พวกนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้ตรวจพบตัวกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยมันเป็นตัวสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เก่ง บ่อยครั้งกว่าเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปว่ามีแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าหรือไม่ และสามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือเคยติดเชื้อได้หรือเปล่า
จากข้อมูลการวิจัยที่ยังไม่ผ่านการทบทวนของผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า ตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ที่เรียกกันว่า C.1.2 ถูกพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และเวลานี้ได้แพร่ระบาดสู่จังหวัดต่างๆ เกือบทั้งหมดของแอฟริกาใต้ และแพร่กระจายไปยังชาติอื่นๆ อีก 7 ประเทศ ทั้งในแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และโอเชียเนีย
รอยเตอร์ระบุว่า มันมีการกลายพันธุ์มากมายในลักษณะที่เชื่อมโยงกับตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งแพร่ระบาดง่ายขึ้นและลดการตอบสนองของแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ แต่ด้วยที่มันเกิดขึ้นในลักษณะที่คละกันไป พวกนักวิทยาศาสตร์จึงไม่มั่นใจว่าพวกมันจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของไวรัสอย่างไร เวลานี้ได้มีการทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อหาข้อสรุปว่าตัวกลายพันธุ์ C.1.2 ต้านทานการลบล้างฤทธิ์ของแอนติบอดีได้ดีแค่ไหน
ก่อหน้านี้ แอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกที่ตรวจพบตัวกลายพันธุ์เบตา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ตัวกลายพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในฐานะ "ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล" โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
เชื่อว่าตัวกลายพันธุ์เบตา แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตัวดั้งเดิม ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 และมีหลักฐานว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงกับตัวกลายพันธุ์เดลตาเช่นกัน ทำให้หลายประเทศจำกัดการเดินทางทั้งขาออกและขาเข้าจากแอฟริกาใต้
ริชาร์ด เลสเซลล์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดและหนึ่งในทีมนักวิจัยสายพันธุ์ C.1.2 ระบุว่า การเกิดขึ้นของตัวกลายพันธุนี้บ่งบอกกับเราว่าการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ยังห่างไกลจากจุดจบ และไวรัสนี้ "ยังค้นหาวิธีต่างๆ ที่จะทำให้สามารถแพร่เชื้อใส่เราได้ดีกว่าเดิม"
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าผู้คนไม่ควรวิตกกังวลเกินไปในขั้นนี้ และเชื่อว่าตัวกลายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มากกว่านี้จะโผล่ขึ้นมาอีกระหว่างการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่
ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์นี้จากแอฟริกาใต้ ชี้ให้เห็นว่าในเดือนกรกฎาคม C.1.2 ยังคงแพร่ระบาดที่น้อยกว่าตัวกลายพันธฺุ์เดลตาอยู่มาก
จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม เดือนที่เก็บตัวอย่างได้จำนวนมาก พบว่าตัวกลายพันธุ์ C.1.2 คิดเป็น 3% ของตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากระดับ 1% ในเดือนมิถุนายน ผิดกับตัวกลายพันธุ์เดลตา ที่คิดเป็นสัดส่วน 67% ของตัวอย่างในเดือนมิถุนายน และ 89% ในเดือนกรกฏาคม
ถึงตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้สายพันธุ์ C.1.2 เป็นกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลหรือน่าจับตามอง แต่ ดร.เมแกน สเตน นักระบาดวิทยาและอาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันและโรคระบาดจากวิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกกับหนังสือพิมเดอะการ์เดียนว่า ได้มีการแจ้งเตือนไปยังองค์การอนามัยโลก เพราะสายพันธุ์ C.1.2 มีลักษณะการกลายพันธุ์สำคัญๆ หลายอย่างที่เห็นในสายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ซึ่งในเวลาต่อมา ตัวกลายพันธุ์เหล่านั้นกลายเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
"การกลายพันธุ์เหล่านี้อาจทำให้สายพันธุ์ดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น หรือแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น" ดร.สเตน ระบุ
เลสเซลล์ส ระบุว่า C.1.2 อาจมีคุณสมบัติหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดลตา บนพื้นฐานของรูปแบบการกลายพันธุ์ต่างๆ ของมัน และได้ยื่นผลการค้นพบนี้ไปยังองค์การอนามัยโลกแล้ว
(ที่มา : รอยเตอร์/บีบีซี/วอยซ์ออฟอเมริกา)