สหรัฐฯ ถอนกำลังพลชุดสุดท้ายออกจากอัฟกานิสถานในวันจันทร์ (30 ส.ค.) ปิดฉากสงครามอัฟกันที่ยืดเยื้อมานานถึง 20 ปีด้วยการคืนอำนาจการปกครองดินแดนแห่งนี้กลับสู่มือกลุ่มตอลิบานอีกครั้ง ขณะที่พลเมืองอัฟกันหลายหมื่นคนที่เคยช่วยเหลือชาติตะวันตกยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้เบื้องหลัง และไม่รู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นอย่างไรนับจากนี้
เสียงปืนเฉลิมฉลองดังกระหึ่มทั่วกรุงคาบูล หลังจากที่เครื่องบินสหรัฐฯ ลำสุดท้ายพุ่งทะยานออกจากสนามบินนานาชาติ ฮามิด คาร์ไซ ในค่ำวันจันทร์ (30) โดย กอรี ยูซุฟ โฆษกตอลิบาน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์ว่า “ทหารอเมริกันคนสุดท้ายออกจากสนามบินคาบูลไปแล้ว ประเทศของเราได้เอกราชกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประเมินว่ายังมีชาวอเมริกันอีก 100 กว่าคนที่ยังติดค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากไม่สามารถไปขึ้นเครื่องบินเที่ยวสุดท้ายได้ทัน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงยืนกรานปกป้องการตัดสินใจถอนทหารตามกำหนดเส้นตาย 31 ส.ค. แม้จะหมายถึงการที่สหรัฐฯ ต้องทอดทิ้งพลเมืองและชาวอัฟกันบางส่วนไว้ก็ตามที
“ขณะนี้ปฏิบัติการทางทหารของเราในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมา 20 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) พร้อมบอกกับอเมริกันชนทั้งประเทศว่าการถอนตัวอย่างบอบช้ำออกจากอัฟกานิสถานในวันนี้ "เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และดีที่สุดสำหรับอเมริกา"
ระหว่างแถลงข่าวในห้องจัดเลี้ยงของทำเนียบขาว ไบเดน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนอันมหาศาลของสงครามอัฟกานิสถานที่คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปเกือบ 2,500 นาย ชาวอัฟกันอีกราวๆ 240,000 คน และยังใช้งบประมาณไปเกือบ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์
"ผมรับผิดชอบการตัดสินใจ" ไบเดน กล่าว "ผมเคยสัญญากับอเมริกันชนว่าผมจะจบสงครามนี้ วันนี้ผมทำตามสัญญาแล้ว มันเป็นเวลาที่เราจะต้องซื่อสัตย์ หลังจาก 20 ปีในอัฟกานิสถาน ผมจะไม่ขอส่งลูกชายและลูกสาวชาวอเมริกันอีกรุ่นเข้าสู้รบในสงครามอีก"
ไบเดน ชี้ว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นานแล้ว นั่นคือการขับไล่รัฐบาลตอลิบานออกไปเมื่อปี 2001 ฐานให้ที่หลบซ่อนแก่กลุ่มก่อการร้าย “อัลกออิดะห์” ที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 และหลังจากนั้น 10 ปีก็สามารถปลิดชีพ “อุซามะห์ บินลาดิน” อดีตผู้นำสูงสุดของอัลกออิดะห์ได้ที่ปากีสถาน
อย่างไรก็ตาม การถอนทหารครั้งนี้ก็ทำให้ ไบเดน โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันและคนในพรรคเดโมแครตเอง โดย ส.ว. เบน แซสส์ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ วิจารณ์การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานว่าเป็น “ความอัปยศอดสูของชาติ” และ “เป็นผลโดยตรงมาจากความขี้ขลาดตาขาวและความไร้ศักยภาพของประธานาธิบดีไบเดน เอง”
ไบเดน พยายามแก้ต่างว่า เขาทำในสิ่งที่สหรัฐฯ ควรทำมานานหลายปีแล้ว "ผมจะไม่ต่อเวลาสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้นนี้ และผมจะไม่ขยายเวลาการถอนตัวออกไปอย่างไม่มีจุดจบ"
ไบเดน ย้ำว่า ทั่วโลกกำลังจับจ้องไปที่กลุ่มตอลิบานว่าจะรักษาสัญญาในการเปิดทางอพยพให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินทางออกจากอัฟกานิสถานหรือไม่
