xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ทิ้งลูกน้องอัฟกันให้ตอลิบานบั่นคอ US พาอพยพทั้งครอบครัว แถมนำ 630 ชีวิตลุยลงใต้ดินเข้าสนามบินสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวอัฟกันที่ได้วีซ่าพิเศษ Special Immigrant Visa (SIV) ซึ่งสหรัฐอเมริกาออกให้ผู้ที่เคยทำงานกับทหารอเมริกัน เช่น ล่าม พนักงานขับรถ ช่างภาพ วิศวกร จะได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางหนีภัยกองกำลังตอลิบาน และเข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในแผ่นดินสหรัฐฯ โดยสามารถพาครอบครัวไปด้วย ในภาพนี้เป็นหนึ่งในครอบครัวชาวอัฟกันที่กระทรวงกลาโหมพาอพยพเข้าสหรัฐฯ ผ่านสนามบินนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส รัฐเวอร์จิเนีย ทุกคนมีความสุขกันมากที่พ้นภัยตอลิบาน และยิ้มแย้มให้ช่างภาพเอพีถ่ายรูปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2021
ตอลิบานเพิ่งออกคำตัดสินประหารชีวิตชายอัฟกันคนหนึ่ง ด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาให้ที่หลบซ่อนแก่พี่ชายซึ่งเป็นล่ามประจำกองทหารของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งให้ความช่วยเหลือคนอเมริกัน ซีเอ็นเอ็นรายงานพร้อมแสดงหลักฐาน ได้แก่ จดหมายเขียนด้วยภาษาปาชตุน หรือก็คือ ภาษาปาทาน (หนึ่งในสองภาษาหลักของอัฟกานิสถาน) จำนวน 3 ฉบับซึ่งเชื่อว่ามาจากกรรมาธิการทหารของตอลิบานในจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยจดหมายทั้งหมดถูกทยอยส่งถึงชายอัฟกันรายนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซีเอ็นเอ็นนำเสนอรายงานเมื่อ 23 สิงหาคม 2021

ซีเอ็นเอ็นชี้ว่า จดหมายทั้ง 3 ฉบับเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กองกำลังตอลิบานคุกคามคนอัฟกันที่เคยทำงานกับสหรัฐฯ หรือไม่เช่นนั้นก็ไปคุกคามญาติพี่น้องแทน ดังนั้น ผู้ที่ถูกตอลิบานหมายหัวจึงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหนีออกนอกประเทศเพื่อให้พ้นอันตรายที่น่าจะเกิดขึ้น เพราะบัดนี้ตอลิบานมีอำนาจเหนืออัฟกานิสถานแล้ว

“คุณถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือแก่คนอเมริกัน” ตอลิบานเขียนไว้ในจดหมายฉบับแรกที่ส่งถึงชายอัฟกันรายนี้ พร้อมทั้งบอกว่า “คุณถูกกล่าวหาด้วยว่าคุณให้ที่หลบซ่อนแก่พี่ชายของคุณ ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม”

จดหมายเขียนด้วยลายมือฉบับนี้ที่มาจากตอลิบาน สั่งให้เขาไปให้ปากคำ

ต่อมาตอลิบานส่งจดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการแถลงไว้เป็นหลักฐานที่ชายอัฟกันรายนี้ ไม่ไปปรากฏตัวให้ปากคำตามหมายเรียก

แล้วในจดหมายฉบับที่ 3 ซึ่งมาในรูปแบบตัวพิมพ์ ตอลิบานแจ้งว่า ด้วยเหตุที่ชายอัฟกันรายนี้ยังไม่ยุติการให้ความช่วยเหลือแก่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บุกรุก อีกทั้งยังให้ที่หลบซ่อนแก่พี่ชายซึ่งทำงานเป็นล่ามของทหารสหรัฐฯ และด้วยเหตุที่เขาไม่ไปใช้สิทธิโต้แย้งข้อกล่าวหา คดีของเขาจึงถูกส่งไปยังศาลสูงชารีอะห์ และคำตัดสินของศาลได้ออกมาแล้วว่าเขามีความผิดและต้องได้รับโทษประหารชีวิต

หมายเรียกซึ่งเขียนด้วยลายมือในภาษาปาชตุน (หรือ ก็คือภาษาปาทาน) สั่งชายอัฟกันคนหนึ่งไปให้ปากคำในข้อกล่าวหาว่าเขาให้ที่หลบซ่อนแก่พี่ชายซึ่งเป็นล่ามประจำกองทหารของสหรัฐอเมริกา และให้ความช่วยเหลือคนอเมริกัน
ทั้งนี้ ซีเอ็นเอ็นไม่เปิดเผยชื่อของชายอัฟกันรายนี้ ตลอดจนชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยของเขา แต่บอกว่าจดหมายทั้งหมดใช้ภาษาปาชตุน (ภาษาปาทาน) และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จุดที่น่าสังเกตคือตราประทับในจดหมายตรงกับตราประทับที่เห็นกันในจดหมายต่างๆ ของตอลิบาน

ซีเอ็นเอ็นชี้ว่า จดหมายทั้ง 3 ฉบับขัดแย้งกับท่าทีดีๆ ที่ตอลิบานแสดงออกมาผ่านการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายในอัฟกานิสถาน

ชาวอัฟกันซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แสดงความคลางแคลงใจกับท่าทีดังกล่าว

ดังนั้น ท่าทีที่ตอลิบานแสดงออกในจดหมาย 3 ฉบับนี้ ตลอดจนในเอกสารอื่นๆ จำนวนมากที่เห็นถึงการหาช่องทางแก้แค้น จึงอธิบายได้ว่าทำไมคนอัฟกันจำนวนมหาศาลจึงหวั่นกลัวว่าตอลิบานจะปกครองด้วยวิธีปราบปรามรุนแรงและใช้ความโหดร้าย

ที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนถูกกดดันอย่างหนักหน่วงให้เร่งอพยพชาวอัฟกันที่ถูกตอลิบานขู่ฆ่าปองร้ายเพราะไปทำงานให้แก่ทหารสหรัฐฯ โดยเป็นกลุ่มที่ได้พยายามดิ้นรนหนีอันตรายด้วยช่องทางที่เรียกว่าโปรแกรมการอพยพหนีภัยเข้าสู่สหรัฐฯ ด้วยวีซ่าอพยพกรณีพิเศษ หรือ Special Immigrant Visa (SIV) แต่หลายหมื่นรายที่ยื่นคำร้องไปหลายปีแล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ และหลายร้อยรายถูกตอลิบานจับตัวได้และถูกสังหารไปแล้ว

โซฮาอิล ปาร์ดิส เป็นหนึ่งในล่ามหลายพันรายที่ทำงานให้ทหารสหรัฐฯ และถูกกองกำลังตอลิบานสังหารเพื่อแก้แค้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะขับรถไปรับน้องสาวและเยี่ยมบ้านในจังหวัดโคสต์ ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวว่าในระหว่างทาง ปาร์ดิสถูกกลุ่มนักรบตอลิบานที่ด่านตรวจเรียกให้หยุด เขาตัดสินใจขับรถฝ่าหมายจะหนีให้พ้น เพราะเพิ่งได้รับคำขู่ฆ่าเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าเนื่องจากตอลิบานจับได้ว่าเขาเป็นล่ามให้กองทัพอเมริกัน ตอลิบานโกรธแค้นว่าเขาเป็นสปายให้แก่สหรัฐฯ และขู่ฆ่าเขาและครอบครัว ปรากฏว่ารถของเขาถูกยิงเสียหลัก หลังจากนั้นตอลิบานแห่กันไปลากเขาออกจากรถ และสังหารเขาด้วยการตัดคอ ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์เป็นผู้ให้ข้อมูล
300 ล่ามอัฟกันและครอบครัวถูกตอลิบันสังหาร อีก 20,000 รออนุมัติวีซ่าลี้ภัย (SIV) หนีเข้า US

