xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏานแห่ง ‘กษัตริย์จิกมี’ ฉีดวัคซีนโควิดเป็นเลิศ คนวัยผู้ใหญ่ได้โดส 2 สูงถึง 90% ใน 7 วัน บริหารไม่มั่ว ไม่มีล่องหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กษัตริย์จิกมี วังชุก แห่งภูฏาน และ นพ.โลเท เชอร์ริง นายกรัฐมนตรี สองคีย์แมนขับเคลื่อนความสำเร็จในการรณรงค์ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประชากรวัยผู้ใหญ่ ครบ 2 โดส ได้มากกว่า 90% ภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเข้าไปผลักดันทั้งในการประสานขอวัคซีนจากนานาประเทศ และทั้งกระตุ้นความตื่นตัวในหมู่พสกนิกรเพื่อจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องการรับวัคซีนและขจัดความกลัววัคซีนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กษัตริย์จิกมีได้เสด็จพระราชดำเนินไปเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อการรับวัคซีนในพื้นที่ห่างไกลด้วยพระองค์เอง
ราชอาณาจักรภูฏานแห่งเทือกเขาหิมาลัยฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบ เรียบร้อยแล้วประมาณ 477,000 ราย หรือราว 90% ของประชากรกลุ่มนี้ โดยการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 จำนวนดังกล่าวจัดทำกันสำเร็จภายในห้วงเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขแห่งภูฏานแจ้งออกมาเมื่อวานนี้ (27 ก.ค.)

ด้านองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) กล่าวชื่นชมว่าเป็นการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่ชาติต่างๆ ได้ดำเนินการมาในช่วงแห่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

ทั้งนี้ ยูนิเซฟอธิบายคำจำกัดความที่ภูฏานระบุถึงประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบว่า คนในภูฏานทุกคนที่ไม่มีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 ถือว่ามีคุณสมบัติครบ (ยูนิเซฟ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ)

ประชาชนจากหมู่บ้านสักเตง ในมลฑลตาชิกังของภูฏาน ซึ่งอยู่ห่างไกลไปถึงเขตชายแดนตะวันออกของประเทศ ไม่หวั่นกลัววัคซีนโควิด-19 พร้อมเพรียงมารับวัคซีน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดินทางไปให้บริการที่ศูนย์สุขภาพภายในหมู่บ้าน
ประเทศอธิปไตยไซส์เล็กแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ในโอบล้อมของสองประเทศอภิยักษ์ซึ่งบอบช้ำหนักกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 คือ อินเดียกับจีน มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก คือต่ำกว่า 800,000 รายเท่านั้น

ในการนี้ ภูฏานเปิดเผยว่าได้เริ่มรณรงค์แจกวัคซีนโดสที่ 2 กันอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม โดยใน 7 วันต่อมา คือวันที่ 27 กรกฎาคม ก็สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 ได้มากมายถึง 90%

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภูฏานเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อรัฐบาลประกาศว่า ได้ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดสที่ 1 ให้แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ได้เกือบทั้งหมดภายในไม่ถึง 2 สัปดาห์ โดยเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับบริจาคจากอินเดีย จำนวน 550,000 โดส ทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัคซีนรายใหญ่ของโลก วัคซีนต้านโควิด-19 ที่อินเดียส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีราคาไม่สูง ที่ส่งให้ประเทศกำลังพัฒนา

กลยุทธ์ความสำเร็จในการรณรงค์ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19  ที่ใช้โดยพระราชาธิบดีจิกมีและรัฐบาลภูฏานมีหลายองค์ประกอบ ส่วนที่สำคัญยิ่งด้านหนึ่ง คือการส่งเสริมความพร้อมและความเชื่อมั่นภายในดวงใจประชาชน  เว็บไซต์ข่าวเอบีซีแห่งออสเตรเลียเล่าว่า แม้จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรก 150,000 โดสจากอินเดีย มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 แต่ก็นอบน้อมถ่อมตนไปขอฤกษ์ยามเหมาะสมจากฝ่ายศาสนจักร ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของประชาชนทั้งประเทศ ฤกษ์ยามที่ได้มาคือวันที่ 27 มีนาคม 2021 เวลา 09.30 น. ก็ยอมรอตามนั้น ทั้งนี้ในวันแรกของการระดมฉีดวัคซีน ก็ให้ประเดิมฉีดวัคซีนแก่หญิงสาวปีวอกตามที่ฝ่ายศาสนจักรกำหนดมา ยิ่งกว่านั้น ในพิธีเปิดมหกรรมวัคซีนต้านโควิด ยังมีกิจกรรมสวดมนต์พระพุทธคุณเพื่อเสริมสิริมงคลอย่างน่าอบอุ่นใจ ในภาพเหตุการณ์คือนางสาวนินดา ดีมา สาวปีวอกผู้ประเดิมเปิดมหกรรม ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนในกรุงทิมพู

ในภาพนี้ที่เผยแพร่โดยยูนิเซฟ เป็นพิธีรับมอบวัคซีนโมเดอร์นา 500,000 โดส จากสหรัฐอเมริกา โดยมีคณะพระสงฆ์สวดมนต์เสริมสิริมงคล ณ สนามบินนานาชาติพาโร เมื่อ 12 กรกฎาคม 2021

กษัตริย์จิกมีเสด็จประทับเป็นกำลังใจแก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนในมณฑลมองการ์ซึ่งห่างไกลอย่างยิ่งจากกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ในวันที่ 27 มีนาคม 2021 ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์การสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน
ในระหว่างที่ภูฏานรอรับวัคซีนเพิ่มเติมมาฉีดเป็นโดสที่ 2 อินเดียซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ตัวหลักได้ประสบวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงอย่างยิ่งยวด และได้ระงับการส่งออกวัคซีนชั่วคราว เพื่อให้มีเพียงพอแก่การใช้ภายในประเทศ ดังนั้น ภูฏานจึงประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนต้านทานโควิด-19

สองเดือนกว่านับจากการแจกวัคซีนโดสที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วนั้น สหรัฐอเมริกาได้จัดส่งวัคซีนบริจาค จำนวน 500,000 โดสมายังภูฏาน ทั้งนี้ เป็นวัคซีนโมเดอร์นาภายใต้โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ที่ช่วยจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงฐานะความยากจนหรือมั่งมี และเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ดังนั้น ภูฏานจึงสามารถเดินหน้ารณรงค์แจกวัคซีนโดสที่ 2 ได้ในสัปดาห์ที่แล้ว คือนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคมเป็นต้นมา

นอกจากล็อตครึ่งล้านโดสจากสหรัฐฯ แล้ว ภูฏานยังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 5,000 โดส ผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งมีผู้นำร่วมที่สำคัญคือ องค์การกาวี-กลุ่มพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI, the Vaccine Alliance) กับองค์การอนามันโลก และกลุ่มความร่วมมือเพื่อนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations)

เท่านั้นยังไม่พอ ภูฏานยังได้รับแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่า 400,000 โดส จากเดนมาร์ก โครเอเชีย และบัลแกเรีย เมื่อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เรามุ่งที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประชากรของเราในเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์สาธารณสุขรุนแรงได้สำเร็จ” เอพีรายงานว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขของภูฏานกล่าวอย่างนั้น

สาวน้อยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของภูฏานรับหน้าที่นำภาชนะขนย้ายวัคซีนต้านโควิด-19 ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปฉีดเป็นโดส 2 แก่ประชาชนในหมู่บ้านเลดี
เอพีระบุด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า การที่ภูฏานมีขนาดประชากรไม่ใหญ่โต นับเป็นปัจจัยช่วยที่สำคัญ เพราะล็อตการบริจาคเพียงจำนวนไม่มาก สามารถกอบกู้ภูฏานทั้งประเทศได้

แต่ปัจจัยที่สำคัญมากกว่า คือ ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อการดำเนินการที่ผู้บริหารระดับชาติได้ริเริ่มและส่งเสริมลงไป และการมีระบบห่วงโซ่รักษาความเย็นที่ช่วยรักษาคุณภาพของวัคซีนได้ตลอดเส้นทางจนถึงประชาชนผู้รับวัคซีน

ศักยภาพการฉีดวัคซีนของภูฏานทำได้ 68,000 รายต่อวัน

สัดส่วนบุคลากรด้านสาธารณสุขของภูฏานต่อประชากรกลุ่มเป้าหมายนับว่าดีมาก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของภูฏานมีจำนวนมากกว่า 3,000 ราย และศูนย์ฉีดวัคซีนถูกจัดตั้งขึ้นมา 1,200 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 477,000 ราย ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 ราย ทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพียง 23 รายต่อวัน หรือประมาณ 3 รายต่อชั่วโมงในเวลาทำการเพียง 8 ชั่วโมง ภารกิจก็บรรลุผลสำเร็จได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงเจ้าหน้าที่ต้องจัดสรรเวลามหาศาลไปกับภารกิจเกี่ยวเนื่องหลายอย่าง เช่น เวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางฝ่าความทุรกันดารอย่างดินถล่มบ้าง สายฝนกระหน่ำบ้าง เพื่อเข้าให้ถึงบรรดาหมู่บ้านห่างไกลความเจริญบนยอดเขาสูงชันทั้งปวง และทำการฉีดวัคซีนแก่ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถเดินทางไปศูนย์ฉีดวัคซีนได้ คุณหมอโซนัม วังชุก ให้ข้อมูลอย่างนั้น ทั้งนี้ คุณหมอเป็นหนึ่งในหน่วยเฉพาะกิจผู้แจกวัคซีนแก่ชาวภูฏาน

