xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่คิงซาอุฯ ผู้ถูกระบุว่าสั่งฆ่านักข่าว เดินหน้ารีเซตประเพณีเข้มแห่งศาสนา พลิกโฉม ศก.พาพลังสตรีพุ่งแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammed bin Salman) ทรงเป็นองค์แชมเปียนแห่งกระแสปฏิรูปซาอุดีอาระเบีย พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์แก่รายการ 60 Minutes เมื่อเดือนกันยายน 2019 ณ พระราชฐานในกรุงริยาด (ออกอากาศทั่วโลกในวันที่ 29 ก.ย. 2019) ทั้งนี้ ทรงตอบทุกคำถามหนักหน่วงจากผู้สัมภาษณ์คนดัง คือ นอราห์ โอดอนเนลล์ นักข่าวโทรทัศน์อเมริกันค่ายซีบีเอส อาทิ คำถามว่าพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้สังหารจามาล คาช็อกกี หรือไม่ (นักข่าวซาอุดี ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ และเป็นคอลัมนิสต์ของวอชิงตัน โพสต์ สื่อเจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยเขียนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในซาอุฯ แบบเจาะลึก) ในการนี้ ทรงตอบว่าไม่อย่างแน่นอน และดำรัสผ่านล่ามแปลภาษาด้วยว่า “นี่เป็นความผิดพลาด” (This was a mistake.)
เสียงเรียกละหมาดที่กระหึ่มกึกก้องผ่านลำโพงของมัสยิดจำนวนมากมายภายในซาอุดีอาระเบีย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ดำเนินมาช้านานในราชอาณาจักรแห่งศาสนาอิสลาม แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อรัฐบาลซาอุดี สั่งให้ทุกมัสยิดลดระดับเสียงลงเหลือหนึ่งในสามของศักยภาพสูงสุดที่ลำโพงสามารถดังได้

นี่เป็นการรุกคืบครั้งใหญ่ในกระแสปฏิรูปของรัฐบาลซาอุดี ซึ่งนำมาบังคับใช้และส่งผลกระทบกระแทกไปถึงประเพณีและวัฒนธรรมอันเคร่งครัดของประเทศ โดยกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้มุ่งปรับภาพลักษณ์อันเคร่งขรึมของราชอาณาจักร เพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ในอันที่จะเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถแตกแขนงออกจากกระบวนวิธีเดิม อันได้แก่ การพึ่งพิงอยู่กับรายได้จากน้ำมัน

เอเอฟพีนำเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาเจาะลึกความพยายามจัดกระบวนประเทศกันใหม่ แบบว่า “รีเซต” กันอย่างเอาจริงเอาจังและจะไม่รีบเร่ง ซึ่งครอบคลุมถึงมิติของวัฒนธรรมและประเพณี โดยไม่ละเว้นกระทั่งประเพณีทางศาสนา ภายในหลายทศวรรษที่พลังของนักการศาสนาอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ตลอดที่ผ่านมา ซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ได้มีความแนบแน่นกับกลุ่มผู้นำศาสนาสาย วะฮาบีย์ ซึ่งส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายยักษ์ของโลกแห่งนี้ หยั่งรากลึกอยู่ในแนวทางอนุรักษนิยม

แต่บทบาทของผู้นำฝ่ายศาสนาก็ต้องเผชิญกับกระแสแห่งการรีเซต เนื่องจาก มกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman ซึ่งทรงได้รับการเรียกขานเป็นพระฉายาเท่ๆ ว่า MBS) ทรงมุ่งมั่นจะขยายเศรษฐกิจของซาอุฯ ออกมาจากการพึ่งพิงอยู่กับน้ำมัน และจึงเดินหน้าเปิดเสรีประเทศคู่ขนานกับการปราบผู้คัดค้าน

วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ได้ระบาดเข้าสู่ซาอุฯ ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2020 ส่งผลให้รัฐบาลซาอุดี ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลซาอุดี ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้แสวงบุญจากต่างประเทศเข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2020 ได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวต่อเนื่องในปี 2021 พร้อมกำหนดว่าประชาชนในซาอุฯ ที่จะได้สิทธิลงทะเบียนเข้าร่วมพิธีในปีนี้ จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 60,000 รายเท่านั้น ในภาพนี้ เป็นบรรยากาศขณะประกอบพิธีอุมเราะห์ที่มัสยิดอัลฮะรอม นครเมกกะ ซึ่งมีการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2020 (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวซาอุดีเพรสของรัฐบาลซาอุฯ)

ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดภายในซาอุฯ มีการสั่งปิดมัสยิดเป็นบางช่วง และเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็เปิดให้ประชาชนเข้าละหมาดในมัสยิดได้โดยให้มีการสวมหน้ากาก และจัดระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ในภาพนี้ เป็นบรรยากาศรอเวลาสวดมนต์วันศุกร์ในมัสยิดอันนะบาวี นครเมดินา ซึ่งมีการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2020 (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวซาอุดีเพรสของรัฐบาลซาอุดี)  ช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ซาอุฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกือบ 4.9 แสนราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,700 ราย แต่ซาอุฯ รณรงค์ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนได้มากเป็นอันดับ 21 ของโลก โดยมีการแจกวัคซีนไปแล้วไม่น้อยกว่า 16.9 โดส
มาตรการความเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นประเด็นร้อน

การละเลิกธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งรัฐบาลซาอุดี สั่งการเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แตะต้องไปถึงหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญทางศาสนา กล่าวคือ การสั่งให้ลำโพงของมัสยิดทั้งปวงดังได้ไม่เกินหนึ่งในสามของศักยภาพสูงสุดของตัวลำโพง และไม่ให้กระจายเสียงตลอดพิธี ในการนี้ เอเอฟพีระบุว่าในคำสั่งได้แสดงความกังวลถึงปัญหามลพิษทางเสียง (Voice Pollution)

ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนสำหรับประเทศซึ่งมีมัสยิดตั้งอยู่เป็นจำนวนหลายหมื่นแห่ง ดังนั้น การโต้ตอบผ่านช่องทางออนไลน์จึงผุดขึ้น ได้แก่ กระแสแฮชแท็กอันทรงพลัง “เราต้องการลำโพงของมัสยิดกลับคืน” โดยฝ่ายการศาสนาชี้ว่าต้องเปิดลำโพงให้ดังเพื่อพี่น้องที่สวดมนต์กันอยู่ด้านนอกมัสยิด

คลื่นแห่งการโต้ตอบลุกลามไปเล่นงานความเปลี่ยนแปลงเชิงเปิดเสรีอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ เรียกร้องให้แบนเสียงดนตรีที่เปิดกันดังสนั่นตามร้านอาหารและภัตตาคารทั้งปวง ทั้งนี้ การเปิดดนตรีในร้านอาหารเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในราชอาณาจักรซาอุฯ แต่ในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องดาษดื่นตามกระแสเปิดเสรี

แม้จะมีแรงโต้ตอบจากฝ่ายการศาสนา แต่หน่วยงานภาครัฐมิได้มีท่าทีจะตอบสนอง ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ต่างๆ ชี้กันว่า การปฏิรูปทางเศรษฐกิจในยุคที่รายได้จากการขายน้ำมันไม่ฟู่ฟ่าแล้ว มีความสำคัญมากกว่าเรื่องศาสนา เอเอฟพีรายงานอย่างนั้น

“ประเทศซาอุฯ อยู่ระหว่างการเร่งปรับกระบวนโครงสร้างพื้นฐานครับ” อาซิส อัลกาชีอัน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอสเซกส์ กล่าวกับเอเอฟพี และชี้ว่า

“ซาอุฯ ในขณะนี้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยประเด็นทางเศรษฐกิจ และก็เร่งทุ่มเทเปลี่ยนแปลงให้เป็นประเทศที่น่ากลัวน้อยลงและสามารถดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว”

ในระหว่างการออกรายการ 60 Minutes มกุฎราชกุมารซาอุดีทรงกล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในซาอุฯ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ สองปีผ่านไปแต่สตรีส่วนใหญ่ยังปกคลุมใบหน้าอยู่เลย กระนั้นก็ตาม กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบผู้คุ้มครองชายมีอำนาจเหนือสตรีในเรื่องสำคัญมากมายนั้น ได้ถูกปรับลดลงมา เช่นการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้สตรีชาวซาอุดีได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และสามารถยื่นขอจัดทำหนังสือเดินทางโดยไม่ต้องมีใบยินยอมอนุญาตจากบุรุษผู้คุ้มครอง (ภาพเมื่อพฤศจิกายน 2019 พระราชทานแก่สื่อมวลชน)
องค์แชมเปียนแห่งกระแสปฏิรูป

เมื่อซีบีเอสนิวส์ (CBS News) สื่อยักษ์อเมริกัน นำบทสัมภาษณ์ที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดี พระราชทานแก่รายการ 60 Minutes ขึ้นเสนอบนเว็บไซต์ข่าวของตนในวันที่ 29 กันยายน 2019 นั้น ซีบีเอสรายงานว่า มกุฎราชกุมารซาอุดี ทรงบริหารราชการแผ่นดินทุกวันในฐานะตัวแทนแห่งสมเด็จพระราชาธิบดี และทรงเป็นผู้ที่มีคุณลักษณ์ขัดแย้งกันเอง

ขณะที่ทรงมีภาพลักษณ์แห่งผู้นำรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าซึ่งสนับสนุนสตรีให้มีบทบาทในหน้าที่การงาน แต่ก็ทรงทำสงครามนองเลือดในเยเมน และปราบปรามผู้ที่ออกมาต่อต้านทางการเมือง ทั้งนี้ ซีไอเอจัดทำรายงานว่าทรงอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับนักข่าวซาอุดี นาม จามาล คาช็อกกี ผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของพระองค์อย่างรุนแรง จนกระทั่งถูกทางการซาอุฯ เล่นงาน และได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2017 โดยได้เป็นคอลัมนิสต์ของวอชิงตัน โพสต์ สื่ออเมริกันเจ้าใหญ่ สืบมาจนกระทั่งถูกฆาตกรรมในสถานกงสุลซาอุฯในนครอิสตันบูล ตุรกีเมื่อปี 2019

