถ่ายหลายเล่มที่เก็บภาพชีวิตสัตว์ป่าในยูกันดา แทนซาเนีย และแซมเบีย ต่อมาพอลสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม 4 สาขา เช่น วิสาหกิจที่ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในยูกันดา  ผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE เมื่อปี 2011 หลังจากนั้น พอลเดินหน้าทำงานในประเด็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเต็มตัว กระทั่งกลายมาเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเอ็นดูและเมตตาสัตว์ป่า ผ่านการประกวด Comedy Wildlife Photography Awards ที่เริ่มกันเมื่อปี 2015    (ภาพล่าง) ทอม ซัลแลม – ผู้ร่วมก่อตั้งรางวัล CWPA เขาเป็นนักถ่ายภาพวิจิตรศิลป์และนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการถ่ายภาพวิจิตรศิลป์เชิงพาณิชย์หลังจากใช้เวลากับธุรกิจสาขาอื่นเนิ่นนาน  เมื่อทอมได้พบกับพอล เขาช่วยพอลสร้างการประกวดรางวัล CWPA จนประสบความสำเร็จระดับโลก
มอบ iPad ฟรีแก่ผู้โชคดีที่ร่วมโหวต People’s Choice Award โดยจะแจ้งผลในวันประกาศผู้ชนะการประกวด 22 ตุลาคม 2021

นางฟ้าและเทพบุตรผู้พิทักษ์น้อนๆ สัตว์ป่า หากสนใจจะเชียร์สุดโปรดตัวใดเป็นพิเศษ สามารถเข้าร่วมโหวตออนไลน์เพื่อให้คุณน้อนคุณหนู 1 ภาพ ได้รับรางวัล People’s Choice Award โดยเข้าไปคลิก ภาพที่ใช่-ตัวที่ชอบ ณ https://www.comedywildlifephoto.com/vote-affinity-photo-peoples-choice-award.php ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2021 โดยผู้โชคดี 1 ท่านจะได้รับไอแพดใหม่เอี่ยมฟรี 1 เครื่อง ซึ่งกองประกวดได้มาจากสปอนเซอร์ใหญ่ใจบุญคือ Affinity Photo

กองประกวดจะประกาศชื่อผู้โชคดี ในระหว่างพิธีประกาศผลการตัดสิน วันที่ 22 ตุลาคม 2021

ส่วนบรรดาผู้ชนะการประกวดจะได้เที่ยวซาฟารีฟรี 1 สัปดาห์ ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติมาไซ มารา ประเทศเคนยา แบบว่าถ่ายภาพกันสนุกสุดๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต

เรียนเชิญชมภาพฮาเฮน่ารักรวมครึ่งชุดพร้อมคำบรรยายภาพภาษาไทยด้านท้าย

ชมเต็มชุด 42 สุดยอดภาพสัตว์ป่ารอบไฟแนลลิสต์ ตามลิงก์นี้ https://www.comedywildlifephoto.com/gallery/finalists/2021_finalists.php

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: comedywildlifephoto.com บีบีซี ฟอร์บส์ นิวยอร์กไทมส์ ยูโรนิวส์ mymodernmet.com discoverwildlife.com petapixel.com)


“I guess summer’s over” (กระพ้มคิดว่าฤดูร้อนได้ผ่านไปแล้ว)  :  ภาพนกพิราบ  :  โดย จอห์น สเปียร์ส จากสหราชอาณาจักร  :  กดชัตเตอร์ที่เมืองโอบาน สกอตแลนด์ - - - - ฤดูร้อนผ่านพ้นไปตั้งแต่เมื่อใด คำตอบดูเหมือนจะลอยอยู่ในสายลม “ผมกำลังถ่ายภาพฝูงพิราบโผบิน แล้วใบไม้นี้ก็หวือไปแปะหน้าของเจ้านก” ช่างภาพสเปียร์สเล่าที่มาของความประจวบเหมาะแห่งชีวิต

“Majestic and Graceful Bald Eagle?” (อินทรีหัวขาวผู้เกรียงไกรและสง่างาม ว้าย..ชนเปรี้ยงเบยยย?)  :  ภาพนกอินทรีหัวขาว  :  โดย เดวิด เอปพลี จากสหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่ฟลอริดาตะวันตกเฉียงใต้ - - - - “อินทรีหัวขาวจะใช้รังเดิมนานเป็นหลายปี หรือกระทั่งหลายทศวรรษ โดยคอยเติมวัสดุใหม่เข้าไปซ่อมเสริมตั้งแต่ต้นๆ และตลอดฤดูทำรัง  ปกตินั้น อินทรีหัวขาวทั้งปวงมีทักษะเลอเลิศในการบินโฉบลงไปฉวยกิ่งไม้ที่หมายตาออกจากต้น แต่เจ้าตัวนี้บินพลาดและเสียฟอร์มน่าขัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหนื่อยหนักจากที่ง่วนสร้างรังใหม่มาตลอดเช้า  แต่แม้จะสะดุดคะมำกลางอากาศ หน้ากระแทกก้านต้นไม้ซึ่งคงจะเจ็บไม่ใช่น้อย นางกอบกู้สถานการณ์ง่ายๆ แค่ขยับปีกประคองตัวนิดหน่อย แล้วขึ้นไปเกาะพักอาการสักครู่ ก่อนจะโผผินบินไปหาอีกกิ่งไม้เพิ่ม” ช่างภาพเดวิดรายงานอุบัติเหตุกลางเวหาอย่างละเอียด

“Smoked Deer for Dinner” (กวางรมควันสำหรับมื้อเย็น)  :  ภาพเสือโคร่ง  :  โดย สิทธานต์ อากราวัล  ชาวพอนดิเชอร์รี อินเดีย  :  กดชัตเตอร์ที่อุทยานแห่งชาติจิม คอร์เบตต์ อินเดีย - - - - “ผมตามครอบครัวคุณแม่เสือโคร่ง ชื่อปาอาโร ในอุทยานแห่งชาติจิม คอร์เบตต์ นานหลายปี ตัวนี้เป็นตัวลูกสาวครับ น้องยืนบนสองขาหลัง จะเกาแก้มกับขอนไม้แก้คัน แต่ภาพออกมาราวกับว่าน้องแบกขอนไม้ไว้บนบ่า”

“How do you get that damn window open?” (หน้าต่างบ้าเนี่ย เปิดยังไง?)  :  ภาพแร็กคูน  :  โดย นิโคลาส เดอ วอล์กส์  ชาวเมืองดรากิญ็อง ฝรั่งเศส  :  กดชัตเตอร์ที่ฝรั่งเศส - - - - “เจ้าแร็กคูนใช้เวลาอย่างหนักที่จะเข้าในบ้านให้ได้ จนหมดสภาพ แปะคาอยู่กับบานกระจก เพราะอยากรู้อยากเห็นแท้ๆ และอาจจะอยากขโมยอาหารด้วย”

“Monday Morning Mood” ( ’รมณ์บูด เช้าวันจันทร์)  :  ภาพนกเอี้ยงด่างพันธุ์แอฟริกา  :  โดย แอนดริว แรนด์เบิร์ก แอฟริกาใต้  :  กดชัตเตอร์ที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติรีตเฟล็ก แอฟริกาใต้ - - - - “ผมจับภาพนี้ได้ตอนที่ถ่ายรูปฝูงนกเอี้ยงด่างพันธุ์แอฟริกาบนต้นไม้ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติรีตเฟล็ก แอฟริกาใต้  สีหน้าแววตาของมันคืออารมณ์ของผมประจำเช้าวันจันทร์แท้ๆ เลยครับ”

“Draw me like one of your French bears” (วาดภาพเดี๊ยนให้เหมือนพวกหมีฝรั่งเศสของคุณ – ประโยคล้อเลียนฉากภาพยนตร์ Titanic ซึ่งโรสกล่าวกับแจ๊คขณะพลอดรักกันในห้องเคบิน “วาดภาพชั้นให้เหมือนพวกผู้หญิงฝรั่งเศสของคุณ” โรสหมายถึงภาพเปลือยที่แจ๊คเคยวาดผู้หญิงในซ่อง)  :  ภาพหมีโคดิแอค/หมีสีน้ำตาลอะแลสกา  :  โดย วีโนนา ซูดัม ชาวอะแลสกา สหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่เกาะโคดิแอค รัฐอะแลสกา - - - - คุณหมีสาวแรกรุ่นเดินเอ้อละเหยมาหยุดที่ริมสายน้ำ ตรงข้ามกับวีโนนา ซูดัม ช่างภาพชีวิตสัตว์ป่าคนเก่งของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างถ่ายภาพบนเกาะโคดิแอคในอะแลสกา “นางใช้อุ้งเท้าใหญ่ยักษ์เกลี่ยทรายทำเตียงหมี พอได้พื้นที่ถูกใจแล้ว นางลงนอนทอดกายอย่างสบาย และเริ่มยิ้มมาให้ดิฉันค่ะ”  หมีโคดิแอคเป็นที่เลื่องลือในความฉลาด ซึ่งทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับหมีพันธุ์อื่นๆ และกับมนุษย์ด้วย

