xs
xsm
sm
md
lg

จีนเผยยอดนำเข้า-ส่งออกเดือนพ.ค.เติบโตแกร่ง ตอกย้ำแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพท่าเรือขนถ่ายสินค้าคอมเทนเนอร์แห่งหนึ่ง ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน (ภาพถ่ายเมื่อ 4 มิ.ย.2021)
ยอดส่งออกจีนเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 27.9% ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 51.1% สูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยที่โครงการฉีดวัคซีนโควิดกำลังมีความคืบหน้า

ความต้องการสินค้าจีนฟื้นคืนชีพ ภายหลังหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และจำกัดเข้มกวดต่างๆ เพื่อสกัดกั้นวิกฤตโรคระบาด ทว่าสร้างความบอบช้ำต่อเศรษฐกิจมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนโควิดมีความคืบหน้าชัดเจน ตัวเลขส่งออกที่ดีขึ้นยังเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขของปีที่แล้วที่ลดต่ำฮวบฮาบเนื่องจากเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก

เจฟฟรีย์ ฮอลลีย์ จากออนดา กล่าวว่า แม้ยอดส่งออกเดือนพฤษภาคม ที่เพิ่มขึ้น 27.9% ซึ่งจีนรายงานเมื่อวันจันทร์ (7 มิ.ย.) ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 32% แต่ยังคงสะท้อนว่า ดีมานด์ทั่วโลกแข็งแกร่งมากขึ้น

ไอริส แปง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเกรทเตอร์ไชน่าของไอเอ็นจี ชี้ว่า ยอดส่งออกที่ต่ำกว่าคาดหมาย น่าจะเกิดจากปัญหาการชะงักงันของท่าเรือเหยียนเทียนในมณฑลกลางตุ้ง เนื่องจากการยกระดับมาตรการควบคุมเพื่อสกัดการระบาดของโควิดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมหลังตรวจพบคนงานติดเชื้อ รวมทั้งอุบัติเหตุเรือสินค้าขนาดใหญ่เกยตื้นขวางคลองสุเอซนาน 6 วันในเดือนมีนาคม

จาง จื้อเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเส็ต แมเนจเมนต์ เห็นด้วยว่า การดำเนินการจัดส่งสินค้าในท่าเรือต่างๆ ของมณฑลกวางตุ้งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในเดือนนี้

ยอดส่งออกเดือน พ.ค. ของจีน ได้อานิสงส์จากการจัดส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้น 31.9% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แม้ความต้องการสิ่งทอที่รวมถึงหน้ากากป้องกันไวรัส ลดลงถึง 10.3% ก็ตาม

อย่างไรก็ดี แปงสำทับว่า การขาดแคลนชิปทั่วโลกเริ่มส่งผลต่อสินค้าออกทั้งหมดของจีนที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ประมวลผลในรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าออกที่มีมูลค่าสูงสุดและลดลง 4% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

นอกจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่พุ่งขึ้น ปัญหาการติดขัดด้านโลจิสติกส์ และการแข็งค่าของเงินหยวน ยังอาจบ่อนทำลายแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

สำหรับยอดนำเข้าในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51.1% ทำสถิติสูงสุดนับจากเดือนมกราคม 2011

ลู่ ถิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในจีนของโนมูระ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยเบื้องหลังการเติบโตของยอดนำเข้า มีทั้งเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นและการแข็งค่าของเงินหยวน

ทั้งยอดนำเข้าและส่งออกของจีนไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งรวมถึงสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สหภาพยุโรป (อียู) และอเมริกา เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

ในส่วนยอดได้เปรียบดุลการค้าโดยรวมของจีนประจำเดือนพฤษภาคมนั้น ปรากฏว่าลดลง 26.5% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว อยู่ที่ 45,530 ล้านดอลลาร์ แต่มากกว่าเดือนเมษายนซึ่งที่ 42,860 ล้านดอลลาร์

ขณะนี้ คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังตรวจสอบทบทวนนโยบายการค้าอเมริกา-จีน ก่อนที่ข้อตกลงการค้า “เฟส 1” ที่ตกทอดมาจากคณะบริหารชุดที่แล้วของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสิ้นสุดลงปลายปีนี้ โดยข้อตกลงนี้กำหนดให้จีนจัดซื้อสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของอเมริกาเพิ่มขึ้น

นับจากที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม จีนได้เพิ่มการติดต่อกับผู้นำด้านการค้าและเศรษฐกิจของอเมริกา ตัวอย่างเช่นสัปดาห์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ได้หารือกับเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา หลังจากก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน หลิวเพิ่งพูดคุยกับ แคทเธอลีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น