xs
xsm
sm
md
lg

‘เอบราฮิม ไรซี’ ประธานศาลหัวอนุรักษนิยมสุดขั้ว คว้าชัยศึกเลือกตั้ง ‘ปธน.อิหร่าน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอบราฮิม ไรซี ประธานศาลสูงสุดและนักการศาสนาสายอนุรักษนิยมสุดขั้ว ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อวันศุกร์ (18 มิ.ย.) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่หลายฝ่ายคาดเดาอยู่แล้ว เนื่องจากมีผู้สมัครคู่แข่งถูกตัดสิทธิไปเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเลือกตั้งแถลงวันนี้ (19) ว่า ไรซี ได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนร้อยละ 62 จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปแล้วกว่า 90% ขณะที่ผู้สมัครอีก 3 รายล้วนออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางอิหร่านซึ่งรั้งเก้าอี้มาแล้ว 2 วาระ คราวละ 4 ปี และกำลังจะพ้นตำแหน่งในเดือน ส.ค. ก็ได้แถลง “แสดงความยินดีต่อประชาชนที่ได้เลือกผู้นำที่ต้องการ” โดยยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงใคร

ไรซี วัย 60 ปี จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอิหร่านในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โดยอิหร่านนั้นหวังที่จะฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับกลุ่ม 6 ชาติมหาอำนาจ เพื่อปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก

ในฐานะประธานศาลสูงสุด ไรซี ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับ "อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี" ผู้นำสูงสุดอิหร่านวัย 81 ปี ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมืองเบอร์ 1 ของประเทศ

ศึกเลือกตั้งเมื่อวานนี้ (18) ได้ถูกขยายเวลาปิดหีบจากเที่ยงคืนไปอีก 2 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงกันว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 50%

รายงานระบุว่า ชาวอิหร่านจำนวนมากเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิ หลังผู้สมัครราว 600 คน ซึ่งเป็นผู้หญิง 40 คน ถูกตัดสิทธิออกจนเหลือเพียงแค่ 7 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายหมด และยังมีผู้สมัคร 3 คนที่ประกาศถอนตัวดื้อๆ ก่อนถึงศึกเลือกตั้งเพียงแค่ 2 วัน

ทั้งนี้ ชัยชนะของ ไรซี ดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนแล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีรูฮานี และผู้สมัครอีก 3 คน ซึ่งได้แก่ มอห์เซน เรไซ, อามีร์ฮอสเซน กาซีซาเดห์ ฮาเชมี และอับดุลนัสเซอร์ เฮมมาติ ต่างออกมากล่าวแสดงความยินดี ขณะที่อดีตประธานาธิบดีสายประชานิยมคนดังอย่าง “มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด” ซึ่งถูกตัดสิทธิลงสมัครออกมาแถลงล่วงหน้าแล้วว่าจะไม่ไปโหวต เพราะ “ไม่อยากมีส่วนร่วมในการทำบาปครั้งนี้”

สื่ออิหร่านคาดการณ์ว่า ไรซี ซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมสุดขั้วในประเด็นทางสังคมต่างๆ รวมถึงเรื่องบทบาทของสตรี อาจจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอิหร่านต่อจาก คอเมเนอี ด้วย

ในสายตาของฝ่ายค้านและนักสิทธิมนุษยชน ไรซี ถูกครหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการสังหารหมู่นักโทษการเมืองในปี 1988 และยังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรด้วย ในขณะที่เจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ที่มา : เอเอฟพี




กำลังโหลดความคิดเห็น