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นพระโอรสพระองค์โปรดของพระราชบิดา ทรงได้รับตำแหน่งอันเปี่ยมล้นด้วยอำนาจนี้ ทั้งที่ เป็นพระโอรสในพระมเหสีลำดับที่สาม ทั้งนี้ ทรงมีพระเชษฐาต่างพระมารดาเป็นจำนวนถึง 5 พระองค์

ในการนี้ พระองค์ได้ถวายงานใกล้ชิดพระราชบิดาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งพระราชบิดายังมิได้เป็นมกุฏราชกุมารและยังทรงรับราชการเป็นผู้ว่าการกรุงริยาด ในเวลาต่อมา บทบาทของพระองค์โดดเด่นมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่พระราชบิดาทรงก้าวขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารในปี 2012

ในปี 2010 ช่วงที่พระราชาธิบดีซัลมานยังทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายและรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าการกรุงริยาด ได้เสด็จเยือนประเทศมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ และทรงโปรดให้พระราชโอรสโมฮัมเหม็ดโดยเสด็จร่วมไปในคณะด้วย (ภาพกลางและภาพล่าง)
บีบีซีรายงานว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงเข้าสู่ยุคเรืองอำนาจอย่างแท้จริงในปี 2013 หลังจากที่พระบิดาได้ขึ้นสู่ตำแหน่งมกุฎราชกุมารแล้วหลายไตรมาส โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีผู้เป็นประธานสำนักงานมกุฎราชกุมารของพระราชบิดา ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระราชบิดาได้เถลิงราชสมบัติเป็นพระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบีย ในปี 2015 พระราชบิดาก็ทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ณ พระชันษาเพียง 30 ปี ต่อด้วยตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อาทิ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่สอง และประธานสภากิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา

ดังนั้น พระองค์จึงได้ถวายงานพระราชบิดาในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ควบคู่กับด้านอื่นๆ รวมถึงการทำสงครามเยเมน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ประเทศที่ขัดแย้งร้าวลึกกับซาอุฯ ภายในเวลาปีเศษ ในเดือนเมษายน 2015  พระองค์ทรงออกมาประกาศวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระะเบีย 2030

พระราชาธิบดีซัลมานในช่วงที่ยังทรงเป็นเจ้าชายในพระชันษายี่สิบกว่าปีเท่านั้น
วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030

Saudi Vision 2030 ระบุทิศทางอนาคตชัดเจนที่จะลดการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมัน และสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย พร้อมกับพัฒนาภาคบริการสาธารณะ อาทิ สาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจบันเทิง และการท่องเที่ยว

เป้าหมายหลักของวิชัน คือ จะเสริมแกร่งให้แก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน จะขยายธุรกิจระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ด้านน้ำมัน และจะโปรโมตภาพลักษณ์ของประเทศให้นุ่มนวลมากขึ้นและเพิ่มภาพลักษณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านศาสนา

ในวันที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงแถลงรายละเอียดของวิสัยทัศน์ประเทศ ณ  25 เมษายน 2016 นั้น คณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้สภากิจการเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ทรงเป็นประธาน ทำการกำหนดเครื่องมือและมาตรการที่จำเป็นแก่การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงขึ้นมา

หกปีผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงและการอุบัติขึ้นของสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

**การสร้างพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเปิดโอกาสให้พลังของสตรีที่ถูกกดบทบาทตามวัฒนธรรมดั้งเดิม ได้เข้าไปร่วมขับเคลื่อนประเทศ
**การออกกฎหมายหลายฉบับที่เปิดเสรีให้แก่สตรีซาอุดี ออกจากระบบผู้ชายเป็นใหญ่ ระบบที่สตรีทุกคนต้องมีผู้คุ้มครองที่เป็นบุรุษผู้ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจแทนในเรื่องสำคัญต่างๆ **การนำเม็ดเงินอันมหาศาลภายในประเทศซึ่งนอนนิ่งๆ พึ่งพิงกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรและดอกเบี้ยเงินฝาก ให้มาทำงานเพื่อพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดังนั้น เม็ดเงินเหล่านี้จึงได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิม และยังช่วยสร้างงานป้อนสู่ตลาดแรงงาน ผลดีจึงเกิดเป็นการเติบโตก้าวกระโดดของประเทศ
**การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศผ่านหลายภาคธุรกิจ อาทิ การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว บันเทิง กีฬา และการพักผ่อนหย่อนใจสมัยใหม่