เมื่อคำนึงถึงข้อมูลที่ว่าตอลิบานได้สังหารล่ามอัฟกันและครอบครัวไม่น้อยกว่า 300 คนเพื่อลงโทษที่ไปช่วยงานสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะเข้าใจได้ถึงความหวาดกลัวที่ระอุแรงอยู่ในแวดวงของอดีตพนักงานชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้แก่หน่วยงานฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามกองกำลังตอลิบาน เช่น ล่าม คนขับรถ ช่างภาพ วิศวกร

เว็บไซต์ข่าว National Public Radio (เอ็นพีอาร์) ให้ข้อมูลโดยอ้างอิงจาก No One Left Behind องค์กรการกุศลและทหารผ่านศึกอเมริกัน ว่า ล่ามอัฟกันและครอบครัวไม่น้อยกว่า 300 คนถูกตอลิบานสังหารในช่วงตั้งแต่ปี 2014 บุคลากรเหล่านี้ดิ้นรนกันมากที่จะหนีให้พ้นภัยตอลิบาน และได้ยื่นขอวีซ่าอพยพกรณีพิเศษ หรือ SIV กันมากกว่า 20,000 ราย พร้อมกับสมาชิกครอบครัวอีก 53,000 ราย

แต่ปัญหาหนักอยู่ที่การรออนุมัติวีซ่า ซึ่งใช้เวลารายละหลายปีกว่าจะเรียบร้อย เพราะติดค้างอยู่ในกระบวนการต่างๆ 14 ขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนตรวจสอบภูมิหลัง และที่ผ่านมา ช่วงเวลาดำเนินการโดยเฉลี่ยอยู่ที่รายละ 3.5 ปี No One Left Behind ให้ข้อมูลอย่างนั้น

ในวันอาทิตย์ 15 สิงหาคม 2021 ที่กองกำลังตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ คนอัฟกันจำนวนมหาศาลโกลาหลไปทั่วเมืองด้วยหวั่นกลัวอันตรายจากตอลิบาน และดิ้นรนสุดความสามารถที่จะหนีออกนอกประเทศ ดังนั้นจึงพากันไปสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ ด้วยความหวังที่จะได้โดยสารเครื่องบินหนีออกจากประเทศ ในที่สุดกลายเป็นข่าวน่าสะเทือนใจว่าผู้คนนับพันวิ่งกรูอยู่บนรันเวย์ของสนามบิน เบียดแย่งกันขึ้นเครื่อง ทั้งนี้ เอ็นพีอาร์รายงานว่ามีหลายรายเกาะด้านนอกลำของเครื่องคาร์โกสหรัฐฯในขณะเครื่องเคลื่อนตัว โดยมีบางคนได้รับความช่วยเหลือดึงตัวเข้าด้านใน แต่บางคนร่วงตกสู่พสุธาเสียชีวิต

ผู้คนนับพันวิ่งกรูอยู่บนรันเวย์ของสนามบิน เบียดแย่งกันขึ้นเครื่องเพื่อหนีให้พ้นอันตรายจากตอลิบาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม
เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวให้ตัวเลขไว้ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 โดยระบุว่า สหรัฐฯ มุ่งเน้นชาวอัฟกันและครอบครัวที่ได้ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างๆ ในภารกิจที่อัฟกานิสถาน คำร้องขอวีซ่าของคนกลุ่มนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ คนอัฟกันที่เคยทำงานให้สหรัฐฯ ที่รออนุมัติวีซ่า SIV จำนวนประมาณ 20,000 ราย ครึ่งหนึ่งผ่านขั้นตอนเอกสารแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบภูมิหลัง

โฆษกทำเนียบขาวแถลงด้วยว่า สำหรับผู้ที่ผ่านขั้นตอนสอบภูมิหลังเรียบร้อยแล้ว จะนำไปพิจารณาด้วยว่าเข้าเกณฑ์ว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเข้าข่ายที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม คนอัฟกันเหล่านี้จะได้รับวีซ่าและได้รับความช่วยเหลือนำพาออกจากอัฟกานิสถานตรงมายังฐานทัพในสหรัฐฯ โดยขั้นตอนการตรวจสุขภาพจะมาดำเนินการที่สหรัฐฯ

แต่สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบภูมิหลัง จะถูกพาออกจากอัฟกานิสถาน ไปพักรออยู่ที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ หรืออาจจะไปยังประเทศที่ 3 โดยจะได้รับที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย จนกว่าขั้นตอนสอบภูมิหลังจะเสร็จสิ้นและมีการออกวีซ่าให้เรียบร้อย แล้วจึงจะถูกพามายังสหรัฐฯ

ความหวาดกลัวอนาคตอันมืดมนในยุคใหม่ที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของตอลิบาน ชาวอัฟกันหลายพันรายพยายามเข้าสู่ด้านในท่าอากาศยานนานาชาติฮามิด การ์ไซ เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะได้เดินทางออกนอกประเทศ แต่มีการปิดกั้นทางเข้าออกทั้ง 3 จุดอย่างเคร่งครัด พื้นที่ด้านหน้าสนามบินในวันที่ 16 สิงหาคม จึงแน่นเอียดในท่ามกลางอากาศร้อนจัด

เมื่อทางเข้าออกท่าอากาศยานนานาชาติฮามิด การ์ไซ ทั้ง 3 จุดถูกปิดตาย ชาวอัฟกันจำนวนมากใช้วิธีปีนกำแพง เหตุการณ์ในภาพนี้คือวันที่ 16 สิงหาคม

ชาวอัฟกันนับหมื่นชีวิตพากันมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานนานาชาติฮามิด การ์ไซ จนแน่นถนน ด้วยหวังจะได้ขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศให้พ้นจากภัยตอลิบาน ในรูปนี้เป็นสภาพการณ์เมื่อ 20 สิงหาคม 2021 บนถนนเลียบกำแพงท่าอากาศยานฝั่งทหารในกรุงคาบูล
แม้นโยบายของรัฐบาลอเมริกันจะดูว่าเป็นระบบดี แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ยื่นขอวีซ่า SIV ต้องติดค้างอยู่ในอัฟกานิสถานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับวีซ่า โดยที่ว่าห้วงเวลาการรออนุมัติวีซ่านั้นยืดยาวหลายปี ชีวิตทุกข์สาหัสในความหวาดกลัวของ จาลิล อดีตล่ามช่วยงานทหารอเมริกัน จะให้ภาพที่ชัดเจนทีเดียว

อดีตล่ามทหาร US ต้องหลบซ่อนเงื้อมมือตอลิบาน รอลุ้นที่นั่งในเครื่องบินเพื่อหนีออกจากอัฟกานิสถาน

จาลิล คุณพ่ออัฟกันลูกสาม ถูกตอลิบานขู่สังหารเพื่อลงโทษที่ไปทำงานช่วยกองกำลังทหารสหรัฐฯ หลังจากที่ข้อมูลของเขาตกสู่มือของนักรบตอลิบาน ทั้งที่เขาสามารถปกปิดได้ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ทำงานนี้

เขากลัวตาย ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะมีเพื่อนล่ามที่รู้จักกันหลายคนถูกตอลิบานสังหารไปแล้ว ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนของเขาคือรีบเดินทางออกจากอัฟกานิสถานก่อนจะต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน และเขาจึงยื่นขอวีซ่า SIV ให้แก่ตนเอง ภรรยา ตลอดจนลูกๆ และตั้งตารอมานานเกือบ 2,ปีแล้ว

