เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - การศึกษาใหม่จากสถาบันเมโย คลินิกชื่อดังของสหรัฐฯ ล่าสุดค้นพบว่าวัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่ทั้งคู่ยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการป่วยหนัก ขณะที่ไทยผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบสเปรย์พ่นจมูกเริ่มการทดสอบกับมนุษย์เป็นครั้งแรก
ไทม์สออฟอิสราเอลรายงานเมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) ว่า วัคซีนโมเดอร์นาได้รับการพิจารณาว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามากในการป้องกันไวรัสเดลตาที่ร้ายกาจเมื่อเทียบกับคู่แข่งวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค อ้างอิงจากการศึกษาใหม่ที่เก็บหลักฐานจากหลายรัฐในสหรัฐฯ ของสถาบันเมโยคลินิก (Mayo Clinic)
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกนำขึ้น medRxiv ก่อนหน้าเพียร์รีวิว หรือการตรวจสอบในสัปดาห์นี้พบว่าขณะที่วัคซีน mRNA ทั้ง 2 ค่ายมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเมื่อมกราคมต้นปีอยู่ที่ราว 90% ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสเดลตา แต่พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโมเดอร์นาและวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคลดลงภายในเดือนกรกฎาคม
สื่ออิสราเอลชี้ว่า อย่างไรก็ตามยังมีวัคซีนตัวหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอีกตัวเพราะขณะที่ประสิทธิภาพของโมเดอร์นาลดลงเหลืออยู่ที่ 76% กลับพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคตกลงไปที่ 42% การวิจัยใช้อาสาสมัครจำนวนมากกว่า 50,000 คน
งานวิจัยของสถาบันเมโยคลินิกนั้นทำในหลายรัฐในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์นั้นจะมีโอกาสมากเป็น 2 เท่าในการติดเชื้อถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้วเมื่อเทียบกับของผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา
“ในรัฐฟลอริดาที่กำลังประสบกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสเดลตา ความเสี่ยงของการติดเชื้อในเดือนกรกฎาคมหลังจากได้รับวัคซีน mRNA-1273 (วัคซีนโมเดอร์นา) ครบโดสแล้วมีราว 60% ต่ำกว่าของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนBNT162b2 (วัคซีนไฟเซอร์)” นักวิจัยผู้ทำการศึกษาชี้
อย่างไรก็ตาม พบว่าวัคซีนทั้งสองยังมีประสิทธิภาพสูง (มากกว่า 90%) ในการป้องกันการป่วยหนัก
นักวิจัยสถาบันเมโยคลินิกสรุปว่า “การศึกษาการสังเกตชิ้นนี้ของพวกเราได้แสดงให้เห็นว่าขณะที่วัคซีน mRNA ทั้งสองมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อและโรคร้ายแรง การประเมินเพิ่มขึ้นของระบบของความแตกต่างที่ซ่อนไว้ระหว่างประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองเป็นต้นว่า การจัดแบ่งขนาดยา (dosing regimen) และส่วนประกอบวัคซีน นั้นเป็นปัจจัยสำคัญ
อิสราเอลขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคเป็นส่วนใหญ่ในการปกป้องประชาชนของตัวเอง แต่เทลอาวีฟใช้งบประมาณสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวนหลายล้านโดสเช่นกัน
รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (11) ว่าในขณะเดียวกันผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาลไทย รัชดา ธนาดิเรก กล่าวผ่านแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (11) ว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Center for Genetic Engineering and Biotechnology) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบสเปรย์พ่นจมูกนั้นเตรียมที่จะเริ่มต้นการศึกษาวิจัยในคนได้ภายในสิ้นปีหลังจากที่ผลการวิจัยเบื้องต้นกับหนูก่อนหน้าชี้ไปให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพ
โดยในแถลงการณ์ระบุว่า สเปรย์พ่นจมูกต้านโควิด-19 นี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาจากองค์การอาหารและยาเพื่อขออนุญาตต่อไป
โฆษกรัฐบาลชี้ว่า การศึกษาจะรวมไปถึงการใช้เพื่อดูประสิทธิภาพในการปกป้องจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา โดยเฟสที่ 2 จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2022 และเป้าหมายของการผลิตสำหรับการใช้เป็นวงกว้างภายในช่วงกลางปีหน้าได้หากผลการวิจัยสัมฤทธิ
รอยเตอร์รายงานว่า ในเวลานี้นักวิจัยทั่วโลกต่างเริ่มพัฒนาสเปรย์พ่นจมูกเพื่อป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 โดยชี้ไปว่าจมูกถือเป็นช่องทางสำคัญของไวรัส
นอกเหนือจากนี้วัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และวัคซีนเชื้อตายของมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังจะเริ่มเฟส 2 ของการศึกษาในคนภายในเดือนสิงหาคมนี้
ที่ผ่านมาไทยนั้นพึ่งพาวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีโรงงานผลิตในประเทศและวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐฯ ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้า
รัฐมนตรีสาธารณสุขไทยแถลงในวันพุธ (11) ว่า วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคจำนวน 32.5 ล้านโดสจะส่งมอบมาไทยภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลทำให้มีจำนวนการสั่งซื้อทั้งสิ้น 30 ล้านโดส และรวมกับจำนวนที่ได้รับการบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ไทยแจกจ่ายวัคซีนไปแล้ว 6.8% ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน