Reflections on Events in Afghanistan 1: Collapse of the Afghan Army
BY M. K. BHADRAKUMAR
16/08/2021
ฮัมดุลเลาะห์ โมฮิบ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของอัฟกานิสถาน เป็นลูกน้องที่ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ไว้วางใจมาก เขาคือ “ราชาเงา” ผู้ควบคุมงบประมาณกลาโหมของประเทศ หลังจากเขาหลบหนีไปต่างประเทศพร้อมกับ กานี มีรายงานว่าพบรถโตโยต้า แลนด์ครุสเซอร์ 3 คันที่บ้านพักของเขาในกรุงคาบูล ซึ่งภายในมีธนบัตรดอลลาร์อเมริกันเป็นฟ่อนๆ กองอยู่
โซเชียลมีเดียรายงานว่า ณ บ้านพักในกรุงคาบูลของ ฮัมดุลเลาะห์ โมฮิบ (Hamdullah Mohib) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของอัฟกานิสถาน ผู้ซึ่งขึ้นเครื่องบินหลบหนีอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ไปยังทาจิกิสถาน พร้อมกับประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อวันเสาร์ (14 ส.ค.) นั้น มีรถเอสยูวี โตโยต้า แลนด์ครุสเซอร์ 3 คัน ถูกทิ้งเอาไว้ โดยภายในรถเหล่านี้ พบมัดธนบัตรดอลลาร์อเมริกันกองกันอยู่
โมฮิบคือราชาเงาของอัฟกานิสถาน เขาเป็นคนควบคุมงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศ ที่จริงแล้วในปีนี้ เขาควรจะต้องได้ถือเงินจำนวนมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯตั้งเอาไว้สำหรับให้ช่วยเหลือกองทัพอัฟกัน แต่พวกตอลิบานกลับมาทำให้งานปาร์ตี้ของเขากร่อยสนิท
ปริศนาของการที่กองทัพอัฟกานิสถานสูญเสียกำลังใจในการสู้รบนั้น อันที่จริงแล้วไม่ได้เป็นปริศนาลึกลับอะไรเลย เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ การทุจริตยักยอกงบประมาณกลาโหมนั่นเอง ด้วยการกำกับจัดวางของ กานี ทำให้ โมฮิบ บริวารที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ของเขา คือผู้ที่ควบคุมกระทรวงกลาโหม –ไม่ใช่รัฐมนตรีกลาโหมหรอก— และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เขาทำได้อย่างดีมากสำหรับตัวเขาเอง –และบางทีอาจจะดีมากสำหรับ กานี ด้วย เวลานั่นแหละจะบอกให้เราทราบอย่างชัดจเน
พวกทหารในกองทัพอัฟกันนั้นน้อยครั้งนักที่จะได้รับเงินเดือนเต็มๆ ที่พวกเขาควรจะได้ เนื่องจากพวกนายทหารยักยอกเอาไปเข้ากระเป๋า และเรื่องนี้ก็เป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมทหารเกณฑ์จึงมีอัตราส่วนการหนีทัพสูงมากๆ ยังมีบ่อยครั้งที่ทหารแอบนำเอาอาวุธที่สหรัฐฯเป็นผู้จัดหาให้ ไปขายในตลาดมืด เพื่อนำเงินมาใช้ยังชีพ
พูดง่ายๆ ก็คือ กองทัพสูญเสียกำลังใจที่จะสู้รบให้แก่รัฐบาลซึ่งเสื่อมทรามจนขาดความชอบธรรม รวมทั้งยังไร้ความรู้ความสามารถและไม่แยแสกับความต้องการและความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนั้นกองทัพก็สูญเสียกำลังใจที่จะสู้รบให้แก่พวกผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือที่กองทัพดูถูกดูหมิ่น
สภาพเช่นนี้ช่างตรงกันข้ามเหลือเกินกับกองทัพอัฟกันซึ่งสร้างขึ้นโดยพวกโซเวียตเมื่อตอนต้นทศวรรษ 1980 นาจิบุลเลาะห์ (Najibullah ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของอัฟกานิสถานที่ขึ้นครองอำนาจด้วยการสนับสนุนของสหภาพโซเวียต -ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Mohammad_Najibullah --ผู้แปล) นั้น ยังคงยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลา 3 ปีภายหลังกองทัพโซเวียตถอนออกไปแล้ว และมาตกลงจากอำนาจจริงๆ ก็ต่อเมื่อมอสโกตัดความช่วยเหลือทั้งหมด –แม้กระทั่งแป้งสาลีสำหรับใช้ทำอาหาร ขณะที่กองทัพนี้มีระเบียบวินัย ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี และได้รับการปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง ส่วนพวกนายทหารซึ่งผ่านการศึกษาอบรมจากบรรดาสถาบันทางทหารโซเวียต ก็ได้รับความเคารพนับถือ
สงครามชิงเมืองจาลาลาบัด (ปี 1989) คือช่วงเวลาที่โดดเด่นที่สุดของกองทัพอัฟกันในยุคนั้น เมื่อปากีสถานวางแผนการใหญ่เข้าปิดล้อมเมืองสำคัญทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถานแห่งนี้ เพื่อยึดเอามาใช้เป็นที่ตั้งของคณะรัฐบาลชั่วคราวของพวกนักรบมูจาฮีดีน ทว่ากลับต้องประสบความล้มเหลว
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ว่ากันว่าสหรัฐฯได้ฝึกกองทัพอัฟกันยุคนี้ที่มีกำลังพลเข้มแข็งถึง 300,000 คน ด้วยมาตรฐานของนาโต้ แต่เมื่อสงครามระเบิดขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม กองทัพนี้ก็เริ่มต้นล้มครืนภายใต้แรงกดดันจากตอลิบาน
เมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นกัดกินเข้าไปยังพวกจุดที่สำคัญยิ่งยวดต่อชีวิตของประเทศชาติ โครงสร้างของรัฐฯก็เน่าเปื่อยผุพัง และล้มครืนลงมา และเมื่อประชาชนสูญเสียความเคารพนับถือในคณะผู้นำ สงครามก็มีแต่ต้องพ่ายแพ้
ในรายการ เมห์ดี ฮะซัน โชว์ (Mehdi Hasan show) ที่มีชื่อเสียง ซึ่งออกอากาศทาง MSNBC เมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) อะเดลา ราซ (Adela Raz) เอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำกรุงวอชิงตัน บอกว่า กานี และพวกลูกน้องบริวารของเขา สูบเอาเงินทองออกไปจากคลังสมบัติของอัฟกานิสถานจนเกลี้ยง แล้วก็ออกนอกประเทศโดยเอาสิ่งที่ปล้นชิงออกไปด้วย การที่รัฐมนตรีคลังอัฟกัน คอลิด ปาเยนดา (Khalid Payenda) ลาออกจากตำแหน่ง และหลบหนีออกจากคาบูลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ก็ดูเข้ากับเรื่องที่ว่านี้ได้อย่างเหมาะเหม็ง!! บุคคลผู้น่าสงสารผู้นี้หวาดกลัววันเวลาที่จะถูกตามคิดบัญชี เขากระทั่งไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าเขาจะไปที่ไหน
พวกผู้วางนโยบายของอินเดีย ไม่สามารถที่จะไม่ได้ตระหนักรับรู้เรื่องราวของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่กำลังปกครองอัฟกานิสถานเช่นนี้หรอก แต่จงใจเลือกที่จะละเลยไม่สนใจ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่อาจเข้าใจได้ อินเดียยังคงแสดงพฤติกรรมชนิดที่เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งล่าสุดคือในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดย (อาศัยฐานะการเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในเดือนสิงหาคมนี้) พยายามจัดเวทีเพื่อให้รัฐบาลกานี ได้อวดโอ่ตนเองต่อท่านผู้ชมระดับนานาชาติจากห้องประชุมคณะมนตรี ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียกระทั่งเพิกเฉยคำขออย่างเป็นทางการของปากีสถานที่จะขอเข้าร่วมการอภิปรายของคณะมนตรีความมั่นคงนัดดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้คนของ กานี ได้ทำอะไรตามใจปรารถนา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายในชนชั้นนำของอินเดียนั้น ไม่ได้มีกลุ่มผลประโยชน์ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องนี้ อย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ วอชิงตันโพสต์เพิ่งเปิดโปงว่า พวกผู้บัญชาการทหารของเพนตากอนเอาแต่โกหก และ “สงครามไม่รู้จบ”ในอัฟกานิสถาน จึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดทีเดียวในเรื่องขบวนการของการทำมาหากินแบบงานสบายแต่ผลตอบแทนตรึม โดยมีคาบูลเป็นจุดรวม
เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้ เมื่อประดาหน่วยงานปิดลับของรัฐทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย มีการต่อเชื่อมรวมตัวกันระหว่างบุคคลสำคัญของคาบูล อย่างเช่น โมฮิบ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ กับพวกเสื่อมทรามแตกแถวภายในกองทัพสหรัฐฯ และพวกเขาก็ใช้ความพยายามทุกๆ อย่างเพื่อสกัดขัดขวางไม่ให้สงครามครั้งนี้ยุติลงได้ ข้อเท็จจริงที่ชวนให้กระอักกระอ่วนใจก็คือ ในอินเดียก็เหมือนกัน มีกลุ่มล็อบบี้ที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการประกาศสนับสนุน “สงครามไม่รู้จบ” อย่างชนิดไม่ฟังเหตุฟังผลใดๆ ทั้งนี้ แถม โมฮิบ ก็เป็น “คนของเรา” ในคาบูล เช่นกัน
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/reflections-on-events-in-afghanistan/
หมายเหตุผู้แปล
สำนักข่าวเอเอฟพี ได้เสนอรายงานที่เป็นการสรุปความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วของกองทัพอัฟกานิสถาน โดยมุ่งชี้ไปที่ความผิดพลาดบกพร่องของเพนตากอน ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มเติมมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้
‘ความผิดพลาดของเพนตากอน’ที่อยู่เบื้องหลังการพ่ายแพ้ย่อยยับของกองทัพอัฟกัน
โดย สำนักข่าวเอเอฟพี
The Pentagon mistakes behind the rout of the Afghan army
By Sylvie LANTEAUME, AFP
16/08/2021
อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผิดพลาดไม่มีความเหมาะสม
วอชิงตันใช้จ่ายเงินทองไปถึงประมาณ 83,000 ล้านดอลลาร์ ในความพยายามที่จะสร้างกองทัพสมัยใหม่กองหนึ่งขึ้นมาในอัฟกานิสถาน โดยเป็นกองทัพที่คล้ายๆ เงาสะท้อนในกระจกของกองทัพอเมริกัน นั่นหมายถึงการต้องพึ่งพาอาศัยอย่างมากมายเหลือเกินกับเรื่องการสนับสนุนทางอากาศ และเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไฮเทค ขณะที่ประเทศยากจนและทุรกันดารในเอเชียใต้ติดเอเชียกลางรายนี้ มีประชากรเพียงสักราว 30% เท่านั้น ซึ่งสามารถวาดหวังได้ว่าจะมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างสม่ำเสมอไว้วางใจได้
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์, โดรน, ยานหุ้มเกราะ, หน้ากากที่เป็นกล้องมองกลางคืน สหรัฐฯส่งมาปรนเปรอประกอบติดตั้งให้แก่กองทัพอัฟกานิสถานอย่างไม่มียั้ง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ยังเพิ่งส่งเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ “แบล็กฮอว์ก” รุ่นล่าสุดมาให้ด้วยซ้ำ
แต่กองทัพของชาวอัฟกัน –ที่จำนวนมากของพวกเขาเป็นชายหนุ่มไม่รู้หนังสือในประเทศที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำยุคนำสมัยได้ – ก็ไม่สามารถเข้าต้านทานอย่างจริงจัง ในการสู้รบกับข้าศึกที่ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่า และจำนวนก็น้อยกว่านักหนา ถ้าหากดูกันที่ตัวเลขตามบัญชีกำลังพล
จอห์น ซอปโค (John Sopko) หัวหน้าผู้ตรวจการพิเศษของสหรัฐฯเพื่อดูแลการฟื้นฟูบูรณะของอัฟกานิสถาน (US special inspector general for Afghanistan reconstruction ใช้อักษรย่อว่า SIGAR) ระบุว่า สมรรถนะของกองทัพอัฟกันนั้นถูกประเมินเอาไว้จนเลิศเลอเกินความเป็นจริงอย่างร้ายแรง