นูร์ อัลทามีมิ ผู้หญิงเก่งซาอุดี ผู้สร้างธุรกิจรองเท้าผ้าใบภายใต้แบรนด์ของตนเอง คือ “นู โปรเจ็กต์” (Nou Project) ขึ้นมาในปี 2017 และประสบความสำเร็จอยู่ในอังกฤษ ยูเออี และสหรัฐอเมริกา แบรนด์ของเธอได้เป็นหนึ่งในท็อป10 สุดยอดแบรนด์แห่งตะวันออกกลางที่ถูกสร้างและประสบความสำเร็จขึ้นมาโดยสตรีซาอุดี
กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันการโปรโมตภาพลักษณ์ของประเทศให้นุ่มนวลมากขึ้นและเพิ่มมิติที่ไม่ใช่ด้านศาสนาก็เกิดขึ้นจริง พร้อมกันนั้น การเปิดโอกาสให้สตรีชาวซาอุดี ได้ใช้ศักยภาพเต็มความสามารถก็ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรแห่งระบบที่บุรุษเป็นใหญ่ และสตรีต้องได้รับอนุญาตจากบุรุษที่เป็นผู้คุ้มครอง อย่างที่ไม่เคยมีใครเชื่อว่าสตรีซาอุดี จะได้รับโอกาสเหล่านี้

ในการนี้ ในเดือนตุลาคม 2017 เจ้าชายมกุฎราชกุมารทรงกล่าวชัดเจนว่าจะทรงนำให้ซาอุฯได้เริ่มที่จะ “กลับสู่สิ่งที่เคยเป็นมา ได้แก่ การเป็นประเทศอิสลามสายกลางซึ่งเปิดกว้างแก่ทุกศาสนาและเปิดกว้างแก่โลกทั้งมวล” เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแห่งซาอุดีอาระเบีย บันทึกไว้อย่างนั้นในหัวเรื่อง Kingdom a country of moderate Islam

นอกจากนั้น บทความของบลูมเบิร์ก เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 รายงานว่า พระองค์ทรงแจ้งต่อผู้นำศาสนาในซาอุฯ ว่าข้อตกลงที่ราชวงศ์ให้ไว้กับบรรดาผู้นำศาสนาหลังวิกฤตการณ์ยึดมัสยิดอัลฮารอม ปี 1979 นั้น จะต้องนำมาเจรจากันใหม่!!

อุตสาหกรรมบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจขนาดยักษ์เป็นหนึ่งในธุรกิจสร้างรายได้ตัวหลักของซาอุฯ ในกรอบวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ดังนั้น ซาอุฯเร่งสร้างเมกะโปรเจ็กต์ “อัลกิดดียา” (Project Al Qiddiya) ที่จะเป็นแหล่งสันทนาการ-วัฒนธรรม-การกีฬาขนาดใหญ่ยักษ์ที่สุดโครงการหนึ่งของโลกบนพื้นที่ 367 ตร.กม.ของชานกรุงริยาด พร้อมเครื่องเล่นทำลายสถิติโลกทั้งปวง เช่น รถไฟเหาะตีลังกา “ฟาลคอนส์ไฟล์ท” เร็วที่สุด (250 กม./ชม.) สูงที่สุด และยาวที่สุด (4 กม.) ในโลก โดยตั้งเป้าจะให้เป็นเมืองหลวงแห่งการพักผ่อนบันเทิง กีฬา และศิลปะ เพื่อดูดเม็ดเงินมหาศาลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และของครัวเรือนซาอุดีเข้าไปขยายการเติบโตของระบบเศรษฐกิจซาอุฯ แทนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศอื่น อัลกิดดียามีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2023

นูร์ อัลทามีมิ ผู้หญิงเก่งซาอุดี ผู้สร้างธุรกิจรองเท้าผ้าใบภายใต้แบรนด์ของตนเอง คือ “นู โปรเจกต์” (Nou Project) ขึ้นมาในปี 2017 และประสบความสำเร็จอยู่ในอังกฤษ ยูเออี และสหรัฐอเมริกา แบรนด์ของเธอได้เป็นหนึ่งในท็อป10 สุดยอดแบรนด์แห่งตะวันออกกลางที่ถูกสร้างและประสบความสำเร็จขึ้นมาโดยสตรีซาอุดี
กระแสปฏิรูป-เปิดเสรีสู่ความทันสมัยและธุรกิจใหม่ๆ พร้อมมอบโอกาสแก่พลังแห่งอิสตรี

**เมษายน 2016 หลังประกาศวิสัยทัศน์ 2030 มาตรการชุดใหญ่ถูกนำมาดำเนินการ ดังนี้
- การกำหนดภาษีใหม่
- การหั่นลดงบอุดหนุนต่างๆ
- การหั่นลดงบประมาณแผ่นดิน
- การประกาศแผนสร้างความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจ
- การสถาปนากองทุนความมั่งคั่งแห่งซาอุดีอาระเบีย หรือ Saudi Sovereign Wealth Fund (SWF) มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระดมทุนจากการขายหุ้นของบริษัท ซาอุดี อารามโก ยักษ์ใหญ่แห่งโลกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมาทำซูเปอร์ไอพีโอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธันวาคม 2019
- การนำเม็ดเงินจากหุ้นซาอุดี อารามโก ไปลงทุนในเซ็กเตอร์ธุรกิจใหม่ๆ
- การปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ภายใต้โปรแกรมแปลงโฉมชาติ

