เตียงลังกระดาษซึ่งจัดไว้ให้นักกีฬาใช้พักผ่อนนอนหลับที่หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกโตเกียว มีความแข็งแกร่งบึกบึน ทวิตเตอร์ทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี (International Olympic Committee: IOC) ประกาศยืนยันมั่นเหมาะในวันนี้ (จันทร์ 19 กรกฎาคม 2021) หลังมีรายงานข่าวว่าเตียงของโอลิมปิกโตเกียวไม่ทรหดทนทานเพียงพอที่จะรองรับกิจกรรมวิดพื้นคู่ไม่ว่าจะท่าง่ายหรือท่ายาก
รีส แมคเคลนนาเกน นักยิมนาสติกหนุ่มหน้าหยกจากไอร์แลนด์ ทำการสาธิตบนคลิปวิดีโอนำแสดงผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว เพื่อให้เห็นกันกระจ่างตา โดยเดินขึ้นไปบนเตียงแล้วกระโดดกระเด้งดุเดือดครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อหักล้างความเชื่อผิดๆ ว่าเตียงโอลิมปิกโตเกียวนั้นเปราะบาง ซึ่งก็ปรากฏว่าเตียงลังกระดาษยังตั้งมั่นแข็งแรงไม่ยุบไม่แบะดั่งที่ฝ่ายต่างๆ ออกมาเตือนกัน อาทิ รายงานข่าวของนิวยอร์กโพสต์ สื่อแทบลอยด์อเมริกัน ซึ่งระบุว่าเตียงที่จัดให้นักกีฬาใช้พักผ่อนนอนหลับ ถูกผลิตมาแบบจงใจให้บอบบางเพื่อส่งเสริมการมีระยะห่างทางสังคมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
หนุ่มนักยิมนาสติกสากล หรือ Artistic Gymnastics กล่าวในคลิปบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า พวกเขาบอกกันว่าเตียงนี่ตั้งใจสร้างไว้สกัดการมีเซ็กส์ ก็จึงทำเตียงด้วยกระดาษแข็ง ให้เห็นว่าเตียงจะหักหากมีความเคลื่อนไหวแรงๆ “มันเป็นข่าวปลอมครับ – เฟกนิวส์แท้ๆ ครับ”
ทวิตเตอร์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล @Olympics นำทวิตเตอร์ของแมคเคลนนาเกน ขึ้นไปเผยแพร่ พร้อมเขียนขอบคุณที่ช่วย “หักล้างความเชื่องมงาย” และยืนยันว่า “เตียงที่ทำจากวัสดุทางเลือกเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ มีความแข็งแกร่งบึกบึน!”
เอเอฟพีบอกว่ารายงานข่าวของนิวยอร์กโพสต์ตั้งต้นจากทวีตที่เขียนขำๆ โดยนักวิ่งมาราธอนจากกองทัพอเมริกัน พอล เชลิโม
เชลิโม เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกมาราธอนระยะ 5,000 เมตร เมื่อคราวโอลิมปิกริโอเกมส์ 2016 ทวีตว่าเตียงที่จัดไว้ให้นักกีฬาใช้นอนหลับพักผ่อนในหมู่บ้านนักกีฬาโตเกียวนั้น ทำด้วยกระดาษ
“เรื่องนี้ตั้งใจให้หลีกเลี่ยงความสัมพันธ์แนบชิดกันในระหว่างนักกีฬา” เชลิโม นักกีฬาอเมริกันซึ่งโอนสัญชาติจากเคนยา เขียนแบบกึ่งอำกึ่งขำ
“เตียงพวกนี้สามารถรับน้ำหนักได้คนเดียว เพื่อกั้นสถานการณ์ที่เกินกว่าการกีฬาน่ะเอง ผมว่าไม่มีปัญหาสำหรับนักวิ่งมาราธอน พวกผม 4 คนก็นอนได้” ทวีตขำๆ ของหนุ่มเชลิโม หมายถึงการที่นักวิ่งมาราธอนมีความโดดเด่นเรื่องน้ำหนักที่น้อยนิดหาไขมันไม่เจอะไม่เจอกันเลย อาทิ ตัวเชลิโมเองก็หนักเพียง 57 กิโลกรัม ทั้งที่สูงถึง 180 เซนติเมตร
