xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกชนวนศึกยิว-ปาเลสไตน์ 2021: กม.ฟ้องขับไล่โหด - จับตา ‘ฮามาส’ หลังโกยคะแนนอื้อ & ใครจะเป็นนายกฯ ยิว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากปมขัดแย้งการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในบ้านเรือนที่ชีค จาร์เราะห์ เขตเยรูซาเลมตะวันออก ที่ชาวยิวแย่งจริง-ยึดครองจริง โดยดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่ต้นสหัสวรรษที่สอง  ความคับแค้นที่สะสมนานปี จึงยกระดับขึ้นเป็นการปะทะต่อสู้รุนแรง จนกระทั่งจุดชนวนให้เกิดศึกขีปนาวุธยิว-ปาเลสไตน์ 2021 ความยาว 11 วันอันน่าสลดใจ  อิสราเอลยิงขีปนาวุธเข้าถล่มเขตฉนวนกาซา ทำลายอาคารและบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 248 ราย โดยเป็นเด็กๆ มากถึง 66 ราย ในภาพนี้ ทีมกู้ภัยชาวปาเลสไตน์อุ้มหนูน้อยซูซี เอชกุนทานา วัย 6 ขวบ ออกจากข้างใต้ของซากอาคารหักพังในกาซาซิตี ซึ่งถูกขีปนาวุธของอิสราเอลยิงถล่ม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2021
แม้อิสราเอลยอมยุติศึกขีปนาวุธซึ่งดวลกับนักรบปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และสังหาร-ทำร้ายประชาชนคนเดินดินหลายร้อยชีวิตแล้ว ตามข้อตกลงสงบศึกเมื่อวันพฤหัสบดี (20 พ.ค.) แต่นั่นคงจะเป็นได้แค่การเว้นวรรคศึกห่ำหั่นครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 5-6 ปี เพราะองค์ประกอบของปัญหายังพร้อมแผลงฤทธิ์ อาทิ:

(ก)กฎหมายฟ้องร้องขับไล่สุดโหดที่สามารถบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องเสียบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวยิวโดยไม่สมด้วยสามัญสำนึกนั้น ยังคงอยู่

(ข)ปัญหาชะตากรรมจนตรอกของชาวปาเลสไตน์ 13 ครอบครัวในย่านชีค จาร์เราะห์ ที่ถูกกลุ่มก่อตั้งนิคมถิ่นฐานชาวยิว อาศัยอำนาจศาลอิสราเอล ไล่บี้บีบบังคับให้ย้ายออกจากบ้านเรือน ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังมองไม่เห็นโอกาสยุติในเมื่อนายกรัฐมนตรีรักษาการของอิสราเอลลั่นวาจาสนับสนุนการสร้างถิ่นฐานในเยรูซาเลมตะวันออก

ปมขัดแย้งนี้คือระเบิดเวลาแบบระยะยาวและระยะสั้นในใจของชาวปาเลสไตน์และชาวยิว ที่สามารถเปรี้ยงปร้างออกไปเป็นการปะทะต่อสู้ในภาคประชาชน และการศึกสงครามในระดับรัฐ ซึ่งมีผู้กำหนดนโยบายที่ได้รับผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังจะต้องตรวจสอบดูกันอย่างจุใจ

บ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ 28 ครอบครัวในย่านชีค จาร์เราะห์ ของเขตเยรูซาเลมตะวันออก ถูกคุกคามขับไล่โดยมีกฎหมายสุดโหดเกื้อหนุน ในภาพนี้เป็นบ้านหลังสวยซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องขับไล่ และจึงแปะป้ายบนประตูบ้าน ประกาศว่า “จะไม่มีวันย้ายออกจากแผ่นดินของเรา”
1.ชนวนศึกยิว-ปาเลสไตน์ 2021:

** ชนวนศึก#1 - ชาวปาเลสไตน์ถูกชาวยิวฟ้องขับไล่ออกจากบ้านเรือนในย่านชีค จาร์เราะห์ (Sheikh Jarrah) โดยอิงกฎหมายน่าตกใจ

- การฟ้องขับไล่ในย่านชีค จาร์เราะห์ ของเขตเยรูซาเลมตะวันออกเป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวสำคัญที่สามารถนำไปสู่การสู้รบดุเดือนระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ โดยคุกรุ่นรุนแรงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020  หลังจากที่ 13 ครอบครัวปาเลสไตน์แพ้คดีฟ้องขับไล่ให้แก่กลุ่มผู้ก่อตั้งนิคมถิ่นฐานชาวยิว อันเป็นการตัดสินคดีที่ชาวโลกรู้สึกอึ้งไปทั่ว ...อย่างนี้ก็ได้หรือ

- - - - กลุ่มผู้ก่อตั้งนิคมถิ่นฐานชาวยิวยื่นฟ้องขับไล่ ต่อศาลอิสราเอล โดยแสดงเอกสารสิทธิ์จากการซื้อ-ขายซึ่งเกิดขึ้นในปี 1875-1876 ที่แถลงว่าชุมชนคนอิสราเอลซื้ออสังหาฯ เหล่านี้จากชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มผู้ก่อตั้งฯ ได้รับซื้อมา โดยในปี 1972 มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ภายใต้ทรัสตียิว ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมาธิการชุมชนเซฟาร์ดิ และคณะกรรมาธิการแห่งสภานิติบัญญัติของอิสราเอล

ในการนี้ กลุ่มผู้ก่อตั้งฯ ยื่นฟ้องโดยอ้างอิงสิทธิ์ตามกฎหมายอิสราเอลปี 1970 ที่อนุญาตให้ชาวยิวที่เคยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผืนใดๆ ในเขตชีค จาร์เราะห์ ก่อนปี 1948 สามารถยื่นฟ้องศาลขอกรรมสิทธิ์คืน (แต่กฎหมายนี้ ไม่อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์ในชีค จาร์เราะห์ ยื่นฟ้องขอกรรมสิทธิ์เหนืออสังหาริมทรัพย์ในผืนดินประเทศอิสราเอล กลับคืนจากชาวยิว เพราะถือว่าเป็นผู้อพยพ)

ตำรวจอิสราเอลแวะเข้าไปดูแลบ้านเรือนของชาวยิวซึ่งมีปัญหากระทบกระทั่งกับผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ชาวยิวบ้านนี้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการชิงกรรมสิทธิ์ในบ้านของครอบครัวปาเลสไตน์ในคดีฟ้องขับไล่เมื่อปี 2009

ครอบครัวปาเลสไตน์ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารหลังจบช่วงถือศีลอดอาหารประจำวัน บรรยากาศในละแวกบ้านย่านชีค จาร์เราะห์ เปี่ยมด้วยความตึงเครียดและการท้าทายกันในที หลังการกระทบกระทั่งครั้งใหญ่ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
- - - - ย้อนอดีตน่าสลดใจ:
หลังจากที่อิสราเอลชนะสงครามที่ต่อสู้กับชาวอาหรับ ด้วยความช่วยเหลือจากอังกฤษ และตั้งประเทศขึ้นมาได้ในปี 1948 โดยพื้นที่ในเวลานั้นใหญ่โตกว้างขวางและเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ซึ่งมิได้สถาปนาความเป็นประเทศ ในการนี้ ภายในประเทศอิสราเอลมีแผ่นดินเยรูซาเลมตะวันตกประกอบอยู่ด้วย โดยยังไม่คลุมไปถึงเยรูซาเลมตะวันออก

แปดปีต่อมา (1956) เกิดความขัดแย้งร้อนแรง ครอบครัวชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกบีบให้อพยพออกจากเยรูซาเลมตะวันตกและเมืองไฮฟาที่ฝ่ายยิวเข้าไปยึดครอง ไปตั้งบ้านเรือนใหม่ในเวสต์แบงก์บ้าง กาซาบ้าง ในการนี้ มี 28 ครอบครัวถูกจัดให้มาตั้งบ้านเรือนใหม่ในย่านชีค จาร์เราะห์ ของเยรูซาเลมตะวันออก (ปัจจุบันเติบโตขึ้นมาเป็น 35 ครอบครัว) ในการตั้งบ้านเรือนใหม่นี้ รัฐบาลจอร์แดน (ซึ่งขณะนั้นครองเยรูซาเลมตะวันออก) ให้ที่ดิน ขณะที่สหประชาชาติให้ค่าใช้จ่าย รอยเตอร์เล่าไว้

ในเวลาเดียวกัน ครอบครัวชาวยิวที่อาศัยในย่านชีค จาร์เราะห์ ก็ต้องย้ายออกไปยังเยรูซาเลมตะวันตกเพื่อความปลอดภัย  โดยได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ใหญ่โตตกแต่งเฟอร์นิเจอร์งดงามซึ่งชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพลี้ภัยที่เกิดขึ้นจากชาวยิว ทั้งนี้ บ้านปาเลสไตน์ราคาแพงเหล่านี้มีมากมายระดับหนึ่งหมื่นแห่ง และรองรับชาวยิวที่ถูกรัฐบาลโยกย้ายออกจากบ้านเรือนในสารพัดพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น เขตเวสต์แบงก์ คุณดาฟนา  โกลัน-อักนอน นักวิชาการชาวยิวให้ข้อมูลไว้ในหนังสือเรื่อง Teaching Palestine on an Israeli University Campus

หน้าปกหนังสือ Teaching Palestine on an Israeli University Campus ผลงานของดาฟนา โกลัน-อักนอน ที่แนะนำอยู่บนเว็บไซต์ของแอมะซอน
- - - - เคราะห์กรรมซ้ำซากมาเยือนชีค จาร์เราะห์ ตั้งแต่ปี 1967:

เมื่ออิสราเอลขยายอาณาเขตได้สำเร็จในปี 1967 หลังชนะสงครามหกวัน (Six-day War, 1967) สงครามยุติลงด้วยการที่อิสราเอลเข้ายึดครองเยรูซาเลมตะวันออก และเขตเวสต์แบงก์ นับแต่นั้นมา มีความพยายามส่งเสริมให้ชาวยิวเข้าไปตั้งบ้านเรือนในฝั่งเยรูซาเลมตะวันออก

ในการนี้ มีตัวช่วยสำคัญยิ่ง 2 รายการ คือ กฎหมายปี 1970 ที่อนุญาตให้ชาวยิวที่เคยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผืนใดๆ ในเขตชีค จาร์เราะห์ ก่อนการตั้งประเทศ (ปี 1948) สามารถยื่นฟ้องศาลขอกรรมสิทธิ์คืน แต่ไม่ให้สิทธิ์ชาวปาเลสไตน์ฟ้องเรียกคืนอสังหาริมทรัพย์เดิมของพวกตนในเยรูซาเลมตะวันตก  และกฎหมายปี 1980 ที่ผนวกเยรูซาเลมตะวันออกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอยู่ใต้ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการยิว

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 จรดจนปัจจุบัน ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในชีค จาร์เราะห์ ทั้งกลุ่มผู้อพยพที่ถูกจัดให้เข้าอยู่ในย่านนี้และทั้งกลุ่มที่อาศัยในย่านนี้มาเก่าก่อนรวม 70 ครอบครัว ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ก่อตั้งนิคมถิ่นฐานชาวยิวที่เข้าไปฟ้องร้องเรียกคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการชนะคดีไปแล้ว 4 ครอบครัวในปี 2009 และทำการบังคับให้ขนย้ายของออกจากบ้าน ขณะที่คนยิวก็เข้าไปครอบครองบ้านและปักหลักอยู่อาศัยแบบที่ไม่หวั่นไหวกับบรรยากาศตึงเครียดหรือการเผชิญหน้าใดๆ ในปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องขับไล่อยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก

คุณยายปาเลสไตน์น้ำตานองหน้า หอบหลานๆ หิ้วข้าวของ ย้ายออกจากบ้านเรือนย่านชีค จาร์เราะห์ เมื่อปี 2009 ครอบครัวของคุณยายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกฟ้องขับไล่โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งถิ่นฐานชาวยิว และศาลอิสราเอลตัดสินให้โจทก์ชาวยิวได้กรรมสิทธิ์ในบ้านซึ่งคุณยายลงหลักปักฐานมานาน 53 ปี
- ผลการตัดสินของศาลออกมาในเดือนต.ค. 2020 ว่า ให้ชาวปาเลสไตน์ 13 ครอบครัว รวม 58 คน ในเขตชีค จาร์เราะห์ ย้ายออกจากบ้านเรือนที่อาศัยมาตั้งแต่ปี 1956

- - - - ศาลอิสราเอลกำหนดว่าชาวปาเลสไตน์ 6 ครอบครัวแรกจะต้องย้ายออก เพื่อส่งมอบกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ชาวยิวภายในวันที่ 2 พ.ค. 2021 และอีก 7 ครอบครัวที่เหลือต้องย้ายออก ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2021 ด้านทนายปาเลสไตน์เดินหน้าสู้ต่อ ส่งคำร้องคัดค้านการตัดสินขึ้นสู่ศาลสูงสุดของอิสราเอล โดยนัดไต่สวนกันในวันที่ 10 พ.ค.

ในการนี้ มีชาวปาเลสไตน์ราว 200ครอบครัวในเยรูซาเลมตะวันออกที่อยู่ภายใต้การคุกคามจากความพยายามของกลุ่มผู้ก่อตั้งถิ่นฐานชาวยิวในอันที่จะฟ้องไล่ที่ ชุมชนชาวปาเลสไตน์จึงเต็มไปด้วยความคับแค้นและเชื่อว่าศาลอิสราเอลจะทยอยตัดสินให้ชาวยิวได้กรรมสิทธิ์ในบ้านเรือนของพวกตนจนกระทั่งชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดถูกขับให้พ้นออกจากเยรูซาเลมตะวันออก

- ชาวปาเลสไตน์แค้นใจกับคำตัดสินของศาล เดินขบวนประท้วงปะทะตำรวจรัวๆ ใน มี.ค. > เม.ย. > พ.ค.

- - - - ความคับแค้นใจจากคำตัดสินของศาลอิสราเอลโหมกระพือบรรยากาศตึงเครียดตลอดปลายปี 2020 จรดไปถึงเดือน พ.ค. กระแสเชี่ยวกรากขึ้นเป็นการปะทะ โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมี.ค.

ชาวปาเลสไตน์เดินขบวนประท้วงกลุ่มผู้ก่อตั้งนิคมสร้างถิ่นฐานชาวยิวหัวชาตินิยมที่พยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของครอบครัวปาเลสไตน์ 28 ครอบครัวในย่านชีค จาร์เราะห์ โดยในภาพนี้ เป็นการประท้วงเมื่อ 19 มี.ค. 2021

คืนศุกร์ 16 เม.ย. ชาวปาเลสไตน์เดินขบวนคัดค้านการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนในย่านชีค จาร์เราะห์ที่อาศัยเนิ่นนานมากกว่า 60 ปี และเกิดเหตุโต้เถียงส่งเสียงท้าทายกันกับครอบครัวชาวยิวหน้าบ้านหลังที่กลุ่มก่อตั้งนิคมถิ่นฐานยิวยึดมาจากครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในปี 2009
- - - - ช่วงครึ่งหลัง เม.ย. ตำรวจยิวกั้นเหล็กไม่ให้เข้าจัตุรัสลานพักผ่อน – ซัดกันนัว
กระแสไม่ยอมทน พุ่งสูงมากขึ้นไปอีกในช่วงครึ่งหลังของเดือนเม.ย. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมได้เข้าสู่การถือศีลอด รอมฎอน สองสัปดาห์แรก

ประตูดามัสกัส (Damascus Gate) โบราณสถานสำคัญในกรุงเยรูซาเลม แม้กำแพงประตูโบราณนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างสง่าและงดงามเมื่อปีคริสตศักราช 1537 แต่ประตูเมืองดั้งเดิมมีมาราวศตวรรษแรกๆ แห่งคริสตกาล  ที่ผ่านมา จัตุรัสหน้าประตูดามัสกัสเป็นพื้นที่พักผ่อนของประชาชน มีจุดค้าขายและจุดพบปะตั้งโต๊ะรับประทานอาหารใต้ฟากฟ้าดารดาษด้วยดวงดาว ภาพนี้ถ่ายทำไว้เมื่อปี 2012 โดย Praisethelorne ซึ่งนำขึ้นเผยแพร่บนคอมมอนส์วิกีมีเดีย

ผังของพื้นที่เมืองเก่าแห่งกรุงเยรูซาเลม โดยอยู่ในเขตเยรูซาเลมตะวันออก (Old City of Jerusalem)  ทั้งนี้ ประตูดามัสกัส อันเป็นโบราณสถานสำคัญ เป็นช่องทางหลักในการเข้าสู่ Old City โดยตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อผ่านประตูแล้ว จะพบเขตที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิม (Muslim Quarters)  และเมื่อเดินลึกเข้าไปจะพบศาสนสถานสำคัญคือมัสยิดอัล-อักซอ ซึ่งประกอบด้วยอาคารสำคัญต่างๆ เช่น สุเหร่าอัล-อักซอและอาคารโดมออฟเดอะร็อก

ชาวปาเลสไตน์ชุมนุมคัดค้านการตั้งแผงเหล็กกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าสู่ลานพักผ่อนหน้าประตูดามัสกัส บรรยากาศตึงเครียดมากมายด้วยความขุ่นเคือง
คืนพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย. ชาวยิวขวาจัดรวมตัวกันเดินขบวนต่อต้านชาวปาเลสไตน์ ด้านตำรวจอิสราเอลรุดเข้ายับยั้งกางกั้นไม่ให้ขบวนผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายเคลื่อนตัวไปเจอกัน แต่ลงท้ายแล้วกลับกลายเป็นว่าตำรวจยิงทั้งแก๊สน้ำตา ทั้งระเบิดเสียง ทั้งประทัดไฟ เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ หน่วยกาชาดรายงานว่าชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บ 32 ราย ในจำนวนนี้ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 12 ราย

คืนเสาร์ที่ 24 เม.ย. ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ปะทะกับตำรวจอิสราเอลและถูกจับกุม
วันที่ 26 เม.ย. ตำรวจยอมถอนแผงเหล็ก แต่การปะทะต่อสู้กลับมาอีกในกระแสประท้วงการฟ้องขับไล่

- - - - วันที่ 2 พ.ค. การประท้วงกลับรุนแรงขึ้นมาอีก ภายในสถานการณ์ที่ว่าครอบครัวปาเลสไตน์ที่ถึงกำหนดต้องย้ายออกจากบ้านเรือน แต่เรื่องถูกชะลอไว้ระหว่างรอศาลสูงสุดไต่สวน แต่ปรากฏมีชาวยิวบางกลุ่ม ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธชาวยิวเข้าไปคุกคามรังควาญให้เริ่มการขนย้ายเสียแต่โดยดี ทั้งที่ศาลสูงสุดอิสราเอลนัดไต่สวนในวันที่ 10 พ.ค.

- - - - ทุกคืนนับแต่วันที่ 3 พ.ค. มีการปะทะดุเดือดย่านชีค จาร์เราะห์ แล้วลุกลามทั่วเยรูซาเลมตะวันออกกับเวสต์แบงก์ โดยในย่านชีค จาร์เราะห์ซึ่งถูกคุกคามรุนแรง มีการประท้วงต่อสู้ และชาวปาเลสไตน์จึงถูกตำรวจอิสราเอลเข้าจับกุม

คืน 4 พ.ค. กลุ่มผู้ประท้วงคดีฟ้องไล่ที่คดีชีค จาร์เราะห์ ปะทะกับตำรวจ และถูกตำรวจรุมล็อกจับกุมตัว
คืนพุธที่ 5 พ.ค. การปะทะอย่างรุนแรงกับตำรวจดำเนินต่อเนื่องในย่านชีค จาร์เราะห์ หน่วยกาชาดให้ตัวเลขว่ามีชาวปาเลสไตน์ 22 รายได้รับบาดเจ็บ และตำรวจจับผู้ประท้วง 11 ราย ในวันเดียวกันทางด้านเวสต์แบงก์ เด็กวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์วัยเพียง 16 ปี เสียชีวิตด้วยคมกระสุนของทหารอิสราเอลในระหว่างการปะทะต่อสู้กัน สืบเนื่องกับเมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า ที่ว่าเด็กหนุ่มชาวยิววัย 19 ปี ถูกยิงออกมาจากรถยนต์ที่วิ่งผ่าน โดยไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

วันที่ 6 พ.ค. ความรุนแรงที่ยกระดับสูงในหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายต่างๆ หวั่นว่าจะจุดชนวนการสู้รบขึ้นมาอีก โดยชาวโลกเริ่มส่งเสียงห้ามปรามรัฐบาลยิว ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, และสเปน เรียกร้องให้อิสราเอลยุตินโยบายจัดตั้งนิคมถิ่นฐานของชาวยิวขึ้นในดินแดนต่างๆ ของปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยึดครองอยู่ รวมทั้งยุติการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปจากเยรูซาเลมตะวันออกด้วย

ด้านกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาส ซึ่งบริหารปกครองในฉนวนกาซา (อ่านเพิ่มเติมในข้อ 4 ด้านล่าง) ก็ส่งเสียงเตือนไปยังอิสราเอลว่าวิกฤตความขัดแย้งที่ระอุ อาจทำให้ความรุนแรงต่อยอดยืดเยื้อ

คืนพฤหัสฯ 6 พ.ค. การปะทะรุนแรงกับตำรวจในย่านชีค จาร์เราะห์ เกิดขึ้นอีก และตำรวจจับกุมผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์อีก 15 ราย อีกทั้งตำรวจต้องส่งกำลังไปดูแลบ้านของชาวยิวที่ยึดมาจากครอบครัวชาวปาเลสไตน์เมื่อปี 2009

วันศุกร์ 7 พ.ค. ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ในเขตเยรูซาเลมตะวันออก เดินขบวนคัดค้านการขับไล่ครอบครัวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนย่านชีค จาร์เราะห์ พลางตะโกนคำขวัญและโบกธงปาเลสไตน์ควบคู่กับธงของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาส ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญญาณถึงการรอคอยปฏิบัติการของฮามาสแล้ว ยังชี้บ่งระดับความสุกงอมพร้อมแตกหักของสถานการณ์ความขัดแย้ง

วันที่ 7 พ.ค. การเดินขบวนประท้วงของชาวปาเลสไตน์มีขึ้นหลังการสวดภาวนาในมัสยิดโดมออฟเดอะร็อค (Dome of the Rock - โดมสีทองที่เห็นในภาพ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในปริมณฑลของมัสยิดอัล-อักซอ ภายในเขต Old City ของเยรูซาเลมตะวันออก
** ชนวนศึก#2 - ตำรวจอิสราเอลบุกเข้าบริเวณมัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa mosque) ใช้มาตรการรุนแรงสลายกลุ่มผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์

- ตำรวจอิสราเอลปราบการประท้วงของชาวปาเลสไตน์ด้วยมาตรการปราบจลาจล

- - - - คืนวันที่ 7 พ.ค. หนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีอิสราเอลมอบสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่ ยาอีร์ ลาปีด (Yair Lapid) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีรักษาการ การปะทะต่อสู้ระหว่างตำรวจอิสราเอลหลายร้อยนายกับผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ครั้งรุนแรงที่สุด ได้เกิดขึ้นในบริเวณรอบอาคารสุเหร่าอัล-อักซอ ภายในพื้นที่แห่งมัสยิดอัล-อักซอ อันเป็นมัสยิดสำคัญซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอันดับ 3 ของตน ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ซึ่งไม่อนุญาตให้ชาวยิวเหยียบย่างเข้าไป

วิกฤตการณ์ดังกล่าวเปรี้ยงปร้างขึ้นในห้วงเวลาที่สาธุชนชาวมุสลิมจำนวนหลายหมื่นคนไปละหมาดกันในบริเวณมัสยิดอัล-อักซอ เนื่องในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอม – เดือนแห่งการถือศีลอด ทั้งนี้ ไม่มีความแน่ชัดว่ามีฝ่ายไหนตั้งใจยั่วยุ ฝ่ายตำรวจบอกว่า ชาวปาเลสไตน์ขว้างปาก้อนหิน, ขวดแก้ว, และพลุดอกไม้ไฟ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ จนถึงขั้นจลาจล เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดปราบจลาจลจึงยิงสวนกลับไปด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา

ด้านฝ่ายปาเลสไตน์แสดงคลิปวิดีโอว่าฝ่ายอิสราเอลยกกำลังบุกเข้าไปในบริเวณจัตุรัสที่ตั้งมัสยิดแห่งนี้ และยิงระเบิดเสียงหลายลูกที่บริเวณด้านในอาคารมัสยิด ภาพความรุนแรงที่ปรากฏแพร่ออกไปสร้างความสะเทือนใจชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งถือว่าการบุกมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์คือการหมิ่นและคุกคามศาสนาอิสลาม

ผู้บาดเจ็บชาวปาเลสไตน์มีมากมายกระทั่งว่าหน่วยแพทย์ฉุกเฉินต้องตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อให้การรักษาเร่งด่วน  รอยเตอร์รายงานอย่างนั้นพร้อมให้ข้อมูลว่าเป็นชาวปาเลสไตน์ 205 ราย ตำรวจอิสราเอล 12 ราย ทั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 88 รายโดยเป็นตำรวจ 6 ราย ถูกนำส่งโรงพยาบาล

คืนศุกร์ที่ 7 พ.ค. ขณะที่ชายปาเลสไตน์สวดภาวนา ตำรวจอิสราเอลรวมกำลังพลในระหว่างที่มีการปะทะกับชาวปาเลสไตน์บนพื้นที่รอบอาคารสุเหร่าอัล-อักซอ

คืนศุกร์ที่ 7 พ.ค. ตำรวจอิสราเอลหลายร้อยนายในชุดปราบจลาจลกระจายกำลังล้อมพื้นที่รอบอาคารสุเหร่าอัล-อักซอ  ขณะที่ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ตั้งหลักรอดูสถานการณ์  ในการปราบปรามครั้งนี้ ตำรวจอิสราเอลใช้กระสุนยางที่ทำให้ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

คืนศุกร์ที่ 7 พ.ค. ชาวปาเลสไตน์วิ่งหลบระเบิดเสียงและประทัดไฟที่ตำรวจอิสราเอลระดมกันปาเข้าใส่ ที่บริเวณรอบอาคารสุเหร่า

คืนศุกร์ที่ 7 พ.ค. ชายปาเลสไตน์ถูกตำรวจอิสราเอลล็อกตัวจับกุมที่บริเวณรอบอาคารสุเหร่า ในระหว่างการปะทะครั้งรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง
- - - - วันที่ 8-10 พ.ค. การเดินขบวนประท้วง อีกทั้งการปะทะใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลามไปปะทุขึ้นตามส่วนอื่นๆ ของเยรูซาเลมตะวันออก โดยเห็นได้ว่าในขบวนประท้วงต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยธงของกองกำลังฮามาส บ่งบอกการรอคอยความช่วยเหลือจากฮามาสที่ปกครองอยู่ในฉนวนกาซา อันเป็นดินแดนที่มีประเทศอิสราเอลแผ่ขวางอยู่ตรงกลาง

- วันที่ 8 พ.ค. ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์วิ่งหลบระเบิดเสียงที่ตำรวจอิสราเอลระดมยิงเข้าใส่ ในการปะทะดุเดือดระหว่างชาวปาเลสไตน์กับตำรวจอิสราเอลเกิดขึ้นที่ดามัสกัส เกท หลายสื่อระดับโลกรายงานว่าการใช้กำลังสลายฝูงชนอย่างรุนแรงทำให้ปัญหาความไม่สงบในนครอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเยรูซาเลมพุ่งสูงที่สุดในรอบหลายปี

- วันที่ 9 พ.ค. ตำรวจอิสราเอลจ่อปืนไรเฟิลใส่ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์นายหนึ่งใกล้ประตูดามาสคัส เกท ด้านนอกของพื้นที่เมืองเก่า Old City
- การต่อสู้ของภาคประชาชนขึ้นสู่วิกฤตสูงสุด ณ วันฉลองชัยของชาวยิว 10 พ.ค.

- - - - วันที่ 10 พ.ค.การปะทะในวันนี้ มีความแตกต่างกว่าทุกวัน ด้วยว่าเป็นการปะทะแห่งศึกศักดิ์ศรี เพราะขณะที่ชาวอิสราเอลเฉลิมฉลองชัยในการยึดครองเยรูซาเลมตะวันออกเมื่อปี 1967 นั้น ชาวปาเลสไตน์ซึ่งตกอยู่ในความคับแค้นใจอย่างต่อเนื่องจะระลึกว่ามันเป็นวันแห่งหายนะของวิถีชีวิต ยิ่งกว่านั้น นับจากการปะทะต่อสู้ร้ายแรงภายในพื้นที่มัสยิดอัล-อักซอ เป็นต้นมา ตำรวจอิสราเอลใช้มาตรการรุนแรงในขั้นของการปราบจลาจล อีกทั้งยังคงกำลังไว้ในมัสยิดตลอดเวลา สร้างความแค้นเคืองแก่ชาวปาเลสไตน์ในทุกพื้นที่ ในการนี้ จึงถึงวาระสุกงอมที่กองกำลังฮามาสต้องช่วยภาคประชาชนโต้ตอบอิสราเอล

วันที่ 10 พ.ค. กองกำลังความมั่นคงอิสราเอลใช้แก๊สน้ำตาในการสลายกลุ่มผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ภายในพื้นที่ของมัสยิดอัล-อักซอ
- - - - จากความรุนแรงที่ อัล-อักซอ ตลอดจนส่วนอื่นๆ ของเยรูซาเลมตะวันออก ในช่วงหลายๆ วันเหล่านี้ มีชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บรวมมากกว่า 700 คน


2.การปะทะต่อสู้ของภาคประชาชน ได้ยกระดับขึ้นเป็น ศึกขีปนาวุธยิว-ปาเลสไตน์ แห่งปี 2021

** ฮามาส ผู้นำกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ในดินแดนฉนวนกาซา ออกโรงปกป้องมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ และช่วยเหลือพี่น้องปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออก

- - - - ณ วันซึ่งถูกย้ำแค้นที่อิสราเอลฉลองชัยครบรอบการยึดครองเยรูซาเลมตะวันออก 10 พ.ค. 1967 และเป็นวันซึ่งอารมณ์เจ็บปวดในหมู่พี่น้องปาเลสไตน์ทั้งมวลพุ่งถึงขีดสุด โดยเฉพาะที่ต้องรับรู้ถึงภาพตำรวจอิสราเอลปักหลัก(คุมสถานการณ์)  อยู่ในบริเวณของมัสยิดอัล-อักซอ ฮามาสแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมเจ็บแค้น กับพี่น้องปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออก โดยประกาศให้ชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมในการลุกฮือยุคใหม่ (Intifada)ให้เหมือนกับเมื่อปี 2000

-
- - - พร้อมกันนั้น ฮามาสยื่นคำขาดต่ออิสราเอลให้ถอนกำลังตำรวจและทหารออกจากทั้งมัสยิดอัล-อักซอ และทั้งเขตชีค จาร์เราะห์ ภายใน 18.00 น. ของวันที่ 10 พ.ค.
มิเช่นนั้น กองกำลังร่วมปาเลสไตน์แห่งฉนวนกาซาจะเปิดฉากโจมตีอิสราเอล

- - - - คืนวันที่ 10 พ.ค. หลังผ่านเส้นตายไม่กี่นาที ฮามาสเปิดฉากระดมยิงจรวดมากกว่า 150 ลูก ออกจากกาซา สาดเข้าไปถล่มอิสราเอลให้สั่นสะเทือนหวาดกลัวพิษสงของปาเลสไตน์ พร้อมกับสำแดงถึง “ความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” กับชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออกซึ่งถูกอิสราเอลบีฑาครั้งแล้วครั้งเล่า

ในการนี้ เนื่องจากอิสราเอลมีระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ “ไอออน โดม” (Iron Dome) ดังนั้น แท็กติกการจรวดจึงต้องซัดออกไปคราวละมากๆ เพื่อให้มีบางส่วนสามารถฝ่าระบบการยิงขีปนาวุธสกัดทำลายจรวด และดิ่งเข้าถล่มเมืองต่างๆ ของอิสราเอลได้สำเร็จ

- - - - อิสราเอลตอบโต้ฮามาสทันที ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มโจมตีกลับไปยังกาซา ทั้งนี้ กาซาเป็นผืนแผ่นดินแนวยาวและแคบๆ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีเนื้อที่เพียงประมาณ 360 ตร.กม. เป็นที่พำนักอาศัยของชาวปาเลสไตน์ร่วมๆ  2 ล้านคน หลังจากที่กองทัพอิสราเอลถอนกำลังออกจากกาซาในปี 2005 และกองกำลังปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสขับกองกำลังปาเลสไตน์ของกลุ่มฟาตาห์พ้นออกไปจากกาซาได้ในปี 2007 ฮามาสจึงยึดครองและบริหารกาซา แต่อิสราเอลยังควบคุมกาซาในบางด้าน เช่น การห้ามส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ การคุมจุดผ่านแดน

