เหรียญทองสหรัฐฯยุคปี 1933 ที่ไม่เคยออกสู่สาธารณะ หลังประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ดึงอเมริกาออกจากระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) ถูกจำหน่ายด้วยราคา 18.87 ล้านดอลลาร์(ราว 588 ล้านบาท) ในการประมูลของบริษัทประมูลโซเธอบีส์ ในนิวยอร์ก เมื่อวันอังคาร(8มิ.ย.)
บริษัทประมูลแห่งนี้ให้คำจำกัดความเหรียญ "ดับเบิล อีเกิล" ปี 1933 เหรียญทองรุ่นสุดท้ายที่สหรัฐฯผลิตและมีเจตนาไหลเวียนเข้าสู่ระบบ ว่าเป็น "หนึ่งในเหรียญที่ผู้คนปรารถนามากที่สุดในโลก" และพวกเขาก็ไม่ผิดหวัง
เหรียญมูลค่า 20 ดอลลาร์ ซึ่งออกแบบโดย ออกัสตัส เซนต์-กอว์เดนส์ นักประติมากรชาวสหรัฐฯ ถูกเคาะขายในราคา 18.87 ล้านดอลาร์ เหนือกว่าราคาคาดการณ์ก่อนการขาย ซึ่งประมาณการไว้ที่ราวๆ 10 ถึง 15 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้แล้วมันยังทุบสถิติเดิมเหรียญที่แพงที่สุดในโลก ซึ่งเคยครองสถิติโดยเหรียญเงินดอลลาร์ "โฟลวิ่ง แฮร์" ปี 1794 ที่มีราคาขาย 10 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013
สำหรับเหรียญดับเบิล อีเกิล ข้างหนึ่งเป็นรูปของเทพีสันติภาพ ส่วนอีกด้านเป็นพญาอินทรีสหรัฐฯ
ดับเบิล อีเกิล 1933 เป็นเหรียญทองสุดท้ายของสหรัฐฯที่มีเจตนาไหลเวียนเข้าสู่ระบบโดยโรงกษาปณ์สหรัฐฯ แต่มันไม่เคยถูกนำออกใช้ตามกฎหมาย
ในปีดังกล่าว ประธานาธิบดีรูสเวลต์ นำสหรัฐฯออกจากระบบมาตรฐานทองคำ ในความพยายามดึงเศรษฐกิจที่สั่นคลอนของอเมริกาหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่(Great Depression)
มีคำสั่งให้ทำลายเหรียญทั้งหมด ยกเว้น 2 เหรียญที่มอบแก่สถาบันสมิธโซเนียน
อย่างไรก็ตามในปี 1937 พบเหรียญดับเบิล อีเกิล หลายเหรียญปรากฏในตลาด กระตุ้นให้หน่วยสืบราชการลับต้องเข้าทำการสืบสวนในปี 1944 ซึ่งผลสรุปก็คือเหรียญเหล่านั้นถูกขโมยจากรัฐบาลสหรัฐฯ และหากใครครอบครองเป็นเจ้าของถือว่าผิดกฎหมาย
บริษัทประมูลโซเธอบีส์เปิดเผยว่าก่อนหน้าการตรวจสอบ มีอยู่เหรียญหนึ่งถูกซื้อไปและได้รับอนุมัติอนุญาตส่งออกจากความผิดพลาด สุดท้ายเหรียญดังกล่าวไปจบลงที่ชุดสะสมเหรียญของกษัตริย์ฟารูกแห่งอียิปต์
ครั้งที่โซเธอบีส์ พยายามประมูลเหรียญดับเบิล อีเกิล ในปี 1954 กระทรวงการคลังสหรัฐฯประสบความสำเร็จในการถอนมันออกจากรายชื่อการประมูล
จากนั้นไม่มีใครรู้แหล่งที่อยู่ของเหรียญอีกเลย จนกระทั่งในปี 1996 มันถูกยึดได้ระหว่างปฏิบัติการตรวจค้นของหน่วยสืบราชการลับที่เวลดอร์ฟ-แอสตอเรีย ในนิวยอร์ก และหลังจากต่อสู้ทางกฎหมายยืดเยื้อนานกว่า 5 ปี ท้ายที่สุดก็มีคำตัดสินให้เอกชนสามารถเป็นเจ้าของเหรียญดังกล่าวได้
(ที่มา:เอเอฟพี)