xs
xsm
sm
md
lg

รวยไม่รู้ตัว! 2 หนุ่มอินเดียปลูกมะม่วงโลละแสนโดยไม่ตั้งใจ ต้องจ้างยามคอยคุ้มกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 หนุ่มจากรัฐมัธยประเทศ อินเดีย บังเอิญปลูกต้นมะม่วงพันธุ์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกโตโดยไม่ได้ตั้งใจ และด้วยเวลานี้มะม่วงพันธุ์มิยาซากิ มีราคากิโลกรัมละ 270,000 รูปี (ราว 1.1 แสนบาท) ทำให้พวกเขาถึงขั้นต้องจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยคุ้มกัน

รายงานข่าวของอินเดียทูเดย์ ระบุว่า เรื่องราวนี้เริ่มต้นเมื่อ 4 ปีก่อน นาย Sankalp Singh Parihar อาชีพเกษตรกร เดินทางไปยังเมืองเชไช ทางภาคใต้ของประเทศ เพื่อหาซื้อเมล็ดพันธุ์มะพร้าวลูกผสม แต่ระหว่างอยู่บนขบวนรถไฟนั้น เขาพบกับใครบางคนที่มาเสนอขายเมล็ดมะม่วงราคา 2,500 รูปี (ราว 1,070 บาท)

ไม่กี่เดือนต่อมา หลังจากต้นกล้าเติบโตขึ้นและออกผล เขาสังเกตเห็นผลมะม่วงมีลักษณะต่างจากมะม่วงทั่วไป มันมีผิวสีแดงเข้มจนเกือบม่วง

ความจริงก็คือ มันคือมะม่วงสายพันธุ์มิยาซากิ ซึ่งมีต้นกำเนิดในญี่ปุ่น และถูกมองว่าเป็นหนึ่งมะม่วงพันธุ์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ทั้งนี้มะม่วงพันธุ์มิยาซากิเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ไข่พระอาทิตย์" (Egg of the Sun) หายากมากในอินเดีย และถูกมองว่าเป็นของขวัญสุดหรูในญี่ปุ่น ถึงขั้นถูกนำไปประมูลพิเศษบ่อยครั้ง



ข่าวคราวของมะม่วงพันธุ์มิยาซากิหายากแพร่สะพัดไปทั่วเมือง ดึงดูดลูกค้าที่พากันมาถามไถ่ แต่ขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งอันตราย โดย Sankalp Singh Parihar และเพื่อนอีกคนเปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วมีพวกหัวขโมยบุกเข้ามาในสวนผลไม้ของพวกเขา พร้อมกับขโมยมะม่วงไป 14 ลูก หลังจากเกิดเหตุ เกษตรกรทั้ง 2 คนตัดสินใจจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 3 คน และสุนัข 9 ตัว คอยคุ้มกันผลไม้หายาก

ปัจจุบันมะม่วงของทั้ง 2 คน ออกผลแล้ว 52 ลูก แต่ยังไม่ได้ขายออกไปแม้แต่ลูกเดียว "พวกมันคือลูกๆ ของเรา และตอนนี้เรามุ่งเน้นไปที่การเลี้ยงดูมัน และใช้เมล็ดพันธุ์ไปขยายพันธุ์ต้นใหม่ๆ" Parihar กล่าว ขณะที่ไทม์สออฟออินเดีย รายงานว่า เขาปลูกต้นมะม่วงมิยาซากิมากถึง 150 ต้น แต่มีเพียงแค่ 4 ต้นเท่านั้นที่ออกผล

Parihar บอกว่า เขามีเป้าหมายให้เกษตรกรชาวอินเดียเข้าถึงมะม่วงพันธุ์ที่แพงที่สุดในโลกนี้มากยิ่งขึ้น "วิสัยทัศน์ของผมคือให้ครอบครัวชาวอินเดียทุกครอบครัวมีมะม่วงพันธุ์นี้" เขากล่าว "ในญี่ปุ่นมันมีราคาแพงเพราะมันเติบโตในสภาพแวดล้อมพิเศษ ในอินเดีย เราสามารถปลูกและดูแลตามธรรมชาติของมัน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก"

(ที่มา : อินเดียทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น