xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกตะลึง ‘ตอลิบาน’ ยึดอัฟกานิสถานสายฟ้าแลบ จบสงคราม 20 ปีด้วยความพ่ายแพ้ของ ‘อเมริกา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาชิกกลุ่มตอลิบานเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล หลังจากที่ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี หลบหนีออกนอกประเทศ
นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อกลุ่มติดอาวุธตอลิบานบุกทะลวงยึดเมืองหลวงอัฟกานิสถานได้สำเร็จ ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดออกจากสงครามที่ผลาญงบประมาณของอเมริกาไปอย่างมหาศาล ขณะที่สื่อทั่วโลกตีแผ่ภาพอันน่าสลดใจที่ชาวอัฟกันนับหมื่นแห่ขึ้นเครื่องบินหนีตายออกนอกประเทศ เพื่อหนีการถูกปกครองโดยพวกอิสลามิสต์สุดโต่ง

นักรบตอลิบานใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการยึดเมืองสำคัญทั่วอัฟกานิสถาน ในขณะที่กองกำลังความมั่นคงอัฟกันซึ่งได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธล้ำสมัยโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมากลับเป็นฝ่ายล่าถอยและยอมยกธงขาว

- ตอลิบานคือใคร?

ตอลิบานเคยมีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานอยู่ในช่วงระหว่างปี 1996-2001 และได้นำกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ที่ตีความแบบเข้มงวดมาบังคับใช้ ในยุคที่ตอลิบานเรืองอำนาจ การเสพสื่อบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือโทรทัศน์ล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม โรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงถูกปิด สตรีไม่สามารถทำงานนอกบ้าน และพวกเธอจะต้องสวมผ้าคลุมศีรษะที่ปกปิดใบหน้าทั้งหมดเวลาอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีการนำบทลงโทษทางศาสนามาใช้ เช่น การตัดมือผู้ที่ลักขโมย และการลงโทษหญิงที่มีชู้ด้วยการปาหินจนตาย เป็นต้น

ในปี 1998 ตอลิบานควบคุมดินแดนอัฟกานิสถานถึง 80% ทว่ามีเพียงปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่ให้การรับรองรัฐบาลของพวกเขา

ปี 2001 ตอลิบานได้ระเบิดทำลายพระพุทธรูปหิน 2 องค์ที่หุบเขาบามิยัน ซึ่งนับเป็นข่าวที่ทำร้ายจิตใจและเรียกเสียงประณามจากชาวพุทธทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็ยอมให้กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ใช้ดินแดนอัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมและตั้งค่ายฝึกอาวุธ

หลังเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 สหรัฐฯ กล่าวหาตอลิบานว่าปฏิเสธส่งตัว ‘อุซามะห์ บินลาดิน’ ผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ที่อเมริกาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้ และได้นำกองกำลังบุกอัฟกานิสถานในเดือน ต.ค. จนกระทั่งสามารถโค่นอำนาจของตอลิบานลงได้

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นไม่ได้ทำให้ตอลิบานสูญสลายไป แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบและก่อความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 20 ปี

ในปี 2018 ผู้แทนสหรัฐฯ และตอลิบานได้เริ่มเปิดเจรจาที่กรุงโดฮาของกาตาร์เพื่อหาทางยุติสงคราม กระทั่งมีการลงนามสัญญาฉบับประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ปี 2020 โดยเป็นการกำหนดกรอบเวลาที่สหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. กองทัพสหรัฐฯ ประกาศว่าได้ดำเนินการถอนทหารไปแล้วราวๆ 90% ขณะที่ตอลิบานซึ่งมีกำลังใจฮึกเหิมจากการถอนตัวของทหารต่างชาติเริ่มกระจายกำลังเข้ายึดเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ กระทั่งสามารถบุกเข้าถึงกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ รวมระยะเวลาปฏิบัติการเพียงแค่ 10 วัน

ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี แห่งอัฟกานิสถานตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเจ้าตัวอ้างว่าทำไปเพื่อ “หลีกเลี่ยงการนองเลือด” และแม้ไม่มีการเปิดเผยว่า กานี เดินทางไปยังประเทศใด แต่มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่าเขาน่าจะอยู่ในทาจิกิสถาน

แม้ตอลิบานจะประกาศว่า “สงครามจบลงแล้ว” แต่การกลับสู่อำนาจของนักรบอิสลามิสต์กลุ่มนี้ก็สร้างความหวาดกลัวต่อชาวอัฟกานิสถาน และมีผู้คนนับหมื่นๆ เก็บสัมภาระพุ่งตรงไปสนามบินคาบูลตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) ด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเครื่องบินพาณิชย์หนีออกนอกประเทศ

สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นชายจำนวนร้อยๆ วิ่งตีคู่ไปเครื่องบินกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยบางคนพยายามเกาะเหนี่ยวกับด้านข้างของเครื่องบินเพื่อเดินทางไปด้วย และยังปรากฏภาพสุดสะเทือนใจเมื่อชาวอัฟกันยอมเสี่ยงตายเกาะล้อเครื่องบิน C-17 ของสหรัฐฯ ที่กำลังทะยานขึ้นฟ้า จนสุดท้ายร่วงตกลงมาเสียชีวิต

ฉากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่สนามบินคาบูลทำให้หลายคนย้อนนึกไปถึงความสับสนอลหม่านที่เคยเกิดขึ้นใน “ไซ่ง่อน” เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ขณะที่กองทัพเวียดนามเหนือบุกตะลุยเข้าไปเมื่อปี 1975 และสหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายถอยหนีออกมาอย่างทุลักทุเลน่าอับอาย ถึงแม้วอชิงตันพยายามปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ก็ตาม

“นี่ไม่ใช่ไซ่ง่อน” รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ บอกในรายการสัมภาษณ์ทางทีวีอเมริกันเมื่อวันอาทิตย์ (15)

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานตอนนี้ทำให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทั้งจากมิตรและศัตรู ทว่า ไบเดน ยังคงยืนกรานปกป้องการตัดสินใจถอนทหาร โดยชี้ว่าเขาจำเป็นต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้ทหารสหรัฐฯ ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองอัฟกานิสถานที่ไม่มีวันจบ หรือจะทำตามข้อตกลงถอนทหารที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันเคยเจรจาไว้

ไบเดน ยอมรับว่าชัยชนะของตอลิบานเกิดขึ้นเร็วกว่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ไว้ แต่ขณะเดียวกันก็โบ้ยความผิดไปที่บรรดาผู้นำอัฟกันที่ยอมแพ้และเผ่นหนีตอลิบานโดยไม่คิดจะสู้ และสำทับว่าทหารอเมริกันไม่สามารถพลีชีพในสงครามต่อไปได้ หากทหารอัฟกันยังไม่มีใจต่อสู้เพื่อประเทศชาติของตนเอง

แม้ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่จะคาดเดาอยู่แล้วว่าวันนี้ต้องมาถึง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าตอลิบานจะใช้เวลาแค่ไม่กี่วันก็สามารถเอาชนะกองทัพอัฟกานิสถานที่ได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธล้ำสมัยด้วยเงินภาษีของชาวอเมริกันกว่า 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์เชื่อว่า มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้ตอติบานสามารถยึดอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

1.ความผิดพลาดด้านข่าวกรอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หน่วยข่าวกรองทหารของสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์ เพราะในขณะที่ตอลิบานจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ วางแผน และเดินหน้าการโจมตีครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ก่อนจะเริ่มการ "การจู่โจมครั้งสุดท้าย" แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันยังคงพูดว่ารัฐบาลและกองทัพอัฟกันน่าจะสามารถยื้อได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คนหนึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่าตอลิบานน่าจะต้องใช้เวลาอีก 90 วันถึงจะยึดกรุงคาบูลได้ แต่แล้วพวกเขากลับยึดเมืองหลวงได้สำเร็จตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. หรือไม่ถึง 10 วันหลังจากที่สามารถยึดเมืองเอกของจังหวัดแห่งแรกได้

2.ทหารอัฟกันไม่มีใจสู้

ตอลิบานแทบจะไม่เสียเลือดเนื้อในการเข้ายึดครองเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมา แต่เป็นการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้เสียมากกว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้นักรบตอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ราว 50% ของประเทศได้ด้วยการยึดเขตชนบทต่างๆ และเมื่อพวกเขาเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองใหญ่ ทหารอัฟกันจำนวนมากก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป เพราะคิดว่าอย่างไรเสียรัฐบาลคาบูลก็คงไม่ส่งกำลังเสริมมาช่วย

ตอลิบานยังใช้กลยุทธ์แทรกซึมเข้าสู่เขตเมือง ลอบสังหารบุคคลสำคัญๆ เช่น พวกนักบิน และข่มขู่บรรดาผู้บังคับบัญชาทหารให้ยอมแพ้ มิเช่นนั้นจะสูญเสียครอบครัว เมื่อบวกกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลคาบูลและคำขาดของ ไบเดน ที่ว่าจะถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดภายในวันที่ 11 ก.ย. พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนตัวตายอย่างไร้ประโยชน์

3.อุบายปิดล้อมทางทหาร-จูงใจประชาชน

ตอลิบานโอบล้อมกรุงคาบูลและตัดเส้นทางเสบียงที่จำเป็นสำหรับกองทัพอัฟกัน พร้อมกันนั้นก็สั่งสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ และนอกจากปืนไรเฟิลซุ่มยิงแล้ว พวกเขายังรู้จักใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นอาวุธ โดยสร้างแรงกดดันต่อพวกหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งใช้ข้อความเรียบง่ายแต่เห็นผลเพื่อข่มขู่ชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ

นักรบตอลิบานหยิบยื่นทางเลือกในการตัดสินใจให้กับพวกผู้บังคับบัญชาท้องถิ่น ชักชวนประชาชนเข้าสู่พื้นที่ยึดครอง และจัดสรรบริการสังคมบางส่วนให้กับผู้อยู่อาศัย พวกเขาใช้ทั้งการอ้อนวอน ให้ทางเลือก และข่มขู่ประชาชนให้หันมาสนับสนุน หรืออย่างน้อยก็เพียงแค่ “อย่าต่อต้าน”