ซอปโค ซึ่งภารกิจของเขาตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐสภาอเมริกัน คือการติดตามประสิทธิภาพของฝ่ายทหารอัฟกันและของความพยายามในการพัฒนาประเทศนั้น ถึงกับกล่าวในการถกแถลงกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า มีคำอยู่ 2 คำซึ่งสามารถบรรยายถึงประสบการณ์ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานได้เป็นอย่างดี
“คำหนึ่งคืออหังการ ทั้งนี้ด้วยความรู้สึกว่าจากการใช้วิธีการบางสิ่งบางอย่าง เราก็สามารถนำเอาประเทศซึ่งสุดว่างเปล่าสุดหดหู่เมื่อปี 2001 มาเปลี่ยนให้กลายเป็นนอร์เวย์น้อยๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาได้”
“ส่วนอีกคำหนึ่งคือโกหก เราพูดอะไรเกินจริง พูดอะไรเกินจริงไปมากๆ พวกนายพลของเราทำ พวกเอกอัครราชทูตของเราทำ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของเราทำ ทำกับรัฐสภาและกับประชาชนชาวอเมริกัน โดยบอกว่า “เราเพิ่งผ่านจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและทุกอย่างกำลังดีขึ้น” "เรากำลังพรักพร้อมแล้วที่จะถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและทุกอย่างจะดีขึ้น”
เขาบอกอีกว่า ฝ่ายทหารของสหรัฐฯนั้นมุ่งที่จะซ่อมแซมแก้ไขอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้บรรลุสัมฤทธิผลระยะสั้นเท่านั้น แต่ละครั้งที่เขาพยายามดำเนินการประเมินกองทัพอัฟกัน "ฝ่ายทหารสหรัฐฯเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพวกเกณฑ์เป้าหมายต่างๆ และทำให้มันง่ายดายขึ้น ที่จะอวดอ้างว่าประสบความสำเร็จ แล้วในท้ายที่สุด เมื่อพวกเขาทำแบบนั้นก็ไม่ได้แล้ว พวกเขาก็จัดแจงจัดชั้นให้เครื่องมือในการประเมินกลายเป็นความลับขึ้นมาเสียเลย
“ดังนั้น พวกเขาทราบกันอยู่แล้วล่ะว่าฝ่ายทหารอัฟกันน่ะย่ำแย่เลวร้ายขนาดไหน”
ในรายงานฉบับหลังสุดที่สำนักงานของเขาส่งไปให้แก่รัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีบันทึกระบุว่าส่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น มีข้อความประเมินเอาไว้ว่า “พวกระบบอาวุธ, ยานยนต์, และเรื่องโลจิสติกส์ ที่ก้าวหน้าทันสมัยทั้งหลาย ซึ่งฝ่ายทหารต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกใช้กันอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เกินเลยสมรรถนะของกองกำลังอัฟกันที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือและไม่มีการศึกษา”
ตัวเลขต่างๆ ที่ถูกทำให้เกินความจริง
หลายเดือนที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนยืนกรานถึงสิ่งที่พวกเขาบอกว่า เป็นตัวเลขซึ่งแสดงถึงความได้เปรียบของทางฝ่ายกองกำลังอาวุธอัฟกัน –โดยที่มีการระบุว่ากำลังพลในกองทัพและในกองกำลังตำรวจรวมกันมีจำนวน 300,000 คน— เหนือกว่าฝ่ายตอลิบาน ซึ่งประมาณการกันว่ามีจำนวนราว 70,000 คนเท่านั้น
แต่ตัวเลขจำนวนทหารในกองทัพเช่นนี้ สูงเกินความเป็นจริงไปมากมาย ทั้งนี้ตามรายงานของ ศูนย์กลางการต่อสู้การก่อการร้าย (Combating Terrorism Center) ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์พอยต์ (US Military Academy at West Point) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก
ตามการประมาณการของศูนย์กลางแห่งนี้เอง ณ เดือนกรกฎาคม 2020 จำนวน 300,000 คนที่ว่า มีเพียง 185,000 คนเท่านั้นซึ่งเป็นทหารในกองทัพบกหรือในกองกำลังปฏิบัติการพิเศษภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมอัฟกานิสถาน ส่วนที่เหลือเป็นกำลังตำรวจและบุคลากรด้านความมั่นคงหน่วยอื่นๆ
แล้วทหารของกองทัพบกอัฟกัน ก็มีเพียงแค่ 60% เท่านั้นที่ได้รับการฝึกเพื่อให้เป็นนักรบ คณะนักวิเคราะห์ของเวสต์พอยต์ระบุเอาไว้อย่างนี้