**กุมภาพันธ์ 2017 ซาราห์ อัล-ซูไฮมี เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ซาอุดี เธอมีประสบการณ์โดดเด่นในอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุนก่อนจะสำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สกูล ในปี 2015

**เมษายน 2017 มกุฎราชกุมารซาอุดีประกาศเมกะโปรเจกต์อัลกิดดียา (Project Al Qiddiya) ที่จะเป็นโครงการด้านสันทนาการ-วัฒนธรรม-การกีฬาขนาดใหญ่ยักษ์ที่สุดโครงการหนึ่งของโลก ประกอบด้วย ธีมปาร์ก Six Flags สุดยอดโด่งดังของสหรัฐฯ พร้อมซาฟารีและเครื่องเล่นมหึมาสำหรับสามฤดูกาลมากกว่า 300 ประเภท บนพื้นที่ 334 ตร.กม. ในย่านตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงริยาด โครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ 2030 โดยมุ่งให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศให้จับจ่ายใช้สอยสนุกสนาน เพื่อให้รายได้มหาศาลเล่านี้มากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการนี้เดินหน้าก่อสร้างตั้งแต่ปี 2019 และมีกำหนดเปิดทำการในปี 2023

**กรกฎาคม 2017 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้โรงเรียนรัฐทุกแห่งจัดให้มีวิชาพลศึกษาแก่นักเรียนหญิง การออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันมาโดยตลอด และแม้ไม่ถึงกับห้าม แต่โรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ไม่มีวิชาพลศึกษาสำหรับนักเรียนหญิง ขณะที่โรงเรียนเอกชนแทบทั้งหมดมีวิชานี้กันเป็นปกติ

**กันยายน 2017 ออกกฎหมายยกเลิกการห้ามสตรีขับขี่รถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎเหล็กของวัฒนธรรมประเพณีซาอุดี ที่กำหนดข้อห้ามต่อสตรี โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2018

อุตสาหกรรมบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจขนาดยักษ์เป็นหนึ่งในธุรกิจสร้างรายได้ตัวหลักของซาอุฯ ในกรอบวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ดังนั้น ซาอุฯเร่งสร้างเมกะโปรเจกต์ “อัลกิดดียา” (Project Al Qiddiya) ที่จะเป็นแหล่งสันทนาการ-วัฒนธรรม-การกีฬาขนาดใหญ่ยักษ์ที่สุดโครงการหนึ่งของโลกบนพื้นที่ 367 ตร.กม.ของชานกรุงริยาด พร้อมเครื่องเล่นทำลายสถิติโลกทั้งปวง เช่น รถไฟเหาะตีลังกา “ฟาลคอนส์ไฟลต์” เร็วที่สุด (250 กม./ชม.) สูงที่สุด และยาวที่สุด (4 กม.) ในโลก โดยตั้งเป้าจะให้เป็นเมืองหลวงแห่งการพักผ่อนบันเทิง กีฬา และศิลปะ เพื่อดูดเม็ดเงินมหาศาลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และของครัวเรือนซาอุดีเข้าไปขยายการเติบโตของระบบเศรษฐกิจซาอุฯ แทนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศอื่น อัลกิดดียามีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2023
**ตุลาคม 2017 รัฐบาลประกาศว่าผู้หญิงสามารถเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาได้ 2 แห่ง คือ สนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด ในกรุงริยาด กับสนามกีฬานานาชาติคิงอับดุลเลาะห์สปอร์ตส์ซิตี ในนครเจดดาห์ โดยจะประเดิมกันตั้งแต่แมตช์ระหว่างสโมสรอัลฮิลอัล พบกับสโมสรอัลอิตติฮัด ณ สนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด วันที่ 12 มกราคม 2018

**ธันวาคม 2017 ในอันที่จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ทันสมัยตามวิสัยทัศน์ 2030 สำนักงานการนันทนาการของซาอุฯ จัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกของประเทศ เมื่อ 7 ธันวาคม 2017 ณ ศูนย์วัฒนธรรมคิงฟาฮัด กรุงริยาด โดยจัดให้แก่ผู้เข้าชมสตรี และจัดเป็นคอนเสิร์ตเดี่ยวของนักร้องหญิงคนดังจากเลบานอน ฮิบา ทาวาจี คอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จล้นหลาม

เอ็นบีซีรายงานข่าวนี้อย่างเอิกเกริกพร้อมวิเคราะห์ว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นตัวอย่างเด่นชัดว่า การปฏิรูปที่ดำเนินการโดยมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้นำความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ชีวิตของชาวซาอุดี การปฏิรูปนี้ได้เขย่าสังคมที่อนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง และแตกไลน์กิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศให้ฉีกออกจากการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดที่ผ่านมา ไม่เคยมีมหกรรมคอนเสิร์ตใดๆ ได้รับอนุญาตให้จัดกันในซาอุฯ และชาวซาอุดี จะต้องเดินทางไปยังประเทศอ่าวอื่นๆ เพื่อชมคอนเสิร์ตสด