ในเดือนสิงหาคม ขณะที่สหรัฐฯ ทยอยถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และกองกำลังตอลิบานขยายตัวเข้ายึดเมืองต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จาลิลได้รับแจ้งว่าเขาได้รับอนุมัติเข้าสู่โปรแกรมวีซ่า SIV (โปรแกรมความช่วยเหลือให้อพยพหนีภัยเข้าสู่สหรัฐฯ) แล้ว พร้อมกับนัดหมายกำหนดการเดินทางไว้ในวันที่ 17 สิงหาคม จาลิลเล่าให้นักข่าว Public Radio International (พีอาร์ไอ)

แต่เมื่อกองกำลังตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลได้อย่างปุบปับ เที่ยวบินของจาลิลถูกยกเลิกไปก่อน จนกว่าจะแจ้งกำหนดการใหม่ ซึ่งต่อมาวันสองวัน เขาได้รับแจ้งว่าเขาได้รับสิทธิให้เข้าไปรอขึ้นเครื่องบินที่ด้านในสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ

ตั้งแต่รุ่งสางของวันที่ 18 สิงหาคม จาลิลพาครอบครัวเดินทางไปสนามบิน แต่ก็พบผู้คนหลายพันรายออกันแน่นพื้นที่หน้าประตูกำแพงสนามบิน ขณะที่รออยู่หลายชั่วโมง ได้เกิดเหตุจลาจล และมีการเหยียบกันตายและบาดเจ็บมากมาย และกระนั้นก็ตาม จาลิลไม่สามารถฝ่าไปถึงประตูสนามบินได้

ในระหว่างทางกลับบ้าน จาลิลถูกด่านตรวจของตอลิบานจุดหนึ่งเล่นงาน นักรบตอลิบานเฆี่ยนเขาด้วยสายไฟ แต่เขามุ่งมั่นว่าจะกลับไปฟันฝ่าเข้าให้ถึงด้านในสนามบินให้จงได้ ทั้งนี้ คาดได้ว่าเขาน่าจะทำสำเร็จ โดย พ.ต.เดวิด สมิธ นายทหารอเมริกันที่เขาเคยทำงานให้ ใช้ความพยายามประสานความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ด่านตรวจของตอลิบานผุดขึ้นทั่วกรุงคาบูลและมากมายในบริเวณด้านหน้าสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ โดยมีการดำเนินการที่เข้มงวดมาก ชาวอัฟกันที่ทำงานกับทหารสหรัฐฯ จึงตกอยู่ในความเสี่ยงต่อชีวิตเสมอ สื่อในออสเตรเลีย SBS.com รายงานพร้อมภาพว่าในขณะที่ล่ามชาวอัฟกันซึ่งเคยทำงานให้หน่วยงานออสซี่ รอเดินเข้าพื้นที่สนามบินเพื่อขึ้นเครื่องไปลี้ภัยในกรุงแคนเบอรา ได้ถูกนักรบตอลิบานที่ด่านตรวจใกล้ๆ ยิงใส่ขาข้างขวา ต้องนำส่งโรงพยาบาลรักษาแผลซึ่งเป็นแผลขนาดใหญ่ เสียเลือดมาก ชมภาพที่ https://www.sbs.com.au/news/afghan-interpreter-shot-in-the-leg-by-taliban-trying-to-board-australian-rescue-flight
ส่วนล่ามอัฟกันอีกรายหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า เรจจี ทำงานกับทหารสหรัฐฯ นาน 9 ปี โดยที่ผ่านมา เขายื่นขอวีซ่า SIV นานเกือบสิบปีแล้ว ปัจจุบันนี้เขาต้องหลบพวกตอลิบานอยู่ในบ้านที่กรุงคาบูลตลอดเวลา เขาบอกว่ารู้สึกหวาดกลัวมาก

“ตั้งแต่พวกนั้นเข้าเมืองมา ผมหลับไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว” เรจจีให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวเอ็นพีอาร์

จากหลังคาบ้าน เรจจีเฝ้ามองกองกำลังตอลิบานเคลื่อนเข้าเมืองมา โดยที่ตำรวจพากันผละหนีออกจากสถานีไปหมดแล้ว เขาเล่าถึงถ้อยคำที่ขบวนนักรบตอลิบานพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ‘ไม่ต้องกังวล เรามาที่นี่เพื่อคุ้มครองทุกท่าน เราจะไม่ทำร้ายพวกท่าน เรามาเพื่อตามหาศัตรูของประเทศ’ เขาวิจารณ์ว่าพวกตอลิบานให้เวลาผู้คนทำใจ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะตอลิบานเป็นพวกที่เอาแน่นอนไม่ได้ โดยอาจจะทำอะไรก็ได้ ในเวลาใดๆ ก็ได้ที่นึกอยากจะทำขึ้นมา

“ผมไม่รู้สึกปลอดภัยเลยครับ ไม่มีแม้แต่ครู่ยามเดียวที่ผมจะสามารถผ่อนคลายสบายใจขึ้นมา” เรจจี ล่ามอัฟกันกล่าว

ตลอด 20 ปีที่สหรัฐฯ เข้าสู่อัฟกานิสถาน สหรัฐฯ จ้างล่ามชาวอัฟกันมาช่วยงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมได้หลายพันราย ล่ามจำนวนมากทำหน้าที่ที่มากกว่าแค่แปลภาษา โดยจะช่วยสื่อสารระหว่างทหารอเมริกันกับชาวบ้าน ตลอดจนช่วยสร้างเครือข่ายและนัดหมายการพบปะที่ทำให้ได้รับข้อมูลสำคัญ

ทีมทหารสหรัฐฯ นำโดยนายทหารยศร้อยโท (บุคคลในเครื่องแบบซึ่งนั่งตรงกลาง) ได้พูดคุยใกล้ชิดกับชาวบ้านในจังหวัดกุนาร์เมื่อปี 2009 ด้วยการประสานจัดขึ้นโดยล่ามนายหนึ่ง (นั่งด้านขวาของหัวหน้าทีมและสวมหมวกแก๊ป)
ดังนั้น ตอลิบานจึงโกรธแค้นพวกล่ามเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง และเรียกทุกคนที่ทำงานกับสหรัฐฯ ว่า คนทรยศซึ่งต้องถูกลงโทษ ทั้งนี้ มีมากมายที่โดนไปแล้ว กล่าวคือ ทั้งตัวผู้ที่เป็นล่ามเองและทั้งญาติพี่น้องถูกสังหารไปแล้วไม่น้อยกว่า 300 รายนับจากปี 2014

ในปัจจุบันที่ตอลิบานยึดประเทศได้ ชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้แก่สหรัฐฯ จึงกลัวกันมากว่าจะถูกทิ้งให้เผชิญความตาย

เรจจีเป็นหนึ่งในชาวอัฟกันราว 20,000 รายที่รอการอนุมัติวีซ่าพิเศษ SIV ทุกวันนี้ เขาต้องทนทุกข์กับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานให้สหรัฐฯ กล่าวคือ เขาอยู่ในเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตาย และถูกสะเก็ดระเบิดรวม 23 ชิ้นฝังไปทั่วร่างกาย เขารอดตายและบาดแผลทั้งหลายก็หายแล้ว แต่หูข้างซ้ายไม่สามารถทำงานเป็นปกติ นอกจากนั้น บางครั้งก็ไม่สามารถคุมร่างกายให้ยืนหรือเดินได้

พี่ชายมารอรับ ซาเหยด อับดุบ มาจิดี อดีตล่ามอัฟกันช่วยงานทหารสหรัฐฯ ณ สนามบินนานาชาติซาคราเมนโต แคลิฟอร์เนีย เมื่อ 5 สิงหาคม 2021 โดยล่ามรายนี้เป็น 1 ในล่าม จำนวน 200 รายที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือนำพาให้อพยพออกจากอัฟกานิสถาน มาตั้งต้นชีวิตใหม่
ผู้ยื่นขอเข้าโปรแกรม SIV มีหลายกลุ่มที่ไม่ใช่อดีตลูกน้องทหารอเมริกัน

