xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์หน้าบาน! สหรัฐฯชมเปาะ “ไทย” มีความพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ลดชั้น “สวิตเซอร์แลนด์-นอร์เวย์-นิวซีแลนด์-โปรตุเกส” ตกเทียร์ 1 ในรายงานประจำปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี/MGRออนไลน์ – กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯเมื่อวานนี้(1 ก.ค)ขึ้นบัญชีดำชั้นเทียร์3 จำนวน17 ประเทศรวมมาเลเซีย จีน พม่า และรัสเซีย ประเด็นล้มเหลวต่อต้านการลักลอบการค้ามนุษย์ พร้อมเตือนหากไม่เร่งปรับปรุงอาจเจอคว่ำบาตรลงโทษ ขณะที่ 6 ชาติพันธมิตรรวม สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และโปรตุเกส หลุดจากเทียร์ 1 ไปอยู่เทียร์ 2 หลังความพยายามไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนไทยถูกจัดในชั้น เทียร์ 2 วอชลิสต์ ชี้มีความพยายามอย่างเด่นชัดในการแก้ปัญหา

เอพีรายงานเมื่อวานนี้(1 ก.ค)ว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯออกรายงานประจำปี Trafficking in Persons เกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์ทั่วโลกที่ระบุว่าโรคโควิด-19ระบาดเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มของ “การใช้มนุษย์เยี่ยงทาส” ช่วงระหว่างปี 2020 – ปี 2021

รายงานมีรายละเอียดรวม 188 ประเทศและดินแดนทั่วโลกที่กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19ผลักดันให้ผู้คนหลายล้านคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกเอารัดเอาเปรียบและทำให้รัฐบาลต้องหันเหความสนใจจากความพยายามการต่อสู้การลักลอบค้ามนุษย์

ในรายงานระบุว่า 17 ชาติที่ส่วนใหญ่เป็นชาติเผด็จการถูกจัดอยู่ในเทียร์ 3 เพราะล้มเหลวที่ไม่สามารถเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการหยุดสิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เรียกว่า “วงจรอุบาทของการกีดกันและความไม่เป็นธรรม”

การถูกขึ้นบัญชีดำในชั้นเทียร์ 3 นี้หมายความว่าหากว่าไม่ได้รับการยกเว้นจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้อาจสูญเสียสิทธิการได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แต่ทว่าการตัดสินใจถึงการลงโทษจะมีขึ้นภายหลังในปีนี้

บลิงเคนกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “มันเป็นวิกฤตระดับโลก มันเป็นแหล่งมหาศาลของการลักลอบค้ามนุษย์” โดยเขาอ้างอิงไปถึงเกือบ 25 ล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อ

“อาชญากรพวกนี้เป็นการหมิ่นศักดิศรีต่อสิทธิมนุษยชน มันเป็นการหมิ่นศักดิศรีต่อศักดิศรีความเป็นมนุษย์”

เอพีรายงานว่า 17 ชาติที่ถูกจัดลงในเทียร์ 3 ทั้งหมดนั้นมี 2 ชาติน้องใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือ มาเลเซีย และ กินี-บิสเซา (Guinea-Bissau) ในแอฟริกาตะวันตก ส่วนอีก 15 ชาตินั้นมีรายนามดังนี้ อัฟกานิสถาน อัลจีเรีย พม่า จีน คอโมรอสในแอฟริกาตะวันออก คิวบา เอริเทรีย อิหร่าน นิการากัว เกาหลีเหนือ รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน และเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตามพบว่ามีหลายชาติในกลุ่มนี้ได้ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรก่อนหน้าด้วยเหตุผลอื่นก่อนแล้ว

และในเวลาเดียวกันมี 6 ชาติที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯตกชั้นจากเทียร์ 1 ที่ถือว่าดีที่สุดมาอยู่ที่เทียร์ 2 ได้แก่ อิสราเอล ไซปรัส นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากรัฐบาลชาติเหล่านี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติในการต่อสู้การลักลอบค้ามนุษย์แต่ยังมีความพยายามอย่างเด่นชัดในการแก้ปัญหา ไม่มีบทลงโทษสำหรับกลุ่มเทียร์ 2

