รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ผู้ก่อตั้งร่วมกลุ่มตอลิบาน มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์เดินทางเข้าอัฟกานิสถานประเทศบ้านเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีเมื่อคืนวันอังคาร(17)ระหว่างที่อดีตผู้นำอัฟกานิสถานฮามิดการ์ไซอยู่ระหว่างหารือกับตอลิบานเรื่องตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ที่นำสหรัฐฯบุกอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์ 11 ก.ย แสดงความเห็นวิกฤตอัฟกานิสถานสุดเศร้าพร้อมชี้ สหรัฐฯจำเป็นต้องช่วยผู้ลี้ภัยอัฟกัน โพลสำรวจระบุอดีตผู้นำสหรัฐฯบุชผู้ลูกติดอันดับ 4 ของคนที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตมากที่สุด
รอยเตอร์รายงานวันนี้(18 ส.ค)ว่า ขณะที่ชาติตะวันตกต่างพากันเร่งอพยพเจ้าหน้าที่และพลเรือนออกไปจากอัฟกานิสถาน แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงนาโตเปิดเผยว่า ในวันพุธ(18)ที่บริเวณทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติฮามิดกาไซมีคนได้รับบาดเจ็บ 17 คนจากเหตุเหยียบกัน เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวว่า เขาไม่ได้ยินรายงานความรุนแรงที่มาจากกลุ่มติดอาวุธตอลิบานบริเวณด้านนอกสนามบิน
รอยเตอร์ชี้ว่า ในวันอาทิตย์(15)ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มตอลิบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลพลเรือนอัฟกันถูกสั่งไม่ให้เดินทางไปที่สนามบินฮามิดการ์ไซเว้นแต่จะมีหนังสือเดินทางและวีซ่าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานให้กับท่าอากาศยานนานาชาติฮามิดการ์ไซเปิดเผย
ทั้งนี้อดีตประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซได้พบกับผู้บัญชาการระดับสูงกลุ่มติดอาวุธตอลิบานและอานัส ฮัคคานี(Anas Haqqani) ผู้นำระดับสูงของเครือข่ายติดอาวุธฮัคคานี(Haqqani)ในความพยายามเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดใหม่ แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ตอลิบานเปิดเผย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การ์ไซมาพร้อมกับทูตสันติภาพของรัฐบาลชุดเก่า อับดุลลาห์ อับดุลลาห์( Abdullah Abdullah) ในการเข้าร่วมการประชุมแต่ไม่เปิดเผยมากไปกว่านี้
เครือข่ายฮัคคานีเป็นปีกสำคัญของตอลิบานที่บุกเข้ายึดกรุงคาบูลในวันอาทิตย์(15)จากอดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน อัชราฟ กานี โดยที่มั่นของเครือข่ายฮัคคานีอยู่บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานติดปากีสถาน
ทั้งนี้นิตยสารเดอะวีกของอินเดียรายงานวันนี้(18)ว่า ผู้ก่อตั้งร่วมกลุ่มตอลิบาน มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์(Mullah Abdul Ghani Baradar) เดินทางเข้าอัฟกานิสถานประเทศบ้านเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีเมื่อคืนวันอังคาร(17)โดยเดินทางมาจากกาตาร์ อ้างอิงจากรายงาน เดอะวีกชี้ว่า เชื่อว่าชายผู้นี้ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของกลุ่มติดอาวุธตอลิบานน่าจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอัฟกานิสถาน
บาราดาร์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของสำนักงานตอลิบานและยังร่วมอยู่ในทีมเจรจาสันติภาพที่กรุงโดฮา
ขณะเดียวกัน "จอร์จ ดับเบิลยู บุช" อดีตผู้นำสหรัฐฯที่นำกองกำลังสหรัฐฯบุกเข้าอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกในปี 2001 หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรด 11 ก.ย ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกเมื่อค่ำวันจันทร์(16)ถึงวิกฤตสถานการณ์อัฟกานิสถาน
รอยเตอร์รายงานว่าแถลงการณ์ออกในนามบุชและลอรา บุชอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯมีใจความว่า
“รัฐบาลสหรัฐฯมีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่ต้องลดขั้นตอนทางราชการเพื่อผู้อพยพระหว่างวิกฤตทางมนุษยธรรม และเรามีความรับผิดชอบและทรัพยากรในการเปิดทางที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาเดี๋ยวนี้โดยที่ต้องไม่มีความล่าช้าจากระบบราชการ” รายงานจากแถลงการณ์
ในแถลงการณ์ยังชี้ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯเชื่อมั่นว่าความพยายามในการอพยพจะมีประสิทธิภาพด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังสหรัฐฯ และย้ำว่าพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ของพวกเราตลอดจนถึงองค์กรNGOพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ
ทั้งบุชและลอรา บุชต่างกล่าวว่าทั้งคู่รู้สึกเศร้าใจต่อเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานที่เกิดขึ้น แต่ทั้งคู่ยังคงเชื่อมั่นและมองในแง่ดีว่าพลเมืองอัฟกันจะอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาปราศจากร่มเงาของตอลิบานนานเกือบ 20 ปี
อย่างไรก็ตามในสายตาของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ระบุว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ "จอร์จ ดับเบิลยู บุช" ผู้ลูก เป็นสาเหตุสำคัญต่อความล้มเหลวของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานมากกว่าอดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆรวมไปถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน อ้างอิงจากโพลของบิสซิเนสอินไซเดอร์ที่รวบรวมจากผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามราว 1,105 คน ระหว่างวันที่ 16 ส.ค -17 ส.ค ผ่านทางสำนักโพลวิจัยชื่อดัง SurveyMonkey และมีค่าความผิดพลาดทางสถิติที่ 3%
ในผลการสำรวจพบว่า ผู้ที่รับผิดชอบต่อวิกฤตอัฟกานิสถานอันดับ 1 คือกลุ่มติดอาวุธตอลิบาน 55% สูงสุดใน 3 อันดับแรก ส่วนอันดับที่ 2 เป็นของผู้นำอัฟกานิสถาน อันดับที่ 3 กองทัพอัฟกานิสถาน อันดับ 4 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช อยู่ที่ 34% อันดับ 5 ผู้นำกองทัพสหรัฐฯ อยู่ที่ 31% อันดับ 6 ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน โจ ไบเดน อยู่ที่ 29%อันดับ 7 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา อยู่ที่ 21% อันดับ 8 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ที่ 22% และอันดับ 9 กองทัพสหรัฐฯ อยู่ที่ 20%