สหร้ฐฯ ให้ความช่วยเหลือชาวอัฟกันที่เคยช่วยงานทหารอเมริกัน ให้อพยพลี้ภัยไปสู่แผ่นดินสหรัฐฯ เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกฝ่ายตอลิบานแก้แค้นและลงโทษ ผ่านการมอบวีซ่าพิเศษ SIV และพาอพยพออกจากอัฟกานิสถาน โดยเป็นการดำเนินการที่มีกฎหมายรองรับ

แนวปฏิบัติแบบนี้เคยนำมาใช้ในหลายกรณีหลายประเทศรวม 3 ครั้งใหญ่ ซึ่งแต่ละครั้งล้วนสืบเนื่องกับปฏิบัติการทางการทหารที่สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นภัยต่อสหรัฐฯ ได้แก่ การอพยพชาวเวียดนาม กัมพูชาและลาวในปี 1975 การอพยพชาวเคิร์ดในอิรักปี 1996 และการอพยพผู้คนออกจากโคโซโว ในปี 1999

กรณีของอัฟกานิสถานได้รับอนุมัติให้ใช้แนวปฏิบัติดังกล่าวจากรัฐสภาอเมริกันตั้งแต่ปี 2009 เว็บไซต์ลอว์แฟร์บล็อก (Lawfareblog.com) ให้ข้อมูลไว้อย่างละเอียด พร้อมบอกด้วยว่า สหรัฐฯ ดำเนินแนวปฏิบัตินี้ที่เรียกกันว่า โปรแกรม SIV อย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีชาวอัฟกันที่เป็นอดีตพนักงานของสหรัฐฯ ได้หลบหนีภัยตอลิบานด้วยการอพยพในโปรแกรมนี้ ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ รวมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย ภายในสภาพการณ์ที่คนอื่นๆ หลายร้อยรายถูกกองกำลังตอลิบานสังหารโดยส่วนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องที่รับเคราะห์แทน

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม มีการขยายความคุ้มครองในโปรแกรมนี้แก่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ และกลุ่มนาโต้ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มพี 2 หรือ Priority 2

นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับการอพยพมิใช่จะมีเฉพาะชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้แก่สหรัฐฯ แต่ยังมีจำนวนมากที่เป็นกลุ่มคนซึ่งถูกตอลิบานหมายหัวมานานหรือถูกขู่ฆ่าโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ทำงานร่วมกับทหารสหรัฐฯ ในการปราบปรามนักรบตอลิบาน และบรรดาสตรีอัฟกันที่ส่งเสริมบทบาทผู้หญิงอันเป็นการต่อต้านแนวคิดและความเชื่อแบบอนุรักษนิยมสุดโต่งของตอลิบาน เช่น นักกีฬา ศิลปิน นักร้อง นักสร้างภาพยนตร์ 

ผู้ซึ่งตกอยู่ในอันตรายเหล่านี้จะอยู่ในโปรแกรมทดลองอนุมัติชั่วคราวให้เข้าอยู่ในสหรัฐฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ อันเป็นการอนุเคราะห์พิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม (Parole Program)

ชาวอัฟกันที่แออัดแน่นพื้นที่ด้านนอกกำแพงสนามบินกรุงคาบูล แสดงเอกสารการเดินทางต่อทหารสหรัฐฯ ที่รักษาการณ์บนลานปฏิบัติการของสนามบิน ติดกับขอบกำแพง

ทหารสหรัฐฯ ช่วยดึงชายอัฟกันที่มีวีซ่าข้ามขอบกำแพงเข้าเขตสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ หลังจากที่ไม่สามารถฝ่าเข้าทางประตูแอ้บบีเกต และมาตะกายปีนกำแพงขึ้นไปได้สำเร็จ เมื่อ 26 สิงหาคม 2021
ที่ผ่านมา การดำเนินการของโปรแกรม SIV ถูกวิพากษ์กันโดยตลอดว่าเป็นไปอย่างล่าช้า กล่าวคือ นอกจากที่ตัวเลขผลการดำเนินงาน 16,000 รายนั้น เป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่รัฐสภาอนุมัติให้ไว้ที่ 26,500 รายแล้ว ระยะเวลาการพิจารณาเอกสารและการตรวจสอบภูมิหลังเพื่ออนุมัติคำร้องขอความช่วยเหลือแต่ละราย ยังยาวนานกว่า 2-3 ปีโดยเฉลี่ยต่อราย ขณะที่รัฐสภากำหนดกรอบเวลาไว้ที่ไม่เกินรายละ 9 เดือน

ในการนี้ มีหลายรายที่ถูกกองกำลังตอลิบานสังหารในระหว่างที่รอการพิจารณาอนุมัติ

เมื่อมาถึงห้วงแห่งวิกฤตการณ์ที่ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศกรอบเวลาการถอนออกจากอัฟกานิสถาน จำนวนการอพยพยังเกิดขึ้นไม่มาก คือ จากเดือนกรกฎาคมถึง 14 สิงหาคม 2021 มีการเคลื่อนย้ายได้ประมาณ 2,000 ราย ทั้งที่ว่ามีชาวอัฟกันที่รอการอนุมัติลี้ภัยจำนวนมหาศาลเกินกว่า 70,000 ราย ก่อนจะมาเร่งเครื่องกันในอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา วันละมากกว่า 10,000 ราย

ทหาร US ใช้ ฮ. โฉบลงไปรับอดีตหัวหน้าตำรวจอัฟกันผู้ร่วมปราบตอลิบานนำส่งสถานที่ปลอดภัย

ผู้บัญชาการตำรวจอัฟกันจังหวัดเฮลมานด์ โมฮัมหมัด คาลิด วาร์ดัค เป็นผู้ที่ทหารอเมริกันจำนวนมากพยายามช่วยให้ได้อพยพหลบหนีจากเงื้อมมือตอลิบาน โดยผู้ที่ให้ข้อมูลแก่เอพีล้วนบอกว่า เขาคือพี่น้องเคียงบ่าเคียงไหล่ในการปราบปรามตอลิบานตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา และมีคุณูปการมหาศาลต่อความสำเร็จของฝ่ายสหรัฐฯ

กองกำลังตอลิบานพยายามอย่างยิ่งที่จะไล่ล่าเด็ดหัวคาลิด (ชื่อที่อเมริกันเรียกขานอดีตผู้บัญชาการตำรวจคนเก่งรายนี้แห่งเฮลมานด์ จังหวัดทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน) แต่เขาสามารถพาครอบครัวหลบหนีมากบดานในกรุงคาบูลได้สำเร็จ กระนั้นก็ตาม คาลิดยังไม่สามารถฝ่าจุดตรวจเช็กที่ตอลิบานตั้งไว้ทั่วกรุง แม้จะได้พยายามถึง 4 ครั้งที่จะฝ่าไปให้ถึงจุดนัดพบเพื่อจะได้เข้าอยู่ในความคุ้มครองของทหารสหรัฐฯ

โมฮัมหมัด “คาลิด” วาร์ดัค ผู้บัญชาการตำรวจอัฟกันจังหวัดเฮลมานด์ พื้นที่แห่งการก่อการร้ายดุเดือดที่สุด ร่วมปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารสหรัฐฯ ในภารกิจปราบปรามจับกุมผู้นำอัลกออิดะห์และผู้นำตอลิบานจำนวนมาก
ช่วงสัปดาห์ก่อนที่ตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูล คาลิด และพรรคพวกถูกนักรบตอลิบานล้อมแน่นหนา มีการต่อสู้ดุเดือด หลังจากนั้นคาลิดขาดการติดต่อกับทหารสหรัฐฯ หลายวัน จนกระทั่งคาดกันว่าเขาอาจเสียท่าและอาจถูกสังหารไปแล้ว ดังนั้น เมื่อสามารถประสานกันได้อีก สหรัฐฯ จึงตัดสินใจยื่นมือเข้าช่วย