ทั้งนี้ มีรายงานว่ากองทัพสหรัฐฯ ได้ทิ้งเครื่องบินหลายสิบลำ รวมถึงรถหุ้มเกราะและระบบป้องกันขีปนาวุธไฮเทคเอาไว้ที่สนามบินคาบูลก่อนจะถอนกำลังพลชุดสุดท้ายออกมา ทว่ายุทโธปกรณ์ทั้งหมดถูกทำให้ใช้งานไม่ได้แล้ว
พล.อ.เคนเนธ แมคเคนซี ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (US Central Command) ระบุว่า อากาศยาน 73 ลำที่จอดอยู่ภายในท่าอากาศยานนานาชาติ ฮามิด คาร์ไซ รวมถึงรถหุ้มเกราะทางยุทธวิธี MRAP ที่ราคาคันละประมาณ 1 ล้านดอลลาร์อีกราว 70 คัน และรถฮัมวีอีก 27 คัน ได้ถูกปลดระวางจากภารกิจด้านการทหาร (demilitarized) หรือถูก “ทำให้ใช้งานไม่ได้” แล้ว ก่อนที่ทหารอเมริกันจะปิดฉากภารกิจ 2 สัปดาห์ในการอพยพคนออกจากอัฟกานิสถาน
“อากาศยานเหล่านั้นไม่มีทางจะขึ้นบินได้อีก และไม่มีใครสามารถจะนำมันไปใช้งานได้อีก” พล.อ.แมคเคนซี ระบุ
กลุ่มผู้สนับสนุนตอลิบานได้ฉลองการจากไปของกองทัพสหรัฐฯ ด้วยการเดินขบวนแห่โลงศพประดับธงชาติสหรัฐฯ และธงนาโตที่เมืองโคสต์ (Khost) ทางตะวันออกของอัฟกานิสถานเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) ขณะเดียวกัน กลุ่มนักรบได้แพร่คลิปเผยให้เห็นถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเขาด้วย
ผลสำรวจโดยรอยเตอร์/อิปซอสที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (30 ส.ค.) พบว่า มีชาวอเมริกันเพียง 38% เท่านั้นที่พอใจแนวทางการถอนทหารของไบเดน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีมากถึง 51% และ 3 ใน 4 ยังต้องการให้คงทหารไว้ในอัฟกานิสถานต่อ จนกว่าชาวอเมริกันทั้งหมดจะได้รับการอพยพอย่างปลอดภัย
โฆษกตอลิบานแถลงว่า พวกเขาต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ แม้เป็นศัตรูกันมานานถึง 20 ปี และยังต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั่วโลกด้วย พร้อมกับยืนยันว่ากองกำลังความมั่นคงของตอลิบานจะใช้แนวทางที่ “อ่อนโยนและสุภาพ” มากขึ้น
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันพร้อมที่จะเปิดโอกาสร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน หากกลุ่มตอลิบานรักษาสัญญาในการไม่แก้แค้นฝ่ายตรงข้าม
“ตอลิบานเรียกร้องความชอบธรรมและการสนับสนุนจากประชาคมโลก และสำหรับสหรัฐฯ แล้ว สิ่งเหล่านั้นจะต้องได้มาจากการกระทำของพวกเขาเอง” บลิงเคน กล่าว
การปิดฉากภารกิจทางทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานนำมาซึ่งคำถามสำคัญหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือชะตากรรมของชาวอเมริกันและพลเมืองอัฟกันกลุ่มเสี่ยงที่ยังคงถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง
พลเมืองอเมริกันกว่า 5,500 คนถูกส่งขึ้นเครื่องบินออกจากอัฟกานิสถานนับตั้งแต่ภารกิจอพยพเริ่มขึ้นในวันที่ 14 ส.ค. แต่ก็มีชาวอเมริกันส่วนน้อยที่ยังเลือกจะอยู่ในอัฟกานิสถานต่อ ส่วนใหญ่เนื่องจากมีครอบครัวอยู่ที่นั่น
รัฐบาลไบเดน ระบุว่า สหรัฐฯ คาดหวังว่าตอลิบานจะยังคงเปิดทางให้ชาวอเมริกันและคนอื่นๆ เดินทางออกมาได้อย่างปลอดภัย แม้สหรัฐฯ จะถอนทหารแล้วก็ตาม แต่ก็มีคำถามตามมาว่าชาวอเมริกันเหล่านั้นจะออกมาได้อย่างไรหากปราศจากสนามบินที่มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
นอกจากชาวอเมริกันแล้ว ยังมีชาวอัฟกันที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอีกหลายพันคน เช่น อดีตล่ามที่เคยทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ ผู้สื่อข่าว และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ซึ่งเสี่ยงจะถูกตอลิบานติดตามแก้แค้น
