เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย) รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงเตรียมแผนมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างยาต่อต้านไวรัสโควิด-19 สำหรับซัปพลายยาใช้รักษาในประเทศยามฉุกเฉินในอนาคต หลังองค์การอนามัยโลกแถลงวันพุธ (16 มิ.ย) สายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดียระบาดไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
NBC News สื่อสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (17 มิ.ย) ว่า โครงการต่อต้านไวรัสเพื่อวิกฤตระบาดทั่วโลก (Antiviral Program for Pandemics) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ถูกประกาศว่าจะใช้งบประมาณร่วม 3.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างยาต่อต้านไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา โดยโครงการนี้จะทำให้เกิดการวิจัยทางคลินิกวิทยาและการผลิตทางอุตสาหกรรมขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ FDA เพื่อให้สามารถนำออกสู่สาธารณะได้ภายใน 1 ปีหลังจากนี้ กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯกล่าวผ่านแถลงการณ์
ทั้งนี้ พบว่าต่างจากวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องรับจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เท่านั้นเพราะยาต้านไวรัสโควิด-19 นี้สามารถใช้ที่บ้านได้เพื่อป้องกันจำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลและนำมาสู่จำนวนการเสียชีวิตที่ลดลง กระทรวงแถลงในการคาดการณ์ และกล่าวอีกว่า ความพยายามที่นอกเหนือจากการวิจัยไวรัสโควิด-19 แล้วทางสหรัฐฯ จะให้งบผ่านแผนกู้อเมริกา (American Rescue Plan) จะทำวิจัยรวมไปถึงไวรัสตัวอื่นๆ ที่คาดว่าอาจกลายเป็นภัยคุกคามโลกตัวใหม่
ด้านนายแพทย์แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันด้านภูมิแพ้และการติดเชื้อกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “การต้านไวรัสใหม่ที่จะป้องกันจากโรคโควิด-19 ที่ร้ายแรงและจากการเสียชีวิตโดยเฉพาะอยู่ในรูปยารับประทานนั้นสามารถใช้ที่บ้านเองได้ในช่วงการป่วยเบื้องต้น จะเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพสำหรับการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงและการช่วยชีวิต”
ซึ่งในการกล่าวในรายงานสรุปวันพฤหัสบดี (17) เขาระบุว่า “วิธีการรักษาไม่กี่วิธีจะเกิดขึ้นสำหรับไวรัสมากมายที่มีแนวโน้มว่าอาจทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก แต่วัคซีนยังคงเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ต่อการสู้กับโรคโควิด-19 ต่อไป แต่ทว่ายาต้านไวรัสนั้นจะมาเติมเต็มให้วัคซีนที่มีอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพที่ส่งผลทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง”
เฟาชี ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการมียาต้านไวรัสโควิด-19 ว่า จะถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือให้กับการต่อสู้โรคที่ในปัจจุบันโควิด-19 นั้นมีการระบาดอยู่หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าซึ่งถูกพบครั้งแรกในอินเดีย
ซึ่งองค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (16) พบว่า สายพันธุ์เดลต้าในเวลานี้ถูกพบแพร่กระจายไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดย CNBC รายงานว่า สายพันธุ์เดลต้าคิดเป็นสัดส่วน 10% ของเคสใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มมาจาก 6% ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในอังกฤษพบว่าสายพันธุ์เดลต้าคิดเป็น 60% ของเคสใหม่ในอังกฤษปัจจุบัน
WHO กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า พบว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้านั้นยังคงกลายพันธุ์ต่อไประหว่างการแพร่ระบาดยิ่งเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก
ซึ่งในการศึกษาบ่งชี้ว่า เดลต้านั้นแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และบางรายงานยังบ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้อาจทำให้เกิดอาการป่วยร้ายแรงมากกว่าเดิมแต่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันในข้อสรุปนี้
CNBC กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยังคงติดตามการรายงานการค้นพบสายพันธุ์ เดลต้า พลัส (delta plus) หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO มาเรีย วาน เคิร์กโฮฟ (Maria Van Kerkhove) ชี้ว่าในสายพันธุ์เดลต้านั้นมีความหลากหลายในตัวเองที่บางครั้งพบว่า บางทีมันกลายพันธุ์น้อยกว่า บางทีมันลบตัวเองมากกว่าทวีคูณ ดังนั้น ทางองค์การอนามัยโลกจึงติดตามทั้งหมด
NBC News รายงานว่าตามแผนการกอบกู้อเมริกาจะให้เงิน 300 ล้านดอลลาร์สำหรับการวิจัยและการสนับสนุนทางแล็บวิทยาศาสตร์ และเกือบอีก 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับกระบวนการก่อนทางคลินิกวิทยาและการประเมินทางคลนิก และเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาและการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และอีก 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า ศูนย์การค้นพบยาต้านไวรัส (Antiviral Drug Discovery Centers) สำหรับพาโธเจนที่น่าวิตกว่าอาจทำให้เกิดแพนเดมิกรอบใหม่ เพื่อเร่งการสร้างยาต้านไวรัส