“ปฏิบัติการสัญญาต้องรักษา” โดยกองกำลังทหารอเมริกันจึงเกิดขึ้นแบบจู่โจมระทึกขวัญในสไตล์มาเหนือเมฆ หน่วยรบส่งเฮลิคอปเตอร์ออกไปรับคาลิด ภรรยา และลูก 4 คนวัย 3-12 ปี แล้วบินหวือหนีตอลิบานได้สำเร็จในค่ำคืนอันมืดสนิทของวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2021 เอพีรายงานอย่างนั้นโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของโรเบิร์ต แมคครีอารี อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวในยุคที่จอร์จ ดับเบิลยู บุชเป็นประธานาธิบดี ซึ่งยังปฏิบัติงานกับกองกำลังพิเศษในอัฟกานิสถานอยู่ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา บรรดาทหารที่ปฏิบัติงานร่วมกับคาลิดจำนวนมากมายได้ช่วยกันประสานกับฝ่ายต่างๆ ในวงการทหารสหรัฐฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา บุคลากรสำคัญในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ จนกระทั่งสามารถจัดปฏิบัติการช่วยเหลือนำพาออกจากความเสี่ยงไปสู่พื้นที่ปลอดภัยได้สำเร็จช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สาเหตุที่ฝ่ายต่างๆ ทุ่มเทช่วยเหลืออดีตผู้บัญชาการตำรวจนายนี้ เป็นเพราะทุกคนตระหนักถึงวีรกรรมมากมายที่คาลิดได้ช่วยเหลือสหรัฐฯ โดยตั้งแต่แรกที่ได้เห็นฝีมือกันเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2013 หน่วยทหารอเมริกันถูกไส้ศึกเล่นงาน และคนอเมริกันถูกยิง 2 ราย และขณะที่ตอลิบานพยายามบุกเข้าไป ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ โทรศัพท์ขอกำลังช่วยเหลือจากหน่วยตำรวจที่คาลิดคุมอยู่ และหน่วยของเขาก็ยกกันมาช่วยโดยทันที จนกระทั่งสามารถตีโต้ให้ตอลิบานล่าถอยออกไป

2 ปีต่อมา คาลิดถูกโจมตีด้วยอาร์พีจีและหน้าแข้งขวาฉีกขาด ทหารสหรัฐฯ นำตัวเขาไปช่วยรักษาที่ต่างประเทศจนหายป่วย พร้อมกับได้รับอวัยวะเทียมทดแทน ซึ่งทำให้เขาปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังสหรัฐฯ ต่อเนื่องสืบไปได้

ตลอดที่ผ่านมา คาลิดช่วยทหารอเมริกันจับกุมผู้นำอัลกออิดะห์และผู้นำตอลิบานจำนวนมาก และในเดือนกรกฎาคม เขาได้รับบาดเจ็บจากปืนครก และเข้ารับการรักษาโดยในขณะเดียวกัน ก็บัญชาการการต่อสู้จากเตียงโรงพยาบาล

ครอบครัวของคาลิดยื่นขอสถานภาพผู้ลี้ภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมฉุกเฉินเพราะเผชิญความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพราะการไล่ล่าของตอลิบาน และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ

คาลิดและภรรยากับลูกทั้ง 4 ถ่ายภาพหลังได้รับความช่วยเหลือพาบินจากกลางกรุงคาบูลสู่พื้นที่คุ้มครองของทหารสหรัฐฯ
อาริอานา ซายีด นักร้องชาวอัฟกันที่ตอลิบานหมายหัวนานปี ขึ้นเครื่องบินทหาร US หนีตอลิบานสำเร็จ

หากจัดกลุ่มสตรีอัฟกันที่ตอลิบานเกลียดชังและมุ่งมั่นจะลงโทษมากที่สุด ชื่อของอาริอานา ซายีด จะติดกลุ่มด้วยอย่างแน่นอน

ผู้หญิงเก่งและแสนเสน่ห์รายนี้เป็นขวัญยิหวาที่ยืนหยัดอยู่ในดวงใจมหาชนชาวอัฟกันมานานแล้ว  ซายีดมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมหาศาลถึง 1.4 ล้านราย หญิงสาวนักแต่งเพลงและนักร้องเจ้าของเสียงหวาน กังวาน และทรงพลัง เกิดในอัฟกานิสถาน แต่เมื่ออายุได้ 8 ปี (1993) คุณพ่อของเธอย้ายครอบครัวไปอยู่ในปากีสถาน แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็ไปตั้งรกรากกันที่สวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ

ซายีดกลับสู่อัฟกานิสถานในยุคที่รัฐบาลตอลิบานถูกโค่นอำนาจแล้ว และเข้าสู่วงการดนตรีในปี 2007 ด้วยสไตล์สาวตะวันตกเต็มตัว สวมกางเกงอย่างเท่ สวมเสื้อผ้าไม่เปิดเผยเนื้อนวล แต่กระชับตัว และไม่มีผ้าคลุมผม มิวสิกวิดีโอของเธอเป็นซูเปอร์ฮิตเสมอ สร้างคะแนนนิยมให้เธออย่างมากมาย แต่ก็ทำให้ตอลิบานได้เห็นบทบาทของเธอ และออกมาตำหนิติเตียนรุนแรงบ่อยครั้ง

เมื่อปี 2014 ซายีดให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่าเธอเคยถูก มูลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ผู้นำกองกำลังตอลิบานขู่เอาชีวิต ในข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้หญิงในอัฟกานิสถานจะต้องสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายทั้งหมดและไม่รัดรูป และที่สำคัญคือต้องคลุมเส้นผมให้มิดชิด ซายีดเล่าด้วยว่า พวกตอลิบานประกาศก้องผู้ใดสังหารนักร้องหญิงคนนี้สำเร็จ จะได้ขึ้นสวรรค์

อาริอานา ซายีด นักร้อง-นักแต่งเพลงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของอัฟกานิสถาน ได้มอบความสุขความบันเทิงแก่ชาวอัฟกันโดยต่อเนื่องยาวนานสิบกว่าปี โดยนำเสนอผลงานทั้งแนวป็อป อาร์แอนด์บี ฮิปฮอป และแนวดนตรีพื้นเมืองด้วยรูปแบบอันอลังการของดนตรีอเมริกันและยุโรป อันเป็นวัฒนธรรมที่เธอคุ้นเคย เพราะคุณพ่อพาไปตั้งรกรากในสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษกว่าสิบปี จนกระทั่งเธอสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วด้วยสำเนียงดีมาก
ตลอดที่ผ่านมา ขณะที่ซายีดประกอบอาชีพนักร้องและปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ต่างๆ อาทิ เป็นกรรมการเดอะวอยซ์ (ปี 2013-2014) ซายีดใช้ชีวิตอย่างทรงคุณค่ามีคุณูปการมากมายในอัฟกานิสถานบ้าง ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี บ้านที่สองของเธอบ้างนั้น เธอผลิตผลงานดนตรีหลายคอนเซ็ปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมพลังสตรี ผลงานดนตรีชิ้นสำคัญ ชื่อว่า Because I am a woman, I am a slave (เพราะฉันเป็นผู้หญิง ฉันจึงเป็นทาส) ซึ่งสร้างขึ้นมาหลังกรณีถูกขู่เอาชีวิตดังกล่าว