ทั้งนี้ มีการจัดตั้งสำนักงานการนันทนาการของซาอุฯ ขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม 2016 โดยเป็นหนึ่งในความริเริ่มแห่งวิสัยทัศน์แห่งซาอุดีอาระเบีย 2030 หรือ Saudi Arabia’s Vision for 2030 หน้าที่ของหน่วยงานคือการพัฒนาภาคธุรกิจบันเทิงและจัดกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ตลอดทั้งส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับภาคธุรกิจบันเทิง

สตรีได้รับอนุญาตให้เข้าสู่อัฒจันทร์ของสนามกีฬาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ซาอุฯ เพื่อชมมหกรรมการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจในสนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด กรุงริยาด ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในการเฉลิมฉลองวันชาติซาอุฯ เมื่อ 23 กันยายน 2017 ทั้งนี้ วันชาติเคยเป็นวันซึ่งครัวเรือนมากมายนิยมเดินทางไปต่างประเทศไปจับจ่ายใช้สอยเงินเพื่อดูกิจกรรมบันเทิงในประเทศที่มิได้ห้ามสตรีเข้าชม สำนักงานกิจการนันทนาการ (General Entertainment Authority หรือ GEA - ตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ซาอุดี 2030 ด้านการจัดกิจกรรมบันเทิง) จึงจัดมหกรรมระดับชาติใน 17 เมือง อาทิ การแสดงริ้วขบวนและดนตรีมากมายในสนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด กรุงริยาด และการแสดงของนักดนตรีอาหรับ 11 รายการ พร้อมนาฏศิลป์พื้นเมืองและการยิงพลุชุดใหญ่งดงามตระการตาในนครเจดดาห์ริมทะเลแดง GEA ประเมินว่า มีผู้เข้าชมกิจกรรมบันเทิงทั้งปวงราว 1.5 ล้านราย และมีการจับจ่ายใช้สอยหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากที่ทางการซาอุฯ จัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกของประเทศเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 แล้ว สำนักงานการนันทนาการของซาอุฯ ได้จัดกิจกรรมวัฒนธรรมและการบันเทิงเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยเว้นว่างไปในช่วงที่ต้องป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเมื่อสามารถผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มแล้ว ก็ได้จัดเทศกาลดนตรีแจ๊สเป็นครั้งแรกในซาอุฯ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021
**มกราคม 2018 สนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด ในกรุงริยาดเปิดให้สตรีซาอุดี เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติซาอุฯ นอกจากนั้น รัฐบาลซาอุดียังได้ประกาศให้ใบอนุญาตแก่ธุรกิจฟิตเนสสตรี

**กุมภาพันธ์ 2018 ออกกฎหมายเปิดทางให้สตรีซาอุดี ตั้งกิจการของตนเองได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตยินยอมจากบุรุษผู้คุ้มครอง

**มีนาคม 2018 ออกกฎหมายว่าในกรณีการหย่าร้าง คุณแม่ซาอุดีมีอำนาจที่จะเป็นผู้ดูแลบุตรได้ โดยไม่ต้องยื่นฟ้องเรียกร้องสิทธิ

**เมษายน 2018 เปิดโรงภาพยนตร์ครั้งแรก หลังจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ถูกห้ามนานกว่า 35 ปี ทั้งนี้ มีแผนงานว่าจะ ผุดโรงภาพยนตร์ให้ได้มากกว่า 2,000 จอภายในปี 2030

**พฤษภาคม 2019 คณะรัฐมนตรีซาอุดีให้ไฟเขียวแก่แผนอนุมัติสถานภาพผู้พักอาศัยระดับพรีเมียมแก่ชาวต่างชาติ โครงการนี้เปิดทางให้ชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในซาอุฯ ได้รับสิทธิพักอาศัยถาวร เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ และลงทุนในราชอาณาจักรได้

**สิงหาคม 2019 ออกกฎหมายอนุญาตให้สตรีอายุมากกว่า 21 ปี ยื่นขอพาสปอร์ตได้โดยไม่ต้องมีใบฉันทานุมัติจากบุรุษผู้คุ้มครอง

**เมษายน 2020 ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีเฆี่ยนตี และยกเลิกโทษประหารต่อเยาวชนที่ประกอบอาชญากรรม

สตรีซาอุดีในชุดแต่งกายประจำชาติหลั่งไหลเข้าชมแมทช์ฟุตบอลที่สนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด กรุงริยาด เมื่อ 12 มกราคม 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติซาอุฯ ที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬาได้
พลังสตรีซาอุดีทะยานสูงลิ่ว ได้ใช้ศักยภาพเต็มความสามารถ

ซาอุดีอาระเบียซึ่งมีภาพลักษณ์ความอนุรักษ์นิยมสุดขั้วมาเนิ่นนาน ได้ถูกมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้บริหารปกครองประเทศตัวจริง พลิกโฉมประเทศด้วยการปฏิรูปมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และศาสนา โดยประชาชนที่ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลคือกลุ่มชนที่เป็นสตรีซึ่งได้รับโอกาสในทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏกันมาก่อน