ดังนั้น ความเข้มแข็งของกำลังสู้รบของกองทัพบกอัฟกัน ถ้าหากจะประเมินกันแบบถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น –โดยที่ยังต้องหักเอาบุคลากรของกองทัพอากาศ 8,000 คนออกไปจากสมการด้วย – ก็คือ 96,000 คน พวกนักวิเคราะห์ของเวสต์พอยต์สรุป
ในรายงานที่SIGAR ส่งให้รัฐสภาสหรัฐฯ ยังพูดเรื่องการหนีทัพ ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับกองทัพอัฟกัน โดยที่ SIGAR พบว่า ในปี 2020 กองทัพบกอัฟกันต้องหากำลังทหารใหม่มาทดแทนกำลังพลของตนเป็นจำนวน 25% อย่างที่ต้องทำกันในแต่ละปี --จำนวนมากเป็นเพราะการหนีทัพ— และเรื่องนี้พวกทหารอเมริกันซึ่งทำงานกับฝ่ายอัฟกันถึงกับมีความรู้สึกกันว่า อัตรานี้คือ “ปกติ”
การให้คำมั่นสัญญาแบบไม่ได้จริงจังอะไร
พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันคอยให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า พวกเขาจะยังคงสนับสนุนกองทัพอัฟกันต่อไปอีกหลังจากวันที่ 31 สิงหาคม –วันที่ประกาศเป็นเส้นตายสำหรับการถอนทหารสหรัฐฯออกไปอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์— แต่พวกเขาไม่เคยอธิบายเลยว่าเรื่องนี้จะทำกันอย่างไรในทางโลจิสติกส์
ระหว่างการเยือนกรุงคาบูลครั้งท้ายสุดของเขา นั่นคือในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ได้หยิบยกความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือฝ่ายอัฟกันในการบำรุงรักษากำลังทางอากาศของพวกเขา –จากทางไกล— โดยใช้กระบวนวิธีที่เขาเรียกว่า โลจิสติกส์แบบ “ข้ามขอบฟ้า” ("over the horizon" logistics)
แนวความคิดที่กำกวมคลุมเครือดังกล่าวนี้ บ่งบอกถึงการใช้วิธีจัดการฝึกอบรมเสมือนจริงด้วย วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ โดยอาซัยแพลตฟอร์มโปรแกรม “ซูม” (Zoom) –อันเป็นกระบวนวิธีที่ดูหลอนๆ เอามากๆ เมื่อพิจารณาว่าจะกระทำได้ทางผู้เข้าอบรมชาวอัฟกันจำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนซึ่งต่อเชื่อมไว-ไฟที่ใช้งานได้อย่างราบรื่น
โรนัลด์ นิวมานน์ (Ronald Neumann) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำคาบูล เชื่อว่า กองทัพอเมริกัน “สามารถที่จะเพิ่มเวลาให้มากขึ้น” ก่อนที่จะถอนตัว
ข้อตกลงเรื่องถอนทหารนี้ฝ่ายสหรัฐฯโดยคณะบริหารทรัมป์เป็นผู้ไปทำเอาไว้กับตอลิบานโดยตกลงเรียกร้องให้ถอนกำลังทหารต่างชาติทั้งหมดออกไปภายในวันที่ 1 พฤษภาคม
โจ ไบเดน ผู้สืบตำแหน่งต่อจากทรัมป์ ได้เลื่อนเส้นตายดังกล่าวออกไปอีก โดยตอนแรกเป็นวันที่ 11 กันยายน ก่อนที่จะเปลี่ยนกันอีกครั้งมาเป็น 31 สิงหาคม
แต่ไบเดนยังตัดสินใจให้ถอนพลเรือนอเมริกันทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานด้วย ซึ่งรวมไปถึงพวกผู้รับเหมารับจ้างที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนงานโลจิสติกส์ของสหรัฐฯในประเทศนั้น
“เราสร้างกำลังทางอากาศขึ้นมา ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยพวกผู้รับเหมารับจ้างในเรื่องการบำรุงรักษา แต่แล้วก็กลับถอนพวกผู้รับเหมารับจ้างออกมา” นิวมานน์ ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช กล่าวในการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุภาคสาธารณะ เอ็นพีอาร์ (NPR) ของสหรัฐฯ
ทหารไม่ได้รับเงินเดือนและกระทั่งไม่ได้รับอาหาร
ที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ เงินเดือนของกองทัพอัฟกันนั้นทางเพนตากอนป็นผู้จ่ายให้มาเป็นปีๆ แล้ว ทว่าตั้งแต่เวลาที่กองทัพอเมริกันประกาศแผนการถอนตัวออกไปของตนในเดือนเมษายน ความรับผิดชอบของการจ่ายเงินทองเหล่านี้ก็ตกไปเป็นของรัฐบาลคาบูล