พร้อมกันนั้น เธอมีบทบาทอย่างกว้างขวางในการสร้างสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชน (เช่น เงินของขวัญงานมงคลสมรสทั้งหมดที่เธอได้รับ เธอบริจาคไปยังหน่วยงานการกุศลหลากหลายแห่ง) การตอบรับเชิญร้องเพลงในคอนเสิร์ตการกุศลภายในและภายนอกประเทศ การสนับสนุนกิจการทางการทหารของอัฟกานิสถาน

ช่วง 2 วันแรกที่กองกำลังตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2021 ซายีดบอกว่าเธอเป็นทุกข์สาหัส จวบจนกระทั่งในวันพุธที่ 18 สิงหาคม เธอและสามีจึงได้สิทธิความเป็นผู้มีความเสี่ยงจะถูกตอลิบานประหารชีวิต ซึ่งทำให้ได้เป็นคนหนึ่งในผู้คนหลายร้อยชีวิตที่ได้โดยสารเครื่องบินลำเลียงสินค้าของกองทัพอเมริกัน เดินทางหลบหนีเงื้อมมือของกองกำลังตอลิบาน ออกจากอัฟกานิสถาน โดยเธอและสามีไปแวะต่อเครื่องบินที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังตุรกี อันเป็นบ้านแห่งที่สองของเธอในปัจจุบัน

อาริอานา ซายีด นักร้องขวัญใจชาวอัฟกัน ถ่ายภาพคู่กับสามี (ภาพบน) ขณะเดินทางหนีตอลิบานพ้นออกนอกอัฟกานิสถาน ด้วยเครื่องบินทหารสหรัฐฯ พร้อมชาวอัฟกันอื่นๆ หลายร้อยคน   ในอินสตาแกรมที่เธอรายงานตัวต่อประชาชนออกจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เธอบอกว่าได้หนีออกจากอัฟกานิสถานมาแล้วอย่างปลอดภัยดีทุกสิ่งอย่าง พร้อมกับแอบบ่นในประเด็นว่าผู้อื่นซึ่งมีความเสี่ยง(ถูกตอลิบานเล่นงาน) ไม่ร้ายแรงเท่าตัวเธอ ได้สิทธิบินออกนอกประเทศกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ตัวเธอที่ได้เดินทางเป็นคนท้ายๆ
ปฏิบัติการ Pineapple Express พา 630 อัฟกันที่เคยช่วยงาน US มุดใต้ดินหลบตอลิบาน เข้าสนามบิน

ในที่สุดการแก้ไขได้บังเกิดขึ้นแก่ปัญหาที่บรรดาล่ามตลอดจนทหารตำรวจอัฟกันซึ่งเคยทำงานกับทหารสหรัฐฯ ในภารกิจปราบปรามตอลิบาน ไม่สามารถฝ่าด่านตรวจจับที่ตอลิบานตั้งขึ้นมากมาย ตลอดจนไม่สามารถฝ่าคลื่นมหาชนอันแออัดบริเวณพื้นที่ทางเข้าสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ การแก้ปัญหานี้มีชื่อว่า ปฏิบัติการด่วนสับปะรด หรือ Operation Pineapple Express โดยคำว่าสับปะรดเป็นคำรหัสลับนั่นเอง เอบีซีนิวส์รายงานอย่างละเอียด

เรื่องจริงที่เวอร์วังกว่าหนังบู๊ฮอลลีวูดได้อุบัติขึ้นระหว่างวันที่ 15-26 สิงหาคม 2021 โดยเป็นปฏิบัติการอาสาสมัครที่นำ 630 อัฟกันดังกล่าวพร้อมครอบครัวให้เข้าสู่สนามบินและเดินทางออกนอกประเทศได้สำเร็จตามคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ และตามความผูกพันที่เคยร่วมเสี่ยงตายด้วยกันนานหลายปี

ปฏิบัติการโอพีอีที่ริเริ่มโดยทีมอดีตทหารอเมริกันซึ่งเป็นทหารผ่านศึกอัฟกานิสถาน ดำเนินอยู่ในความร่วมมือกับหลายฝ่ายทั้งฝ่ายซีไอเอ ทั้งฝ่ายสถานทูตสหรัฐฯ และที่สำคัญคือทหารอเมริกันที่ควบคุมสนามบินนานาชาติฮามิด การ์ไซ รวมกว่า 50 ราย ทั้งนี้ ผู้นำของปฏิบัติการยืนยันกับเอบีซี นิวส์ ว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่เป็นทางการ โดยฝ่ายทางการที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมในฐานะการเชื่อมประสาน

ทั้งนี้ มีการแบ่งภารกิจกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในส่วนของการพาเดินหลบหลีกด่านตรวจตอลิบานโดยอาศัยความมืดช่วยกำบัง พาลงสู่ทางใต้ดิน (ที่ทหารอเมริกันเคยใช้เป็นหลบหนีตอลิบาน) ที่ไปออกบริเวณคลองน้ำเสียข้างกำแพงสนามบิน โดยมีหน่วยภายนอกใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร คอยติดตามการเคลื่อนขบวนและแนะนำเส้นทางในจีพีเอส ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ข้อมูลบนโทรศัพท์หายไป เพราะสหรัฐฯ มีการตัดสัญญาณเพื่อป้องกันการลอบวางระเบิด และต้องรอให้ประสานแก้ไขนานกว่าหนึ่งชั่วโมง และในท้ายที่สุด มีทีมทหารสหรัฐฯ ประจำสนามบิน ลุยคลองน้ำเสีย เข้าไปช่วยดึงให้ก้าวออกมาจากทางใต้ดิน แล้วรีบดิ่งเข้าพื้นที่สนามบินในท่ามกลางความมืด

ปฏิบัติการนี้ทยอยพาชาวอัฟกันเคลื่อนเข้าสู่สนามบินคราวละ 1-2 คน และมีบ้างที่เคลื่อนกันเป็นกลุ่มเล็ก โดยในช่วง 10 วันแรก นำพาเข้าสนามบินได้ 130 คน แล้วในคืนที่ 25-เช้า 26 สิงหาคม ก่อนเกิดเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตายที่หน้าประตูแอ้บบี เป็นการเคลื่อนย้ายหลายระลอกใหญ่ๆ รวมประสบความสำเร็จพากันไปได้ 500 คน

อดีตคอมมานโดอัฟกันที่ได้รับความช่วยเหลือจากปฏิบัติการ Operation Pineapple Express จนสามารถหลบหลีกอันตรายและอุปสรรคต่างๆ เข้าสู่สนามบินสำเร็จ

ครอบครัวชาวอัฟกันที่ได้รับความช่วยเหลือจากปฏิบัติการ Operation Pineapple Express จนสามารถหลบหลีกอันตรายและอุปสรรคต่างๆ เข้าสู่สนามบินสำเร็จ
ผู้อพยพออกจากอัฟกานิสถานแล้ว 1.35 แสนราย คนอัฟกันบินผ่านกาตาร์และยูเออี ราว 7 หมื่น ณ 29 ส.ค.2021

ผู้คนราว 135,000 รายได้อพยพออกจากอัฟกานิสถานผ่านช่องทางสนามบินกรุงคาบูลเป็นที่เรียบร้อย ในระหว่างช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2021 ทำเนียบขาวประกาศผ่านสำนักข่าวต่างๆ ในวันที่ 27 สิงหาคมว่าเฉพาะในห้วงหนึ่งวันครึ่งระหว่าง 26-27 สิงหาคม มีการอพยพทั้งสิ้นราว 12,500 ราย แม้จะต้องชะงักงันกันช่วงหนึ่งเนื่องจากเกิดเหตุวิกฤตก่อการร้ายด้วยระเบิดฆ่าตัวตายชุดใหญ่ 2 จุด ซึ่งรวมถึงบริเวณหน้าประตูเข้าสู่สนามบิน โดยมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยก็ตาม