“Monkey riding a giraffe” (ลิงขี่ยีราฟ)  :  ภาพลิงซุกซนแอบขโมยขี่หลังยีราฟ  :  โดย เดิร์ก แจน สตีฮาวเวอร์ จากเนเธอร์แลนด์  :  กดชัตเตอร์ที่อุทยานแห่งชาติเมอร์ชิสัน ฟอลส์  ยูกันดา - - - - “ขณะนั่งรถชมชีวิตสัตว์ป่า พวกเราเจอกลุ่มลิงเล่นกระโดดขึ้นกระโดดลงจากต้นไม้แกร็นๆ ที่มีกิ่งผอมชูขึ้นฟ้าแค่กิ่งเดียว ดูอยู่เพลินๆ สักพัก ผมเห็นยีราฟตัวหนึ่งเดินเข้าไปทางขวา จังหวะที่ยีราฟเฉียดผ่าน ลิงจอมซนโดดโผจากต้นแกร็นนี้ ไปนั่งขี่คร่อมหลังยีราฟได้อย่างพอดิบพอดีเลย”

“Dont Worry. Be Happy” (อย่ากังวลเลย มีความสุขกันเถอะ)  :  ภาพแมลงปอ  :  โดย อเล็กซ์ บ็อกเคอร์  เยอรมนี  :  กดชัตเตอร์ที่เฮเมอร์ เยอรมนี - - - - “แมลงปอบนดอกไม้ในรุ่งอรุณวันหนึ่ง จ้องยิ้มๆ ใส่กล้องของผม  เขาดูเหมือนจะหัวเราะอยู่ในแววตา  ชีวิตพวกเราในปี 2020/2021 ลำบากกันทั่วหน้าเพราะโรคระบาดโคโรนา  แต่เมื่อออกไปเดินเล่น และจับจ้องความงามแห่งธรรมชาติให้ดี ความทุกข์ทั้งปวงก็เหมือนจะลดน้อยลงสำหรับใจผม  ดังนั้น วันไหนที่รู้สึกแย่ ภาพนี้จะดึงรอยยิ้มของผมออกมา”

“Did I say you could take my picture?” (ป๋มอนุญาตให้ถ่ายรูปป๋มแล้วหรอ?)  :  ภาพนกคิงเล็ตสวมมงกุฎทับทิม  :  โดย แพทริค เดวีย์ จากสหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่สวนสาธารณะอาตาสคาเดโร รัฐแคลิฟอร์เนีย - - - - ช่างภาพแพทริคติดตามเก็บภาพคุณน้องคุณหนูคิงเล็ตสวมมงกุฎทับทิมตัวจิ๋วแสนสวยตัวนี้ ตลอด 15 นาทีที่น้องกระโดดกระเด้งปรู๊ดปร๊าดไม่อยู่นิ่ง จากกิ่งไม้หนึ่งไปสู่อีกกิ่งไม้หนึ่ง “ผมคิดว่ามันนึกรู้ตัวว่าผมเฝ้าตาม เพราะว่า.. จู่ๆ มันหยุดกึก และจ้องใส่ผมนานตั้ง 3 วินาที!”

“Laughing Snake” (งูหัวเราะ)  :  ภาพงูหัวจิ้งจก  :  โดย อทิตยา ชีร์ซาการ์ จากอินเดีย  :  กดชัตเตอร์ที่อินเดียตะวันตก - - - - งูหัวจิ้งจกมีให้เห็นบ่อยมากในอินเดียตะวันตก เมื่อมีมนุษย์เข้าใกล้ พวกเขาจะขู่โดยอ้าปากกว้าง  แต่ “รอยยิ้ม” ของงู สอดคล้องกับความไร้อันตรายของพวกเขา

“Ouch! Golden Silk Monkey” (โอ๊ย! ลิงขนนุ่มเป็นไหมสีทอง)  :  ภาพลิงขนนุ่มเป็นไหมสีทอง  :  โดย เคน เจนเซน จากสหราชอาณาจักร  :  กดชัตเตอร์ที่ยูนนาน จีน - - - - อันที่จริงแล้ว ลิงขนนุ่มเป็นไหมสีทองตัวนี้ที่ยูนนาน ประเทศจีน แผดเสียงกัมปนาทแสดงความเป็นเจ้าถิ่น แต่ถ่ายภาพขึ้นมาแล้ว ดูเหมือนกับจะร้องโวยวายว่าเจ็บ

“Chinese Whispers” (เกมกระซิบบอกต่อข้อความจากหัวแถวไปยังหางแถว และถ้อยคำมักจะผิดเพี้ยนให้ได้หัวเราะกัน)  :  ภาพกลุ่มลูกแร็กคูน  :  โดย แจน พีคา ชาวคาสเซล เยอรมนี  :  กดชัตเตอร์ที่เมืองคาสเซล เยอรมนี  - - - - “ลูกๆ แร็กคูนกระซิบความลับสู่กัน” เป็นอากัปกิริยาน่ารักที่ละม้ายมนุษย์อย่างยิ่ง