หลังการประกาศวิสัยทัศน์ ซาอุดี 2030 และตามด้วยมาตรการส่งเสริมทั้งปวง ผู้ประกอบการสตรีในซาอุฯสร้างธุรกิจ SMEs ขึ้นมามากมายโดยมีอัตราธุรกิจเกิดใหม่ทะยานสูง ส่งผลให้เกิดสถิติใหม่ในปี 2017 ว่าผู้ประกอบการสตรีในซาอุฯ มีสัดส่วนสูงถึง 39% คิดเป็นอัตราขยายตัว 35% จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เว็บไซต์ธุรกิจ อาระเบียนบิสซิเนสดอทคอม รายงานอย่างนั้นในบทความเรื่อง ผู้ประกอบการสตรีซาอุดีเป็นปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

ซาอุดีอาระเบียมีผู้หญิงเก่งเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งพร้อมอย่างยิ่งกับการเริ่มธุรกิจใหม่ทั้งในแง่ของเงินทุนและองค์ความรู้ กองทัพผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้คือทรัพยากรทรงคุณค่าที่มาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ซาอุดี 2030

ในเวลาเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจที่พร้อมจะพุ่งทะยานก็ต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบ ดังนั้น มกุฎราชกุมารซาอุดีจึงดำเนินการด้านการเปิดโอกาสให้ประชากรกลุ่มสตรีพ้นออกจากข้อห้ามเชิงประเพณีและศาสนาตั้งแต่ปีแรกๆ ของการปฏิรูป เซบาสเตียน ซันส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการพัฒนาสังคมซาอุดี ชี้ไว้อย่างนั้นในระหว่างให้สัมภาษณ์แก่เว็บไซต์ข่าวดีดับเบิลยูดอทคอมของเยอรมนีเมื่อปี 2019

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2018 สำนักงานอัยการแห่งซาอุดีอาระเบียได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ คือ การประกาศรับสมัครสตรีมาเป็นเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรกของซาอุฯ โดยเป็นตำแหน่งงานการไต่สวนประจำสนามบินและจุดผ่านแดนต่างๆ ทั้งสิ้น 140 ตำแหน่ง ปรากฏว่า มีสตรีมากกว่า 107,000 รายที่ยื่นใบสมัคร

ในเวลาเดียวกัน คุณภาพชีวิตของสตรีในซาอุฯ ก็เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ออกกำลังกาย จ็อกกิ้ง วิ่งมาราธอน เล่นกีฬา เล่นฟิตเนส ปั่นจักรยาน ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานมีรายได้เลี้ยงชีพตนเอง ฯลฯ

ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ปี 2018 กลุ่มสตรีซาอุดีจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนในนครเจดดาห์ เฉลิมฉลองสิทธิในการจ็อกกิ้งที่ได้รับจากรัฐบาลเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า มีสตรีมากกว่า 1,500 รายเข้าร่วม ในภาพนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิ่งมาราธอน โดยนักวิ่งยังสวมชุดยาวคลุมข้อเท้าแต่ปรับให้เป็นกางเกงไปในตัวโดยมีผ้าคลุมผมครบครัน
“นี่ยังเป็นเพียงระยะเริ่มแรกของความเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้หญิงในซาอุดีอาระเบีย ไม่ว่าจะในเรื่องการงาน การดำรงชีวิต ทุกสิ่งถูกเปลี่ยนให้แก่ผู้หญิง” ซามะ คินซารา นักศึกษามหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์อย่างนั้นกับรอยเตอร์ เธอศึกษาในภาควิชาการสร้างภาพยนตร์ และเธอมุ่งมั่นที่จะสร้างหนังดีๆ สักเรื่อง เพราะกฎหมายซาอุดีได้ยกเลิกข้อห้ามธุรกิจโรงภาพยนตร์ซึ่งดำรงอยู่ในประเทศเนิ่นนานกว่า 35 ปี

ภาพที่ชี้ให้เห็นว่าความเป็นชาติอนุรักษนิยมสุดโต่งของซาอุดิอาระเบียกำลังเปลี่ยนแปลง คือ ภาพของผู้หญิงที่ปั่นจักรยานตามท้องถนนในนครเจดดาห์มีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา หญิงสาวนางหนึ่งที่ใช้จักรยานเดินทางทำธุรกิจต่างๆ บอกว่า

“เจดดาห์เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนกับเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วละค่ะ การนุ่งห่มเสื้อผ้าก็ผ่อนคลายลง มีที่ให้ไปมากขึ้น มีโอกาสให้แก่ผู้หญิงเราเยอะพอๆ กับผู้ชายแล้วค่ะ”

สตรีซาอุดีในชุดแต่งกายประจำชาติหลั่งไหลเข้าชมแมตช์ฟุตบอลที่สนามกีฬานานาชาติคิงฟาฮัด กรุงริยาด เมื่อ 12 มกราคม 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติซาอุฯ ที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬาได้
ซาอุฯ เข้าสู่ ยุคหลัง “วะฮาบีย์” แล้วหรืออย่างไร?

กระแสการเปลี่ยนแปลงซึ่งทะยานแรงตั้งแต่ที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เรืองอำนาจขึ้นมา โดยมีการบั่นทอนอำนาจตำรวจศาสนาลงจากเดิมซึ่งเคยเป็นที่หวาดหวั่นกันมาก ผู้คนยังจดจำกันได้ดีว่า ตำรวจศาสนาเคยขับไล่ประชาชนออกจากห้างสรรพสินค้าให้ไปสวดมนต์ และเคยประณามผู้ที่แสดงความใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนยิ่งคือ การที่บรรดาร้านค้าและร้านอาหารภัตตาคารในซาอุฯ ไม่ปิดทำการในช่วงเวลาละหมาดห้าครั้งต่อวัน นั้น เคยเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด ตลอดยุคสมัยที่ฝ่ายนักการศาสนายังเข้มแข็ง

เอเอฟพีชี้ว่า การปฏิบัติกิจทางศาสนาที่ไม่ใช่มุสลิมยังเป็นเรื่องต้องห้ามในราชอาณาจักร แต่ที่ปรึกษารัฐบาลรายหนึ่ง นามว่า อาลี ชิฮาบี เคยกล่าวกับสื่ออเมริกัน อินไซเดอร์ ว่า การอนุญาตในเรื่องนี้อยู่ในรายการสิ่งที่จะดำเนินการกันในอนาคต

ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่ทางการซาอุฯประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการยกเลิกข้อห้ามเรื่องสุรา ซึ่งเป็นข้อห้ามสำคัญในศาสนาอิสลาม แต่แหล่งข่าวมากมาย รวมทั้งนักการทูตจากกลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียบอกว่าเคยได้ฟังเจ้าหน้าที่ซาอุดีพูดในการประชุมลับว่า “เรื่องนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น”

ไม่เป็นการสรุปเกินจริงหากจะลงความเห็นว่าซาอุดีอาระเบียได้เข้าสู่ยุคหลังวะฮาบีย์แล้ว แม้รัฐบาลยังต้องรักษาสัมพันธ์อันดีไว้

“ฝ่ายศาสนาไม่มีอำนาจวีโต้รัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ สังคม หรือการต่างประเทศ” กล่าวโดย คริสติน ดีวอน นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบันรัฐรอบอ่าวอาหรับ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน

ความเปลี่ยนแปลงน่าเอ็นดูในมัสยิดอัลฮะรอม คือหุ่นยนต์แสนฉลาดที่ถูกนำไปใช้งานในมัสยิดเป็นครั้งแรก โดยหุ่นยนต์นี้ทำหน้าที่เสนอขวดบรรจุน้ำแร่ศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำซัมซัมที่อยู่ในบริเวณของมัสยิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากเจ้าหน้าที่มัสยิด หรือผู้มาสวดมนต์ในมัสยิดเป็นพาหะของเชื้อโควิด-19 ภาพนี้ถูกถ่ายไว้เมื่อ 15 มิถุนายน 2021
คู่แข่งและผู้คุกคามถูกกำจัดเกลี้ยง

ผู้นำศาสนาที่วิพากษ์มกุฎราชกุมารเอ็มบีเอส หรือสนับสนุนคู่แข่งของพระองค์ ถูกเช็กบิลไปหลายราย อาทิ

สุไลมาน อัลดีไวช์ ผู้นำศาสนาซึ่งมีสายสัมพันธ์กับอดีตมกุฎราชกุมารมูฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (คู่แข่งสำคัญแห่งองค์เอ็มบีเอส) หายไปจากสายตาของสาธารณชนนับจากที่ถูกคุมตัวในเมกกะปี 2016 หลังจากที่ได้เขียนบนทวิตเตอร์เล่านิทานเกี่ยวกับเด็กที่ถูกบิดาตามใจจนเหลิง เอเอฟพีรายงานอย่างนั้น โดยอ้างกลุ่มสิทธิมนุษยชนในกรุงลอนดอน และอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับครอบครัวของสุไลมาน

อีกหนึ่งรายคือ ซัลมาน อัลเอาดาห์ ผู้นำศาสนาสายกลาง ถูกควบคุมตัวในปี 2017 หลังจากเรียกร้องให้ซาอุฯ แก้แค้นกาตาร์

“โดยทางการเมืองแล้ว มกุฎราชกุมารได้กำจัดฝ่ายตรงข้ามไปทั้งหมดแล้ว” คริสติน ดีวอน กล่าวกับเอเอฟพี

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอเอฟพี 60มินิทส์ ซีบีเอส รอยเตอร์ เอพี เอ็นบีซี บีบีซี ทวิตเตอร์ อาระเบียน บิสซิเนสดอทคอม ฟอร์บส์มิดเดิลอีสท์ อาหรับนิวส์ดอทคอม ดีดับเบิลยูดอทคอม)



กำลังโหลดความคิดเห็น