เอเจนซีส์/เอพี - กลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วเมื่อมีทีมนักกีฬาหญิงออกมาจุดกระแสต่อต้านชุดกีฬาวาบหวิวในมหกรรมการแข่งกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 ทีมยิมนาสติกหญิงเยอรมนีลงทุนสวมกางเกงขายาวแนบเนื้อแข่งรอบคัดเลือกช่วงสุดสัปดาห์เพื่อส่งสารเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและเสรีภาพการสวมใส่ ขณะที่ในวันจันทร์ (26 ก.ค.) ผู้จัดการถ่ายทอดการแข่งโอลิมปิกยืนยันจะไม่ให้กล้องทีวีซูมรูปร่างนักกีฬาหญิงระหว่างแข่ง
ทูเดย์ สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) ว่า กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ถูกจัดขึ้นในญี่ปุ่น และเปิดฉากมาตั้งแต่วันศุกร์ (23) ท่ามกลางสภาพการแข่งขันภายในมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดของผู้จัด แต่กลายเป็นกระแสประเด็นร้อนในเวลานี้เมื่อนักกีฬาหญิงออกมารณรงค์ต่อต้านชุดกีฬาล่อแหลม
ทูเดย์ชี้ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ทีมยิมนาสติกหญิงเยอรมนีได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยทั้งทีมตัดสินใจสวมกางเกงขายาวแนบเนื้อลงแข่งในรอบตัดตัว โดยทีมที่ประกอบไปด้วย ซาราห์ โวส (Sarah Voss) พอลลีน เชฟเฟอร์-เบ็ตซ์ (Pauline Schaefer-Betz) เอลิซาเบธ ซีตซ์ (Elisabeth Seitz) และ คิม บุย (Kim Bui) ต่างสวมยูนิฟอร์มลงแข่งด้วยผ้าลีทาร์ด (Leotard) ที่ลักษณะเป็นผ้าชิ้นเดียวแต่รัดรูป แต่มีลักษณะเป็นเสื้อและกางเกงขายาวสีแดสลับขาวแทนที่เรียกว่า ยูนิทาร์ด (unitard) แทนตามปกติที่จะสวมชุดคล้ายกับชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวในการแข่ง
ทั้งนี้ พบว่าก่อนหน้าสมาชิกทั้งทีมเคยสวมเมื่อต้นสัปดาห์ระหว่างการฝึกและในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะสวมชุดยูนิทาร์ดที่เป็นกางเกงในรอบการแข่งจริง
โวส หนึ่งในสมาชิกวัย 21 ปี อธิบายถึงสาเหตุให้รอยเตอร์ว่า “หากคุณต้องเติบโตขึ้นมาในฐานะผู้หญิงมันเป็นการยากที่จะต้องพยายามทำตัวให้เคยชินกับสภาพร่างกายใหม่ของตัวเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พวกเราต้องการทำให้ทุกคนมีความสบายใจและพวกเราต้องการแสดงให้เห็นว่าทุกคนย่อมสามารถสวมใส่ชุดที่ตัวเองต้องการและมันจะดูดีมาก จะมีความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมไม่ว่ามันจะอยู่ในชุดรัดรูปแบบยาวหรือแบบสั้นก็ตาม”
ทูเดย์ชี้ว่า ชุดลีทาร์ดของทีมหญิงคล้ายกับชุดยูนิฟอร์มของนักกีฬายิมนาสติกชายทีมเยอรมนีแต่สำหรับของทีมหญิงความยาวของกางเกงจะจดกับข้อเท้า และแขนเสื้อจะราวข้อศอกของนักกีฬา
ทั้งนี้ จูลี อีริคเซน (Julie Erichsen) นักกีฬายิมนาสติกจากนอร์เวย์ได้ออกมาแสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของทีมเยอรมนี “ดิฉันคิดว่ามันยอดเยี่ยมมากที่คนเหล่านี้มีกึ๋นมากในการยืนอยู่บนเวทีการแข่งขนาดใหญ่และแสดงให้เด็กสาวจากทั่วโลกรับรู้ว่าพวกคุณสามารถสวมอะไรก็ได้ที่ต้องการ”
อย่างไรก็ตาม พบว่าทีมยิมนาสติกหญิงเยอรมนีเคยสวมชุดยูนิทาร์ดก่อนหน้าแล้ว ทูเดย์รายงานว่า พบว่าทีมได้สวมลงแข่งใน European Artistic Gymnastics Championships ที่เมืองบาเซล สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเมษายนที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้นสมาพันธ์ยิมนาสติกเยอรมนีได้ทวีตว่า ชุดยูนิทาร์ดเป็นเหมือนการส่งสารต่อต้านการถูกมองในลักษณะวัตถุทางเพศในวงการยิมนาสติก”
โวสกล่าวถึงประเด็นนี้ในการให้สัมภาษณ์เดือนเมษายนว่า บางทีการสวมชุดแข่งปกตินั้นไม่สามารถปกป้องนักกีฬาได้ในยามกระโดดหรือทำท่าแยกขาและทำและส่งผลทำให้พวกเราคิดค้นชุดนักกีฬายูนิทาร์ดนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักกีฬาผู้สวมรู้สึกปลอดภัยระหว่างการแข่งและฝึกซ้อม
ทั้งนี้ ก่อนหน้าในสนามยูโร 2021 ทัวร์นาเมนต์ในการแข่งกีฬาวอลเลย์บอลชายหาดเมื่อต้นเดือนนี้ พบว่า ทีมหญิงจากนอร์เวย์ถูกสั่งปรับเพราะสวมกางเกงขาสั้นทำจากผ้าไนลอนที่ท่อนล่างแทนที่จะสวมชุดบิกินีในการแข่งตามปกติ
เอพีรายงานว่า ขณะที่ในวันจันทร์ (26 ก.ค.) ผู้จัดการถ่ายทอดการแข่งโอลิมปิกญี่ปุ่นยืนยันจะพยายามลดการถ่ายทอดภาพแง่ทางเพศของนักกีฬาระหว่างแข่ง
ซีอีโอบริษัทถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ยานิส เอ็กซาร์โคส (Yiannis Exarchos) แถลงในวันจันทร์ (26) ว่า “พวกคุณจะไม่ได้เห็นในการถ่ายทอดของพวกเราที่เคยได้เห็นเมื่อในอดีตที่มีทั้งรายละเอียดและการซูมของกล้องบางส่วนของร่างกาย”
ซึ่งสำหรับการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกในปีนี้จะมีการสร้างมาตรฐานให้ด้วยการพยายามที่จะไม่แสดงให้เห็นภาพวาบหวิวที่ส่อเป็นนัยในเรื่องทางเพศสำหรับนักกีฬาหญิง
ดึงดูดด้วยเกมกีฬาไม่ใช่ทางเซ็กซีเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่โอลิมปิกพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศทั้งในสนามแข่งและบนจอโทรทัศน์
นาโอโกะ อิมาโต (Naoko Imoto) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำญี่ปุ่น แข่งขันโอลิมปิกแอตแลนต้า และปัจจุบันทำงานให้องค์การยูนิเซฟของสหประชาชาติแสดงความเห็นว่า โตเกียวโอลิมปิก 2020 จะกลายเป็นโอกาสที่จะถูกใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นและต้อนรับความแตกต่าง
อิมาโต กล่าวอีกว่า เธอหวังว่าสื่อญี่ปุ่นและผู้มีอำนาจทางกีฬาจะทำการหารือในเรื่องมาตรฐานของภาพลักษณ์เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้หลังการแข่ง