คณะทำงานสหรัฐฯที่ประกอบด้วยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและบังคับใช้กฎหมาย กำลังเดินทางไปยังเฮติ เพื่อสรุปหาแนวทางที่วอชิงตันจะมอบความช่วยเหลือ ตามหลังหตุลอบสังหารประธานาธิบดีเฮติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการเปิดเผยของเพนตากอนเมื่อวันอาทิตย์(11ก.ค.) อย่างไรก็ตามอเมริกายังคงยืนปรานปฏิเสธแนวทางส่งกำลังทหารเข้าคุ้มครองเสถียรภาพแก่ประเทศแห่งนี้
"วันนี้ คณะทำงานระหว่างหน่วยงานจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและเอฟบีไอ กำลังมุ่งหน้าไปยังเฮติแล้วในตอนนี้ เพื่อดูว่าเราสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกระบวนการสืบสวน" จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอนให้สัมภาษณ์กับรายการ "ฟ็อกซ์นิวส์ซันเดย์"
"มันเป็นหนทางที่ดีที่สุดของเราในตอนนี้ ช่วยเหลือพวกเขาติดอาวุธในการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ค้นหาว่าใครควรถูกประณาม และหาหนทางที่สุดที่สุดในการลงโทษพวกเขา" เคอร์บีกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งในรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะรับฟังรายงานสรุปจากคณะทำงานดังกล่าวครั้งที่พวกเขาเดินทางกลับมาแล้ว และ "จากนั้นก็จะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด"
เฮติขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯในด้านคุ้มครองเสถียรภาพและการสืบสวนเหตุโจมตีที่ปลิดชีวิตประธานาธิบดี โจเวเนล มอยส์ ที่บ้านพักของเขาในกรุงปอร์โตแปงซ์เมื่อวันพุธที่แล้ว(7ก.ค.) ฉุดประเทศที่ยากจนแห่งนี้เข้าสู่ความยุ่งเหยิง ในขณะที่เจ้าหน้าที่เฮติเผยว่ามีพลเมืองอเมริกันเชื้อสายเฮติ 2 คน อยู่ในบรรดาผู้ต้องสงสัยลอบสังหาร
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคณะทำงานสหรัฐฯจะอยู่ในเฮตินานแค่ไหน ขณะที่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์(11ก.ค.) ว่าวอชิงตันจะปรึกษาหารือกับพันธมิตรต่างๆในภูมิภาคและสหประชาติชาติด้วยเช่นกัน
เมื่อวันเสาร์(10ก.ค.) สื่อมวลชนรายงานว่าทางการเฮติส่งจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) และรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการส่งกองกำลังเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยหวั่นเกิดความไม่สงบภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโจเวเนล มอยส์ ถูกลอบสังหารโดยทีมลอบสังหารจากต่างชาติ
ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายระบุว่า การขอให้ส่งกองกำลังมาช่วยเฮตินั้น “เป็นไปเพื่อสนับสนุนกองกำลังตำรวจแห่งชาติที่พยายามจะรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยทั่วทั้งประเทศ…เราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เราจึงร้องขอจากพันธมิตรในประชาคมโลก โดยเราเชื่อว่าพันธมิตรของเราเหล่านี้จะสามารถช่วยสนับสนุนให้ตำรวจแห่งชาติสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้”
อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้สหรัฐฯปฏิเสธคำร้องขอของทางเฮติ ส่วนสหประชาชาติจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสียก่อน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ใดๆในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปช่วยประชาชนชาวเฮติ
(ที่มา:รอยเตอร์ส/เอเจนซี)