เอเจนซีส์/เอพี/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - นับตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.เป็นต้นมา เครื่องบินรบสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างใช้เทคนิคการลงจอดด้วยวิธีปลอดภัยสูงสุดด้วยการลงจอดแบบพิเศษที่เรียกว่า การควงสว่านและการยิงพลุเพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้มิสไซส์ยิงเข้ามาได้ ท่ามกลางข่าวกรองน่าเชื่อถืออาจมีการโจมตีด้วยคาร์บอมบ์จากก่อการร้าย ขณะที่องค์กรเพื่อสิทธิสัตว์อัฟกานิสถานซึ่งมีอดีตทหารนาวิกโยธินอังกฤษเป็นผู้ก่อตั้งเรียกร้องไปยังกลุ่มตอลิบานให้ช่วยเปิดทางให้นำสัตว์เลี้ยงที่ถูกช่วยออกมาได้ 200 ตัวเข้าไปด้านในสนามบินเพื่อรอแอร์ลิฟต์ออกนอกประเทศ
บิสซิเนสอินไซเดอร์ สื่อธุรกิจ รายงานวันนี้ (26 ส.ค.) ว่า สหรัฐฯ และชาติตะวันตกชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สนามบินนานาชาติฮามิดการ์ไซจะตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย IS โคราซาน (Khorasan) ในอัฟกานิสถานที่แกนนำระดับสูงถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำด้วยฝีมือของตอลิบานช่วงระหว่างเข้ายึดอำนาจที่กรุงคาบูล
เอพีรายงานว่า รัฐมนตรีกองกำลังอังกฤษ เจมส์ ฮีปเปย์ (James Heappey) ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในวันพฤหัสบดี (19) ว่า มีรายงานที่มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมากที่สุดว่าจะมีการโจมตีครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่สนามบินคาบูล “ที่สามารถอาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า”
เมื่อช่วงค่ำวันพุธ (25) สถานทูตสหรัฐฯ เตือนพลเมืองของตัวเองไม่ให้เข้าไปใกล้ 3 ประตูสนามบินฮามิดการ์ไซ ซึ่งในเวลานี้ยังคงมีพลเมืองสหรัฐฯ จำนวน 1,500 คนสูงสุดรอการช่วยเหลือออกมาทางอากาศ เอพีรายงานว่าการอพยพทางอากาศภายในท่าอากาศยานฮามิดการ์ไซยังคงกระทำอย่างต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี (26) ถึงแม้มีรายงานเตือนความเป็นไปได้จะมีการโจมตีด้วยคาร์บอมบ์
ทำเนียบขาวแถลงว่า 13,400 คนถูกอพยพออกมาใน 24 ชั่วโมงที่สิ้นสุดลงในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (26) ตามเวลาของกรุงวอชิงตัน ดีซี
บิสซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า สาเหตุจากอาจจะเกิดการโจมตีขึ้นมาทำให้ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. เครื่องบินรบสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างใช้แท็กติกการร่อนลงจอดแบบควงสว่าน หรือ corkscrew landing เพื่อหลบเลี่ยงจากการตกเป็นเป้าของจรวดมิสไซส์ที่อาจถูกยิงเข้ามา
นอกจากนี้ ยังพบว่าเครื่องลำเลียงทหารยังใช้วิธีการยิงพลุเพื่อเบี่ยงเบนมิสไซส์ที่อาจจะยิงใส่ รวมไปถึงการใช้วิธีร่อนลงจอดแบบควงสว่านเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ซึ่งนอกเหนือจากนี้พบว่ามีหลายชาติตะวันตกต่างประกาศยุติภารกิจการอพยพจากอัฟกานิสถานเนื่องมาจากภัยจากการถูกโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้น
เอพีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌ็อง กัสเต็กซ์ (Jean Castex) ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ RTL ของฝรั่งเศสระบุว่า “ภารกิจอพยพของฝรั่งเศสจากกรุงคาบูลจะสิ้นสุดลงในค่ำวันศุกร์ (27)”
ส่วนรัฐมนตรีกลาโหมเดนมาร์ก กล่าวว่า “ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไปในการบินเข้าหรือออกจากกรุงคาบูล” ซึ่งเที่ยวบินสุดท้ายของเดนมาร์กได้ออกไปแล้ว ขณะที่โปแลนด์และเบลเยียมประกาศยุติภารกิจการอพยพ ส่วนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากสหรัฐฯ ให้ออกจากอัฟกานิสถานภายในวันพฤหัสบดี (26)
นอกเหนือจากมนุษย์ที่ต้องการอพยพออกจากอัฟกานิสถาน พบว่า ยังมีสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมากที่ติดอยู่ภายนอกสนามบินกรุงคาบูลและไม่สามารถออกเดินทางไปพร้อมกับเจ้าของได้ เอพีชี้
องค์กรเพื่อสิทธิสัตว์ในอัฟกานิสถาน Nowzad ชื่อดังที่มี เพน ฟาร์ธธิง (Pen Farthing) อดีตทหารหน่วยรบพิเศษอังกฤษนาวิกโยธินอังกฤษเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าหน้าที่เรียกร้องไปยังกลุ่มตอลิบานเพื่อเปิดทางให้ทางกลุ่มสามารถนำสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวที่ถูกช่วยเหลือมาได้จำนวน 200 ตัวสามารถเข้าสู่ภายในสนามบินได้อย่างปลอดภัยเพื่อรับการขนส่งออกไปทางอากาศ
โดยเขาได้ทวีตไปยังโฆษกกลุ่มตอลิบานกล่าวว่า "พวกเรารอมานานกว่า 10 ชั่วโมงหลังจากได้รับการยืนยันว่าพวกเราจะได้เส้นทางปลอดภัย จริงๆ แล้วรู้สึกเหมือนต้องการที่จะกลับบ้านเดี๋ยวนี้แล้ว"
ซึ่งในครั้งแรกพบว่ารัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ เบน วอลเลซ (Ben Wallace) ปฏิเสธที่จะอพยพสัตว์เหล่านี้ออกมาโดยชี้ว่า หน้าที่สำคัญที่สุดคือต้องช่วยคนให้ออกมาให้ได้ก่อน แต่ในภายหลังวอลเลซที่ถูกสังคมกดดันอย่างหนักทำให้ต้องตอบตกลงโดยเขากล่าวว่า จะช่วยเหลือนำสัตว์เหล่านี้ขึ้นเครื่องบินที่ทางองค์กรเพื่อสิทธิสัตว์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหากว่าสัตว์เหล่านี้สามารถฝ่าฝูงคนเข้าสู่ด้านในสนามบินฮามิดการ์ไซได้สำเร็จ
โดมินิก ไดเออร์ (Dominic Dyer) นักรณรงค์สิทธิสัตว์ที่สนับสนุนฟาร์ธธิง กล่าวว่า เครื่องบินเช่าเหมาลำพร้อมที่จะออกเดินทางจากอังกฤษในวันนี้ (26) เพื่อไปยังอัฟกานิสถานช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ออกมา รัฐมนตรีกองกำลังอังกฤษฮีปเปย์ กล่าวว่า ทางกองกำลังอังกฤษจะให้การช่วยเหลือเที่ยวบิน แต่เขาชี้ว่า "มันเป็นเรื่องที่ยากมากจะขนกรงสัตว์ไปที่ลานบิน"
ทั้งนี้ ก่อนหน้าองค์กรสิทธิสัตว์ชื่อดังของอังกฤษประสบความสำเร็จสามารถระดมทุนได้มากกว่า 200,000 ปอนด์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอพยพทั้งเจ้าหน้าที่และสัตว์ที่ถูกช่วยมาได้ออกจากอัฟกานิสถาน