รอยเตอร์รายงานยอดรวมผู้อพยพซึ่งประเทศต่างๆ 17 ประเทศ ช่วยกันพาออกพ้นอัฟกานิสถาน ที่ระดับ 135,000 ราย โดยมีทั้งพลเมืองของประเทศเหล่านั้น คนอัฟกันที่เคยทำงานให้แก่ประเทศเหล่านั้น และทั้งคนอัฟกันที่เคยทำงานให้ทหารสหรัฐฯ กับคนอัฟกันกลุ่มเสี่ยงสูงเพราะถูกตอลิบานขู่ฆ่าปองร้าย

กาตาร์ และยูเออีเป็น 2 ประเทศที่ช่วยอพยพผู้คนอย่างมหาศาล โดยที่ว่าในบรรดา 12 ประเทศที่มีจำนวนการขนย้ายตั้งแต่ 900 รายขึ้นไป ประกอบด้วย กาตาร์ มากกว่า 40,000 ราย ยูเออี 36,500 ราย (โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เดินทางเข้ายูเออี 8,500 ราย) อังกฤษ 13,146 ราย เยอรมนี 5,193 ราย อิตาลี 4,400 ราย (ทั้งหมดเป็นชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้แก่หน่วยงานและองค์กรการกุศลของอิตาลี) ออสเตรเลีย 4,100 ราย (โดย 3,200 รายเป็นพลเมืองออสซี่กับชาวอัฟกันที่มีวีซ่าออสเตรเลีย) แคนาดา 3,700 ราย เนเธอร์แลนด์ 2,500 ราย (โดยเป็นผู้ที่เดินทางเข้าเนเธอร์แลนด์ 1,600 ราย) ฝรั่งเศส 2,100 ราย เบลเยียม 1,400 ราย ตุรกี 1,400 ราย เดนมาร์ก 1,000 ราย และโปแลนด์ 900 ราย (โดยเป็นเด็ก 300 ราย และสตรี 300 ราย)

ดังนั้น ยอดผู้อพยพชาวอัฟกันที่ไปยังกาตาร์และยูเออีภายใต้การร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ณ วันที่ 27 สิงหาคม มีจำนวนรวมมากกว่า 70,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ไปทรานซิท เพื่อทำการต่อเครื่องบินสู่ยังประเทศอื่น โดยคาดได้ว่ายูเออีได้ช่วยรับไว้ดูแลอย่างน้อยในช่วงต้น จำนวน 8,500 ราย

ครอบครัวชาวอัฟกันทยอยขึ้นเครื่องบินทหารสหรัฐฯ C-17 Globemaster III เพื่อเดินทางออกจากอัฟกานิสถานเมื่อ 21 สิงหาคม 2021

บริเวณด้านในสุดของเครื่องบินทหารสหรัฐฯ C-17 Globemaster III ทารกน้อยของครอบครัวชาวอัฟกันได้รับการดูแลก่อนออกเดินทางร่วมกับคนอัฟกันหลายร้อยคนที่ดิ้นรนหนีให้พ้นจากกองกำลังตอลิบานเมื่อ 23 สิงหาคม 2021
กาตาร์ให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ อย่างเต็มความสามารถ จนกลายเป็นหนึ่งในจุดทรานซิทหลัก ที่ดำเนินการอพยพคนออกจากอัฟกานิสถานเพื่อส่งต่อผู้อพยพสู่ประเทศที่สาม เว็บไซต์ข่าวอินเดียนเอ็กซ์เพรสรายงาน พร้อมบอกว่า ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวขอบคุณกาตาร์ที่ช่วยสนับสนุนสหรัฐฯ ในภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้

เว็บไซต์ทำเนียบขาวนำเสนอข้อมูลว่าประธานาธิบดีไบเดน และเจ้าผู้ครองกาตาร์ ชีคตามีม บิน ฮาหมัด อัล ธานี โทรศัพท์หารือกันเมื่อ 20 สิงหาคม 2021 โดยประธานาธิบดีไบเดนแสดงความขอบคุณที่กาตาร์สนับสนุนสหรัฐฯ ในการอพยพผู้คนไม่ว่าจะเป็นประชาชนของสหรัฐฯ คณะนักการทูตของสหรัฐฯ และของประเทศพันธมิตรต่างๆ ไปจนถึงชาวอัฟกันซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงต่อชีวิต

อินเดียนเอ็กซ์เพรสรายงานด้วยว่า การเร่งอพยพผู้คนจากอัฟกานิสถานไปยังกาตาร์เป็นไปอย่างรีบเร่งกระทั่งเต็มศักยภาพสูงสุด เพราะต้องรองรับทั้งเครื่องบินรับเข้าจากอัฟกานิสถาน และเครื่องบินรับต่อเพื่อส่งไปยังประเทศที่สาม โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องชะลอเที่ยวบินขาเข้าเพื่อให้เวลาแก่การส่งต่อออกไปถึง 6 ชั่วโมงในช่วงหนึ่งของวันศุกร์ ทั้งนี้ อินเดียนเอ็กซ์เพรส อ้างคำกล่าวของโฆษกกระทรวงกลาโหม จอห์น เคอร์บี ซึ่งพูดในระหว่างแถลงข่าว

ในขณะที่กาตาร์ และยูเออีให้ความสนับสนุนแก่สหรัฐฯ ในส่วนของการช่วยอพยพคนอัฟกันออกมาแล้วมากกว่า 76,500 ราย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ทั้ง 2 ชาติสำคัญนี้ยังตกลงที่จะรับผู้อพยพอัฟกันไว้ส่วนหนึ่ง โดยแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งผ่านคำแถลงเมื่อ 20 สิงหาคม ว่ากาตาร์และอีก 12 ประเทศตกลงที่จะช่วยรับผู้ลี้ภัยอัฟกันไว้ เช่น แอลเบเนีย โคโซโว นอร์ทมาซิโดเนีย โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา 

ส่วนชาติที่ให้ความร่วมมือแก่สหรัฐฯ ในการเป็นจุดทรานซิทส่งต่อผู้อพยพอัฟกันไปยังประเทศปลายทาง มีตั้งแต่อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี คาซัคสถาน คูเวต ทาจิกิสถาน ตุรกี 

ชาวอัฟกันอพยพออกจากอัฟกานิสถานไปยังกาตาร์ และต่อเครื่องไปแอลเบเนีย โดยถึงสนามบินนานาชาติติรานา ในค่ำคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2021 รัฐบาลอัลเบเนียบอกว่าพวกเขาอาจพักพิงอยู่กับแอลเบเนียอย่างน้อย 1 ปี เพื่อรอให้ได้รับอนุมัติวีซ่า SIV แล้วจึงโยกย้ายไปปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ต่อไป
จับตา US จะดำเนินการสำเร็จแค่ไหนในการช่วยลูกน้องเก่าชาวอัฟกันให้หนีตายได้ ดั่งคำมั่นสัญญา

“เราไม่มีสิ่งอื่นใดที่สำคัญไปกว่าเรื่องความปลอดภัยและเสถียรภาพของประชาชนสหรัฐฯ ในต่างแดน และความสำเร็จในการดำเนินงานตามคำมั่นสัญญาที่ให้แก่ประชาชนของชาติที่ร่วมภารกิจกับเรา ตลอดจนชาวอัฟกันที่ตกอยู่ในอันตราย”

เอพีรายงานคำกล่าวของรัฐมนตรีบลิงเคน ซึ่งเป็นหลักการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถูกประกาศออกมาบ่อยครั้ง เพื่อจะยืนยันความตั้งใจว่าสหรัฐฯ จะนำคนอัฟกันให้พ้นภัยตอลิบานให้ได้มากที่สุด ก่อนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2021 ซึ่งเป็นวันเส้นตายโดยฝ่ายตอลิบานก็บอกว่าจะไม่ขยายเวลาให้

