ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขออกมาเตือนวันนี้ (20 ก.ค.) ว่าระบบ ‘บับเบิล’ ที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว “แตกแล้ว” และมีความเสี่ยงที่เชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายออกสู่ชุมชน
เจ้าหน้าที่โอลิมปิกยืนยันเมื่อวันเสาร์ (17) ว่า พบนักกีฬาโอลิมปิกติดโควิด-19 เป็นรายแรกที่หมู่บ้านนักกีฬาซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าพักมากถึง 11,000 คน โดยตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. เป็นต้นมาคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ยืนยันเคสผู้ติดเชื้อที่เป็นนักกีฬา, เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน รวมแล้วทั้งสิ้น 58 ราย
“เห็นได้ชัดว่าระบบบับเบิลน่าจะเอาไม่อยู่แล้ว” เคนจิ ชิบูยะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพประชากร (Institute for Population Health) แห่งมหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุ
“สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดก็แน่นอนว่า น่าจะมีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้ออยู่ภายในหมู่บ้านหรือที่พักบางแห่ง และผู้ติดเชื้อเหล่านั้นอาจออกมามีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น”
ชิบูยะ เตือนว่า การตรวจเชื้อที่ไม่เพียงพอบริเวณด่านพรมแดน รวมไปถึงมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากรที่ “ไม่สามารถทำได้” ย่อมหมายความว่าเกมการแข่งขันครั้งนี้อาจกระตุ้นให้โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดเร็วขึ้นในญี่ปุ่น
โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มาตรการตรวจหาเชื้อและกักกันโรคที่เข้มข้นจะทำให้ความเสี่ยงที่ผู้เข้าแข่งขันจะนำเชื้อโควิด-19 ออกไปแพร่สู่ประชากรญี่ปุ่นกลายเป็น “ศูนย์”
อย่างไรก็ตาม ชิบูยะ มองว่าการออกมาพูดเช่นนี้มีแต่จะทำให้คนญี่ปุ่นสับสนและโกรธแค้นมากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมัน “ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”
เมื่อเดือน เม.ย. ชิบูยะ ได้ร่วมเขียนบทความลงในวารสาร British Medical Journal โดนเตือนให้ทุกฝ่าย “ทบทวน” การจัดโอลิมปิก เนื่องจากญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้
ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในกรุงโตเกียวยังคงพุ่งสูงถึง 1,410 คนเมื่อวันเสาร์ (17) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน ในขณะที่เกมการแข่งขันกำลังจะเริ่มขึ้นในอีก 3 วันข้างหน้านี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจำนวนมากยังเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงในด้านฤดูกาล, การเคลื่อนย้ายของประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่อาจจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในโตเกียวพุ่งทะลุวันละ 2,000 คนภายในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้บริการทางการแพทย์เข้าสู่ภาวะตึงตัว
เวลานี้มีชาวญี่ปุ่นเพียง 33% ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศร่ำรวย ตามข้อมูลของรอยเตอร์
ที่มา: รอยเตอร์