รอยเตอร์ – รัฐบาลไทยออกมาโต้วันเสาร์(12 มิ.ย)ว่า ไทยไม่เคยปิดกั้นการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนก้า แต่ชี้ว่าเป็นปัญหาที่ผู้ผลิตในการจัดการเกิดขึ้นหลังผู้นำไต้หวันกล่าวหาว่า ไทยแอบเก็บวัคซีนให้กับในประเทศ ผสมโรงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ยันส่งมอบล้าช้า ท่ามกลางวิกฤตโรงงานอุตสาหกรรมไทยเจอไวรัสระบาด รวมโรงงานเครือซีพียักษ์ใหญ่ เชื่ออาจถึงขั้นกระทบหนักต่อการส่งออก
รอยเตอร์รายงานวานนี้(13 มิ.ย)ว่า รองโฆษกรัฐบาล ไตรศุลี ไตรสรณกุล (Traisuree Taisaranakul) โต้ผู้นำไต้หวันผ่านทางทวิตเตอร์วันเสาร์(12) เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ในวันศุกร์(11)แสดงความเห็นว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายเก็บวัคซีนโควิด-19ที่ผลิตได้จากโรงงานวัคซีนแอสตราเซเนก้าของไทยไว้ให้กับคนในประเทศก่อนทำให้การส่งมอบล็อตวัคซีนไปให้กับไต้หวันและประเทศอื่นๆล่าช้า
“ไทยไม่ได้ปิดกั้นการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนก้า” และชี้ว่า “มันเป็นเรื่องของผู้ผลิตในการจัดการ”
รอยเตอร์ชี้ว่า แต่ทว่าทางรองโฆษกไม่ได้ระบุว่าผู้ผลิตนี้หมายความถึงบริษัทยาแอสตราเซเนก้าหรือบริษัทยาของไทยที่รับจ้างการผลิต ซึ่งบริษัทยาแอสตราเซเนก้ามีแผนที่จะส่งมอบราว 200 ล้านโดสที่ผลิตได้จากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการส่งมอบไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งล่าสุดโรงยาบาลในกรุงเทพฯไม่ต่ำกว่า 20 แห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19ที่เกิดการระบาดเข้าไปในอุตสาหกรรมโรงงานในประเทศกว่า 130 แห่งส่งผลทำให้เกิดความวิตกว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยที่คิดเป็น 45% ของมูลค่า GDPของไทยในปี 2020
ไวรัสโควิด-19ระบาดเข้าไปในโรงงานเหล่านี้ซึ่งรวมไปถึงโรงงานที่ผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งจำนวนโรงงานที่มีการติดเชื้อนั้นเป็นส่วนน้อยของโรงงานทั้งหมด 63,000 แห่งที่มีอยู่ในประเทศและมีแรงงานราว 3.4 ล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลรัฐบาล
แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ต่างกังวลไปถึงการระบาดในภาคการผลิตจะกระทบไปถึงการส่งออกที่ยังคงทำรายได้เข้าประเทศหลังจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นต้องปิดตัวเนื่องมาจากวิกฤต
โดยในปีที่ผ่านมาพบว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวไป 6.1% และในเดือนที่แล้วรัฐบาลได้ลดการคาดการเติบโต GDP สำหรับปีนี้อยู่ที่ 1.5% -2.5% จากแต่เดิม 2.5%-3.5%
อิเล็กทรอนิก ถุงมือยาง และอาหารอยู่ในส่วนของกลุ่มส่งออกที่ได้ผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด-19 รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล (Kriengkrai Thiennukul) เปิดเผยกับรอยเตอร์ แต่ชี้ว่าเร็วเกินกว่าที่จะสามารถประเมินผลกระทบทั้งหมดได้
“หากว่ามันยังคงดำเนินต่อไปความเสียหายจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นโรงงานจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด” เขากล่าว
และพบว่ามีบางโรงงานเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตและจำเป็นต้องปรับลดการผลิตลงแล้ว
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ฟูดส์ พีซีแอล (Charoen Pokphand foods Pcl)ซึ่งส่งออกจากไทยไปยัง 40 ชาติทั่วโลก แถลงว่าโรงงานที่ปิดลงเนื่องมาจากมีการติดเชื้อคิดเป็น 10% ของการผลิตไก่เนื้อ
ส่วนบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ พีซีแอล (Thai President Foods Pcl) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์ “มาม่า” ได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตเส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งสัดส่วนการจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของการขายอาหารกึ่งสำเร็จรูปของบริษัท
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมให้เวลาบริษัทต่างๆไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนยนเพื่อปรับปรุงเงื่อนไข รวมถึงมาตรการบังคับการสวมหน้ากากอนามัยและการตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย ขณะเดียวกันได้ใช้มาตรการบับเบิลและการปิด โดยชี้ว่าใครก็ตามที่ป่วยและแสดงอาการจะถูกส่งตัวไปรักษาและคนอื่นจะถูกกักตัวให้อยู่แต่ในเขตบับเบิลนั้น และหากมีการระบาดจะสามารถควบคุมได้โดยไม่ลามออกไปสู่ที่อื่น
“นี่ถือเป็นการจำกัดวงการระบาดและยังจะอนุญาตให้ธุรกิจยังสามารถทำต่อไปได้” เจ้าหน้าที่รัฐกล่าว