งานวิจัยในอังกฤษเผยวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็น 2 ชนิดทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย ให้ผลในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ได้น้อยลงหลังฉีดเข็มที่ 2 ไปประมาณ 3 เดือน
ผลการศึกษานี้ยังพบด้วยว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งไปแล้ว แต่กลับมาติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา มีโอกาสที่จะแพร่ไวรัสสู่บุคคลรอบข้างได้มากกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ
ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดซึ่งอ้างอิงจากการตรวจหาเชื้อทางจมูกและลำคอมากกว่า 3 ล้านตัวอย่างทั่วอังกฤษพบว่า หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 90 วัน ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะลดลงมาเหลือ 75% และ 61% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 85% และ 68% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการฉีดเข็มที่ 2
ประสิทธิภาพของวัคซีนยังลดลงในกลุ่มประชากรที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มากกว่าผู้ที่อายุต่ำกว่านั้น
ซาราห์ วอล์กเกอร์ อาจารย์ด้านสถิติการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์ผลการศึกษา ย้ำว่า “วัคซีนทั้ง 2 ชนิด เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ยังคงมีประสิทธิภาพค่อนข้างดีมากในการป้องกันเชื้อเดลตา”
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยไม่ได้ประเมินต่อว่าระดับการป้องกันจะลดลงมากน้อยแค่ไหนเมื่อระยะเวลาผ่านไป แต่คาดว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะลดลงมาอยู่ในระดับที่พอๆ กันหลังฉีดเข็ม 2 ไปราว 4-5 เดือน
งานวิจัยนี้ยังมีข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยพบว่าผู้ที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจะมีปริมาณไวรัส (viral load) ในร่างกายมากพอๆ กับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย
ผลการศึกษาของอ็อกซ์ฟอร์ดให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) และมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังร่างแผนเพื่อฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ให้แก่ประชาชนทั่วไปภายในเดือน ก.ย. หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา: รอยเตอร์