xs
xsm
sm
md
lg

สมรส “มิสยาร์” ในซาอุฯ ช่วยบุรุษยากจน-สตรีมีปัญหาให้ได้แต่งงาน แต่ที่ผ่านมา กลายเป็นสมรส “ไฮบริด” ไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สตรีซาอุดีกลุ่มแม่ม่ายหย่าร้างเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์แห่งวิถีการแต่งงานแบบมิสยาร์ เพราะพวกเธอมักจะมีแหล่งรายได้ของตนเองมั่นคงแล้ว ไม่เดือดร้อนที่จะหวังพึ่งพิงความช่วยเหลือทางการเงินจากฝ่ายชาย ดังนั้นการแต่งงานแบบมิสยาร์ซึ่งฝ่ายชายจะไม่มีสิทธิ์และอำนาจในการควบคุมภรรยาเฉกเช่นการแต่งงานตามประเพณีนิยม จึงช่วยขจัดพันธะอันน่าอึดอัดใจให้แก่ฝ่ายหญิง ทำให้พวกเธอมีความเป็นส่วนตัวและมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม สมรสมิสยาร์มีแนวโน้มที่จะยุติด้วยการหย่าร้างภายในเวลาอันสั้น ในการนี้ กระทรวงยุติธรรมแห่งซาอุดีอาระเบียประกาศตัวเลขคดีหย่าร้างในปี 2015 สูงถึง 40,394 คดี รอยเตอร์รายงานอย่างนั้น  ในภาพนี้ คือ ราจา โฮอูลลา สาวโมร็อกโก วัย 29 กะรัต ซึ่งเป็นภรรยามิสยาร์ของหนุ่มซาอุดีในนครเจดดาห์ เธอร้องไห้โฮ เพราะตำรวจมาที่บ้านและแจ้งทราบว่าเธอถูกสามีหย่าแล้ว ยิ่งกว่านั้น ตำรวจจะต้องนำตัวเธอไปดำเนินการเพื่อส่งออกนอกประเทศต่อไป
การสมรสแบบมิสยาร์ (Misyar) ในซาอุดี อาระเบีย เป็นวิถีการแต่งงานที่เอื้อเฟื้อแก่สตรีที่อึดอัดกับจารีตประเพณีเก่าแก่ซึ่งให้สามีได้สิทธิ์และอำนาจในการกำกับดูแลควบคุมภรรยาและตัดสินใจแทน (Patriarchal) ในสารพัดเรื่อง ทั้งนี้ ชายที่แต่งงานแบบมิสยาร์จะยอมสละสิทธิ์ดังกล่าวทั้งหมดทั้งมวล พร้อมกันนั้น ผู้ชายคนนี้จะมาปฏิบัติหน้าที่บุรุษผู้คุ้มครอง (Male Guardian) ในส่วนของการเซ็นชื่อในใบฉันทานุมัติ อันเป็นเอกสารที่ฝ่ายหญิงทุกคนทุกช่วงวัย ต้องใช้ประกอบเอกสารต่างๆ เมื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการ เหนืออื่นใด ภรรยามิสยาร์ไม่ต้องไปเป็นสะใภ้รับใช้ใครต่อใครในบ้านสามี เพราะเธอจะดำรงชีวิตสบายๆ อยู่ในบ้านตนเอง แล้วสามีเป็นฝ่ายที่เดินทางมาหาเธอ

ในเวลาเดียวกัน วิถีแห่งสมรสมิสยาร์เอื้อเฟื้ออย่างยิ่งยวดแก่บุรุษผู้ยากจน โดยเจ้าสาวยอมสละสิทธิ์ต่างๆ ที่พึงมีพึงได้จากการแต่งงานแบบประเพณีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับความสนับสนุนทางการเงินทั้งปวง ดังนั้น เจ้าบ่าวจึงไม่ต้องมอบสินสอด ไม่ต้องจัดเลี้ยง ไม่ต้องพาไปท่องเที่ยวฮันนีมูน ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน และไม่ต้องจัดเตรียมที่ทางบ้านช่องไว้ให้ภรรยา อีกทั้งยังไม่ต้องแบกความรับผิดชอบทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม นับจากที่สมรสมิสยาร์ได้การรับรองในทางกฎหมายและทางศาสนามาตั้งแต่ปี 1996 รวม 25 ปีแล้วนั้น สมรสมิสยาร์ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องกันอย่างดาษดื่น กระทั่งว่าภาพลักษณ์ของสมรสมิสยาร์กลายเป็นสภาพการณ์ที่สำนักข่าวเอเอฟพีเรียกว่า “การแต่งงานที่ไร้สายใยผูกมัด ไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบให้ต้องแบกรับ และประหยัดค่าใช้จ่าย” (กระทั่งว่าหนุ่มซาอุดีบางคนบอกว่าความสัมพันธ์แบบมิสยาร์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการมีแฟน)

เอเอฟพีชี้ประเด็นว่า ขณะที่มิสยาร์มีคุณูปการต่อบุรุษผู้ขัดสนเงินทอง ให้สามารถมีชีวิตสมรสได้ แต่ผู้คนพากันมองสมรสมิสยาร์เป็นสมรสไฮบริด เพราะคู่สมรสมิสยาร์สามารถสลับตัวเองข้ามไป-มา ระหว่างการเป็นคนแต่งงานแล้ว กับการเป็นคนโสด ได้ตลอดเวลา