ภาพจริงที่บันทึกโดยเอเอฟพี ที่จะเห็นเส้นแสงที่เกิดจากความเคลื่อนที่ของกลุ่มจรวดซึ่งฮามาสระดมยิงเข้าใส่อิสราเอล (ทางขวาของภาพ) และเส้นแสงพร้อมประกายไฟอันเป็นปรากฏการณ์ขณะที่ขีปนาวุธที่ถูกยิงโดยระบบไอออนโดม ทำการสกัดและทำลายจรวด (ทางซ้ายของภาพ)

ขีปนาวุธของระบบไอออน โดม ถูกยิงออกจากฐานในเมืองแอชแดด เพื่อสกัดทำลายจรวดที่พุ่งมาจากกาซา เมื่อ 17 พ.ค.
**ศูนย์การปะทะยิว-ปาเลสไตน์ ย้ายสู่ฉนวนกาซา: ฮามาสมุ่งเล่นงานยิวอย่างเจ็บแสบ แม้โดนยิวถล่มหนักในปฏิบัติการที่จะเอาฮามาสให้เดี้ยงถาวร

- - - - วันที่ 11-19 พ.ค. อิสราเอลเปิดปฏิบัติการ “Operation Guardian of the Walls” บุกถล่มทำลายล้างฮามาสโดยส่งเครื่องบินไอพ่น Fighter Jet ติดขีปนาวุธ เข้าไปโจมตีทางอากาศใส่กาซาเพื่อถล่มทำลายศักยภาพการรบของฮามาส โดยในวันนี้เป็นการทำลายกลุ่มอาคารสูง 13 ชั้นในเมืองกาซาซิตี้ที่เป็นตึกพักอาศัยและสำนักงาน ซึ่งอิสราเอลประกาศว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาสใช้เป็นที่ตั้งสำนักงาน

ด้านฮามาสโต้ตอบโดยระดมสาดจรวดชุดมหึมานับร้อยลูกเข้าใส่อิสราเอล จนสามารถฝ่าระบบไอออนโดมเข้าไปตกในอิสราเอลได้มากมาย

ด้วยความที่ฮามาสต้องใช้กลยุทธ์กระหน่ำยิงจรวดเข้าสู่เมืองต่างๆ ในอิสราเอลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แบบสาดไปคราวละมากๆ เพื่อให้ขีปนาวุธของอิสราเอลไม่ทันจะสกัดทำลายได้ทั้งหมดในห้วงเวลาสั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้เหลือจรวดบางลูกที่สามารถฝ่าเข้าไปถล่มสถานที่ของอิสราเอลได้สำเร็จ ดังนั้น จุดที่จรวดจะเข้าไปทำลายจึงยากจะกำหนดให้แน่นอน และมีเพียงไม่กี่ครั้งที่จะยิงโดนสถานที่ด้านการทหาร

นอกจากนั้น เมื่อเทียบความรุนแรงในการถล่มทำลายซึ่งเขตกาซาโดนเล่นงานจากขีปนาวุธของอิสราเอล ก็ต้องถือว่าขนาดของความสูญเสียที่อิสราเอลได้รับจากจรวดของฮามาส อยู่ในสัดส่วนของขนาดเสื้อ XXS : XXL โดยที่ XXS คือขนาดความสูญเสียในส่วนของอิสราเอล

ซากรถประจำทางและรถยนต์ของอิสราเอลที่โดนจรวดสังหารของฮามาสทำลายจนไฟลุกท่วม เมื่อ 11 พ.ค. ในเมืองโฮลอน (Holon) ทั้งนี้ มีเด็กหญิงวัยเพียง 5 ปี ที่เป็นชาวยิวได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแรงกระทบของจรวดเพราะน้องอยู่ใกล้รถเมล์คันนี้ขณะจรวดพุ่งเข้าใส่ อนึ่ง นี่เป็นภาพของโยอัฟ เคเรน นักข่าวและนักเขียนที่นำขึ้นเผยแพร่บนคอมมอนส์วิกิมีเดีย

รถยนต์ถูกจรวดจากกาซา ไฟลุกท่วม ในเมืองแอชเคลอน (Ashkelon) เมืองทางใต้ของอิสราเอล เมื่อ 11 พ.ค.

จรวดจากกาซายิงโดนถังเก็บน้ำมันของบริษัทยูโรป เอเชีย ไปบ์ไลน์ รัฐวิสาหกิจอิสราเอล ในเมืองแอชเคลอน ห่างกาซาเพียง 7 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดระเบิดเป็นไฟลุกโชนในคืนอังคารที่ 11 พ.ค. ถังเก็บน้ำมันดังกล่าวมีขนาดความจุสูงสุด 23 ล้านบาร์เรล

จรวดจากกาซาพุ่งเข้าเจาะกำแพงอาคารอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งอย่างจัง และประจวบเหมาะกับว่าจุดดังกล่าวเป็นห้องหลบภัยที่จะมีความแข็งแรงสูง ส่งผลให้เด็กชายชาวยิววัยเพียง 5 ขวบเสียชีวิต โดยน้องเป็นเด็กเล็กชาวยิวเพียงคนเดียวที่เป็นเหยื่อการสู้รบยิว-ปาเลสไตน์ในรอบ 11 วันมหันตภัยนี้ โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเมื่อ 12 พ.ค. ในเมืองสเดร็อท (Sderot) ทางตอนใต้ของอิสราเอล อนึ่ง กฎหมายของอิสราเอลกำหนดให้อาคารที่อยู่อาศัยจะต้องมีห้องหลบภัยที่ออกแบบให้แข็งแกร่งคุ้มครองชาวยิวจากภัยสงคราม ภาพของสำนักงานเทศบาลเมืองสเดร็อท เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน

ชาวยิวในเมืองแอชแดด (Ashdad) ใช้กำแพงติดบันไดของอาคารอพาร์ตเมนต์ เป็นจุดหลบภัยทางอากาศ เมื่อได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัยจรวดจากปาเลสไตน์

อพาร์ตเมนต์ของชายคนนี้ถูกจรวดจากกาซายิงเสียหายยับเยินเมื่อ 13 พ.ค. ในเมืองเปทาห์ ทิกวา ตอนกลางของอิสราเอล
- - - - ชาวยิวทุกข์ตรมหนักหนากับชีวิตเสี่ยงตายท่ามกลางจรวดของปาเลสไตน์

พอไซเรนกรีดเสียงโหยหวนเตือนว่าจรวดจากฉนวนกาซาของปาเลสไตน์โจมตีเข้ามา วิทยุจะหยุด โทรศัพท์มือถือจะรัวบี๊บๆๆ พร้อมแสงสีแดงแว่บๆๆ ทุกสองวินาที ขณะที่จอโทรทัศน์จะออกภาพเตือนภัยว่า รีบหลบเข้าที่กำบัง รอยเตอร์เล่าถึงวิถีชีวิตอันเต็มไปด้วยความอกสั่นขวัญแขวนของผู้คนในอิสราเอลตลอด 11 วันของการดวลอาวุธหนักระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา

“เราแทบจะไม่ออกจากบ้านกันเลยค่ะ อาบน้ำแต่ละทีก็จะรีบๆ เร็วๆ บางทีลูกชายแปดขวบของดิฉันจะไม่ยอมออกจากห้องนิรภัย” ลิออร์ ดาบูช คุณแม่ชาวยิววัย 37 ปี เล่าไว้อย่างนั้นเมื่อวันศุกร์ 14 พ.ค. เธอกับลูกสองหนุ่มน้อยจะขลุกอยู่ในห้องนิรภัยของอพาร์ตเมนต์ในเมืองแอชเคลอนแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้คนที่อยู่ในเมืองห่างๆ จากกาซา เช่น ในเทลอาวีฟ จะออกจากบ้านเรือนไปทำธุรกิจบ้าง แต่ก็ต้องคอยผวาไม่ใช่น้อย เมื่อเสียงไซเรนแหวกอากาศขึ้นมา ทุกคนจะแย่งกัน กรูกันเข้าหลุมหลบภัย ทั้งนี้ มีคุณย่าบางรายล้มขณะรีบไปยังหลุมหลบภัย แล้วถูกเหยียบจนบาดเจ็บรุนแรง

แม้จะทราบว่าจรวดปาเลสไตน์สามารถฝ่าระบบป้องกันภัยทางอากาศเข้ามาได้ไม่ถึง 5% แต่ไม่มีใครต้องการตกเป็นเหยื่อของจรวดไม่กี่ลูกที่ฝ่าเข้ามาได้

แม้แต่รถจี๊ปของทหารอิสราเอลยังถูกจรวดปาเลสไตน์ยิงโดนเข้าอย่างจังราวกับอยู่ห่างต้นทางเพียงไม่กี่เมตร โดยทหารในรถจี๊ปหนึ่งนายเสียชีวิต และอีกสองนายบาดเจ็บอย่างหนัก

อาคารและรถยนต์ในเขตรามัท กาน ของกรุงเทลอาวีฟ เสียหายยับเยินด้วยพิษสงของจรวดปาเลสไตน์ เมื่อ 15 พ.ค.

สภาพความเสียหายของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองแอชแดด อิสราเอล ที่ได้รับผลจากจรวดปาเลสไตน์ เมื่อ 17 พ.ค.

ขณะขับรถในเมืองสเดร็อท เสียงไซเรนเตือนภัยจรวดดังขึ้น คุณแม่ต้องจอดรถและพาลูกสาวตัวน้อยออกมาหลบภัยริมถนน (ตามหลักความปลอดภัยซึ่งไม่แนะนำให้หลบอยู่ในรถ) พลางกกกอดยัยตัวเล็ก เอาร่างกายทั้งหมดบดบังคุ้มกันภัยให้น้อง เหตุเกิดเมื่อ 19 พ.ค. นี่คือความรักที่แท้จริง รักของแม่
3.รับใช้ดูแลชาวปาเลสไตน์ขนาดนี้ ฮามาสรับคะแนนนิยมสิบเต็มสิบ ไม่หัก   โอกาสชิงอำนาจปกครองปาเลสไตน์ออกจากกลุ่มฟาตาห์ เห็นอยู่แค่เอื้อม

** ‘ฮามาส’ ในเส้นทางชิงอำนาจกับ ‘ฟาตาห์’ ตั้งแต่ต้น จน...(อวสาน?)

- - - - ฮามาส หรือ ขบวนการต่อต้านเพื่ออิสลาม (Islamic Resistance Movement) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1987 ในช่วงการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลครั้งที่ 1 โดยเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ไม่พอใจกับองค์กรนำ ได้แก่ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) ตลอดจนขบวนการฟาตาห์ซึ่งเป็นสายตรงของพีแอลโอ

ที่ผ่านมา ฮามาสจะให้ความสำคัญสูงสุดแก่นโยบายโค่นล้มอิสราเอลและสถาปนารัฐปาเลสไตน์ด้วยวิธีใช้กำลังอาวุธและแท็กติกต่างๆ ที่ชาวโลกประณามว่าเป็นอาชญากรรมที่โหดร้ายเกิน เช่น ระเบิดพลีชีพที่มุ่งสังหารชาวอิสราเอลในช่วงปี 1989-2016

ในเวลาเดียวกันฮามาสให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความทันสมัย ผลงานเหล่านี้เป็นผลประโยชน์โดยตรงของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลที่นำองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority - พีเอ) ที่ถูกครอบงำโดยพรรคฟาตาห์ ดังนั้น พรรคฮามาสจึงได้รับความนิยมอย่างสูงภายในชุมชนคนปาเลสไตน์

นักรบแห่งกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาส แสดงศักยภาพปฏิบัติการที่ต้องใช้ความชำนาญขั้นสูง
- - - - ฮามาสมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำเก่าแก่ที่ต่อสู้โค่นล้มอิสราเอลภายใต้การนำของยัสเซอร์ อาราฟัต (1929-2004) แต่เก่าก่อน (ตั้งแต่ปี 1964) โดยที่ฮามาสไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพีแอลโอ การแตกหักกับพีแอลโอเกิดขึ้นในความขัดแย้งกรณีอิรักบุกคูเวตเมื่อปี 1990 เนื่องจากพีแอลโอสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ฮามาสคัดค้าน โดยที่ผู้นำฮามาสในขณะนั้น คือ คอเลด มาชาล (Khaled Mashaal) มีสายสัมพันธ์อันดีกับคูเวต

ในการนี้ ฮามาสก็มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับขบวนการฟาตาห์ซึ่งเป็นสายตรงของพีแอลโอ ความตึงเครียดระหว่างฮามาสกับฟาตาห์ได้ยกระดับอย่างรุนแรงหลังอสัญกรรมของอาราฟัตในปี 2004 และหลังจากที่มาห์มูด อับบาสชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2005 โดยฝ่ายฮามาสคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

- - - - ความสัมพันธ์ระหว่างฮามาสกับฟาตาห์ยิ่งย่ำแย่หนัก เมื่อฮามาสชนะการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปาเลสไตน์แบบถล่มทลายในปี 2006 ตามมาด้วยการใช้กำลังอาวุธต่อสู้กัน โดยที่ความพยายามสร้างสมานฉันท์ระหว่างสองพรรคการเมืองคู่นี้ ไม่ประสบความสำเร็จ

(ซ้าย)อิสมาอิล ฮานเนียเอห์ (Ismail Haniyeh) แห่งพรรคฮามาสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ หลังจากฮามาสชนะเลือกตั้งสภานิติบัญญัติอย่างถล่มทลายในปี 2006 (ขวา) มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) แห่งพรรคฟาตาห์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีปาเลสไตน์ หลังชนะเลือกตั้งในปี 2005  ต่อมาในปี 2017 ฮานเนียเอห์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำทางการเมืองของพรรคฮามาสสืบต่อจากคอเลด มาชาล
- - - - ในปี 2007 เกิดการต่อสู้เอาเป็นเอาตายระหว่างฮามาสกับฟาตาห์ภายในกาซา (Battle of Gaza, 2007) ฮามาสได้ชัยชนะในการต่อสู้ สามารถยึดครองกาซาสำเร็จ ส่วนฟาตาห์ย้ายไปตั้งฐานอยู่ในเวสต์แบงก์ โดยที่อับบาสยังรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ และไม่มีการจัดเลือกตั้ง ในการนี้ สภาพความสัมพันธ์อยู่ในลักษณะซึ่งอาจเรียกได้ว่า ความขัดแย้งที่แช่แข็งไปพลางก่อน นับจากนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ฮามาสกับฟาตาห์แบ่งเขตครองอำนาจแยกขาดจากกันในระหว่างเขตกาซากับเขตเวสต์แบงก์

- - - - เมื่อม.ค. 2021 อับบาสลงนามในกฤษฎีกาเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดวันเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในวันที่ 22 พ.ค. และวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 31 กรกฎาคม 2021

** รบกับยิว ล้างแค้นแทนพี่น้องปาเลสไตน์ คือสุดยอดนโยบายดึงคะแนนของฮามาส

- - - - ที่ผ่านมา คะแนนนิยมที่ฮามาสครองอยู่นั้นดูดีทีเดียว  แต่ก็มีเสียงติเตียนอยู่บ้างว่าการทุ่มเทในด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ออกจะแผ่วลงไป กระนั้นก็ตามในความเป็นพรรคการเมือง ปฏิบัติการเร่งคะแนนเสียงเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ต้องดำเนินการ

ผลงานการล้างแค้นแทนพี่น้องปาเลสไตน์ที่ฮามาสดำเนินการในช่วง 11 วันแห่งศึกขีปนาวุธยิว-ปาเลสไตน์ สร้างความสุขและความภูมิใจขั้นสุดแก่ชาวปาเลสไตน์ แม้ฝ่ายปาเลสไตน์จะถูกอิสราเอลถล่มอย่างมหาศาลก็ตาม ทั้งนี้ ปาเลสไตน์ถือว่าชัยชนะของฝ่ายตนคือการได้สร้างความเสียหายทางวัตถุและจิตใจในพื้นที่ของอิสราเอล ซึ่งเป็นการแก้แค้นและการให้บทเรียนอีกครั้งหนึ่งแก่ฝ่ายอิสราเอล

เห็นได้ชัดว่าการรบครั้งนี้เป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับฮามาสในอันที่จะชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม

ชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออกเฉลิมฉลองปฏิบัติการถล่มอิสราเอลที่กลุ่มฮามาสเป็นผู้นำ เมื่อ 13 พ.ค. ในภาพล่าง จะเห็นรูปภาพผู้นำสำคัญของฮามาส 3 ราย (ซ้าย)อิสมาอิล ฮานเนียเอห์ (กลาง) ยาห์ยา ซินวาร์ (Yahya Sinwar) (ขวา) คอเลด มาชาล ภาพทั้งสองนี้ปรากฏบนทวิตเตอร์ของชิมริท เมลร์ (Shimrit Melr)
- - - - เว็บไซต์ข่าว nbcnews.com ของเครือสื่อมวลชนยักษ์ NBC ในสหรัฐอเมริกา เสนอประเด็นไว้ว่าเนื่องจากฮามาสไม่มีโอกาสต่อกรกับอับบาสผ่านกล่องหย่อนบัตรเลือกตั้ง ฮามาสจึงใช้วิธีอื่นๆ เช่น การส่งเสริมความรุนแรง เพื่อจุดชนวนสงครามอันจะเปิดโอกาสให้ฮามาสแสดงบทบาทผู้นำการศึกล้างแค้นแทนชาวปาเลสไตน์ ดังนั้น ในกระแสความขัดแย้งนี้ ฮามาสเป็นสปอนเซอร์ในการขยายความรุนแรงในฝั่งของชาวปาเลสไตน์ โดยมีประเด็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้าที่ชีค จาร์เราะห์เป็นเชื้อไฟโหมความคับแค้น ซึ่งเร่งกระแสการประท้วงให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีโซเชียลมีเดียคอยหนุนเนื่องอีกทางหนึ่ง

- - - - ด้านประธานาธิบดีอับบาสออกมาประกาศเลื่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่เมื่อ 29 เม.ย. โดยให้เหตุผลว่าอิสราเอลเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่พร้อม แต่หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าเป็นการแก้เกม เพราะประเมินกันว่าตลอดตั้งแต่ที่กระแสการเดินขบวนประท้วงและการปะทะกับตำรวจอิสราเอลโหมกระพือตลอดเดือนมี.ค.-เม.ย. นั้น ฮามาสคือความหวังและที่พึ่งของชาวปาเลสไตน์ ดังนั้น หากจัดเลือกตั้งตามกำหนดการ โอกาสที่ฝ่ายฮามาสจะชนะมีสูงลิ่ว

- - - - เมื่อฮามาสเปิดฉากรบ ทำการถล่มจรวดราวกับฝนฟ้าพายุกล้า โจมตีหลากหลายเมืองของอิสราเอล ปฏิบัติการนี้จึงเป็นการแสดงความเป็นผู้นำแห่งชาวปาเลสไตน์ในขั้นสูงสุด

“ฮามาสได้ขยายบารมีในหมู่ชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบรรดาผู้ที่เบื่อหน่ายกับการเลื่อนเลือกตั้งและการที่อับบาสไม่สามารถเจรจาให้อิสราเอลยุติความพยายามของกลุ่มนิคมตั้งถิ่นฐานยิวในอันที่จะขับไล่ครอบครัวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนให้จงได้” nbc.com เสนอประเด็นไว้อย่างนั้น เพื่อจะชี้ว่าการเปิดศึกกับอิสราเอลเพื่อปกป้องพี่น้องปาเลสไตน์ คือตัวช่วยสำหรับฮามาส ไม่ว่าจะในส่วนของการเลือกตั้ง หรือในส่วนของแรงสนับสนุนจากประชาชนโดยองค์รวม (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.nbcnews.com/think/opinion/israel-violence-al-aqsa-protests-palestinian-rockets-helps-netanyahu-hamas-ncna1266890)

- - - - ยิ่งกว่านั้น ศึกขีปนาวุธครั้งนี้ ยังช่วยฮามาสในอีกทางหนึ่ง คือ เม็ดเงินความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้าไป ทั้งจากอียิปต์ กาตาร์ รัสเซีย สหประชาชาติ ฯลฯ  อียิปต์ได้ประกาศมอบความช่วยเหลือ 500 ล้านดอลลาร์แก่การบูรณะฟื้นฟูกาซาขึ้นมา เม็ดเงินความช่วยเหลือต่างชาติเป็นแหล่งรายได้สำคัญของปาเลสไตน์มาโดยตลอด รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุอย่างนั้น

ฉนวนกาซายับเยินอยู่ในซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนทั่วเมือง แต่ด้วยเม็ดเงินความช่วยเหลือ การจ้างงานและการจับจ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะสะพรั่งขึ้นมา ซึ่งจะช่วยหนุนเนื่องอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ
4.รัฐยิวหมายจะถล่มฮามาสให้ราบคาบในศึกนี้ ‘เนทันยาฮู’ ปกป้องชาวยิวสมยี่ห้อ "มิสเตอร์ความมั่นคง” พร้อมกับยึดเก้าอี้นายกฯ รักษาการ ได้หวุดหวิด

** อิสราเอลทุ่มเทเต็มที่กับศึกขีปนาวุธ 2021 เน้นทำลายศักยภาพการรบของฮามาส แต่ชาวบ้านสตรีและเด็กโดนหนัก ตายเกือบร้อย บาดเจ็บหลายพันราย

- - - - เนทันยาฮูสร้างผลงานประทับใจประชาชน จัดหนักอย่างยิ่งกับการรบปราบปรามปาเลสไตน์และฮามาส พร้อมกับตอกย้ำจุดขายของตนซึ่งสร้างชื่อเสียงไว้มากมายในด้านการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ

หลังจากที่ยิงขีปนาวุธเข้าใส่กาซาเพื่อตอบโต้กับที่ฮามาสสาดซัดจรวดมากกว่า 150 ลูกเข้าสู่อิสราเอลในวันจันทร์ที่ 10 พ.ค.แล้ว ในวันต่อๆ มา กองทัพอิสราเอลประกาศปฏิบัติการปกป้องมาตุภูมิ โดยขนานนามว่า “Operation Guardian of the Walls” โดยเป็นฝ่ายบุกเข้าไปดำเนินปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อถล่มทำลายศักยภาพการรบของฮามาส พร้อมกับแถมขีปนาวุธไปถล่มอาคารและบ้านเรือนของภาคธุรกิจและภาคประชาชนจนกระทั่งเขตกาซายับเยินอยู่ในซากปรักหักพังทั่วเมือง

วันที่ 11 พ.ค. ถล่มอาคาร 13 ชั้นจนยุบลงกับพื้น เพราะเป็นกลุ่มสำนักงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฮามาส

อาคารสูงในกาซาซิตีได้รับผลกระทบจากขีปนาวุธของอิสราเอล และสั่นคลอนในท่ามกลางฝุ่นควันฟุ้ง เหตุเกิดขึ้นเมื่อ 11 พ.ค.
วันที่ 12 พ.ค. ถล่มจุดรักษาความปลอดภัยทั้งภาคตำรวจและทหารของฮามาสหลายสิบแห่งตลอดทั่วฉนวนกาซา

วันที่ 13 พ.ค. ถล่มศูนย์บัญชาการต่างๆ ของฮามาสด้านกองกำลังความมั่นคงภายใน ทั้งธนาคารกลาง และทั้งบ้านพักของผู้บัญชาการระดับสูงรายหนึ่ง

วันที่ 14 พ.ค. ระดมยานหุ้มเกราะและกองทหารมาชุมนุมกันตามแนวชายแดนติดต่อกับกาซา เพื่อล่อให้นักรบฮามาสแห่กันเข้าไปในอุโมงค์เชื่อมต่อกาซากับอียิปต์ แล้วถล่มขีปนาวุธจำนวนมหาศาลเพื่อทำลายเครือข่ายอุโมงค์เหล่านั้นพร้อมไปกับทำลายโรงผลิตจรวด และการสังหารบุคลากรฮามาส ซึ่งอิสราเอลประเมินว่าหลายร้อยรายทีเดียว

วันที่ 15 พ.ค. ถล่มอาคารสูงแห่งหนึ่งในกาซาซิตี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของเอพี สำนักข่าวสัญชาติสหรัฐฯ และของสถานีโทรทัศน์อัล-ญะซีเราะห์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กาตาร์