“Leaning Post” (หลักอิงของลูก)  :  ภาพหมีคัมชัตคา-หมีสีน้ำตาล  :  โดย แอนดริว พาร์คินสัน จากสหราชอาณาจักร  :  กดชัตเตอร์ที่คาบสมุทรคัมชัตคา รัสเซีย - - - - “ลูกน้อยหมีคัมชัตคามั่นใจที่จะอิงหลังไว้กับคุณแม่ ขณะเพลิดเพลินพินิจมองบรรดานกบนต้นไม้ใกล้ๆ

“Grumpy Chameleon” (กิ้งก่าอารมณ์ร้าย)  :  ภาพกิ้งก่าคาเมเลี่ยนอินเดีย  :  โดย กุรุมูรถี กุรุมูรถี ชาวเจนไน อินเดีย  :  กดชัตเตอร์ที่เทือกเขาฆาฏตะวันตก อินเดีย - - - - บุคลิกท่าทางของคุณกิ้งก่าละม้ายอาแปะจอมมาเฟียผู้มีเล็บคมยาว

“We’re too sexy for this beach” (เราเซ็กซี่เกินไปสำหรับชายหาดนี้)  :  ภาพเพนกวินเจนทู  :  โดย โจชัว กาลิกคี จากสหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่แหลมโวลันเทียร์ พอยท์ หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ - - - - นอนนิ่งอยู่บนหาดทรายที่แหลมโวลันเทียร์ พอยท์ หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ช่างภาพโจชัว กาลิกคีซุ่มรอจะจับภาพเจ้าเพนกวินเจนทูสักตัวที่กระโดดออกจากทะเล “ผมดีใจมากเลยครั้ง มีสามสหาย เพนกวินทริโอ ท่าทางครึกครื้นออกมาจากน้ำ และเดินคลอกันมาทางผม ผมมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้บันทึกอารมณ์นี้ของพวกมัน ดูเป็นลีลาจี๊ดจ๊าดกระฉับกระเฉงกันทุกตัวเลย”

“Opera warm-ups” (วอร์มเส้นเสียง พร้อมเพรียงแก่โอเปร่า)  :  ภาพจิงโจ้  :  โดย ลีอา สแคดแดน จากออสเตรเลีย  :  กดชัตเตอร์ที่เมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย - - - - คุณจิงโจ้เปิดการแสดงโอเปร่าด้วยลีลาที่ถอดแบบจากลูชาโน ปาวารอตติ จอมเทพโอเปร่าเสียงเทเนอร์

“Ninja Prairie Dog!” (นินจา กระรอกดิน พร้อมรบ!)  :  ภาพแพรรีด็อก/กระรอกดิน  :  โดย อาร์เธอร์ เทรวิโน จากสหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่เมืองลองมอนต์ โคโลราโด สหรัฐอเมริกา - - - - “ตอนที่พญาอินทรีหัวขาวพลาดท่า คว้าน้องกระรอกดินไม่สำเร็จ  หนุ่มน้อยใจกล้ากระโจนเข้าใส่และทำให้จอมพญาตกใจ บินเสียหลัก จนหิมะใต้อุ้งเล็บกระจุยกระจาย น้องจึงมีเวลาพอจะเผ่นหนีลงไปหลบภัยในรูแถวนั้น  เป็นเรื่องจริงของเดวิดกับโกไลแอธแท้ๆ เชียว” ช่างภาพอาร์เธอร์รายงานเหตุประหลาดไว้อย่างนั้น

“Time for school” (ได้เวลาศึกษาเล่าเรียน)  :  ภาพนากใหญ่ขนเรียบ  :  โดย ฉีกีเตียว จากสิงคโปร์  - - - - “คุณแม่นาก “ขบ” หลังคอเจ้านากน้อย ลากตัวไปเรียนว่ายน้ำ รู้เลยบ้านนี้ใครใหญ่!

“Just checking” (แค่จะตรวจตราความเรียบร้อย)  :  ภาพลิงกำมะหยี่  :  โดย แลร์รี เพตเตอร์บอร์ก จากสหรัฐอเมริกา  :  กดชัตเตอร์ที่อุทยานแห่งชาติเซาท์ลวงวา แซมเบีย - - - - “ลิงกำมะหยี่ในอุทยานแห่งชาติเซาท์ลวงวา แซมเบีย นั่งรอลุ้นแถวสะพานข้ามแม่น้ำลวงวา เผื่อจะมีใครนำของอร่อยมากำนัล ว่างๆ เขาก็ก้มมองตรวจตราว่า “ทุกสิ่ง” ถูกนำเสนอชัดเจนและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ลิงกำมะหยี่เป็นที่เลื่องลือด้านพวงไข่สวยงามที่สุดในโลก โดยมีสีฟ้าสดใสดูสุขภาพดี  ของขวัญจากธรรมชาติชุดนี้มีเพื่อดึงดูดพวกลิงสาว อันเป็นการโปรโมทการสืบพันธุ์วิธีหนึ่งนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น