เอเจนซีส์/mgrออนไลน์ – การศึกษาใหม่ในอิสคราเอลที่ได้ตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการ medRxiv สัปดาห์นี้พบว่า ผู้ที่หายป่วยจากรโรคโควิด-19มีระดับภูมิต้านทานสูงกว่าคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคครบโดสในการต้านทานไวรัสเดลตา
News.au สื่อออสเตรเลียรายงานวันนี้(29 ส.ค)ว่า การศึกษาใหม่จากอิสราเอลโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอลบ่งชี้ว่า วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าในการต่อสู้กับไวรัสเดลตาเมื่อเทียบกับระดับแอนติเจนที่ถูกสร้างขึ้นตามธรรมชาติของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19แล้ว
ทั้งนี้การศึกษาชิ้นนี้ที่ถูกตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการ medRxiv สัปดาห์นี้ ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาจากบันทึกทางการแพทย์ที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลส่วนกลางอิสราเอล MHS (Maccabi Healthcare Services) ทำการศึกษา 3 กลุ่มหลักได้แก่ (1)กลุ่มที่ไม่เคยป่วยโรคโควิด-19และได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคจำนวน 2 โดส (2) กลุ่มที่หายป่วยจากโรคโควิด-19และไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 (3) และกลุ่มที่หายป่วยจากโรคโควิด-19และเคยได้รับวัคซีนโควิด-19จำนวน 1 โดส
อ้างอิงจากmedrxivพบว่า กลุ่มการศึกษามีอายุระหว่าง 16 ปีและสูงกว่าและได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไบออนเทคภายในวันที่ 28 ก.พ 2021 หรือเคยป่วยด้วยโรคโควิด-19ภายในวันเดียวกัน(28 ก.พ) และกลุ่มคนที่รับวัคซีนโควิด-19จำนวน 1 เข็มภายในวันที่ 25 พ.ค 2021 อย่างน้อย 7 วันก่อนระยะเวลาศึกษา ซึ่งในวันที่ 2 มี.ค พบว่า กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำใหม่และอนุญาตให้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถได้รับวัคซีนโควิด-19 ได้ 1 เข็มในระยะเวลาห่าง 3 เดือนหลังจากการติดเชื้อ
สื่อออสเตรเลียรายงานว่า กลุ่มการศึกษาทั้ง 3 กลุ่มนี้ถูกประเมินในด้านการติดเชื้อ การแสดงอาการของโรค และการเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย – วันที่ 14 ส.ค ที่ผ่านมาของปีนี้ที่อิสราเอลกำลังประสบปัญหาการระบาดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา อิสราเอลถือเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคมากที่สุดในโลก
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคครบ 2 เข็มจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคโควิด-19สายพันธุ์เดลตากว่า 13 เท่าเทียบกับกลุ่มที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 ระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2021
“การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ถูกสร้างตามธรรมชาตินั้นจะยาวนานและแข็งแกร่งมากกว่าต่อการติดเชื้อ การป่วยที่แสดงอาการ และการรักษาพยาบาลเนื่องมาจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา เปรียบเทียบกับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนโควิด-19 BNT162b2(ไฟเซอร์-ไบออนเทค)จำนวน 2 โดส” กลุ่มนักวิจัยอิสราเอลกล่าวในการวิจัย
ทางผู้วิจัยได้ระบุต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างมี.ค 2020 และก.พ 2021 กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 6 เท่าของการติดเชื้อ และ 7 เท่าสำหรับการป่วยที่แสดงอาการ
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19ยังพบว่ามีความเสี่ยงมากกว่าในการที่อาจจะล้มป่วยถึงขั้นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเทียบกับในกลุ่มที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19ก่อนหน้า
และกลุ่มนักวิจัยยังค้นพบว่าสำหรับผู้ป่วยที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19และได้รับวัคซีนโควิด-19จำนวน 1 เข็มนั้นจะได้รับการปกป้องเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา
“การปกป้องในระยะยาวจากโดสที่ 3 ที่เพิ่งแจกจ่ายเมื่อไม่นานมานี้ในอิสราเอลขณะนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์” อ้างอิงจากรายงานการวิจัย
News.au กล่าวว่าทั้งนี้การศึกษาใหม่นี้ที่ยังไม่ได้รับการตรวงจสอบแบบเพียร์รีวิวแต่เป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกความจริงในการวิเคราะห์การเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นตามธรรมชาติจากการป่วยโรคโควิด-19เปรียบเทียบกับระดับการปกป้องที่ได้จากวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค และส่งผลต่อการถกเถียงทางวิชาการในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาถึงภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