วันที่ 16 พ.ค. ถล่มทำลายบ้านพักของผู้นำฝ่ายการเมืองฮามาส

** ความสำเร็จของปฏิบัติการถล่มฉนวนกาซา เชิดชูความเป็นผู้นำของเนทันยาฮู พร้อมกับช่วยต่ออายุนายกฯ รักษาการได้อย่างหวุดหวิด

- พรรคคู่แข่งใกล้จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่การรบเปรี้ยงปร้างขึ้น เนทันยาฮูจึงได้ตัวช่วยมายืดอายุนายกฯ รักษาทันท่วงที

เนทันยาฮูไม่สามารถเอาชนะเลือกตั้งครั้งที่ 4 ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ แม้จะมีการจัดเลือกตั้งรวม 4 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นห้วงที่อิสราเอลปลอดจากศึกสงครามกับบรรดานักรบปาเลสไตน์ ในการนี้ เนทันยาฮูซึ่งยังครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรักษาการมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้หลายกลยุทธ์ที่จะซื้อใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ยังไม่บรรลุผล

เนทันยาฮู รักษาการนายกฯ อิสราเอล
ในวันที่ 6 พ.ค. ประธานาธิบดีอิสราเอลมอบสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลให้แก่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงอันดับสอง นามว่า ยาอีร์ ลาปิด (Yair Lapid)

ในวันรุ่งขึ้น 7 พ.ค. ที่เกิดการปะทะครั้งใหญ่ในบริเวณมัสยิดอัล-อักซอ และอีกหลายวันต่อมาที่ตำรวจอิสราเอลตอบโต้ผู้ประท้วงปาเลสไตน์ด้วยมาตรการแข็งกร้าว ความพยายามรวบรวมพรรคต่างๆ เข้าร่วมรัฐบาลก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยในเช้าวันที่ 10 พ.ค. รัฐบาลผสมมีความชัดเจนมาก และมีโอกาสที่จะสาบานตัวเข้าเป็นรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จภายในสัปดาห์นั้น

ในการนี้ นิวยอร์กไทมส์สื่อยักษ์ในสหรัฐฯ เสนอประเด็นว่าเนทันยาฮูเป็นผู้ที่พยายามจะกระตุ้นให้เกิดวิกฤตและการปะทะต่อสู้ในเยรูซาเลม เพื่อหนุนฐานะผู้นำของตน (อ่านเพิ่มเติมที่ HTTPS://WWW.NYTIMES.COM/2021/05/15/WORLD/MIDDLEEAST/ISRAEL-PALESTINIAN-GAZA-WAR.HTML)

ครั้นเมื่อเกิดภัยคุกคามจากฮามาส การจัดตั้งรัฐบาลในแวดวงพรรคฝ่ายค้านจึงต้องระงับ ความเป็นไปได้ที่เนทันยาฮูจะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ รักษาการ จึงหยุดไปอย่างหวุดหวิด

พร้อมกันนั้น ความสำเร็จจากศึกขีปนาวุธและการปราบปรามฮามาสยังเปิดโอกาสให้แก่เนทันยาฮูอีกครั้งหนึ่ง โดยพรรคการเมืองที่ไม่ยอมเข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับเนทันยาฮูอาจกลับมาโอเคด้วย และตัดโอกาสที่ยาอีร์ ลาปิดจะเดินหน้าตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ หรืออาจมีการจัดเลือกตั้งครั้งที่ 5 ซึ่งเนทันยาฮูมีความได้เปรียบสูง

- ปฏิบัติการถล่มขีปนาวุธไปทำลายฮามาส ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อความเป็น “มิสเตอร์ความมั่นคง” อันเป็นแบรนด์เนมของเนทันยาฮู และน่าจะช่วยทวีคะแนนเสียงหากจะต้องมีการจัดเลือกตั้งครั้งที่ 5 ฝ่ายต่างๆ วิเคราะห์อย่างนั้น เหลือแต่ว่าเนทันยาฮูจะใช้กำลังภายในไปพลิกเกมสู่แนวนี้ได้หรือไม่

นายกฯ เนทันยาฮู และประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา มีสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมายาวนาน ปัจจัยสหรัฐฯ ต่ออนาคตของเนทันยาฮูเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถมีอิทธิพลได้  ภาพนี้เป็นภาพปี 2010 เมื่อรองประธานาธิบดีไบเดนเยือนอิสราเอล และเซ็นสมุดเยี่ยมในบรรยากาศชื่นมื่น
5.หยุดยิงแล้ว เพียงเพื่อรอเวลาที่จะจุดชนวนศึกกันอีกรอบ? อยู่ที่ว่าจะเมื่อไร และอยู่ที่ว่านายกฯ เนทันยาฮู จะหลุดจากเก้าอี้หรือไม่ และหากอิสราเอลได้นายกฯ ใหม่ เขาจะต้องใช้นโยบายกร้าวกว่าคนปัจจุบันหรือไม่ รอดูกัน

ศึกขีปนาวุธยิว-ปาเลสไตน์ 2021 ยุติลงในคืนพฤหัสฯ ที่ 20 พ.ค. โดยชาวปาเลสไตน์บอบช้ำหนัก ฉนวนกาซายับเยิน อิสราเอลทำลายอาคารบ้านเรือนของประชาชน พร้อมกับสังหารชาวปาเลสไตน์ 248 ราย โดยเป็นเด็กๆ มากถึง 66 ราย กับเพศแม่ 58 รายเสียชีวิตอยู่ใต้ซากอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งถูกยิงทำลายด้วยขีปนาวุธของอิสราเอล

อนาคตที่ต้องจับตาในส่วนของฮามาสไม่ส่อแววผันผวน เพราะอิทธิพลของพรรคฮามาสแข็งแกร่งอย่างยิ่ง

ส่วนอนาคตของเนทันยาฮูมีโอกาสผันผวนสูง และโอกาสที่อิสราเอลจะได้นายกฯ ใหม่ก็แรงทีเดียว

แม้เนทันยาฮูสามารถเบรกการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่ ยาอีร์ ลาปิด หัวหน้าพรรคเยช อทิด (Yesh Atid) ลงมือดำเนินการจนเกือบสำเร็จ และแม้เนทันยาฮูจะได้คะแนนนิยมเพิ่มทวีขึ้นมากมาย กระนั้นก็ตาม เมื่อลาปิดเดินหน้าเจรจาจัดตั้งรัฐบาลต่อ วี่แววความสำเร็จที่จะคว่ำเนทันยาฮูดูดีทีเดียว โดยน่าจะได้รับความร่วมมือจากนาฟตาลี เบนเนตต์ หัวหน้าพรรคยามินา พรรคฝ่ายขวาขนาดเล็กแต่ตอบโจทย์ของลาปิดได้ โดยเบนเนตต์จะขึ้นเป็นนายกฯ ในช่วงต้นไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตาม พิษสงของเนทันยาฮูเป็นอะไรที่ต้องจับตาให้ดี และกระแสชาตินิยมในหมู่ชนชาวอิสราเอลก็ยังเชี่ยวกราก

วิกฤตความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ที่จะปะทุร้อนแรงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้เกือบจะเรียกได้ว่าแน่นอน ในเมื่อปมขัดแย้งในประเด็นการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ให้พ้นจากย่านชีค จาร์เราะห์ ยังไม่ถูกปลดล็อก

รอดูกัน

คุณพ่อของหนูน้อยซูซี เอชกุนทานา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือออกมาจากข้างใต้ของซากอาคารหักพังในกาซาซิตีที่ถูกขีปนาวุธของอิสราเอลยิงถล่ม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2021 ได้พบกับลูกสาว คุณพ่อคุณลูกนอนรักษาตัวเคียงกันในโรงพยาบาล ในภาพนี้ คุณพ่อจูบรับขวัญน้องให้ช่างภาพรอยเตอร์ถ่ายรูปไปเผยแพร่ว่าปลอดภัยแข็งแรงกันดีแล้ว
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอเอฟพี รอยเตอร์ เอพี บีบีซี เอ็นบีซีนิวส์ นิวยอร์กไทมส์ อัล-ญาซีเราะห์ อัล-มอนิเตอร์ ไทมส์ออฟอิสราเอล เว็บไซต์สหประชาชาติ เว็บไซต์ธนาคารโลก วิกีพีเดีย คอมมอนส์วิกิมีเดีย)



กำลังโหลดความคิดเห็น