“การแจกวัคซีนเป็นกิจกรรมหลักของภารกิจการดูแลสุขภาพให้แก่ชาวภูฏาน” ด็อกเตอร์วังชุก กล่าว

กษัตริย์จิกมีออกรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวฉีดวัคซีน และภูฏานมีแพทย์ผันตัวมาเป็นผู้นำรัฐบาลหลายราย สองปัจจัยหนุนสำคัญ

รัฐบาลภูฏานมีผู้นำหลายรายที่มาจากแวดวงผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นแพทย์ที่เข้าสู่แวดวงการเมือง ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขได้รับปริญญาโทด้านสาธารณสุข สาขาระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลับเยล สหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมา รัฐบาลภูฏานหมั่นจัดทำข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน รวมถึงการสื่อสารตรงกับสาธารณชนบนเฟซบุ๊กเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส และการฉีดวัคซีน ส่งผลในทางแก้ปัญหาความลังเลใจในหมู่ประชาชนว่าจะรับวัคซีนหรือไม่

ทั้งนายกฯ โลเท เชอร์ริง และทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ต่างเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องวัคซีนมาตั้งแต่ต้น และช่วยบรรเทาความกลัวในหมู่ประชาชนจนกระทั่งการรณรงค์ฉีดวัคซีนในรอบแรกประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กษัตริย์จิกมีได้เสด็จพระราชดำเนินไปกระตุ้นความตื่นตัวต่อเรื่องการรับวัคซีนในหมู่พสกนิกรทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน น.พ.โลเท เชอร์ริง เป็นบุคคลที่สองของประเทศที่รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน  สำหรับบุคคลแรกก็คือกษัตริย์จิกมี วังซุกนั่นเอง

กษัตริย์จิกมี วังซุก พร้อมคณะซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี น.พ.โลเท เชอร์ริง จัดเดินป่า 5 วันไปตามหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารแนวชายแดนตะวันออกและทางใต้ของประเทศ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2021 เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวต่อเรื่องการรับวัคซีนในหมู่ประชาชนซึ่งห่างไกลความเจริญ

ในวโรกาสที่กษัตริย์จิกมี วังซุก พร้อมคณะจัดเดินป่า 5 วันไปตามหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารแนวชายแดนตะวันออกและทางใต้ของประเทศ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2021 ได้ทรงเยี่ยมเยือนการปฏิบัติงานของทีมอาสาสมัครในเมืองซัมชิ ตลอดจนทรงตรวจงานศูนย์กักตัวต่างๆ ที่จัดตั้งตามพระราชดำริ เพื่อสังเกตการณ์อาการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และที่เดินทางจากพื้นที่ความเสี่ยงสูงกลับสู่พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ
ภูฏานเป็นราชอาณาจักรที่ยังนับถือศาสนาพุทธภายในอาณาบริเวณแห่งเทือกเขาหิมาลัย แต่ภูฏานได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่เมื่อปี 2005

ที่สำคัญ ภูฏานมีเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนช่วยกระจายความรู้ที่ถูกต้องและขจัดความกลัววัคซีน

ปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ส่งเสริมการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชน คือ เครือข่ายอาสาสมัครในหมู่ประชาชนที่ขยายกว้างขวางทั่วประเทศ วิล ปาร์กส์ ผู้แทนยูนิเซฟประจำภูฏานบอกอย่างนั้น โดยให้ข้อมูลว่าภูฏานมีอาสาสมัครในหมู่ประชาชนมากกว่า 22,000 ราย ซึ่งทำงานจริงจังในด้านข้อมูลข่าวสารด้านโควิด-19 มาตลอดหนึ่งปีครึ่ง ทั้งช่วยกระตุ้นความตื่นตัวที่จะรู้จักและเข้าใจภัยของไวรัสโควิด-19 ช่วยขจัดปัดเป่าข้อมูลผิดๆ ทั้งปวง ช่วยดำเนินการคัดกรองและตรวจอาการ ไปจนถึงการช่วยนำวัคซีนไปยังทุกพื้นถิ่นทุรกันดาร

พระราชาธิบดีจิกมีทรงให้ความสำคัญแก่การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในหมู่ประชาชน และมักที่จะมีการเสด็จไปเยี่ยมเยือนการปฏิบัติงาน ในภาพนี้จากเฟสบุ๊กส่วนพระองค์ โดยได้เสด็จไปเป็นกำลังใจในกิจกรรมฝึกอบรมอาสาสมัครที่เมืองจิกมีหลิง เมื่อ 9 มีนาคม 2021  อาสาสมัครหลายหมื่นรายจะได้รับการฝึกอบรมในระดับสูงเพื่อยกระดับทักษะความชำนาญอันหลากหลายตามฉันทะของแต่ะละคน  โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ได้เข้าร่วมในหลายๆ โครงการซึ่งมีความสำคัญระดับชาติ
ความสำเร็จของภูฏานจึงเป็นมหัศจรรย์ในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ซึ่งชาติใหญ่ๆ อย่างอินเดีย หรือกระทั่งบังกลาเทศไม่สามารถทำได้และต้องต่อสู้หนักหนากับการรณรงค์ฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชน

ภูฏานได้แสดงให้เห็นว่าการบริจาควัคซีนที่ประเทศซึ่งมีฐานะดีกว่าช่วยอุทิศให้นั้น เป็นสิ่งสำคัญใหญ่หลวงที่ช่วยประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างมหาศาล พร้อมกับพิสูจน์ด้วยผลงานเชิงประจักษ์ว่าการทุ่มเทของรัฐบาลและความตื่นตัวในชุมชนสามารถสร้างผลกระทบดีๆ ไปสู่ประชากรที่ห่างไกลความเจริญได้จริงๆ

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดของภูฏาน ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2021 อยู่ที่ 2,500 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสวายร้ายนี้มีเพียง 2 ราย เวิลด์โดมิเตอร์ดอทอินโฟ (Worldometers.info) รายงานตัวเลขไว้อย่างนั้น

ภูฏานเป็นประเทศซึ่งตั้งอยู่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออกส่วนปลาย โดยถูกขนาบบน-ล่างด้วย 2 ชาติมหาอำนาจ คือ ประเทศจีน (พรมแดนทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดของภูฏานติดอยู่กับทิเบตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน) และประเทศอินเดีย ดังปรากฏในแผนที่ซึ่งจัดทำและเผยแพร่บนวิกิพีเดียภายใต้ จีเอ็นยู ฟรี ดอกคิวเมนเทชั่น ไลเซนซ์
อนึ่ง ภูฏานมีชื่อเสียงในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างดัชนีมวลรวมประชาชาติด้านความสุข หรือ Gross National Happiness (GNH) ในการนี้ ราชอาณาจักรภูฏานมีประชากรมากกว่า 754,000 ราย และมีพื้นที่เพียงประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของประเทศไทย 513,120 ตารางกิโลเมตร

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญของภูฏาน แต่ยังไม่ใช่แหล่งรายได้หลัก ในปี 2014 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้เยือนภูฏานอยู่ที่ 133,480 ราย โดยเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินในอัตราวันละ 180-290 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวได้สร้างงานแก่ชาวภูฏาน จำนวน 21,000 ตำแหน่ง รายได้จากภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วน 1.8% ของจีดีพีทั้งหมด

ภูฏานตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย และมีความงามตามธรรมชาติอย่างมากมาย พร้อมทั้งเสน่ห์แห่งศิลปะวัฒนธรรม ภูฏานจึงกลายเป็นประเทศที่มีความเฟื่องฟูด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมกับมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานน้ำจากแหล่งน้ำแห่งหิมาลัย ซึ่งกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
สถิติปี 2003 ระบุว่า ภาคการเกษตรมีส่วนสร้างจีดีพีของราชอาณาจักรแห่งนี้มากถึง 33% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนอยู่ที่ 22%

การส่งออกไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภาคการส่งออกของภูฏาน โดยมีอินเดียเป็นลูกค้ารายใหญ่

ภูฏานไม่ใช่ประเทศยากจนตามการประเมินของธนาคารโลก ซึ่งประเมินว่า ภูฏานเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางต่ำ โดยมีจีดีพีต่อรายประชากรอยู่ที่อันดับ 135 ขณะที่ลาวอยู่ที่อันดับ 152 ส่วนประเทศซึ่งอยู่ก้นตารางคืออันดับที่ 225 ได้แก่ สาธารณรัฐบุรุนดี ทั้งนี้ ภูฏานเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วที่สุด

น้องๆ ในทุกชั้นเรียนของภูฏานต่างเข้าร่วมการรณรงค์สวมใส่หน้ากากป้องกันไวรัสโควิด-19  ความตื่นตัวที่จะป้องกันตนให้ปลอดพ้นจากเชื้อโรคปัจจัยสนับสนุนให้สถานการณ์ในภูฏานไม่ย่ำแย่นัก  ในภาพนี้เป็นน้องนักเรียนชั้นประถม 6 ในเมืองพาโร
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ ยูนิเซฟ เว็บไซต์ข่าวเอบีซีออสเตรเลีย เฟซบุ๊กส่วนพระองค์กษัตริย์จิกมี วังชุก วิกิพีเดีย เว็บไซต์เวิลด์โดมิเตอรืดอทอินโฟ เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน)



กำลังโหลดความคิดเห็น