ทวีตของเชลิโมนักวิ่งมาราธอนขวัญใจชาวอเมริกัน ถูกแชร์ต่อๆ กันออกไปกว้างไกล จนกลายเป็นไวรัลในเวลาอันสั้น และจุดประกายข่าวครึกครื้นอุ่นเครื่องโอลิมปิกซึ่งเม้ามอยกันมานานแล้วว่านักกีฬามักจะเป็นกลุ่มชนผู้คลั่งไคล้ในกีฬาจ้ำจี้มะเขือเผาะบนเตียง
เตียงโอเคหากเป็นระดับกิจกรรมคู่ดูโอ้ แต่ไม่แนะนำสำหรับประเภทไตรภาคีขึ้นไป
นี่มิใช่ครั้งแรกที่มีการถกกันถึงความแข็งแรงของเตียงโตเกียวโอลิมปิก อันเป็นนวัตกรรมเพื่อแสดงถึงความใส่ใจที่จะใช้วัสดุเพื่อรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ในเดือนมกราคมต้นปีนี้ บริษัทแอร์วีฟ ผู้ผลิตเตียงลังกระดาษแข็งบอกว่าเตียงสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม โดยได้ผ่านการทดสอบแรงกระแทกหนักหน่วงมาหลายครั้งแล้ว เนื่องจากเคยมีการไต่ถามโดยนักบาสเก็ตบอลออสเตรเลีย คือ แอนดริว โบกัต
“เราเคยจัดทดสอบให้เห็นกันชัดๆ หลายครั้งแล้ว เช่น ทิ้งก้อนน้ำหนักลงบนเตียง” โฆษกบริษัทแอร์วีฟกล่าวแก่เอเอฟพี
“ตราบเท่าที่จำนวนคนบนเตียงมีไม่เกิน 2 คน เตียงจะยังแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักไหว” คุณโฆษกให้รายละเอียดแบบไม่อ้อมค้อม เพราะโลกใบนี้มีความหลากหลายทางเพศสัมพันธ์มากมายดั่งที่ใครๆ ก็ทราบดี
นักกีฬาหลายพันชีวิตจะพักอาศัยในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกตลอดช่วงมหกรรมกีฬา 2020 โตเกียวเกมส์ ซึ่งจะมีขึ้นตั้งแต่ศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม จรดถึงอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม โดยมีการเลื่อนมาจัดกันในปี 2021 เนื่องจากมีปัญหาโรคระบาดโควิด 19 ในปีที่แล้ว
แม้จะรณรงค์กันมากมายว่าให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสทางกายในรูปแบบที่ไม่จำเป็นทั้งปวง แต่คณะผู้จัดได้เตรียมแจกถุงยางอนามัยจำนวน 160,000 อัน ซึ่งไม่ใช่เพราะเกรงว่าจะมีนักกีฬาตีความว่าการสัมผัสทางกายในกิจกรรมจ้ำจี้จ้ำไชเป็นรูปแบบสัมผัสที่มีความจำเป็น หากแต่แจกไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นเครื่องเตือนใจถึงโรคระบาดอันรุนแรงนั่นเอง
“ถุงยางอนามัยที่แจกกันนั้น มิได้หมายจะให้ใช้ในหมู่บ้านโอลิมปิก” คณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันบอกเอเอฟพี
หากแต่มีจุดมุ่งหมายให้ “นักกีฬานำกลับสู่ประเทศบ้านเกิดของแต่ละท่าน และช่วยกันสนับสนุนงานรณรงค์กระตุ้นความใส่ใจต่อปัญหาโรคเอดส์” คณะกรรมการโอลิมปิกระบุอย่างนั้น
อนึ่ง ชมการสาธิตความแข็งแกร่งของเตียงกระดาษได้ที่ https://twitter.com/McClenaghanRhys/status/1416567768938291203
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอเอฟพี นิวยอร์กโพสต์ เอพี ทวิตเตอร์ วิกีพีเดีย)