ในการนี้ เอเอฟพีนำเสนอถึงนักวิจารณ์สังคมที่ออกมาวิพากษ์ว่า ผู้คนในซาอุฯ ฉวยโอกาสใช้การแต่งงานแบบมิสยาร์ไปสนับสนุนการดำเนินชีวิตสำส่อนโดยถูกต้องตามกฎหมายและตามข้อกำหนดของศาสนา และแนวโน้มแห่งความฉ้อฉลนี้ ทวีตัวขึ้นอย่างมากมายตลอดสองทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา

สมรสแบบมิสยาร์ เป็นวิถีการแต่งงานที่เอื้อเฟื้อแก่สตรีที่อึดอัดกับจารีตประเพณีเก่าแก่ซึ่งให้สามีได้สิทธิ์และอำนาจในการกำกับดูแลควบคุมภรรยา ในการนี้ชายที่แต่งงานแบบมิสยาร์จะยอมสละสิทธิ์ดังกล่าวทั้งหมดทั้งมวล มิสยาร์จึงเป็นวิถีการแต่งงานทางเลือก หรือมิเช่นนั้น สตรีซาอุดีก็อาจครองตนเป็นโสดเพื่อความสบายใจ
ป้องกันการลักลอบได้เสียนอกกรอบสมรส โดยเปิดวิถีการแต่งงานทางเลือก ซึ่งช่วยพาให้ก้าวข้ามอุปสรรคทางการเงินและประเพณี

อิบราฮิมเป็นหนุ่มซาอุดีผู้ยากจนและดำรงชีวิตครึกครื้นอยู่กับสมาชิกครอบครัวซึ่งแออัดกันอยู่ในกระต๊อบถิ่นสลัม แม้รูปร่างหน้าตาจะดูดีอยู่บ้าง แต่ด้วยรายได้เพียงน้อยนิดจากการขายแรงงานไร้ฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เขาจึงครองตัวเป็นโสด ไม่ยอมกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเพื่อให้ตนเองได้แต่งงาน เขาเคยอกหักเพราะคนรักรอไม่ไหวและตัดสินใจแต่งงานไปกับคนอื่น นิยายรักของเขาเป็นที่ชื่นชม เพราะเขาเคร่งครัดในศาสนาจึงไม่ยอมตามใจให้มีสัมพันธ์ชู้สาวก่อนแต่งงาน นอกจากนั้น ด้วยความขยันและมีน้ำใจคอยช่วยเหลือเพื่อนบ้าน อิบราฮิมจึงเป็นที่รักและเอ็นดูของผู้คน

มูนีราเป็นลูกกตัญญู ปรนนิบัติดูแลคุณแม่ผู้ชราอย่างเต็มอกเต็มใจ แม้จะมีฐานะค่อนข้างมั่นคง แต่มูนีนาไม่ใช่สาวหน้าสวย เธอจึงอยู่เป็นโสดจนกระทั่งคุณแม่จากไป ขณะที่อายุอานามของเธอเริ่มพาเธอก้าวสู่สถานภาพขึ้นคาน เธอรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากคำว่า “สาวทึนทึก” ที่คอยบีบคั้นใจเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ในเช้าวันหนึ่ง เธอตัดสินใจแน่วแน่ที่จะแต่งงานแบบมิสยาร์ เพื่อที่จะมีบุรุษผู้คุ้มครอง (Male Gaurdian) มาคอยช่วยเซ็นชื่อในใบฉันทานุมัติที่จะต้องใช้ประกอบเอกสารต่างๆ เมื่อสมัครงาน และเมื่อต้องติดต่อหน่วยงานราชการในหลายหลากเรื่องสำคัญ เช่น การยื่นขอทำหนังสือเดินทาง ในการนี้ เขาจะเป็นบุรุษผู้คุ้มครองเฉพาะเพียงที่เธอต้องการ แต่จะไม่มีสิทธิ์มาบงการชีวิตของเธอผู้เป็นภรรยามิสยาร์ได้

ผ่านคำแนะนำและประสานงานของแม่สื่อ มูนีราตัดสินใจเลือกอิบราฮิม ผู้ชายนิสัยดีในถิ่นสลัมหลังบ้าน สาวมูนีรารู้จักเขาอย่างห่างๆ ในฐานะบุรุษหน้าตาสุภาพที่เธอเคยแอบมองยามเขาเดินผ่านกำแพงบ้านเธอ โดยในครั้งหนึ่ง เธอเคยเห็นว่าในมือของเขามีหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย และนั่นทำให้เธอมองเขาด้วยสายตาอย่างใหม่ ยิ่งเมื่อแม่สื่อยืนยันว่าเขาเป็นคนขยันการงาน น้ำใจดีและมีอารมณ์แจ่มใส เธอก็มั่นใจว่าเขาจะช่วยเกื้อกูลและไม่สร้างปัญหา