สำหรับในส่วนของนิวซีแลนด์นั้นในรายงานระบุไปถึงปัญหาแรงงานเถื่อนและบทลงโทษที่เบาเกินไปสำหรับโสเภณีเด็ก ขณะที่นอร์เวย์ในรายงานได้ชี้ไปถึงปัญหาความไม่พยายามในการดำเนินคดีการลักลอบค้ามนุษย์และการตั้งข้อหาในกลุ่มผู้กระทำผิดอ่อนเกินไป

และโปรตุเกสในรายงานถูกชี้ในประเด็นล้มเหลวในการชี้ตัวเหยื่อและปราศจากมาตรการป้องกันทางกฎหมายเพื่อปกป้องเหยื่อกลุ่มการค้ามนุษย์

ที่สำคัญในรายงานฉบับนี้ เอพีกล่าวว่า ตุรกีถูกระบุว่าเป็นชาติที่ให้การสนับสนุนด้านปฎิบัติการ อุปกรณ์ และการเงินแก่กลุ่มติดอาวุธในซีเรียที่รับสมัครทหารเด็ก

สหรัฐฯวิจารณ์ตุรกีและอีก 14 ชาติรวมถึงอัฟกานิสถานและปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในสถานะเดียวกันและอาจจะส่งผลทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯในด้านการฝึกฝนทางการทหาร

MGRออนไลน์ได้เห็นรายงานฉบับนี้ที่ลงอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯพบว่ามีกลุ่ม "เทียร์ 2 วอช ลิสต์" ( TIER 2 WATCH LIST)หรือ กลุ่มที่ถูกจัดในเทียร์ 2 แต่ถูกสั่งให้เฝ้าจับตา ซึ่ง "ไทย" รวมอยู่ในกลุ่มและนอกจากนี้ยังมี ฮ่องกง บรูไน ไอร์แลนด์ กัมพูชา เวียดนาม ภูฏาน และปากีสถาน รวมอยู่ด้วยเป็นต้น

โดยในส่วนของไทยในรายงานระบุว่า ยังไม่สามารถทำตามมาตรฐานสากลได้แต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เด่นชัดในการแก้ไขโดยเพิ่มมาตรการปรับปรุงในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนสังคมในการสอบสวนการค้ามนุษย์และการปกป้องเหยื่อ แต่ในภาพรวมรัฐบาลไทยยังไม่แสดงความพยายามมากพอเมื่อเทียบกับรายงานก่อนหน้่าถึงแม้จะพิจารณาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นว่า รัฐบาลไทยมีการสอบสวนการค้ามนุษย์ลดลง ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยลดลง และการลงโทษเอาผิดผู้ต้องหาค้ามนุษย์น้่อยกว่าในปี 2019

ซึ่งสำหรับในประเด็นแรงงานบังคับ ในรายงานระบุว่า รัฐบาลไทยแถลงถึงจำนวนที่ต่ำของเหยื่อแรงงานค้ามนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของปัญหาที่กว้างที่ถูกรายงานอย่างแพร่หลายถึงแรงงานบังคับเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในหลายภาคอุตสาหกรรมของไทย

โดยในปี 2020 พบว่าไทยรายงานการสอบสวนคดีที่มีความเป็นไปได้ในการลักลอบค้ามนุษย์จำนวน 132 คดี เทียบกับ 288 คดีในปี 2019 ดำเนินคดีทางอาญาผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์จำนวน 302 คน เทียบกับปี 2019 386 คน และลงโทษผู้ต้องหาค้ามนุษย์จำนวน 233 คน เทียบกับปี 2019 304 คน ในรายละเอียดยังชี้ว่าศาลยุติธรรมตัดสินลงโทษราว 76% ของจำนวนผู้ต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ในอัตราจำคุก 2 ปีขึ้นไป

ขณะที่เทียร์ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศในการต่อสู้่กับการลักลอบค้ามนุษย์ที่พบว่า ส่วนใหญ่เป็นชาติตะวันตกที่ร่ำรวยรวม สหรัฐฯ แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ถูกขึ้นบัญชีในกลุ่มเทียร์ 1 นี้เช่นกัน










กำลังโหลดความคิดเห็น