xs
xsm
sm
md
lg

นายพลสหรัฐฯ เตือน ‘กลุ่มก่อการร้าย’ อาจฟื้นคืนชีพเร็วขึ้น หลัง ‘ตอลิบาน’ ยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ออกมาเตือนวานนี้ (15 ส.ค.) ว่าการหวนคืนสู่อำนาจของตอลิบานอาจจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ใช้ดินแดนในอัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และฟื้นตัวกลับมาเป็นภัยคุกคามเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้

เว็บไซต์ข่าว Axios รายงานว่า คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ มิลลีย์ เสนอรายงานเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถานต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน และสมาชิกสภาคองเกรสจากทั้ง 2 พรรคการเมือง

นายพลอาวุโสผู้นี้อ้างถึงการประเมินความเสี่ยงครั้งก่อนที่คาดว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจฟื้นตัวในอัฟกานิสถานภายใน 2 ปีหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกมา และชี้ว่ากรอบเวลาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้อง “ทบทวนใหม่” แล้ว

เมื่อเดือน มิ.ย. ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยแจ้งต่อที่ประชุมวุฒิสมาชิกว่า มีความเป็นไปได้ “ระดับกลาง” ที่กลุ่มก่อการร้ายจะกลับมาใช้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีกว่าที่สถานการณ์จะไปถึงจุดนั้น

ประเด็นคำถามนี้ถือเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุด เพราะหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อัฟกานิสถานก็เคยเป็นแหล่งกบดานของพวกนักรบอัลอิดะห์ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 จนเป็นชนวนนำมาสู่สงครามอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อนานถึง 2 ทศวรรษ

รัฐบาลไบเดน พยายามยกข้ออ้างต่างๆ เพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้ เช่นว่า ปฏิบัติการขับไล่อัลกออิดะห์ออกจากอัฟกานิสถานเสร็จสิ้นไปนานหลายปีแล้ว อีกทั้ง “อุซามะห์ บินลาดิน” อดีตผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ ก็ถูกหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ ปลิดชีพในปากีสถานไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากหลังจากนี้มีข้อมูลยืนยันว่ากลุ่มก่อการร้ายฟื้นคืนชีพภายใต้การปกครองของตอลิบาน จะกลายเป็นสัญญาณร้ายทางการเมืองสำหรับไบเดน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการ State of the Union ทางช่อง CNN เมื่อวันอาทิตย์ (15) ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้พัฒนาแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถป้องปรามและจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งทหารซึ่งประจำการในอัฟกานิสถานเพียงอย่างเดียว

“เรามีศักยภาพมากกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 หลายเท่า และเราจะใช้ศักยภาพด้านการป้องกันแบบ over-the-horizon ควบคุมสถานการณ์ในภูมิภาคดังกล่าว และจัดการกับภัยคุกคามก่อการร้ายที่อาจปรากฏขึ้นใหม่” บลิงเคน กล่าว

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่า พวกเขาได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าระบบโลจิสติกส์แบบ over-the-horizon ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเฝ้าสังเกตการณ์และโจมตีสถานที่ต่างๆ ในอัฟกานิสถานด้วยเครื่องบินขับไล่หรือโดรนที่ประจำการอยู่ในประเทศอื่น และได้ทำภารกิจลักษณะนี้มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทว่า การตรวจสอบจากระยะไกลและยับยั้งไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายกลับมารวมตัวกันได้นั้นก็ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

สหรัฐฯ ไม่มีฐานทัพตั้งอยู่ใน 6 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน โดยฐานทัพอเมริกันที่ใกล้ที่สุดอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งต้องใช้เวลาในการบินหลายชั่วโมง และทำให้ศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของอากาศยานลดลงตามไปด้วย

ที่มา : The Guardian




กำลังโหลดความคิดเห็น