ส่วนอิบราฮิมนั้นโล่งใจมากว่าการรอคอยของตนจบสิ้นเสียที เขาจะได้มีภรรยาที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของศาสนา โดยไม่ต้องวิ่งเต้นหากู้ยืมเงินมาจ่ายสินสอด ไม่ต้องจัดพิธี ไม่ต้องมีจัดเลี้ยง และรายได้อันน้อยนิดที่ต้องอุดหนุนจุนเจือคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเจียดออกไปเลี้ยงดูภรรยา เขาตั้งใจว่า แม้มูนีราไม่ใช่คนสวย เขาก็พร้อมจะรัก ให้เกียรติ และดูแลเธออย่างดีที่สุดเท่าที่เธอจะร้องขอ

สตรีในราชอาณาจักรซาอุฯ มักจะจับกลุ่มกันไปเที่ยว ไปช็อปปิ้ง หรือไปทำภารกิจต่างๆ ในภาพนี้เป็นบรรยายกาศท่องเที่ยวที่อับฮา ฮายซิตี ซึ่งไม่เข้มงวดกับการบังคับใช้จารีตประเพณีเท่าเทียมกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของซาอุฯ
ด้วย ‘วิถีการแต่งงานทางเลือก’ แบบมิสยาร์ ที่ช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคทางการเงินและประเพณีที่ไม่อาจยอมรับ ชีวิตคู่ของอิบราฮิบกับมูนีราจึงเริ่มต้นขึ้นได้อย่างเรียบง่าย แต่อยู่ในสายพระเนตรและการอวยพระพรของพระองค์อัลลอฮ์ โดยต่างฝ่ายต่างช่วยแก้ปัญหาให้แก่กันและกัน พร้อมกับทำให้ชีวิตดีขึ้นด้วยกัน

เดอะการ์เดียนนำเสนอบทความเรื่องข้อเสนอที่ชาวซาอุดีมิอาจปฏิเสธได้ หรือ A Proposal Saudis Can’t Refuse เมื่อปี 2009 ว่าเพราะในราชอาณาจักรซาอุฯ ถือว่าความสัมพันธ์นอกสมรสเป็นการผิดบาปร้ายแรง ด้วยเหตุนี้จึงมีการปลดล็อกปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางการแต่งงาน ด้วยการรับรองให้การแต่งงานแบบมิสยาร์เป็นสิ่งถูกต้องในทางศาสนาและกฎหมาย โดยในทศวรรษ 1990 ชีคอับดุลลาซิส บิน บาซ (1910-1999) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่ศาสนาและกฎหมายระดับสูงสุดของซาอุฯ (1993-1999) ได้ออกเป็นคำประกาศของศาสนา (Fatwa) ในปี 1996

ขณะที่ชีคอับดุลลาซิส บิน บาซ อดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่ศาสนาและกฎหมายระดับสูงสุดของซาอุฯ ระหว่างปี 1993-1999 เป็นที่เลื่องลือด้านการสนับสนุนอำนาจของบุรุษผู้คุ้มครองเหนือชีวิตทั้งหมดของภรรยา แต่ชีคบิน บาซ ก็เป็นผู้ออกคำประกาศของศาสนารับรองความถูกต้องของการสมรสทางเลือกแบบมิสยาร์ ที่ทำให้ภรรยามิสยาร์มีเสรีภาพและไม่ถูกสามีกดดันหรือข่มเหงจิตใจ ในภาพนี้ สตรีซาอุดีหัวเราะขำที่เดินอยู่ดีๆ ฝนซึ่งไม่ค่อยจะปรากฏในเดือนพฤษภาคมก็กระหน่ำลงมาให้ชื่นใจในกรุงริยาด
“ทางเลือกสุดท้าย” เพื่อสตรีซาอุดีที่ต้องอยู่ให้ได้ในสังคมอนุรักษนิยมสุดโต่ง

เว็บไซต์สตัดดิง-อิสลาม (Studying-Islam.org) อธิบายการแต่งงานแบบมิสยาร์ว่า เป็นข้อตกลงสมรสในสังคมมุสลิมสุหนี่ที่มีขึ้นคู่ขนานกับการสมรสแบบประเพณีนิยม โดยฝ่ายชาย ไม่ต้องให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ภรรยามิสยาร์ ขณะที่ภรรยามิสยาร์ก็ใช้ชีวิตเอกเทศ และปลอดข้อผูกมัดจากการสมรสแบบมาตรฐาน ในการนี้ คู่สามีภรรยามิสยาร์สามารถแยกกันอยู่เหมือนที่เคยเป็นมา แล้วมาพบปะกันตามความต้องการภายใต้วิถีฮาลาล

สมรสมิสยาร์เป็นการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นของผู้คนซึ่งไม่สะดวกจะแต่งงานตามประเพณีนิยม โดยปรากฏอยู่ในหลายประเทศ อาทิ ซาอุฯ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์  โดยทั่วไป ความจำเป็นดังกล่าวเป็นประเด็นด้านค่าใช้จ่าย เช่น เรื่องค่าครองชีพที่สูงเหลือเกิน ทำให้ไม่สามารถออกมาตั้งครอบครัวเพราะค่าเช่าที่พักและค่ากินอยู่สูงเกินรายได้; จำนวนเงินค่าสินสอดที่มักจะเรียกร้องกันสูงมาก; และประเด็นทางเศรษฐกิจและการเงินต่างๆ Studying Islam ให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

ดังนั้น สมรสมิสยาร์จึงช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคทางการเงิน และสามารถแต่งงานและมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากันได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับป้องกันปัญหาการลักลอบได้เสียโดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามร้ายแรง Studying Islam เขียนไว้โดยอ้างอิงตามนักกฎหมายในศาสนาอิสลาม

Studying Islam ระบุด้วยว่า นอกจากกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งมีทรัพยากรจำกัด จะได้รับอานิสงส์จากสมรสมิสยาร์แล้ว กลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้ายที่คู่สมรสจากไปก่อนวัยอันควร และกลุ่มผู้ที่หย่าร้าง อีกทั้งบุรุษผู้ปรารถนาจะมีภรรยาหลายคน แต่ไม่สะดวกจะแบกค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไปจนถึงสาวสูงวัยที่ยังไร้คู่ ล้วนได้รับอานิสงส์แห่งสมรสมิสยาร์ โดยผู้คนเหล่านี้มีที่พักอาศัยเรียบร้อย มีแหล่งรายได้ของตนเองมั่นคงแล้ว แต่ไม่ต้องการภาระและพันธะที่พ่วงมากับการแต่งงานในรูปแบบประเพณีเดิม

ในการนี้ กรณีอย่างมูนีรา ภรรยามิสยาร์ของอิบราฮิม เป็นกรณีของสาวสูงวัยยังไร้คู่ ที่ใช้การแต่งงานแบบมิสยาร์มาแก้ปัญหาสถานภาพสมรส โดยไม่ถูกริดรอนเสรีภาพจากสามี ทั้งนี้ Studying Islam ระบุว่ามีสตรีซาอุดีกว่า 1.5 ล้านรายถูกสถานการณ์บีบให้ต้องครองตัวเป็นโสด

อัตราการสมรสในซาอุดีอาระเบียลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง  ส่วนหนึ่งวิจารณ์กันว่าเป็นเพราะครอบครัวฝ่ายหญิงมักจะเรียกค่าสินสอดสูงลิ่วจนเกินความสามารถของฝ่ายชาย จนกระทั่งทำให้ผู้ชายซาอุดีขยาดด้วยความที่ได้เห็นตัวอย่างของผู้ที่ต้องเป็นหนี้เป็นสินเกิดขึ้นมากมาย  และสาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้หญิงซาอุดีมีการศึกษาดีกว่าผู้ชาย มีคุณภาพชีวิตดีกว่า มีการงานที่ทรงเกียรติมากกว่าและได้เงินเดือนสูงกว่า ยิ่งกว่านั้น พวกเธอมักจะได้รับการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่มาอย่างดีมาก ทั้งนี้นักสังคมวิทยาในกรุงริยาดให้สัมภาษณ์แก่รอยเตอร์ในสกู๊ปเมื่อปี 2016 ว่าผู้หญิงซาอุดีเยอะเลยตัดสินใจขออยู่เป็นโสดดูแลคุณพ่อคุณแม่ ดีกว่าจะเสี่ยงแต่งงานไปเจอผู้ชายที่ชอบทำร้ายคนอื่น พร้อมนี้ รอยเตอร์ได้กรณีตัวอย่างจากหญิงสาวเมืองเจดดาห์ ผู้มีใบหน้างดงามในวัย 30 กะรัต เธอมีหลายครอบครัวมาทาบทามสู่ขอ เธอให้สัมภาษณ์ว่าในกระบวนการทาบทามของแต่ละรายนั้น เธอเห็นวี่แววว่าชายแต่ละคนล้วนมีความเชื่อว่าจะต้องคุมภรรยาให้อยู่มือ เธอจึงขอให้คุณพ่อปฏิเสธไปทุกราย เธอกล่าวด้วยว่าเธออาจจะตัดสินใจแต่งงานในวันข้างหน้า แต่จะไม่เลือกคนที่จะมาเป็นบิดาคนที่สอง “ดิฉันมีคุณพ่อแล้วค่ะ”  ในภาพนี้ของรอยเตอร์เป็นสตรีซาอุดีในนิทรรศการแนะนำอาชีพสำหรับผู้หญิง ในงาน Glowork Women’s Career Fair ซึ่งจัดขึ้นในกรุงริยาด เมื่อ 2 ตุลาคม 2018
ซาอุดี แกซเซ็ท (Saudi Gazette) สื่อออนไลน์ของซาอุฯ นำเสนอสกู๊ปหัวข้อ มิสยาร์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทางเลือกสุดท้าย หรือ Misyar As a Last Resort เมื่อปี 2016 (ก่อนที่การปฏิรูปตามวิสัยทัศน์ซาอุดี 2030 จะเริ่มขึ้น) โดยเล่าว่าสตรีในซาอุฯ ในทุกช่วงวัย จำเป็นต้องมีบุรุษผู้คุ้มครองมาดูแลเรื่องต่างๆ ให้เธอ มาคุ้มครองผลประโยชน์และทำการตัดสินใจแทนเธอ เพราะทุกหน่วยงานของภาครัฐได้กำหนดว่าสตรีจะต้องมีบุรุษผู้คุ้มครองมาเป็นตัวแทนดำเนินการให้ ในเวลาเดียวกัน กฎหมายของซาอุฯ กำหนดว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปติดต่อหน่วยงานราชการได้หากไม่มีบุรุษผู้คุ้มครอง ไม่สามารถขอจัดทำหนังสือเดินทางโดยไม่มีใบฉันทานุมัติจากบุรุษผู้คุ้มครอง ไม่สามารถเดินทางออกต่างประเทศได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากบุรุษผู้คุ้มครอง ไม่สามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ในนามตนเองได้ ต้องทำในนามของบุรุษผู้คุ้มครอง ฯลฯ

ดังนั้น ผู้หญิงในซาอุฯ จำนวนมากจึงต้องยอมใช้การแต่งงานแบบมิสยาร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุรุษผู้คุ้มครองประเภทที่จะไม่ปัญหามากมาย ซึ่งมักจะเกิดจากสามีแบบประเพณีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ต้องมีชีวิตอยู่ใต้อำเภอใจและความฟุ้งซ่านของสามี

สตรีซาอุดีที่มีฐานะมั่งคั่งจำนวนมากเลือกที่จะแต่งงานแบบมิสยาร์ ที่คุ้มกันให้พวกเธอปลอดภัยจากการถูกสามีแทรกแซงในด้านการเงิน ในเวลาเดียวกันสามีมิสยาร์ก็จะช่วยลงนามในใบฉันทานุมัติ อันเป็นเอกสารที่ฝ่ายหญิงทุกคนทุกช่วงวัย ต้องใช้ประกอบเอกสารต่างๆ เมื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการ
มิสยาร์ถูกใช้ในแบบที่ไม่ถูกต้อง ทั้งแบบ “สมรสไฮบริด” ไปจนถึงแบบสมรสบังหน้าเพื่อจะสำส่อน

เอเอฟพีทำการสัมภาษณ์ผู้คนในซาอุฯ สิบกว่าราย ทั้งพ่อสื่อ แม่สื่อ ตลอดจนคู่สมรสมิสยาร์และได้ข้อสรุปสำคัญประการหนึ่งว่า สมรสมิสยาร์ถูกมองเป็นการแต่งงานแบบไฮบริด คือ แม้จะแต่งงานแล้ว แต่ก็สลับกลับไปเป็นคนโสดและมีภรรยาเพิ่มขึ้นมาคนแล้วคนเล่าโดยไม่มีแรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบ

“แต่งงานแบบมิสยาร์ให้ทั้งความสะดวก เสรีภาพ และคู่สมรสซึ่งถูกต้องตามศาสนา” กล่าวโดยชายสี่สิบกว่าปี ซึ่งมีอาชีพการงานเป็นพนักงานของรัฐ คู่สมรสมิสยาร์ของเขาเป็นแม่หม้ายวัยสามสิบต้นๆ ทั้งสองแต่งงานมานานสองปีกว่า

เขาเล่าว่าตอนที่มาแต่งงานมิสยาร์นั้น เขาแต่งงานตามประเพณีเรียบร้อยแล้วโดยมีลูกสามคน เขาจะไปหาภรรยามิสยาร์ที่บ้านของเธอในริยาด “เมื่อใดก็ได้” ที่เขาต้องการ ทั้งนี้ เขาไม่ได้บอกว่าภรรยามิสยาร์ได้อะไรจากการสมรสกับเขา

“ผมมีเพื่อนซาอุดีคนหนึ่งที่แต่งงานมิสยาร์ตั้ง 11 ครั้ง แต่งแล้วหย่า และก็แต่งใหม่กับอีกคนหนึ่ง แล้วก็หย่า แล้วก็แต่งใหม่อีก” หนุ่มพนักงานของรัฐเล่าอย่างนั้น

ชายหญิงในราชอาณาจักรซาอุฯ มีการแต่งงานแบบมิสยาร์กันอย่างมากมาย โดยมักเป็นความสัมพันธ์ลับและชั่วคราว ตัวช่วยในการประสานให้อุปสงค์และอุปทานได้พบกันคือ แอปพลิเคชั่นบนมือถือจำพวกแอปพ่อสื่อ ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียก็ส่งอานิสงส์อย่างมหาศาล มีคู่สมรสจำนวนนับไม่ถ้วนที่พบกันบนโซเชียลมีเดีย เขียนคุยกันทำความรู้จักสักระยะหนึ่ง ก็นัดดูตัวจริงที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็เป็นการดูกันห่างๆ คนละปลายของทางเดินในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในเวลานั้น ก็เขียนโพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดียคุยกันด้วยนิ้วมือ บางคู่สามารถตกลงแต่งงานมิสยาร์กันโดยที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกๆ รู้จักกันในที่ทำงาน
***ไม่ต้องจ่ายค่าสินสอด

ชาวซาอุดีตลอดจนชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในราชอาณาจักรซาอุฯ จำนวนไม่น้อยจะง่วนอยู่กับการเล่นแอปหาคู่ และเว็บไซต์พ่อสื่อ

“มิสยาร์มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ไม่ต้องมีค่าสินสอด ไม่ต้องมีพันธะอะไรเลยครับ” หนุ่มเภสัชกรวัยสี่สิบปีจากอียิปต์ที่มาทำงานในกรุงริยาดให้สัมภาษณ์แก่เอเอฟพี และบอกว่าได้เข้าสู่วงการหาคู่สมรสมิสยาร์หลังจากที่เกิดโรคระบาดโควิดเมื่อปีที่แล้วซึ่งทำให้ตัดสินใจส่งภรรยาและลูกกลับกรุงไคโร

“ชีวิตที่ต้องอยู่ห่างภรรยาน่ะลำบากมากครับ” หนุ่มเภสัชกรบอก และเล่าว่าได้พยายามเสาะหาคู่สมรสมิสยาร์ผ่านบริการพ่อสื่อ “คัทบา” บนอินสตาแกรม โดยเสียค่าบริการถึง 5,000 ริยาล หรือประมาณ 1,333 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

“ผมก็ให้ข้อมูลไปว่าผมชอบแบบไหน น้ำหนัก ทรวดทรง สีผิว... ผมสมัครไปตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้เลยครับ”

แอปพ่อสื่อที่เสนอบริการอำนวยความสนับสนุนการสมรสมิสยาร์ ซึ่งมีอยู่ในแอปสโตร์ของโทรศัพท์มือถือในซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ บางแอปพ่อสื่อเรียกเก็บค่าบริการสูงไม่ใช่เล่นๆ เช่น แอปบริการพ่อสื่อ “คัทบา” บนอินสตาแกรม ที่เรียกเก็บค่าบริการ 5,000 ริยาลกันเลยทีเดียว หรือประมาณ 1,333 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ภาพนี้บันทึกกันที่กรุงริยาด เมื่อ 29 ตุลาคม 2020
เดอะการ์เดียนเล่าถึงข้อความประกาศหาคู่แต่งงานมิสยาร์บนเว็บไซต์ว่าเห็นได้ชัดในความฉ้อฉลที่จะหาคู่ไว้เพื่อเป็น “กิ๊กมิสยาร์” หรือก็คือเครื่องเล่นชั่วครั้งชั่วคราวโดยมีค่าใช้จ่ายไม่มาก อาทิ

-ชายหนุ่มวัย 21 ปี มีรายได้ต่อเดือนสูงมาก มองหาคู่สมรสโดยด่วนที่สุด สนใจหญิงสาวโสดน้ำหนักไม่เกิน 70 กิโลกรัม บ้านอยู่ในนครเจดดาห์เท่านั้น

-เสมียนชาวซาอุดี วัย 38 ปี มาจากตระกูลสูง สนใจสาวนักธุรกิจหน้าตาดี ผิวขาวเกลี้ยงเกลา เพื่อสมรสมิสยาร์ ถ้าไปกันได้ดี ก็จะจัดการให้การสมรสนี้เป็นทางการขึ้นมา

-นักบัญชี วัย 30 ปี สนใจจะแต่งงานแบบมิสยาร์กับสาวซาอุดี อายุ ประสบการณ์ จำนวนบุตร สถานภาพโสดหรือหม้ายหรือหย่าร้าง ล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือ เธอผู้นั้นมีความสามารถจะตอบสนองความพึงพอใจของผู้ชายซึ่งปรารถนาสิ่งต่างๆ ที่ศาสนาอนุญาต

นอกจากนั้น เดอะการ์เดียนเล่าถึงทัศนคติแย่ๆ ของผู้ชายซาอุดีบางคน ที่มองสมรสมิสยาร์เป็นโอกาสที่จะได้เอาเปรียบผู้หญิง โดยอ้างอิงถึงคำบอกเล่าของอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งในนครเจดดาห์ว่าได้ฟังเพื่อนลูกพูดว่า “จะซื้อวัวทำไม ในเมื่อน้ำนมเป็นของฟรี”

***มักเป็นเรื่องชั่วคราว สักพักเดียว ประเดี๋ยวก็หย่า

เอเอฟพีนำข้อมูลปี 2018 ของหนังสือพิมพ์อัล-วาตันในซาอุฯ มาประกอบรายงานข่าวของตน ว่าสมรสมิสยาร์มักจะอายุสั้น และส่วนใหญ่จะยุติด้วยการหย่าร้างภายในเวลา 14-60 วัน โดยสตรีซาอุดีบางคนมองว่าสมรสมิสยาร์เป็นการหลบออกจากสถานภาพสาวทึนทึกสักระยะหนึ่ง และบางคนมองว่าเป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังการหย่าร้างหรือหลังมรณกรรมของสามี

นอกจากนั้น ยังมีอีกสถานการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีของสตรีชาวซีเรียในกรุงริยาด ซึ่งหย่าร้างจากสามีชาวซาอุดี และแต่งงานใหม่โดยต้องใช้วิธีสมรสมิสยาร์ซึ่งสามารถปกปิดเป็นความลับได้ ทั้งนี้เป็นเพราะหวั่นว่าหากอดีตสามีทราบว่าเธอแต่งงานใหม่ เขาจะฟ้องร้องเพื่อให้ได้สิทธิ์ดูแลลูก เอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเพื่อนสนิทของสตรีชาวซีเรียท่านนี้

ด้วยฐานะส่วนตัวที่เลี้ยงตนเองได้ และด้วยการมีงานทำ มีธุรกิจของตนเอง สตรีซาอุดีจึงเลือกการหย่าร้างมากกว่าจะทนเป็นเบี้ยล่างในชีวิตสมรส ที่ผ่านมา ซาอุฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างสูงสุดของโลก ด้วยอัตราการหย่าร้างในปี 2016 ที่สูงถึง 127 รายต่อวัน ในเวลาเดียวกัน กระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนแห่งซาอุฯ ประกาศสถิติเมื่อปี 2011 ว่าสตรีซาอุดีอายุสูงกว่า 30 ปีและยังเป็นโสดมีจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน ทั้งนี้ประเพณีนิยมของซาอุฯ คาดหวังให้สตรีซาอุดีแต่งงานให้เรียบร้อยตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ
นำไปใช้ในทางสำส่อน ตลอดจนมีคู่สมรสเฉพาะกิจในช่วงไปเที่ยวต่างประเทศ

Studying Islam และเดอะการ์เดียนเล่าถึงกรณีของชายหญิงที่ฉวยโอกาสใช้การแต่งงานแบบมิสยาร์ไปสนับสนุนการดำเนินชีวิตสำส่อนโดยถูกกฎหมาย ดังนี้

ผู้ชายซาอุดีฐานะร่ำรวยจำนวนหนึ่งจะมีสมรสมิสยาร์ขณะเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศที่ยากจนกว่า เช่น อียิปต์บ้าง ซีเรียบ้าง โดยจะติดต่อคนกลางให้จัดหาดำเนินการให้ทางอินเทอร์เน็ต

เศรษฐีซาอุดีดังกล่าวจ่ายเงินก้อนหนึ่งแก่ครอบครัวของภรรยามิสยาร์ ซึ่งยอมรับเงินเพราะความยากจนและเพราะหวังว่าลูกจะมีโอกาสเที่ยวสนุกสนาน ได้สัมผัสชีวิตหรูหราที่เกินเอื้อมถึงบ้าง แม้จะเพียงไม่กี่วันก็ตาม นอกจากนั้นยังแอบหวังว่าสามีเศรษฐีชั่วคราวจะมอบของขวัญวันจากลาเมื่อการแต่งงานมิสยาร์ยุติลง ในการนี้ มีอยู่หลายกรณีที่ฝ่ายชายประทับใจเจ้าสาวเฉพาะกิจ ก็จะไม่หย่าร้าง และเดินทางกลับไปหา เมื่อมีโอกาส โดยในระหว่างนั้น จะมีการส่งเงินไปเป็นกำลังใจกันบ้าง

สิ่งที่บรรดาภรรยาเฉพาะกิจหวังกันมากคือจะสามารถผูกใจพวกสามีเศรษฐีได้เหนียวแน่นเพื่อจะรักษาสถานภาพไว้ให้เป็นสมรสมิสยาร์ที่ยาวนาน แต่ขณะเดียวกันพวกเธอจะระมัดระวังอย่างที่สุดมิให้ตั้งครรภ์อันจะเป็นภาระของฝ่ายเธอแต่เพียงผู้เดียว

ในสมรสมิสยาร์ช่วงพักร้อนทั้งหลายทั้งปวงนี้ พวกสามีเศรษฐีมีวัตถุประสงค์หลักคือ การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่ขายบริการได้ โดยไม่รู้สึกว่ากำลังมีสัมพันธ์กับผู้ที่มิได้เป็นภรรยา ซึ่งเป็นความผิดบาปร้ายแรง แต่เศรษฐีเหล่านี้ทราบอยู่กับใจว่าเดี๋ยวก็จะหย่าร้างกันไปเมื่อช่วงพักผ่อนจบลง

ส่วนเดอะการ์เดียนรายงานในบทความปี 2009 ว่า โดยที่มีเทคโนโลยีการสื่อสาร มีเว็บไซต์หาคู่ และมีอพาร์ทเมนท์ตกแต่งงดงามให้เลือกเช่ามากมายในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงริยาดและนครเจดดาห์ จึงปรากฏสารพัดเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับภรรยามิสยาร์ซึ่งทำข้อตกลงสมรสมิสยาร์กับผู้ชายหลายราย และมีอยู่กรณีหนึ่งที่เปิดใจพูดว่ามีสามีมิสยาร์เยอะเลย ปกปิดเรื่องความสัมพันธ์มิสยาร์ที่ทำขึ้นกับภรรยาหมายเลข 2 – 3 – 4 โดยที่ภรรยาหลวงไม่ล่วงรู้  ดังนั้น ทำไมภรรยามิสยาร์จะไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้

บางห้างสรรพสินค้าในซาอุฯ ที่สตรีซาอุดีสามารถเข้าไปเลือกซื้อหาสินค้าได้นั้น จะให้บริการแก่บุรุษซาอุดีเฉพาะที่เป็นพ่อบ้านมากับครอบครัว แต่จะไม่อนุญาตให้ชายโสดซาอุดีเข้าไปใช้บริการ
“ไปเอาหมอนั่นมาขึ้นศาล”

นักการศาสนาคนสำคัญท่านหนึ่งในกรุงริยาดชี้สาเหตุที่สมรสมิสยาร์แพร่หลายมากมายว่าเป็นเพราะพวกผู้ชายที่อยากมีภรรยามากกว่าหนึ่ง ไม่เต็มใจจะแบกภาระความรับผิดชอบแบบเต็มร้อย ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามอนุญาตให้มีภรรยาได้หลายคน แต่ภรรยาทุกคนต้องได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน

เมื่อปี 2019 คอลัมน์ของทาริค อัล-มาอีนา แห่งหนังสือพิมพ์ซาอุดี แกสเซ็ท เขียนถึงสมรสมิสยาว่าถูกบิดเบือนจนกลายเป็น “ใบอนุญาตให้มีคู่ได้หลายคนโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบมากและไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง”

คอลัมนิสต์นายนี้เขียนด้วยว่า รายงานข่าวในสื่อมวลชนมากมายเตือนให้ระวังถึงปัญหาที่ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ มีเด็กซึ่งเกิดจากบิดาชาวซาอุดีที่ไปเที่ยวต่างประเทศ และเด็กเหล่านี้จำนวนไม่น้อยถูกทอดทิ้ง โดยที่ผู้เป็นพ่อไม่ใส่ใจจะดูแลเลือดเนื้อเชื้อไขของพวกตน

สตรีบางรายหันไปพึ่งอำนาจศาลเพราะสามีมิสยาร์ของเธอไม่ยอมรับลูกที่เกิดมา

“มีผู้หญิงคนหนึ่งติดต่อมาขอคำแนะนำ เธอบอกว่า ดิฉันเป็นภรรยามิสยาร์ และสามีของดิฉันไม่ยอมรับเป็นพ่อของลูกที่เกิดมา” นักการศาสนาท่านนี้บอกเอเอฟพี

“คุณผู้หญิงเล่าให้ผมฟังว่า สามีของเธอพูดว่า ‘เด็กคนนี้ไม่ใช่ปัญหาของผม’ ผมจึงแนะนำให้เธอเอาหมอนั่นมาขึ้นศาล และให้เธอต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของเธอ”

ในปัจจุบันนี้ บรรยายกาศทางสังคมของราชอาณาจักรซาอุฯ เปิดกว้างมากขึ้น ให้พื้นที่ยืนแก่สตรีมากขึ้น ในภาพนี้เป็นการซื้อดอกไม้ในวันแห่งความรัก วาเลนไทส์ 14 กุมภาพันธ์ 2020
สังคมยอมรับกับเรื่องกิ๊กมิสยาร์ของพวกพ่อบ้าน

ในเวลาเดียวกัน สังคมมักจะเชียร์ให้เมียหลวงที่ได้แต่งงานตามประเพณี ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการที่สามีไปแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจจากความสัมพันธแบบมิสยาร์

พ่อสื่อนายหนึ่งนามว่าฟาฮัด อัลมูอาอิส ให้สัมภาษณ์แก่เว็บไซต์ข่าวธมานยาห์ ว่าลูกค้าของเขาโดยมากจะเป็นคนที่มีภรรยาเยอะ และมีอยู่รายหนึ่งแอบไปแต่งงานแบบมิสยาร์โดยไม่ให้ภรรยาที่บ้านรับทราบ

พอภรรยาที่บ้านเริ่มผิดสังเกตว่าสามีหายตัวไปเป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ และปรึกษาเพื่อนข้างบ้าน เพื่อนแนะนำว่า “ทำเป็นเฉยๆ ไว้”

“สามีเธอไม่แต่งใครเข้าบ้าน แต่ไปแต่งงานมิสยาร์แทน เพื่อที่ว่าเขาจะไม่ทำให้ชีวิตของเธอทุกข์ร้อน” พ่อสื่ออัลมูอาอิสเล่าถ้อยคำที่เพื่อนบ้านให้คำแนะนำแก่คุณภรรยาหลวง พร้อมกับประโยคสรุปว่า

“อดทนไว้ ปล่อยเขาไปไหนๆ ตามใจตอนสุดสัปดาห์ แล้วในวันอื่นๆ เขาจะเป็นของเธอคนเดียว”

ภาพที่ระลึกงานมงคลสมรสแบบประเพณีนิยมในประเทศซาอุฯ ซึ่งเป็นภาพของโมจาคจูเทลลี (Mojackjutaily) ที่นำขึ้นเผยแพร่บนวิกิมีเดีย ที่ผ่านมา การแต่งงานตามประเพณีนิยมในซาอุฯ เคยปรากฏเป็นวิวาห์อลเวงหลายครั้ง เช่น เมื่อเจ้าบ่าวได้เห็นใบหน้าของเจ้าสาวเป็นครั้งแรกในระหว่างการประกอบพิธีสมรส เขารู้สึกผิดหวังหนักมาก เจ้าบ่าวไม่ยอมทนประกาศขอหย่าออกมาในระหว่างพิธีนั้นเลยและทำการวอล์กเอาท์ออกจากงานทันที โดยกล่าวว่า “คุณไม่ใช่สาวที่ผมอยากจะแต่งงานด้วย ไม่ใช่สาวที่ผมจินตนาการถึง ผมขออภัยนะ แต่ผมต้องขอหย่า”  เรื่องจริงยิ่งกว่านิยายนี้กลายเป็นข่าวครึกโครมบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โอกาซ เจ้าพ่อสื่อมวลชนในนครเจดดาห์เมื่อปี 2014
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอเอฟพี เว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดียน Studying-Islam.com Saudigazette.com.sa รอยเตอร์ เอพี วิกิพีเดีย โอกาซเดลี)

กำลังโหลดความคิดเห็น