ครอบครัวผู้อพยพชาวอัฟกันที่ได้วีซ่า SIV เดินทางถึงสนามบินนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อ 27 สิงหาคม 2021
เมื่อลงมาในขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉิน คือตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลในวันที่ 15 สิงหาคม การอพยพผู้คนออกจากอัฟกานิสถานต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายในสภาวะวิกฤตและต้องเสร็จภายใน 16 วันก่อนถึงเส้นตาย อุปสรรคขัดขวางภารกิจขนย้ายผู้อพยพเรือนหมื่นเรือนแสน จึงผุดขึ้นสารพัด และกลายเป็นเกร็ดตำนานความโกลาหลที่นักข่าวต่างประเทศนำมารายงานได้มากมาย เช่น

- การที่คนอัฟกันจะเข้าให้ถึงประตูกำแพงสนามบินจะต้องผ่านด่านตรวจสกัดคัดกรองของกองกำลังตอลิบาน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่โหดหินที่สุด ผู้ที่ถูกตอลิบานหมายหัวจะไม่กล้าเสี่ยงผ่านเข้าไป บางคนผ่านด่านตรวจไม่สำเร็จ บางคนถูกยิงคว่ำ ผู้หญิงอัฟกันบางคนยอมเอาตัวกั้นกลางไม่ให้ตอลิบานลากคุณพ่อออกไปจากกลุ่ม และลงเอยด้วยการที่เธอถูกท้ายปืนกระแทกหลังก่อนที่พวกตอลิบานจะปล่อยผ่านไปทั้งกลุ่ม ไปจนถึงการที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์โยกย้ายคนไปสนามบิน

- การดั้นด้นฝ่าคลื่นมหาชนที่ออแน่นบริเวณรอบนอกพื้นที่สนามบินในท่ามกลางอากาศแผดร้อน บางครั้งกลายเป็นจลาจล และตามด้วยการระงับจลาจลโดยยิงมวลน้ำสลายฝูงชน (Water Cannon)

- ปัญหาการประสานงานคลาดเคลื่อนระหว่างฝ่ายงานจัดคิวที่ประสานกับประชาชน กับฝ่ายงานรักษาความปลอดภัยที่ประตูกำแพง อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงแผนรับคนอัฟกันสู่ภายในสนามบินที่เกิดขึ้นอย่างปุบปับบ่อยครั้ง เกิดเป็นเกร็ดตำนานต่างๆ เช่น กรณีของคณะเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอได้รับแจ้งเที่ยวบิน จึงพากันดั้นด้นฝ่าทุกอุปสรรคไปถึงประตูกำแพงสนามบิน แต่ทหารสหรัฐฯ ที่คุมจุดผ่านบอกให้กลับไปก่อน ยังไม่สามารถให้ผ่านเข้าสนามบินได้

- การแทรกแซงของผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่บริเวณประตูกำแพงเข้าสนามบิน ส่งผลให้ทหารสหรัฐฯ และประชาชนชาวอัฟกันต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยราย พร้อมกับขยายปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสนามบินให้ย่ำแย่มากขึ้น

คุณแม่ผู้อพยพชาวอัฟกันอุ้มลูกน้อยลงจากรถโค้ชที่พาจากสนามบินนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส ไปยังศูนย์ชานทิลลี เพื่อทำกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการอพยพเข้าตั้งรกรากในสหรัฐฯ เมื่อ 23 สิงหาคม 2021  ทั้งนี้ แม้หัวหน้าครอบครัวจากโลกไปแล้ว แต่โปรแกรม SIV ยังให้ความคุ้มครองแก่ภรรยาและบุตรไม่ให้ถูกตอลิบานตามสังหารล้างครัว
ในช่วงเวลามากกว่า 10 วันแห่งการดำเนินภารกิจอพยพผู้คนให้พ้นออกจากอัฟกานิสถานในท่ามกลางความโกลาหล การปะทะ การใช้ความรุนแรง การก่อการร้าย ความโกรธเคือง ความคลาดเคลื่อนทั้งปวง สหรัฐฯ เร่งอพยพคนอเมริกัน คณะนักการทูต คนอัฟกันที่เคยทำงานให้ทหารสหรัฐฯ กับคนอัฟกันกลุ่มเสี่ยงสูงเพราะถูกตอลิบานไล่ล่าขู่ฆ่าปองร้าย เช่น นักข่าว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสตรีอัฟกันที่ส่งเสริมบทบาทผู้หญิง เช่น นักกีฬา ศิลปิน นักร้อง นักสร้างภาพยนตร์ ซึ่งได้สร้างความโกรธเคืองแก่ตอลิบานที่มีแนวคิดและความเชื่อแบบอนุรักษนิยมสุดโต่ง

พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังให้บริการเสริมเพื่อช่วยเหลือนำพาคนสหรัฐฯ และคนอัฟกันซึ่งเคยร่วมงานภารกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้ซึ่งสุดความสามารถที่จะฝ่าเข้าไปถึงสนามบินได้ด้วยปฏิบัติการโฉบบินลงรับออกมายังสนามบินหลายหลากครั้ง และด้วยปฏิบัติการอย่างไม่เป็นทางการ คือ Operation Pineapple Express ซึ่งพาชาวอัฟกัน 630 รายหลบด่านตรวจของตอลิบาน เข้าสู่สนามบินได้สำเร็จ

ผู้คนวันละมากกว่า 1 หมื่น-1.9 หมื่น ได้รับการอพยพออกจากอัฟกานิสถานโดยฝูงบินเครื่องคาร์โกทหารใหญ่ยักษ์รวม 90 ลำของสหรัฐฯ และของประเทศต่างๆ ที่ร่วมช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจ ซีเอ็นบีซีรายงานอย่างนั้น พร้อมกับระบุว่า มีเที่ยวบินนำผู้อพยพออกไปทุกๆ 39 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง

ยูเอสเอทูเดย์รวบรวมสถิติผู้อพยพทั้งหมดที่ออกจากอัฟกานิสถานผ่านช่องทางสนามบินในกรุงคาบูล ระหว่างวันที่ 14-26 สิงหาคม 2021 รวม 108,200 ราย โดยจะมีตัวเลขสูงมากในระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม
ยอดผู้อพยพ ณ 26 สิงหาคมจึงสูงมากกว่า 1.1 แสนราย โดยเป็นชาวอัฟกันในความดูแลของสหรัฐฯ ที่ไปกับเครื่องบินของกาตาร์และยูเออีประมาณ 75,600 ราย

ในการนี้ ผู้อพยพจะได้เข้าไปสแตนด์บายภายในสนามบินช่วงละประมาณ 1 หมื่นคน และจะถูกพามาตั้งแถวรอเดินไปขึ้นเครื่องไฟลต์ละหลายร้อยคน บางไฟลต์จะมากถึง 800 คนทีเดียว

ในการนี้ พอจะคาดได้ว่าในจำนวนอดีตพนักงานของสหรัฐฯ ที่รอวีซ่า 20,000 ราย พร้อมครอบครัวอีก 53,000 ราย รวม 73,000 ราย น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากปฏิบัติการแห่งคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่แล้ว ขณะที่ชาวอัฟกันในหมวดผู้อยู่ในความเสี่ยงอันตรายจากตอลิบานก็น่าจะได้รับความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

ความสำเร็จของสหรัฐฯ ในปฏิบัติการแห่งคำมั่นสัญญา น่าจะเสร็จลงด้วยตัวเลขหลักแสน แม้จะไม่สามารถพาคนทั้ง 0.5-1.0 ล้านรายออกมาได้ทั้งหมด

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น เว็บไซต์ National Public Radio เว็บไซต์ Public Radio International เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี SBS.com whitehouse.com อินเดียนเอ็กซ์เพรส ซีเอ็นบีซี ยูเอสเอทูเดย์)



กำลังโหลดความคิดเห็น