xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เอเชีย-แปซิฟิกฟื้นคุมเข้มสกัดโควิดสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ออสซี่ล็อกดาวน์-เตือน ‘อินโดนีเซีย’ ใกล้หายนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ ‘เดลตา’ ทำให้หลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกต้องฟื้นคำสั่งล็อกดาวน์หรือกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ในอินโดนีเซียเสี่ยงเข้าขั้น “หายนะ” ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงต่อเนื่อง

ในขณะที่ประเทศร่ำรวยระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรจนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง และคนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ แต่ยังมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่าเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และบางสายพันธุ์สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว หมายความว่าสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ยังห่างไกลจากคำว่า “สิ้นสุด”

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา แต่การอุบัติขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่พบเป็นครั้งแรกในอินเดียมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซียเรื่อยไปจนถึงรัสเซีย

ตามข้อมูลจาก WHO เวลานี้พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์เดลตาแล้วในอย่างน้อย 96 ประเทศและดินแดนทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบว่าโควิดสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ ‘อัลฟา’ ที่พบในอังกฤษเมื่อปีที่แล้วถึง 55% และด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์ว่าเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้อาจจะกลายเป็น “สายพันธุ์หลัก” ของโลกภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

รัสเซียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นสถิติใหม่ 669 รายในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (30) โดยตัวเลขที่น่าห่วงนี้มีขึ้นเพียง 2 วันก่อนที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะเป็นเจ้าภาพบอลยูโร 2020 รอบ quarter-final ในวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีแฟนบอลทั้งรัสเซียและต่างชาติเข้าชมการแข่งขันถึง 26,000 คน

จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในรัสเซียยังอยู่แค่ราวๆ 15% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนฟรีมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และทำให้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ต้องออกมาเรียกร้องให้ประชาชนที่ยังลังเลสงสัยรีบไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปูติน ยืนยันว่าตนไม่สนับสนุนมาตรการบังคับฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นนโยบายที่กรุงมอสโกและอีกหลายภูมิภาคนำมาใช้กับแรงงานบางประเภท เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

ชาวอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตานำถังออกซิเจนมาเติมที่ร้าน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
โควิดสายพันธุ์เดลตายังนำมาสู่การระบาดแบบ “คลัสเตอร์” ในหลายเมืองของออสเตรเลีย โดยเมื่อวันพุธ (30) เมืองอลิซสปริงส์ (Alice Springs) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางทวีปออสเตรเลียกลายเป็นพื้นที่ล่าสุดที่ต้องมีการประกาศล็อกดาวน์ ตามหลังอีก 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ ซิดนีย์, บริสเบน, เพิร์ท และดาร์วิน

ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียเน้นใช้วิธีควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด และบังคับกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าการจัดหาและกระจายวัคซีนกลับเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเวลานี้มีพลเมืองออสซี่เพียง 5% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส

อินโดนีเซียประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดเกาะบาหลีรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะรอจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศเตือนสถานการณ์การระบาดในแดนอิเหนาใกล้เข้าขั้น ‘หายนะ’ โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 20,000 คน อันเป็นผลจากการแพร่กระจายเข้ามาของโควิดสายพันธุ์เดลตา

แม้อินโดนีเซียจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรมาตั้งแต่เดือน ม.ค. ทว่าจนถึงตอนนี้เพิ่งจะมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 13.3 ล้านคน จากเป้าหมาย 181.5 ล้านคนที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (27) พบว่า โรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงล้วนแต่เผชิญวิกฤตคนไข้ล้นมือ รวมถึงในกรุงจาการ์ตาที่เตียงแยกผู้ป่วยเดี่ยวถูกใช้งานไปแล้วมากกว่า 93%

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าราคาถังออกซิเจนในกรุงจาการ์ตาพุ่งพรวดกว่า 2 เท่าตัว จากราคาปกติที่ 50 ดอลลาร์เพิ่มเป็น 140 ดอลลาร์ และมีซัพพลายเออร์บางรายที่ประกาศขาดแคลนสินค้าแล้วในวันอังคาร (29)

ทางด้านฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต สั่งต่ออายุมาตรการจำกัดการเดินทางและการทำธุรกิจในกรุงมะนิลาและพื้นที่ใกล้เคียงออกไปจนถึงกลางเดือน ก.ค. และให้คงมาตรการยกระดับการสกัดไวรัสใน 21 เมืองและจังหวัดต่อไปอีก รวมถึงขยายมาตรการแบนการเดินทางจากโอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียใต้

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.4 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 24,000 คน ฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในทวีปเอเชีย

ด้านมาเลเซียได้ประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ “แบบไม่มีกำหนด” ไปจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง และให้ต่ออายุมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากรจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมโควิด-19

อิสมาอิล ซาบรี ยาโกบ รัฐมนตรีอาวุโสฝ่ายความมั่นคงและกลาโหมของมาเลเซีย แถลงในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลจะยังคงมาตรการควบคุมโควิด-19 ในเฟสที่ 1 เอาไว้ พร้อมกำหนดเกณฑ์ 3 ข้อสำหรับพิจารณาปรนมาตรการล็อกดาวน์ ได้แก่ จำนวนผู้ป่วยรายวันต้องลดลงเหลือไม่ถึง 4,000 ราย, มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนักอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และมีประชาชนที่รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วอย่างน้อย 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

เจ้าหน้าที่ช่วยกันขนร่างผู้เสียชีวิตไปฝังในที่ดินซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจัดสรรเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในกรุงจาการ์ตา
ในส่วนของกัมพูชา ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายวันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จนถึงระดับที่รัฐบาลเรียกว่า ‘เส้นแดง’ ซึ่งนับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศจนถึงตอนนี้ โดยจากข้อมูลเมื่อวันพุธ (30) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 1,130 คน และเสียชีวิต 27 คน ทำให้ยอดติดเชื้อยืนยันสะสมในประเทศขยับเพิ่มเป็นกว่า 50,000 คน และเสียชีวิตรวม 602 คน

อย่างไรก็ดี กัมพูชาถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควรในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยมีประชาชนที่เข้ารับฉีดวัคซีนแล้ว 4.1 ล้านคน จากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 10 ล้านคน

สำหรับเวียดนาม มีรายงานว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวที่ 6.61% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติแห่งชาติยังเตือนว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในบางพื้นที่ยังเป็นความท้าทายและความเสี่ยงสำหรับประเทศในการที่จะบรรลุเป้าหมายต่อสู้กับโรคระบาด พร้อมๆ กับพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

เวียดนามมีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมกว่า 16,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 78 คน โดนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย. จากเขตพื้นที่อุตสาหกรรมทางภาคเหนือ ก่อนจะแพร่กระจายไปยังนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางธุรกิจภาคใต้

ข้อจำกัดและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกประกาศใช้ในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่เดือนพ.ค. และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีประชากรเพียง 3% จากทั้งหมดเกือบ 100 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

ทางด้านเกาหลีเหนือก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยสำนักข่าว KCNA ของเปียงยางรายงานเมื่อวันพุธ (30) ว่า ผู้นำ คิม จองอึน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเพื่อตำหนิความ “ล้มเหลว” ในมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทำให้ประเทศต้องเผชิญกับ “วิกฤตที่ใหญ่หลวง” อีกทั้งยังสั่งปลดเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคน ซึ่งนักวิเคราะห์ตีความว่าอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเชื้อไวรัสได้เล็ดลอดข้ามแดนเข้าไปยังเกาหลีเหนือแล้ว

เกาหลีเหนือประกาศปิดพรมแดนตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2020 เพื่อปกป้องพลเมืองของตนจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นในจีน และจนถึงตอนนี้เกาหลีเหนือยังคงมีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันเป็น “ศูนย์” ทั้งในข้อมูลจากสื่อของรัฐ และสถิติการตรวจที่เปิดเผยต่อองค์การอนามัยโลก (WHO)

อันห์ ชานอิล อดีตผู้ลี้ภัยโสมแดงซึ่งผันตัวมาเป็นนักวิจัยด้านเกาหลีเหนือ ให้ความเห็นว่า รายงานของ KCNA บ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือน่าจะพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศแล้ว และอาจกำลังต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลคงไม่ยอมให้มีการเสนอข่าวที่เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่ามาตรการควบคุมโรคระบาดล้มเหลว

ด้วยระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ บวกกับมาตรการแซงก์ชั่นจากนานาชาติ หากเกาหลีเหนือเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัส

เกาหลีเหนือเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ยังไม่ได้เริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนของตนเองเลย โดยอีก 4 ประเทศ ได้แก่ บุรุนดี, เอริเทรีย, เฮติ และแทนซาเนีย

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุว่า โครงการกระจายวัคซีน Covax ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนให้สามารถเข้าถึงวัคซีนนั้น ล่าสุดมีการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศที่เข้าร่วม 133 ประเทศและดินแดน รวมทั้งสิ้น 89 ล้านโดส ทว่าวัคซีนในสต็อกหมดเกลี้ยงลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังล้มเหลวในการต่อสู้กับโควิด-19



ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)
กำลังโหลดความคิดเห็น