4.การทุจริตภายในรัฐบาลและกองทัพอัฟกัน

กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันแทบจะทุกภาคส่วน และต่อให้มีการสู้รบกันเกิดขึ้นก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาคงจะปราชัยให้กับตอลิบานอยู่ดี เพราะไร้ศักยภาพทั้งในด้านการสั่งการและการควบคุม พวกเขาไม่รู้ว่ามีทหารที่ใช้งานได้ในมือกี่คน ยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดถูกแยกส่วน ถูกขโมย และลักลอบขาย อีกทั้งทหารจำนวนมากก็ไม่ได้รับค่าจ้าง อาหาร และสวัสดิการอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง

ว่ากันว่าทหารบางหน่วยของอัฟกานิสถานเลือกที่จะ “ขาย” อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับตอลิบาน มีกรณีการหนีทัพจำนวนมากที่ไม่ถูกรายงานหรือบันทึก ซึ่งทำให้จำนวนทหารที่แท้จริงน้อยกว่าตัวเลขของทางการ

5.ชาวอเมริกันไม่เคยเข้าใจ 'อัฟกานิสถาน'

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่สหรัฐฯ กับพันธมิตรนาโตกลับพยายามที่จะเปลี่ยนดินแดนแห่งนี้ให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์บนค่านิยมแบบตะวันตก

ความเป็นพันธมิตรระหว่างชนเผ่าในอัฟกานิสถานสำคัญมากกว่าความเป็นชาติ ความภักดีมักขึ้นอยู่กับเงินและอำนาจ และความเข้มแข็งส่วนหนึ่งของตอลิบานคือการที่พวกเขาเป็น 'ปาทาน' กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

ผู้นำทั่วโลกเริ่มมีท่าทีปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน โดย เน็ด ไพรซ์ โฆษกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันจันทร์ (16) ว่า “รัฐบาลอัฟกันในอนาคตจะต้องให้การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้าย และปกป้องสิทธิของพลเมืองรวมถึงสตรีและเด็กซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นรัฐบาลที่สหรัฐฯ สามารถทำงานด้วยได้”

โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ออกมากล่าวตรงๆ เมื่อวันอังคาร (17) ว่า “ตอลิบานชนะสงครามแล้ว และเราจำเป็นต้องพูดคุยกับพวกเขา” ขณะที่ โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ยอมรับกับ Sky News ว่า “เวลานี้อำนาจอยู่ในมือของพวกเขา เราจำเป็นต้องยอมรับความเป็นจริง และพยายามมองโลกในแง่ดี”

รัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังไม่อพยพนักการทูตออกจากคาบูล โดย ซามีร์ คาบูลอฟ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า ที่ผ่านมารัสเซียก็มีการติดต่อพูดคุยกับผู้แทนตอลิบานมาโดยตลอด ส่วนจะให้การรับรองรัฐบาลตอลิบานหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและการกระทำต่างๆ ของผู้นำตอลิบานหลังจากนี้

ด้านโฆษกรัฐบาลจีนระบุเมื่อวันจันทร์ (16) ว่า ปักกิ่งพร้อมที่จะ “สานความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือต่างๆ” กับอัฟกานิสถาน

“ตอลิบานกล่าวเสมอว่าพวกเขาอยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และพวกเขาคาดหวังให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนากิจการด้านต่างๆ ของอัฟกานิสถาน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเผย

ขณะเดียวกัน กลุ่มตอลิบานได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่กรุงคาบูลเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) โดยระบุว่า ต้องการสร้างความสัมพันธ์เชิงสันติกับนานาชาติ และยืนยันว่าจะเคารพต่อสิทธิสตรีภายใต้กรอบของกฎหมายอิสลาม พร้อมกันนั้นก็ได้ประกาศ "นิรโทษกรรม" ให้แก่ชาวอัฟกันทุกคนซึ่งเคยร่วมงานกับรัฐบาลชุดที่แล้ว

แม้ถ้อยแถลงของตอลิบานจะยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่ก็บ่งชี้ว่าพวกเขาคงจะใช้แนวทางที่โอนอ่อนกว่าตอนที่ปกครองอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ชาวอัฟกันนับร้อยๆ คนวิ่งตีคู่ไปกับเครื่องบิน C-17 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่กำลังนำผู้อพยพออกจากอัฟกานิสถาน

พลเมืองสเปนและชาวอัฟกันบางส่วนถูกอพยพขึ้นเครื่องบินทหารเพื่อเดินทางออกจากสนามบินคาบูล เมื่อวันที่ 18 ส.ค.

นักรบตอลิบานยืนคุมเชิงอยู่ที่ทางเข้าสนามบินนานาชาติฮามิดคาร์ไซในกรุงคาบูล

ผู้ประท้วงซึ่งรวมถึงอดีตล่ามของกองทัพอังกฤษในอัฟกานิสถาน ชูป้ายเรียกร้องที่ด้านนอกรัฐสภาในกรุงลอนดอนเพื่อให้ทางการอังกฤษมอบความช่วยเหลือแก่ชาวอัฟกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น