ทหารอัฟกันจำนวนหนึ่งร้องเรียนทางโซเซียลมีเดียว่า พวกเขาไม่เพียงไม่ได้เงินเดือนมาเป็นเดือนๆ เท่านั้น ยังมีกรณีจำนวนมากที่หน่วยทหารของพวกเขาไม่ได้รับอาหารหรือข้าวของต่างๆ อีกต่อไปแล้ว –ไม่ได้รับแม้กระทั่งเครื่องกระสุน
การที่สหรัฐฯถอนตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นการกระหน่ำตีอย่างรุนแรงครั้งสุดท้าย
“เราช็อกกองทัพอัฟกันและช็อกขวัญกำลังใจอย่างหนักหนาสาหัสมาก ด้วยการถอนตัวออกไป และถอนกำลังสนับสนุนทางอากาศของเราออกไป” นิวมานน์ บอก
คนอัฟกันมองสหรัฐฯว่าเป็นผู้รุกราน
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายรายมองสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกองทัพอัฟกันกับตอลิบานในเรื่องขวัญกำลังใจในการสู้รบ
“มันแทบไม่มีข้อสงสัยเอาเลยว่าเราจะต้องเป็นฝ่ายแพ้สงครามคราวนี้” คาร์เตอร์ มัลคาเซียน (Carter Malkasian) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของเพนตากอนซึ่งถูกส่งไปทำงานในอัฟกานิสถานอยู่หลายปี เขียนเอาไว้เช่นนี้ในหนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเร็วๆ นี้
เขาบอกว่า ตอลิบานแสดงให้เห็นว่ามีกำลังใจมากกว่าที่จะสู้รบกับ “พวกผู้รุกราน” ขณะเดียวกัน ประชาชนอัฟกันก็มองรัฐบาลในคาบูลว่าต้องขึ้นต่อคนต่างชาติที่ไม่ได้เป็นมุสลิม
“การปรากฏตัวของอเมริกันในอัฟกานิสถานนั่นเอง คือการเหยียบย่ำใส่ความรู้สึกสำนึกแห่งอัตลักษณ์ความเป็นอัฟกัน ซึ่งรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับความภาคภูมิใจในชาติ, ประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งการสู้รบกับผู้ที่มาจากภายนอก, และความรู้สึกผูกพันในทางศาสนาที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิของตน” มัลคาเซียน เขียนเอาไว้เช่นนี้
“เราเชื่อว่าสิ่งต่างๆ สามารถเป็นไปได้ในอัฟกานิสถาน – การเอาชนะตอลิบาน, หรือการทำให้รัฐบาลอัฟกันสามารถยืนอยู่ด้วยตนเอง –แต่บางทีมันอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ตั้งแต่ตอนต้นๆ แล้ว การทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลและในกองทัพและกองกำลังความมั่นคง โดยที่มีเงินทองมากมายมหาศาลซึ่งสหรัฐฯเทเข้ามาให้เป็นตัวช่วย ได้กัดกร่อนบั่นทอนความรู้สึกสำนึกถึงภาระหน้าที่ใดๆ ในคาบูลลงไปอย่างร้ายแรง
ในทางตรงกันข้าม กระทั่งถึงหากทางฝ่ายตอลิบานก็เป็นที่เกลียดชังของประชาชนและก็มีการบริหารจัดการที่ย่ำแย่ด้วยเหมือนกัน แต่พวกเขายังคงได้รับแรงจูงใจอย่างเข้มข้นมากกว่า ทั้งจากศาสนาและจากความเกลียดชัง “คนนอกศาสนา”
ซอปโคบอกว่า ใครๆ ก็ไม่ควรคาดหวังหรอกว่า กองกำลังอัฟกันจะยังคงสู้รบต่อไป ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับเงินเดือน ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับอาหาร และพวกเจ้าหน้าที่ทุจริตฉ้อฉลได้ขโมยเอาเครื่องกระสุนของพวกเขาและเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะของพวกเขาไป
ส่วน มัลคาเซียน ก็ชี้ว่า “พวกตำรวจและทหารไม่ต้องการเอาชีวิตของพวกเขาเข้าไปเสี่ยงในแนวรบ เพื่อรัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉลและคอยแต่จะเพิกเฉยละเลยพวกเขาหรอก”
(ผู้แปลได้เพิ่มเติมด้วยบางส่วนของรายงานเรื่อง Experts list reasons for US failure in Afghanistan By SYLVIE LANTEAUME And PAUL HANDLEY,JULY 30, 2021ของสำนักข่าวเอเอฟพีเช่นกัน)