อังกฤษ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ออกคำแถลงร่วมเมื่อวันอาทิตย์ (29) ว่า ตอลิบานได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะอนุญาตให้พลเมืองต่างชาติและชาวอัฟกันที่มีเอกสารรับรองการเดินทางอย่างถูกต้องออกจากอัฟกานิสถานได้
หลายฝ่ายยังจับตามองว่าความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตอลิบานหลังจากนี้จะเป็นไปในลักษณะไหน
สหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะคงนักการทูตเอาไว้ในอัฟกานิสถาน ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของกลุ่มตอลิบาน
อย่างไรก็ดี ไบเดน อาจจำเป็นต้องขบคิดว่าสหรัฐฯ จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้อัฟกานิสถานเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมและการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า พลเมืองกว่า 18 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประชากรอัฟกัน กำลังต้องการความช่วยเหลือ และครึ่งหนึ่งของเด็กอัฟกันที่อายุต่ำกว่า 5 ปีกำลังตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรง สืบเนื่องจากผลกระทบของภัยแล้งที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
บางประเทศ เช่น อังกฤษ ออกมาเตือนนานาชาติว่าไม่ควร “ให้การรับรองฝ่ายเดียว” ว่าตอลิบานเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจโดยชอบธรรมของอัฟกานิสถาน
กระนั้นก็ดี ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ถูกมองว่าน่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้สหรัฐฯ และตอลิบานร่วมมือกันได้
กลุ่มรัฐอิสลามโคราซาน (ISIS-K) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของไอเอสเริ่มปรากฏตัวขึ้นในภาคตะวันออกของอัฟกานิสถานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2014 และได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีพฤติกรรมการโจมตีอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน นักรบกลุ่มนี้ยังอยู่เบื้องหลังการใช้คาร์บอมบ์โจมตีที่ด้านนอกสนามบินคาบูลเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไป 13 นาย รวมถึงพลเมืองอัฟกันอีกเป็นจำนวนมาก
สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการส่งโดรนไปโจมตีเป้าหมาย ISIS-K อย่างน้อย 2 ครั้ง และ ไบเดน ประกาศว่าจะยังคงเดินหน้าแก้แค้นให้กับความสูญเสียของทหารอเมริกัน
หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า ISIS-K ฉวยจังหวะที่เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองขึ้นในอัฟกานิสถานขยายอิทธิพล และดึงนักรบตอลิบานบางส่วนมาเป็นพวก และแม้ว่า ISIS-K จะถือเป็นศัตรูร่วมของสหรัฐฯ และตอลิบาน แต่นักวิเคราะห์ยังไม่มั่นใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถร่วมมือกันเพื่อกำราบภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ได้
ตอลิบานยังจำเป็นจะต้องฟื้นฟูประเทศชาติที่บอบช้ำอย่างหนักจากภัยสงคราม รวมถึงแก้ไขปัญหาค่าเงินตกต่ำและภาวะข้าวยากหมากแพง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็น “งานหิน” สำหรับรัฐบาลอิสลามิสต์ที่จะไม่มีเงินอุดหนุนจากต่างชาติปีละนับพันๆ ล้านดอลลาร์มาเป็นตัวช่วย และยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพย์สินราว 9,500 ล้านดอลลาร์ที่ธนาคารกลางอัฟกัน (DAB) ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง เนื่องจากถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สั่งอายัด นอกจากนี้ พลเมืองระดับหัวกะทิที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศก็พากันอพยพหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน