เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - เวลานี้จีนยังคงขาดข้อมูลไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ร้ายแรง แต่ทว่าบริษัทฟาร์มาซูติคอลจีนทั้งซิโนฟาร์ม และซิโนแวคล่าสุดต่างออกมาชี้ว่า แนะนำให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นหลังครบ 2 โดสแรกไปแล้ว ซิโนแวคเปิดเผยกับวอลสตรีทเจอร์นัล ชี้ว่า ทางบริษัทถือเป็นภารกิจสำคัญในการพัฒนาวัคซีนสู้กับไวรัสเดลตา แต่รับอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาในต่างประเทศ
หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานวันศุกร์ (9 ก.ค) ว่า ท่ามกลางการระบาดของไวรัสกายพันธุ์เดลตาที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกในเวลานี้ เป็นต้นว่า อ้างอิงจากการรายงานของ NBC News ในวันเสาร์ (10) แอลเอ เคาน์ตี เห็นการเพิ่มขึ้นของเคสใหม่ 165% ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดเพิ่มมากขึ้นของสายพันธุ์เดลตา
โดย บาร์บารา เฟอร์เรอร์ (Barbara Ferrer) ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขท้องถิ่นของแอลเอ เคาน์ตี กล่าวว่า
"ข้อมูลยิ่งทำให้เกิดความแน่ชัดมากขึ้นว่าวัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการระบาดโรคโควิด-19 และการฟักเชื้อของเชื้อกลายพันธุ์ต่ำ"
อย่างไรก็ตาม ขณะที่วัคซีนโลกตะวันตกชื่อดังเป็นต้นว่า วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค ของสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเหลือแค่ 64% เท่านั้นเมื่อพบกับไวรัสเดลตา ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสโควิด-19 ต้นแบบอยู่ราว 95% แต่ทว่าเมื่อมองกลับไปที่วัคซีนจีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับวัคซีนโลกตะวันตกในผลการศึกษาไวรัสโควิด-19 ต้นแบบ
องค์การอนามัยโลกจัดให้วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันแค่ 51% ขณะที่วัคซีนซิโนฟาร์ม 79% แต่ทว่าวัคซีนจีนเหล่านี้ยังเป็นที่คลุมเคลือในประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา วิตกกังวลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากชาติเหล่านี้ต้องพึ่งพาวัคซีนจีนเป็นส่วนใหญ่และกำลังผจญต่อการระบาดไวรัสเดลตา
วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ปัญหาใหญ่ในเวลานี้ของจีนคือ นักวิจัยขาดข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์เดลตาเนื่องมาจากสายพันธุ์นี้ยังไม่เคยระบาดเป็นวงกว้างในประเทศ อ้างอิงตัวเลขมาจนถึงวันที่ 24 มิ.ย พบว่า.จีนมีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้ว 40% ของประชากรทั้งหมด 1.4 พันล้านคน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาจีนยังไม่เคยอนุมัติให้วัคซีนโควิด-19 จากชาติอื่นๆ สามารถใช้ในประเทศได้แต่ทางรัฐบาลปักกิ่งเลือกที่จะใช้การบังคับใช้มาตรการโควิด-19 แบบเคร่งครัดเป็นมาตรการควบคุม แต่สื่อธุรกิจชี้ว่าปักกิ่งอาจจะต้องประสบปัญหาทันทีหากว่าปักกิ่งตัดสินใจเปิดพรมแดนจากการที่ในเวลานี้ไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดไปกว่า 98 ประเทศทั่วโลกแล้ว
ซึ่งถึงแม้ว่าวัคซีนจีนจะถูกจัดให้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ แต่ทว่า CNBC สื่อสหรัฐฯรายงานวันพฤหัสบดี (8) ว่า นักระบาดวิทยาต่างชี้ว่า ในหลายประเทศวัคซีนจีนถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและท่ามกลางปัญหาวัคซีนโควิด-19 ไม่เพียงพอทำให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยังคงแนะนำว่า ยังสมควรให้ใช้วัคซีนจากจีนต่อไป
วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนทำการวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทางภาคใต้ของจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทซิโนฟาร์มและซิโนแวคต่างกล่าวยืนยันว่า.ในเวลานี้ทางบริษัทกำลังทำการศึกษาไวรัสกลายพันธุ์โควิด-19 รวมถึงผ่านการวิจัยในห้องแล็บ และบริษัทยาฟาร์มาซูติคอลทั้งสองชี้ว่า แนะนำให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันหลังจากฉีดครบ 2 โดสแล้ว
ผู้บริหารทางการตลาดของบริษัทซิโนแวคเปิดเผยเฉพาะกับวอลสตรีทเจอร์นัลว่า ในเวลานี้ซิโนแวคถือเป็นงานหลักในการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนของตัวเองที่มีต่อสายพันธุ์เดลตา และชี้ว่าอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนสำหรับการศึกษาใหม่ในต่างแดน
Newslogic รายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่นักวิจัยจีนยังไม่สามารถรวบรวมการระบาดไวรัสเดลตาภายในจีนได้ทำให้อาจต้องพึ่งการวิจัยในต่างแดน เป็นต้นว่า ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินโดนีเซียที่ต่างใช้วัคซีนจีนอย่างกว้างขวางและในเวลานี้ประสบปัญหากับการระบาดสายพันธุ์เดลตา
เจ้าหน้าที่จีนเคยออกมาชี้ว่า ทางจีนกำลังรับมือกับการกลายพันธุ์ด้วยการใช้ไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีเชื้อตายในการทำวัคซีนซึ่งสามารถปกป้องได้ไม่เกิน 6 เดือน บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจีนแบบ 1 เข็ม คานซิโน ไบโอลอจิคส์ อิงค์ (CanSino Biologics Inc) ที่เริ่มแจกจ่ายวัคซีนไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้นนั้นสามารถรู้ถึงไวรัสเดลตาและเข็มกระตุ้นที่ 2 อ้างอิงจากแหล่งข่าวใกล้ชิด
ส่วนบริษัท Shenzhen Kangtai Biological Products Co ที่ได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉินในจีนเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา และถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวที่ 6 ของประเทศ ได้แถลงในเดือนที่ผ่านมาว่า กำลังร่วมมือกับโรงพยาบาลในเมืองเซินเจิ้นเพื่อพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสู้กับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ของโควิด-19 ได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือนในการที่จะเริ่มต้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เร็วกว่าของเดิมก่อนหน้า ซึ่งทางบริษัทใช้เทคโนโลยีเชื้อตายเช่นเดียวกันกับวัคซีนรายอื่นๆ ของจีน และนำออกใช้ก่อนที่มีการเปิดเผยผลการพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีน